ข้ามไปเนื้อหา

หงส์ขาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หงส์ขาว
หงส์ขาว (Cygnus olor)
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Anseriformes
วงศ์: Anatidae
วงศ์ย่อย: Anserinae
เผ่า: Cygnini
สกุล: Cygnus
สปีชีส์: olor
ชื่อทวินาม
Cygnus olor
(Gmelin, 1789)
ถิ่นอาศัยดั้งเดิมและถิ่นอาศัยใหม่จากการนำเข้า และการอพยพของหงส์ขาว จากรายงานของ eBird
  ถิ่นอาศัยตลอดปี
  พื้นที่ผสมพันธุ์ในฤดูร้อน
  พื้นที่อพยพในฤดูหนาว
ชื่อพ้อง
  • Anas olor (Gmelin, 1789)
  • Sthenelides olor (Gmelin, 1789)
  • Cygnus immutabilis (Yarrell, 1838)
ลักษณะเด่นของหงส์ขาว โหนกสีดำเหนือจะงอยปาก

หงส์ขาว หรือหงส์ใบ้ (อังกฤษ: mute swan; ชื่อวิทยาศาสตร์: Cygnus olor) เป็นหงส์ที่จัดอยู่ในอันดับนกเป็ด ในวงศ์นกเป็ดน้ำ มีถิ่นกำเนิดในยูโรไซบีเรีย บางครั้งอพยพไปถึงแอฟริกาตอนเหนือในฤดูหนาว และเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นที่ได้รับการนำเข้าไปในอเมริกาเหนือ (เป็นกลุ่มประชากรใหญ่ที่สุดนอกถิ่นกำเนิด) และมีการนำเข้าไปจำนวนไม่มากในภูมิภาคออสตราเลเซีย และแอฟริกาตอนใต้ ชื่อ 'หงส์ใบ้' จากการที่มันเปล่งเสียงร้องน้อยกว่าหงส์ชนิดอื่น ๆ [2][3][4] ขนาดหัวถึงปลายลำตัวยาว 125-170 ซม. เป็นหงส์ขนาดใหญ่ที่มีขนสีขาวล้วน มีจะงอยปากสีส้มแดงและขอบสีดำ บนจะงอยปากมีโหนกที่เด่นชัด (ปุ่มเนื้อแข็ง) โหนกของตัวผู้ได้มีขนาดใหญ่กว่าของตัวเมีย

อนุกรมวิธาน

[แก้]

หงส์ขาว หรือ หงส์ใบ้ ได้รับการระบุชนิดอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยนักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน โยฮันน์ ฟรีดริช เกลิน ในชื่อ Anas olor ในปี ค.ศ. 1789 และได้รับการโอนไปยังสกุลใหม่ Cygnus โดย โยฮันน์ มาเทียส เบคสไตน์ ในปี 1803 ในภาษาละตินทั้ง cygnus และ olor แปลว่า "หงส์" โดย "cygnus" เป็นรูปคำที่มีความหมายเดียวกับ cycnus ที่ยืมจาก ภาษากรีก κύκνος kyknos ที่มีความหมายเดียวกัน[5][6]

แม้จะมีแหล่งกำเนิดในยูเรเชีย แต่ญาติที่ใกล้ชิดที่สุดคือ หงส์ดำในออสเตรเลียและหงส์คอดำในอเมริกาใต้ ต่างจากหงส์ซีกโลกเหนืออื่น ๆ ในสกุล Cygnus [7]

หงส์ขาวเป็นโมโนไทป์ (monotypic) มีชนิดเดียวในสกุล และไม่มีชนิดย่อย monotypic species)ใ อื่นหลงเหลือนปัจจุบัน[7][8]

วิวัฒนาการ

[แก้]

ซากกึ่งฟอสซิลหงส์ขาวอายุ 6,000 ปี ถูกพบในชั้นพีตหลังยุคน้ำแข็ง (ชั้นดินพรุที่ทับถมกันช่วงยุคโฮโลซีน) ในอีสต์แองเกลีย บริเตนใหญ่[9] และที่อื่น ๆ ที่อายุพอ ๆ กัน เช่นจากไอร์แลนด์ทางตะวันออก โปรตุเกส และอิตาลี [10] และจากฝรั่งเศสอายุ 13,000 ปี (พบโดย Desbrosse and Mourer-Chauvire ปี 1972–1973) และชนิดย่อยที่สูญพันธุ์แล้วในอดีต มีความคล้ายคลึงกับหงส์ขาวที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างเพียงขนาด เช่น Cygnus olor bergmanni จากฟอสซิลที่พบในอาเซอร์ไบจาน และ Cygnus Falconeri ซึ่งเป็นชนิดย่อยที่สูญพันธุ์แล้วอีกชนิดหนึ่งจากหมู่เกาะของประเทศมอลตาและแคว้นซิซิลี มีขนาดใหญ่กว่า Cygnus olor หนึ่งในสามและบินไม่ได้

