เจป็อป
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
เจป็อป | |
---|---|
แหล่งกำเนิดทางรูปแบบ | |
แหล่งกำเนิดทางวัฒนธรรม | ในนามช่วงทศวรรษ 1980-ต้นทศวรรษ 1990 ประเทศญี่ปุ่น; สืบทอดมาจากช่วงทศวรรษ 1960-1970 |
รูปแบบอนุพันธุ์ | |
แนวย่อย | |
แนวประสาน | |
ทัศนียภาพในระดับภูมิภาค | |
ชิบูยะ | |
หัวข้ออื่น ๆ | |
เจป็อป (อังกฤษ: J-pop; ญี่ปุ่น: ジェイポップ; โรมาจิ: jeipoppu; ย่อมาจาก "Japanese popular music") หมายถึงแนวดนตรีของประเทศญี่ปุ่น ที่มีลักษณะดนตรีผสมผสานจากทางตะวันตก ซึ่งรวมถึงดนตรีในลักษณะ ป็อป ร็อก แดนซ์ ฮิปฮอป และโซล
เจป็อป เป็นหนึ่งใน 4 แนวดนตรีที่มีการจำแนกในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้แก่ เจป็อป, เอ็งกะ (ลักษณะคล้ายบัลลาด), ดนตรีคลาสสิก และ ดนตรีต่างประเทศ
ประวัติ
[แก้]ทศวรรษที่ 1920–1940: จุดกำเนิด
[แก้]เจป็อป เป็นแนวดนตรีที่มีรากฐานมาจากเพลงแจซซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในประเทศญี่ปุ่นช่วงยุคโชวะตอนต้น (สมัยราชวงศ์ของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ) แจซเป็นแนวเพลงที่นำเอาเครื่องดนตรีใหม่ๆ หลายชิ้น ที่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ในการแสดงเพลงคลาสสิกและเพลงมาร์ชของทหาร มาแนะนำให้ชาวญี่ปุ่นได้รู้จักและมาช่วยแต่งแต้มสีสัน “ความสนุก” ให้กับวงการเพลงของญี่ปุ่นให้มากขึ้น เครื่องดนตรีต่างๆ เหล่านั้น ได้ถูกนำไปใช้ตามคลับและบาร์ในญี่ปุ่นหลายๆ ที่ โดยที่ที่โด่งดังและมีชื่อในเรื่องการแสดงเพลงแจซมากที่สุดก็คือ "องกาคุ คิซซะ" (音楽喫茶)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การแสดงดนตรีแจซในญี่ปุ่นได้หยุดชะงักลงชั่วคราวเนื่องด้วยการกดดันจากฝ่ายทหารของจักรพรรดิญี่ปุ่น แต่พอสงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว แนวดนตรีจากต่างประเทศ ทั้งบูกี-วูกี, แมมโบ, บลูส์ และคันทรี ก็ต่างเข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นอย่างไม่ขาดสาย โดยผู้ที่นำเข้าดนตรีเหล่านี้ก็คือทหารของสหรัฐอเมริกาที่เข้าไปทำงานในญี่ปุ่นและกลุ่มเครือข่ายตะวันออกไกล
ทศวรรษที่ 1950–1960
[แก้]จากการไหลเข้ามาของแนวเพลงอันหลากหลายในช่วงนั้น ได้ทำให้นักดนตรีสากลชาวญี่ปุ่นหลายๆ คนถือกำเนิดขึ้นและสร้างผลงานที่โด่งดังออกมาหลายเพลง ตัวอย่างเช่น "โตเกียว บูกี-วูกี" ของชิซูโกะ คาซางิ, "เท็นเนซซี วอลทซ์" ของเอริ ชิเอมิ, "โอมัตสึริ แมมโบ" ของฮิบาริ มิโซระ และ "โอโมอิเดะโนะ วอลทซ์" ของอิซูมิ ยูกิมูระ เป็นต้น นอกจากนั้น กลุ่มศิลปินและศิลปินแจซชื่อดังจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น เจเอทีพีหรือหลุยส์ อาร์มสตรองก็ยังเคยไปเปิดการแสดงในญี่ปุ่นช่วงนั้นด้วย
