หน่วยเสียงย่อย
ในทางสัทวิทยา หน่วยเสียงย่อย (อังกฤษ: allophone) คือเสียงพูดเสียงหนึ่งในชุดของเสียงพูดที่เป็นไปได้ที่ใช้เปล่งเสียงหน่วยเสียงในภาษาหนึ่ง ๆ[1] ตัวอย่างเช่น ในภาษาอังกฤษ เสียงไม่พ่นลม [t] (อย่างในคำ stop [stɒp]) และเสียงพ่นลม [tʰ] (อย่างในคำ top [ˈtʰɒp]) เป็นหน่วยเสียงย่อยของหน่วยเสียง /t/ แต่เสียงทั้งสองมีสถานะเป็นหน่วยเสียงคนละหน่วยในภาษาไทย (อย่างในคำ ตา /tāː/ และ ทา /tʰāː/) ในทางกลับกัน ในภาษาสเปน เสียงหยุด [d] (อย่างในคำ dolor [doˈloɾ]) และเสียงเสียดแทรกหรือเสียงเปิด [ð] (อย่างในคำ nada [ˈnaða]) เป็นหน่วยเสียงย่อยของหน่วยเสียง /d/ แต่เสียงทั้งสองมีสถานะเป็นหน่วยเสียงคนละหน่วยในภาษาอังกฤษ (อย่างในคำ day /deɪ/ และ they /ðeɪ/)
หน่วยเสียงย่อยที่ปรากฏในสถานการณ์หนึ่ง ๆ มักสามารถคาดเดาได้จากสัทบริบท โดยหน่วยเสียงย่อยเหล่านั้นจะถูกเรียกว่ารูปแปรตามตำแหน่ง (positional variant) แต่หน่วยเสียงย่อยบางหน่วยก็ปรากฏในลักษณะแปรอิสระ (free variation) การแทนที่เสียงหนึ่ง ๆ ด้วยหน่วยเสียงย่อยอื่นของหน่วยเสียงเดียวกันโดยปกติไม่ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไป แต่เสียงที่เปล่งออกมาอาจฟังดูไม่เหมือนที่เจ้าของภาษาออกเสียงหรืออาจฟังไม่รู้เรื่อง
เจ้าของภาษาหนึ่ง ๆ รับรู้ว่าหน่วยเสียงแต่ละหน่วยในภาษาของตนเป็นเสียงหนึ่งเสียงต่างหาก และ "ทั้งไม่ตระหนักถึงและตกใจกับ" การแปรของหน่วยเสียงย่อยที่ใช้ในการเปล่งเสียงหน่วยเสียงเดียวกัน[2][3]
ประเภท
[แก้]เมื่อใดก็ตามที่คำพูดหนึ่ง ๆ ถูกเปล่งเสียงออกมาเป็นหน่วยเสียงหนึ่ง ๆ มันจะมีลักษณะทางเสียงต่างจากถ้อยคำอื่น ๆ เล็กน้อย แม้จะมาจากผู้พูดคนเดียวกันก็ตาม สิ่งนี้นำไปสู่การถกเถียงกันว่าที่จริงแล้วหน่วยเสียงมีความเป็นรูปธรรมและมีความเป็นสากลมากน้อยอย่างไร มีการแปรเพียงไม่กี่แบบเท่านั้นที่มีนัยสำคัญ (เนื่องจากสามารถตรวจพบหรือรับรู้ได้) สำหรับผู้พูด
หน่วยเสียงย่อยมีสองประเภท ขึ้นอยู่กับว่าผู้พูดจะต้องเปล่งเสียงหน่วยเสียงหนึ่ง ๆ โดยใช้หน่วยเสียงย่อยที่เฉพาะเจาะจงในบริบทที่เฉพาะเจาะจง หรือว่าผู้พูดมีอิสระ (โดยไม่รู้สึกตัว) ที่จะเลือกใช้หน่วยเสียงย่อยเพื่อเปล่งเสียงหน่วยเสียงนั้น
หากหน่วยเสียงย่อยหนึ่ง ๆ ของหน่วยเสียงหนึ่ง ๆ จำเป็นต้องปรากฏในบริบทหนึ่ง ๆ และการแทนที่หน่วยเสียงย่อยนั้นด้วยหน่วยเสียงย่อยอื่น (แม้จะเป็นสมาชิกของหน่วยเสียงเดียวกัน) อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือทำให้ฟังดูไม่เป็นธรรมชาติสำหรับเจ้าของภาษา จะกล่าวได้ว่าหน่วยเสียงย่อยเหล่านั้นมีการแจกแจงแบบสับหลีก (complementary distribution) ดังนั้น หน่วยเสียงย่อยเหล่านั้นจึงเติมเต็มกันและกัน และหนึ่งในนั้นจะไม่ถูกใช้ในสถานการณ์ที่ซึ่งการใช้หน่วยเสียงอีกหน่วยถือเป็นมาตรฐาน สำหรับหน่วยเสียงย่อยที่มีการแจกแจงแบบสับหลีก หน่วยเสียงย่อยแต่ละหน่วยจะถูกใช้ในสัทบริบทที่เฉพาะเจาะจงและอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางระบบเสียง[4]
ในกรณีอื่น ผู้พูดสามารถเลือกใช้หน่วยเสียงย่อยที่มีการแปรอิสระตามความเคยชินหรือความนิยมส่วนตัว แต่บรรดาหน่วยเสียงย่อยที่แปรอิสระจะยังคงปรากฏในบริบทที่เฉพาะเจาะจง ไม่ใช่ในทางตรงกันข้าม
หน่วยเสียงย่อยยังอาจเกิดจากการกลมกลืนเสียง (assimilation) ซึ่งทำให้หน่วยเสียงหนึ่งมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับอีกหน่วยเสียงที่ปรากฏใกล้กัน ตัวอย่างหนึ่งของการกลมกลืนเสียงคือ การเพิ่มความก้อง (voicing) และการลดความก้อง (devoicing) ของเสียงพยัญชนะ โดยเสียงพยัญชนะไม่ก้องจะถูกเพิ่มความก้องเมื่อปรากฏหน้าและหลังเสียงพยัญชนะก้อง และเสียงพยัญชนะก้องจะถูกลดความก้องเมื่อปรากฏหน้าและหลังเสียงพยัญชนะไม่ก้อง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ R. Jakobson, Structure of Language and Its Mathematical Aspects: Proceedings of symposia in applied mathematics, AMS Bookstore, 1980, ISBN 978-0-8218-1312-6,
...An allophone is the set of phones contained in the intersection of a maximal set of phonetically similar phones and a primary phonetically related set of phones....
- ↑ B.D. Sharma, Linguistics and Phonetics, Anmol Publications Pvt. Ltd., 2005, ISBN 978-81-261-2120-5,
... The ordinary native speaker is, in fact, often unaware of the allophonic variations of his phonemes ...
- ↑ Y. Tobin, Phonology as human behavior: theoretical implications and clinical applications, Duke University Press, 1997, ISBN 978-0-8223-1822-4,
...always found that native speakers are clearly aware of the phonemes of their language but are both unaware of and even shocked by the plethora of allophones and the minutiae needed to distinguish between them....
- ↑ Barbara M. Birch, English L2 reading: getting to the bottom, Psychology Press, 2002, ISBN 978-0-8058-3899-2,
...When the occurrence of one allophone is predictable when compared to the other, as in this case, we call this complementary distribution. Complementary distribution means that the allophones are 'distributed' as complements....