ยังพบฟอสซิลของบรรพบุรุษของหงส์ขาวที่เป็นญาติห่าง ๆ ของหงส์ขาวในสี่รัฐของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย แอริโซนา ไอดาโฮ และโอเรกอน[11] เส้นการเริ่มวิวัฒนาการจากสมัยไมโอซีน จนถึงสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย (10,000 ปีก่อน) การค้นพบครั้งล่าสุดอยู่ในทะเลทรายอันซาบอร์เรโก รัฐแคลิฟอร์เนีย[11] ซากฟอสซิลจากสมัยไพลสโตซีน ได้แก่ Cygnus paloregonus จาก Fossil Lake ในโอเรกอน Froman's Ferry ในไอดาโฮ และแอริโซนา ซึ่ง Howard ใน The Waterfowl of the World ระบุว่า "อาจเป็นประเภทเดียวกับหงส์ใบ้" [12]

ลักษณะทางสรีระวิทยา

[แก้]

ตัวเต็มวัยของหงส์ขาวโดยทั่วไปยาวตั้งแต่ 140 ถึง 160 เซนติเมตร (55 ถึง 63 นิ้ว) และอาจมีความยาวในช่วงตั้งแต่ 125 ถึง 170 เซนติเมตร (49 ถึง 67 นิ้ว) โดยมีปีกกว้าง 200 ถึง 240 เซนติเมตร (79 ถึง 94 นิ้ว)[13][14] เพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าและปุ่มโหนกบนจะงอยปากใหญ่กว่าตัวเมีย โดยขนาดเฉลี่ยหงส์ขาวเป็นนกน้ำที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก หงส์แตร แม้ว่าหงส์ขาวตัวผู้อาจมีมวลกาย (น้ำหนัก) มากกว่าหงส์แตรตัวผู้[15][16] ในการวัดอย่างละเอียดของหงส์ขาว ความกว้างจากชายหน้าปีกถึงชายหลังปีก 53–62.3 เซนติเมตร (20.9–24.5 นิ้ว) กระดูกข้อเท้า (tarsus) ยาว 10–11.8 เซนติเมตร (3.9–4.6 นิ้ว) และจะงอยปากยาว 6.9–9 เซนติเมตร (2.7–3.5 นิ้ว)[15]

หงส์ขาวเป็นนกที่บินได้ที่มีน้ำหนักมากที่สุดชนิดหนึ่ง การศึกษาในบริเตนใหญ่พบว่าหงส์ขาวตัวผู้ (เรียกว่า cobs) มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 10.6 ถึง 11.87 กิโลกรัม (23.4 ถึง 26.2 ปอนด์) โดยมีน้ำหนักที่เป็นไปได้ในช่วง 9.2–14.3 กิโลกรัม (20–32 ปอนด์) ในขณะที่ตัวเมียตัวเล็กกว่าเล็กน้อย (เรียกว่า pens) เฉลี่ยประมาณ 8.5 ถึง 9.67 กิโลกรัม (18.7 ถึง 21.3 ปอนด์) โดยมีช่วงน้ำหนัก 7.6–10.6 กิโลกรัม (17–23 ปอนด์)[17][18][19][20][21] น้ำหนักปกติสูงสุดสำหรับตัวผู้อยู่ที่ประมาณ 15 กิโลกรัม (33 ปอนด์) มีการบันทึกว่าหงส์ขาวโปแลนด์ตัวผู้ที่มีตัวใหญ่ผิดปกติ หนักเกือบ 23 กิโลกรัม (51 ปอนด์) และนับเป็นนกที่บินได้ที่มีน้ำหนักที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการตรวจสอบ และแม้ว่าไม่ได้มีการทดสอบที่แท้จริงว่าหงส์ตัวนี้จะยังคงบินได้ [22]

หงส์ขาวตัวเต็มวัย มีสีขาวล้วน จะงอยปากสีส้มแดง ขอบดำ ปลายจะงอยปากมีแต้มสีดำและงุ้มลงเล็กน้อย ปากล่างสีอ่อน หนังหน้าสีดำรวมทั้งขอบตา โหนกสีดำบนจะงอยปาก รูจมูกดำ ตีนดำ[23]