ปีที่ถือว่าเป็น "ปีแห่งการเฟื่องฟูของเพลงแจซ” (Year of the Jazz Boom) ที่สุดในญี่ปุ่นคือปี 1952 โดยในปีนั้น เพลงแจซเริ่มที่จะเพิ่มระดับประสิทธิภาพทางเทคนิคให้สูงขึ้น ส่งผลให้การเล่นเพลงแจซในสมัยนั้นเริ่มยากขึ้นตามไปด้วย นักดนตรีชาวญี่ปุ่นหลายคนจึงต้องหันไปเล่นดนตรีสไตล์คันทรีที่สามารถเรียนรู้และนำไปแสดงได้ง่ายกว่าแทน ทำให้เพลงหลายๆ เพลงในช่วงนั้นมีกลิ่นไอของคันทรีเป็นพื้นฐาน
ในปี 1956 กระแสเพลงร็อกแอนด์โรลในญี่ปุ่นได้เริ่มต้นขึ้น ผู้ที่ปลุกกระแสนี้ขึ้นมาคือวงดนตรีคันทรีที่ชื่อว่า "โคซากะ คาซูยะ แอนด์ เดอะ แวกอน มาสเตอร์ส" และเพลง "ฮาร์ตเบรกโฮเทล" ของเอลวิส เพรสลีย์ จุดสูงสุดของความนิยมร็อกแอนด์โรลในญี่ปุ่นอยู่ที่ปี 1959 โดยในปีนั้นได้มีภาพยนตร์ญี่ปุ่นอยู่เรื่องหนึ่งได้นำเอาวงดนตรีร็อกแอนด์โรลหลายๆ วงมาร่วมแสดงด้วย ทำให้เกิดเป็นการตอกย้ำกระแสร็อกแอนด์โรลในญี่ปุ่นให้มากขึ้นไปอีก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสเพลงแนวร็อกแอนด์โรลในแถบอเมริกาถึงจุดสิ้นสุด กระแสเดียวกันที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นก็เป็นอันต้องยุติลงไปด้วย เนื่องจากว่าวงดนตรีของญี่ปุ่นหลายๆ วงนั้นได้รับอิทธิพลมาจากวงดนตรีของอเมริกาค่อนข้างมาก ถ้าหากกระแสดนตรีของอเมริกาเปลี่ยนแปลงไปในญี่ปุ่นก็จะเปลี่ยนตามทันที
ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เอง ได้มีนักดนตรีบางคนพยายามจะนำเอาแนวเพลงป็อปดั้งเดิมของญี่ปุ่นมาผสมรวมกับร็อกแอนด์โรล โดยผู้ที่ประสบความสำเร็จจากนักร้องชาย คีว ซากาโมโตะ กับเพลงที่ชื่อ "อูเอะ โอะ มูอิเตะ อารูโก" หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "สุกียากี้" ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงภาษาญี่ปุ่นเพลงแรกที่เข้าไปอยู่อันดับ 1 ในชาร์ตจัดอันดับเพลงยอดนิยมของสหรัฐอเมริกา[1] ติดอันดับหนึ่งสี่สัปดาห์ในนิตยสารแคชบ็อกซ์ กับอีกสามสัปดาห์ในนิตยสารบิลบอร์ด และยังได้รับรางวัล "โกลด์ เร็คคอร์ด" จากการที่สามารถขายแผ่นเสียงได้หนึ่งล้านแผ่นอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน ก็มีนักร้องนักดนตรีญี่ปุ่นกลุ่มอื่นๆ ที่ตัดสินใจหันมาใช้วิธีนำเอาเพลงดังๆ จากประเทศสหรัฐอเมริกามาแปลภาษาให้เป็นภาษาญี่ปุ่นและนำมาร้องคัฟเวอร์จนโด่งดัง แต่พอถึงยุคที่ทั่วประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีโทรทัศน์หรือวิทยุเป็นของตัวเอง ซึ่งทำให้ประชากรได้มีโอกาสฟังหรือชมภาพการแสดงและเพลงของต้นฉบับจากประเทศสหรัฐอเมริกาจริงๆ ความนิยมที่จะบริโภคผลงานคัฟเวอร์เช่นนี้ก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ
ทศวรรษที่ 1970–1980: นิวมิวสิค, ซีตีป็อป, วาเซป็อป