หงส์ขาวอายุน้อย หรือลูกหงส์ขาว (เรียกว่า cygnet) ไม่มีขนสีขาวสว่างอย่างในหงส์ขาวตัวเต็มวัย โดยปกติลูกหงส์ขาวมีขนสีเทาหรือน้ำตาลอมเทา และจะงอยปากเป็นสีเทาเข้มหรือดำจนกระทั่งมีอายุเกิน 1 ปีจึงค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีส้ม แต่ความผิดปกติทางสายพันธุ์อาจทำให้มีความหลากหลายของสี (ของหงส์ขาวอายุน้อย) ตั้งแต่สีขาวบริสุทธิ์ สีเทา ไปจนถึงสีน้ำตาลอมเทา ลูกหงส์ขาวที่มีขนสีขาวเกิดจากยีนลิวซิสติก (ยีนด่าง) หงส์ขาวรุ่นมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว โดยมีขนาดใกล้เคียงกับขนาดตัวเต็มวัยภายในเวลาประมาณสามเดือนหลังการฟักไข่ โดยทั่วไปแล้วเช่นเดียวกับสีจะงอยปาก หงส์ขาวอายุน้อยจะคงขนสีเทาไว้จนกระทั่งมีอายุ 1 ปี และปีกจะเริ่มผลัดขนเป็นขนบินในช่วงเดียวกัน

หงส์ใบ้ทุกตัวเมื่อเต็มวัยมีสีขาวล้วน (จึงเรียกว่า หงส์ขาว) แม้ว่าขนบางส่วน (โดยเฉพาะที่หัวและคอ) อาจแซมเล็กน้อยด้วยสีออกน้ำตาลส้มจากธาตุเหล็กและแทนนินที่มากับน้ำ[24]

หงส์โปแลนด์

[แก้]
หงส์ใบ้สองตัวอายุไม่กี่สัปดาห์[ลิงก์เสีย] ทางด้านขวาเป็นของการกลายสีของ "หงส์โปแลนด์" ซึ่งมียีนที่ผิดปกติทำให้เกิดภาวะด่าง (leucism)

การแปรเปลี่ยนของสีขนของหงส์ขาวในกลุ่ม C. o. morpha immutabilis (immūtābilis เป็นภาษาละตินแปลว่า "ไม่เปลี่ยนรูป, ไม่เปลี่ยนแปลง") เป็นที่รู้จักในชื่อสามัญ "หงส์โปแลนด์" มีตีนสีชมพูอ่อน (หรือสีเทาอ่อน) และขนสีขาวหม่นแต่เกิด สีขาวนี้พบได้เฉพาะในกลุ่มประชากรหงส์ที่มีประวัติการถูกเพาะเลี้ยง[25] โดยหงส์โปแลนด์เหล่านี้สืบทอดพันธุกรรมของยีนที่ผิดปกติที่เรียกว่า "ภาวะด่าง" (Leucism)[26]

พฤติกรรม

[แก้]
รังใน[ลิงก์เสีย] อุทยานแห่งชาติ Drilon Pogradec, แอลเบเนีย หงส์ตัวผู้กำลังลาดตระเวนบริเวณใกล้กับรังเพื่อปกป้องคู่ของมัน
การบินเป็นฝูง
ไข่ของหงส์ขาว
กะโหลกหงส์ขาว

การทำรัง

[แก้]

หงส์ใบ้ทำรังบนเนินขนาดใหญ่ ที่พวกมันสร้างขึ้นด้วยพืชริมน้ำในเขตน้ำตื้น บนเกาะที่อยู่ตรงกลางหรือขอบของทะเลสาบ หงส์ขาวมีคู่เดียวและมักจะกลับมาใช้รังเดิมในทุก ๆ ปี โดยซ่อมแซมหรืออาจสร้างใหม่ในที่เดิม หงส์ตัวผู้และตัวเมียแบ่งหน้าที่การดูแลรัง และแม้เมื่อหงส์ขาวรุ่นลูกโตพอที่จะแยกรังแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบว่ายังอาศัยเป็นครอบครัวเดียวกันและออกหาอาหารด้วยกัน