[แก้]ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษที่ 70 ถึงกลางทศวรรษที่ 80 กระบวนการการสร้างเพลงเริ่มมีความซับซ้อนในด้านการเรียบเรียงและการใช้เครื่องดนตรีมากขึ้น คนส่วนใหญ่จะเรียกเพลงที่เกิดจากกระบวนเช่นนี้ว่า "นิวมิวสิก" เพลงนิวมิวสิก หลายๆ เพลงจะมีเนื้อหาที่สนองความต้องการของสังคมอย่างเรื่องความรักหรือเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างนักร้องญี่ปุ่นแนวนิว มิวสิก ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็ได้แก่ ทากูโระ โยชิดะ และ โยซูอิ อิโนอูเอะ
ในยุคเดียวกันนั้น เพลงแนว "ซิตีป็อป" ก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในญี่ปุ่น เพลงแนวนี้จะเป็นเพลงที่ให้ผู้ฟังได้สัมผัสกับกลิ่นไอบรรยากาศของเมืองใหญ่ในญี่ปุ่น กรุงโตเกียวถือเป็นเมืองหลักที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดเพลงแนวนี้ขึ้นมาหลายต่อหลายเพลง
หลังจากนั้นหลายปีต่อมาในช่วงที่เพลงซิตีป็อปกลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้งในช่วงปลายทศวรรษที่ 2010 และช่วงต้นทศวรรษที่ 2020 โดยเพลงพลาสติกเลิฟ ของมาริยะ ทาเกอูจิ ซึ่งวางจำหน่ายในปี 1984 ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในทั่วโลกหลังฉบับรีมิกซ์ ความยาว 6 นาทีได้ถูกอัปโหลดขึ้นบนยูทูบในปี 2017 และมียอดเข้าชมถึง 24 ครั้งในเวลาอันสั้น ก่อนที่จะถูกนำออกด้วยปัญหาลิขสิทธิ์[2]ต่อมาวิดีโอได้ถูกแก้ไขปัญหาลิขสิทธิ์เสร็จสิ้นในปี 2019 และมียอดเข้าชมสะสมมากกว่า 60 ล้านครั้ง รวมไปถึงเพลงมาโยนากะโนะโดอะ (สเตย์วิธมี) ของมิกิ มัตสึบาระ ที่วางจำหน่ายในปี 1979 สืบเนื่องจากในช่วงปี 2020 "มาโยนากาโนะโดอะ" ได้รับความนิยมระลอกใหม่จากผู้ฟังทั่วไป นิตยสาร "บิลบอร์ด" ได้ระบุว่าคลื่นลูกใหม่นี้มาจากนักร้องชาวอินโดนีเซีย Rainych ผู้ทำดนตรีคัฟเวอร์เพลงญี่ปุ่นเป็นปกติอยู่แล้ว ได้ปล่อยคัฟเวอร์เพลง "มาโยนากะโนะโดอะ" บนช่องยูทูบเมื่อเดือนตุลาคม ทำให้เพลงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในประเทศอินโดนีเซีย ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วโลก จากนั้นเพลงปรากฏบนชาร์ตยอดนิยมของบริการสตรีมดนตรีทั้งสปอติฟายและแอปเปิลมิวสิกในช่วงเวลาเดียวกัน เพลงนี้ยังถูกนำไปใช้ประกอบเทรนด์บนสื่อติ๊กต็อก ซึ่งแสดงวิดีโอผู้คนเปิดเพลงนี้ขึ้นและมีคุณแม่ชาวญี่ปุ่นร้องตามโดยทันทีเมื่อได้ยิน[3]
ทั้งเพลงแนวนิวมิวสิก และเพลงแนวซิตีป็อป ต่างก็มีความคล้ายคลึงกัน ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน เพลงหลายๆ เพลงที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงนั้นก็มักจะมีทั้งความเป็นนิวมิวสิกและซิตีป็อปผสมอยู่ในตัว ดังนั้นในเวลาต่อมาจึงได้เกิดชื่อ "วาเซ ป็อป" ขึ้น เพื่อมาใช้อธิบายเพลงแนวนิวมิวสิกและซิตีป็อปรวมกัน
ทศวรรษที่ 1990–2000: เจป็อป
[แก้]จนกระทั่งในทศวรรษที่ 90 คำว่า "เจป็อป" ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อที่จะนำมาใช้อธิบายลักษณะเพลงป็อปดังๆ หลายๆ เพลงในช่วงนั้นแทนคำว่า "วาเซป็อป"
ศิลปินเจป็อปที่มีชื่อเสียงในช่วงนั้น ส่วนมากจะเป็นนักร้องหญิง ตัวอย่างเช่น โยโกะ โอกิโนเมะ, ชิซาโตะ โมริทากะ และวิงก์ (ซาชิโกะ ซูซูกิ กับ โชโกะ ไอดะ) เป็นต้น ส่วนนักร้องเจป็อปที่เป็นผู้ชายก็มีอยู่เช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ฮิการุ เก็นจิ วงบอยแบนด์ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2530 มีเอกลักษณ์คือสมาชิกติดโรลเลอร์สเก็ต ในปัจจุบันหลังจากยุบวงในปี พ.ศ. 2537 สมาชิกในวงต่างก็แยกย้ายไปมีชื่อเสียงในทางของตัวเอง และอีกคนหนึ่งก็คือ เอกิจิ ยาซาวะ ร็อกเกอร์หนุ่มที่ผันแนวมาร้องเพลงป็อป และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อเขาได้เซ็นสัญญากับบริษัทบันทึกเสียงวอรเนอร์ ไพโอเนียร์ ในปีพ.ศ. 2523 (เขาได้ย้ายไปอาศัยอยู่ ณ แถบชายฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา และได้สร้างอัลบั้มเพลงที่นี่ไว้ 3 อัลบั้มด้วยกัน ได้แก่ ยากาซาวะ, อิทส์ จัสท์ ร็อก เอ็น’ โรล, และ แฟลช อิน เจแปน อัลบั้มทั้งหมดได้ส่งไปจำหน่ายในหลายประเทศ แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในด้านการโฆษณานัก)
นักร้องเจป็อปที่น่าจดจำอีกคนหนึ่งก็คือ "เซโกะ มัตสึดะ" เธอคนนี้เป็นนักร้องหญิงชาวญี่ปุ่นที่โด่งดังอย่างมากในช่วงต้นทศววรษที่ 80 โดยเพลงที่นำความสำเร็จมาให้เธอเพลงหนึ่งคือเพลงภาษาอังกฤษที่เธอร้องเอาไว้ในอัลบั้ม อีเทอนัล" (อัลบั้มนี้ออกจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ. 2534) รวมไปถึงเพลงซิงเกิลอย่าง "อานาตานิ ไอตากุเตะ (มิสซิงยู)" ในปี พ.ศ. 2539 ก็ประสบความสำเร็จในช่วงทศวรรษที่ 90 เช่นกัน
ผลงานเพลงของมัตสึดะยังเคยครองอันดับ 1 ในชาร์ตเพลงของนักร้องหญิงญี่ปุ่นติดต่อกันอย่างยาวนานที่สุด แต่สถิตนั้นก็ถูกทำลายไปโดยผลงานของอายูมิ ฮามาซากิ
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 70 ได้มีการกำเนิดขึ้นของวงร็อกที่ชื่อ จาเงะ แอนด์ อัสกะ ซึ่งสมาชิกของวงประกอบไปด้วยนักร้องสองคนได้แก่ จาเงะ (ชูจิ ชิบาตะ) และ เรียว อัสกะ (ชิเงอากิ มิยาซากิ) พวกเขาทั้งสองคนได้ร่วมกันสร้างผลงานเพลงมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 70 จนมาถึงปลายทศวรรษที่ 2000 (พ.ศ. 2522 – พ.ศ. 2552) และกลับมามีผลงานอีกครั้งในปี พ.ศ. 2556 จนถึงปี พ.ศ. 2562
ต่อมาในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษที่ 90 กระแสความนิยมแนวเพลงก็เริ่มเปลี่ยนไปจากร็อกกลายมาเป็นป็อปแดนซ์ จึงส่งผลให้วงร็อกแบบจาเงะ แอนด์ อัสกะ เป็นอันต้องตกรุ่นไปในที่สุด
ทศวรรษที่ 90 ถือเป็นช่วงเวลาที่วงการเพลงญี่ปุ่นได้ผลิตนักร้องเจป็อปออกมาเป็นจำนวนมาก โดยในรอบสิบปีนี้ แต่ละปีจะมีศิลปินหรือกลุ่มศิลปินเจป็อปต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมามีชื่อเสียงและครองใจตลาดใหญ่เอาไว้ เริ่มตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2533 ถึง พ.ศ. 2536 ศิลปินที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนั้นก็คือ ซาร์ด, แวนด์ส, ดีน, บีซ และ เซาวเธอร์น ออล สตาร์ส ต่อจากนั้นในปี พ.ศ. 2537 ถึง พ.ศ. 2540 ผู้ที่ครองตลาดเจป็อปกลุ่มต่อมาก็คือศิลปินในตระกูล "ทีเค" (เท็ตซึยะ โคมูโระ), นามิเอะ อามูโระ, แม็กซ์ (เดอะ ซูเปอร์ มังกีส์) และสปีด นอกจากนั้นในช่วงปลายของยุคทศวรรษที่ 90 มอร์นิงมูซูเมะซึ่งถือได้ว่าเป็นซูเปอร์ไอดอลเจป็อปที่โด่งดังมากในปัจจุบันก็เพิ่งจะเริ่มก่อตั้งกลุ่มครั้งแรกในปีพ.ศ. 2540
มอร์นิงมูซูเมะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 และยังคงสานต่อความโด่งดังอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันด้วยการค้นหาสมาชิกรุ่นใหม่เข้ามาหมุนเวียนตลอดในแต่ละปี และก่อนหน้านั้นมอร์นิงมูซูเมะเคยนำรูปแบบ “ซับยูนิต” จากโอเนียงโกะ คลับ วงไอดอลหญิงที่โด่งดังในช่วงทศวรรษที่ 80 มาใช้ด้วย รวมถึงวงไอดอลญี่ปุ่นอย่างเอเคบีโฟร์ตีเอท ที่ก่อตั้งในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 2000 ก็โด่งดังไม่แพ้มอร์นิงมูซูเมะด้วยเช่นกันในปัจจุบัน
ในช่วงนั้นของปลายยุคทศวรรษที่ 90 มอร์นิงมูซูเมะและสปีดต่างก็สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เนื่องจากผลงานของพวกเธอสามารถขายได้เกินล้านก๊อปปี้ และนอกจากนั้นทั้งสองกลุ่มนี้ยังมีแนวเพลงแบบป็อป-เทคโนที่คล้ายกันอีกด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 อันดับที่ 1 ของชาร์ตเพลงเจป็อป ก็เปลี่ยนมือมาเป็นของวิชวล เค และชัซนะ และในปี พ.ศ. 2542 ก็เป็นการปิดท้ายทศวรรษ 90 ด้วยความนิยมในตัวนักร้องหญิงอย่างอูทาดะ ฮิคารุและอายูมิ ฮามาซากิ
โดยเฉพาะอูทาดะ เธอเป็นทั้งนักร้อง และนักประพันธ์เพลงที่ทรงอิทธิพลของวงการเพลงญี่ปุ่นผู้หนึ่ง เธอคือผู้ที่นำเอากระแสอาร์แอนด์บีเข้ามาสู่เจป็อปผ่านทางเพลงซิงเกิลแรกของเธอที่ชื่อ "ออโตแมติก/ไทม์วิลเทลล์" นอกจากนั้นแล้วผลงานอัลบั้ม "เฟิสต์เลิฟ" ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกของเธอ ก็สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 9,500,000 ก๊อปปี้ ซึ่งถือเป็นสถิติของอัลบั้มเพลงที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาลของญี่ปุ่น และเป็นยอดขายที่ไม่เคยมีผลงานอัลบั้มแรกของศิลปินญี่ปุ่นคนใดเคยทำได้สูงเท่านี้มาก่อนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเพลงอาร์&บีของอูทาดะ จะถูกหูผู้จำนวนมหาศาล แต่แนวเพลงกระแสหลักที่คนส่วนใหญ่ยังนิยมกันอยู่ในขณะนั้น ก็ยังคงเป็นเพลงป็อปเช่นเดิม ทำให้เกิดศิลปินแนวเจป็อปคนอื่นๆ อย่าง ไม คูรากิ, คูมิ โคดะ, มิกะ นากาชิมะ, ไอ โอตสึกะ และอามิ ซูซูกิ ก็ได้ขึ้นมาประดับวงการเรื่อยมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 90 และต้นทศวรรษที่ 2000
ส่วนศิลปินที่ดูเหมือนจะโด่งดังและมีชื่อเสียงเกือบตลอดทั้งทศวรรษนั้นก็คือ "สแมป" วงบอยแบนด์ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2531 โดยเป็นแบ็กอัพให้กับวงบอยแบนด์อย่าง "ฮิคารุ เก็นจิ" ก่อนที่จะปรากฏตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2534 จนถึงปี พ.ศ. 2559 สแมปจะมีการยุติการทำกิจกรรม [4]
เมื่อเข้าสู่ "คริสต์ทศวรรษ 2000" (พ.ศ. 2543 – พ.ศ. 2552) โดยเฉพาะช่วงกลางทศวรรษ แนวเพลงอาร์&บี และฮิพฮ็อพ ต่างก็เข้ามามีอิทธิพลต่อวงการเพลงของญี่ปุ่นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เนื้อหาของเพลงที่สร้างออกมาในช่วงนี้ ก็เริ่มที่จะประเดียดไปในทางล่อแหลม ลามกอนาจาร และยุยงในเรื่องที่ไม่ดีมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ศิลปินหลาย ๆ คนที่เคยร้องแต่เพลงที่มีเนื้อหาพื้น ๆ ธรรมดา ต้องปรับมาร้องเพลงที่มีเนื้อหาที่กล้า และหยาบกร้านเช่นนี้กันเกือบหมด
ในขณะเดียวกัน เจป็อปบางส่วน ยังได้รับอิทธิพลจากแนวเพลงอินดี้ด้วย เช่น ผลงานของโคอิโกะ นักร้องหญิงแนวป็อป อาร์&บี จากค่ายเพลงอินดี้ในเมืองมิยาซากิ เป็นต้น
ทศวรรษที่ 2010–2020
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
จุดกำเนิดของศิลปินเจป็อป
[แก้]ในประเทศญี่ปุ่น การที่จะกลายเป็นศิลปินแนวเจป็อปที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงได้นั้น ส่วนใหญ่แล้วมีอยู่สองหนทางด้วยกัน หนทางแรกคือ เริ่มต้นด้วยการเข้าไปสมัครคัดเลือกเป็นนักแสดงหรือนักร้องในบทบาทรองเสียก่อน อย่างเช่น ร้องเพลงประกอบโฆษณา หรือเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณา แล้วค่อยขยับฝีมือไปแสดงหรือร้องเพลงในงานที่ใหญ่กว่าเดิม เช่น แสดงละครโทรทัศน์หรือร้องเพลงประกอบละคร เป็นต้น
ส่วนหนทางที่สองคือ ไปเข้าร่วมโครงการคัดเลือกคนที่มีทักษะด้านการร้อง การเต้นเพื่อเป็นสมาชิกของวงไอดอลนั้นๆ วิธีนี้ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมมาแล้วหลายตัวอย่าง เช่น มอร์นิงมูซูเมะ, เอเคบีโฟร์ตีเอท, โนกิซากะโฟร์ตีซิกซ์ รวมถึงวงไอดอลหญิงวงอื่น เป็นต้น
รายชื่อศิลปินเจป็อปในประเทศญี่ปุ่น
[แก้]สำหรับรายชื่อของศิลปินเพลงเจป็อปทั้งเดี่ยวและกลุ่ม ให้ดูที่หน้ารายชื่อศิลปินเจป็อป
ผลที่มีต่อวัฒนธรรมสมัยนิยม
[แก้]เจป็อปเป็นแนวเพลงที่มีการบูรณาการให้เข้ากับวัฒนธรรมประชานิยมของญี่ปุ่นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอนิเมะ, ร้านค้า, โฆษณา, ภาพยนตร์, รายการวิทยุ, รายการโทรทัศน์และวิดีโอเกม
ในอนิเมะและรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่เป็นละครโทรทัศน์ เพลงประกอบทั้งเปิดและปิดของรายการเหล่านี้เกือบทุกรายการก็เป็นเพลงเจป็อปทั้งหมเ โดยในช่วงระยะเวลาหนึ่งปี อนิเมะและละครแต่ละเรื่องจะมีการเปลี่ยนเพลงประกอบเหล่านี้ประมาณสี่ครั้งด้วยกัน ทำให้เพลงประกอบทั้งหมดในหนึ่งเรื่องหรือหนึ่งฤดูกาลเฉลี่ยแล้วมีประมาณ 8 เพลง และถ้าหากเปรียบเทียบเรื่องจำนวนเพลงประกอบกับของละครซีรีส์อเมริกันที่ออกฉายมาอย่างยาวนานที่สุดเรื่อง "มือใหม่ปราบผี" ซึ่งมีทั้งหมดเจ็ดฤดูกาลตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ถึง พ.ศ. 2546 เพลงประกอบรายการของญี่ปุ่นแต่ละเรื่องก็ยังมีจำนวนมากกว่า โดยในเรื่องนั้นมีเพลงประกอบทั้งหมด 30 เพลง แต่ในอนิเมะญี่ปุ่นหนึ่งเรื่องที่ออกฉายด้วยจำนวนเวลาเดียวกัน กลับมีเพลงประกอบเต็มๆ ทั้งหมดถึง 56 เพลงและอย่างน้อยจะต้องมีเพลงซิงเกิลของเรื่องอีก 1 เพลงด้วย
นอกจากอนิเมะและรายการโทรทัศน์แล้ว แม้กระทั่งรายการข่าวของญี่ปุ่นบางรายการ ก็ยังนำเอาเพลงเจป็อปมาเปิดประกอบในเครดิตช่วงท้ายเหมือนกัน
ส่วนในวงการวิดีโอเกม เพลงเจป็อปก็ยังได้เข้าไปมีส่วนเป็นเพลงประกอบด้วย อย่างในเกมขายดีของค่ายสแควร์เอนิกซ์ที่ชื่อว่า "คิงดอมฮาตส์" ทั้งภาคหนึ่งและสอง ก็ได้เพลงของอูทาดะ ฮิคารุมาใช้เป็นเพลงประกอบ และนอกจากนั้น เพลง "อีซี บรีซี" ของอูทาดะเองก็ยังนำไปใช้โปรโมทเครื่องเกมพกพาอย่างนินเท็นโด ดีเอส ด้วย
อายุในวงการเพลงของศิลปินเจป็อป
[แก้]ผลงานของศิลปินเจป็อปคนหนึ่งๆ ส่วนมากจะมีอัลบั้มเพียงหนึ่งชุดและเพลงซิงเกิลอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นมาพวกเขาก็จะหมดชื่อเสียงและหายเข้ากลีบเมฆไป ซึ่งก็เป็นเรื่องยากอยู่เช่นกันที่ศิลปินเจป็อปจะมีชีวิตอยู่ในวงการเพลงได้มากกว่านี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากศิลปินเจป็อปคนไหนหรือกลุ่มใดสามารถคงความนิยมและดำรงตนเองอยู่เป็นเวลาสิบปีขึ้นไปได้ ก็ถือว่าเป็นศิลปินที่ยอดเยี่ยมมาก
กระแสเพลงเจป็อปในประเทศไทย
[แก้]ในประเทศไทย กระแสเพลงเจป็อป ได้เริ่มเข้ามาเป็นที่นิยมในราวปี พ.ศ. 2539 จากเพลง "บายบาย" (バイバイ。) ของนานาเซะ ไอกาวะ จากอัลบั้มเรด ซึ่งเพลงนี้ถือว่าเป็นเพลงที่โด่งดังและเป็นตัวจุดเกิดกระแสความนิยมเพลงเจป็อปในประเทศไทย
สำหรับความนิยมเพลงแนวเจป็อปในประเทศไทยช่วงยุคเริ่มต้นจะอยู่ควบคู่กับความนิยมนักแสดงของซีรีส์ละครญี่ปุ่นที่ถูกนำมาฉายตามสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ในช่วงเวลานั้น สำหรับนักร้องและนักแสดงที่ต้องทำงานควบคู่กัน เช่น นางาเสะ โทโมยะ เป็นนักร้องนำวงโทคิโอะ ที่โด่งดังในประเทศไทยจากการเป็นพระเอกในละครซีรีส์ญี่ปุ่นของยุคนั้น รวมถึงนักร้องและสมาชิกของวงสแมป อย่างทากูยะ คิมูระ นอกจากจะเป็นนักร้องแล้ว คิมูระก็เป็นนักแสดงในยุคนั้นเช่นเดียวซึ่งทำให้ความนิยมต่อเนื่องไปถึงงานเพลงของวงสแมปด้วย
ในส่วนของเพลงประกอบละครที่ทำให้กระแสเพลงแนวเจป็อปเป็นที่นิยม เช่น เพลงประกอบละครจากเรื่อง "อดีตฝันวันวาน" ซึ่งนำแสดงโดยทากาชิ คาชิวาบาระกับมิกิ ซากาอิ อย่างเพลง "โซราโมะ โทเบรุฮาซุ" ของวงสปิทซ์ โดยเพลงนี้ได้ขึ้นอันดับ 1 ของโอริคอนชาร์ตและมียอดจำหน่าย 1.5 ล้านแผ่น รวมไปถึงละครเรื่อง "สวรรค์ลำเอียง"[5] ซึ่งโนริโกะ ซากาอิ ได้แสดงเป็นตัวหลักของเรื่องนี้และร้องเพลงประกอบละครเรื่องนี้อย่าง "อาโออิ อูซางิ" ซึ่งเป็นเพลงซิงเกิลที่ 27 ของเธออีกด้วย[6][7][8]
บรรณานุกรม
[แก้]- Buckley, Sandra (2002). Encyclopedia of Contemporary Japanese Culture. Taylor & Francis. ISBN 978-0-415-14344-8.
- Atkins, E. Taylor (2001). Blue Nippon: Authenticating Jazz in Japan. Duke University Press. ISBN 978-0-8223-2721-9.
- Minichiello, Sharon (1998). Japan's Competing Modernities: Issues in Culture and Democracy, 1900-1930. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-2080-0.
- Yano, Christine Reiko (2003). Tears of Longing: Nostalgia and the Nation in Japanese Popular Song. Harvard University Asia Center. ISBN 978-0-674-01276-9.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Recording Industry Association of Japan (RIAJ) (ในภาษาอังกฤษ)
- J-Pop at SKY.FM - A free J-Pop radio channel
- A concise history of Japan's City-Pop
- Warner Music Japan | Mariya Takeuchi (ในภาษาญี่ปุ่น)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "'Sukiyaki' lyricist Rokusuke Ei dies at 83". The Japan Times. July 11, 2016.
- ↑ St. Michel, Patrick (November 17, 2018). "Mariya Takeuchi: The pop genius behind 2018's surprise online smash hit from Japan". The Japan Times. สืบค้นเมื่อ February 19, 2020.
- ↑ Zhang, Cat (February 24, 2021). "The Endless Life Cycle of Japanese City Pop". Pitchfork. สืบค้นเมื่อ July 19, 2021.
- ↑ "SMAP Disband". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-13. สืบค้นเมื่อ 2016-08-13.
- ↑ "Heaven's Coin'". Nippon TV. สืบค้นเมื่อ 8 September 2022.
- ↑ "酒井法子". Idol.ne.jp. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.
- ↑ "酒井法子 / 碧いうさぎ [廃盤]". CDJournal. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.
- ↑ "碧いうさぎ | 酒井法子". Mora. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.