หงส์ขาวกินพืชพันธุ์หลากหลายชนิดทั้งพืชน้ำใต้น้ำด้วยการยื่นคอที่ยาวดำลงไปในน้ำ และทั้งเล็มพืชผิวดินบนบก อาหารโดยทั่วไปยังรวมถึงพืชผลทางการเกษตร เช่น ผักกาดก้านขาว และข้าวสาลี ฝูงหงส์ขาวที่หาอาหารในฤดูหนาวอาจก่อความเสียหายต่อพืชไร่อย่างมาก ทั้งจากการเหยียบย่ำด้วยตีนที่ใหญ่ น้ำหนักที่มาก และจากการกิน[27]

แตกต่างจากหงส์ดำที่เป็นญาติใกล้ชิดในสกุล หงส์ใบ้มักแสดงพฤติกรรมการครอบครองอาณาเขต โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดเล็กจะครอบครองโดยหงส์เพียงคู่เดียวเท่านั้น เช่นในทะเลสาบขนาดเล็ก มีเพียงพื้นที่ไม่กี่แห่งที่เป็นแหล่งอาศัยหากินที่เหมาะสมของหงส์ขาวจำนวนมากได้ อาณานิคมที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบมีหงส์ขาวมากกว่า 100 คู่ เช่น ที่ Abbotsbury Swannery ทางตอนใต้ของอังกฤษและที่ปลายด้านใต้ของเกาะ Öland เขตอนุรักษ์ Ottenby ในน่านน้ำชายฝั่งทะเลบอลติก ซึ่งความถี่ชิดของรังอาจมีระยะห่างเพียง 2 เมตร (7 ฟุต) จากกันและกัน[28][29] หงส์ขาวรุ่นที่ยังไม่ได้ผสมพันธุ์ซึ่งอาจมีอายุไม่เกิน 3-4 ปีมักจะรวมตัวกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ซึ่งอาจมีจำนวนหลายร้อยตัว และมักจะอยู่ในพื้นที่เดิม[30] ฝูงหงส์ขาวที่ไม่ได้ผสมพันธุ์ที่ได้รับการบันทึกได้แก่ บริเวณปากแม่น้ำทวีด ที่เมืองเบริก-อะพอน-ทวีด ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษโดยมีจำนวนนกสูงสุด 787 ตัว[31] กลุ่มประชากรจำนวนมากที่อยู่ใกล้สถานี Swan Lifeline ในวินด์เซอร์ และกลุ่มที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำเทมส์ใกล้กับปราสาทวินด์เซอร์ เมื่อหงส์ขาวตัวเต็มวัยได้รับการผสมพันธุ์แล้ว จะแสวงหาอาณาเขตของตนเองและมักเลือกอาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่อาศัยของเป็ด และนกนางนวล ซึ่งอาจได้ผลประโยชน์ส่วนแบ่งจากความสามารถของหงส์ในการเข้าถึงพืชในน้ำลึก ซึ่งมักจะถูกกระจายเมื่อดึงขึ้นถึงผิวน้ำ[ต้องการอ้างอิง]

เสียงร้อง

[แก้]
การทำรังในฤดูใบไม้ผลิ[ลิงก์เสีย] เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี

หงส์ใบ้ (หรือหงส์ขาว) ทำเสียงร้องน้อยกว่าหงส์และห่านอื่น ๆ ที่มีเสียงดัง อย่างไรก็ตามบางครั้งหงส์ขาวทำเสียงฮึดฮัด เสียงหวีด และเสียงกรน (ครืด ๆ)[23] โดยเฉพาะเมื่อสื่อสารกับลูกหงส์ขาว และมักจะส่งเสียงขู่ (ฟู่ ๆ ) ใส่หงส์คู่แข่งหรือผู้บุกรุกที่พยายามเข้ามาในอาณาเขตของมัน [32] เสียงที่คุ้นเคยมากที่สุดของหงส์ใบ้คือ เสียงการบินที่เกิดจากการสั่นของปีกขณะบินซึ่งมีเป็นลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์นี้ (มีเสียงหึ่ง ๆ คล้ายฝูงผึ้งขนาดใหญ่ที่ดังมาก) และสามารถได้ยินได้ไกลถึง 1 ถึง 2 กิโลเมตร (0.62 ถึง 1.24 ไมล์) โดยเป็นเสียงที่มีประโยชน์กับหงส์และนกอื่นในการระบุตำแหน่งระหว่างการบิน[33] ลูกหงส์ใบ้มีเสียงร้องที่เฉพาะและใช้สื่อสาร โดยมีเสียงคล้ายการผิวปากและจิ๊บ ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งมีเนื้อหาหลากหลาย รวมถึงการส่งเสียงในการทะเลาะที่รุนแรงเมื่อมีได้รับความลำบากหรือหลงทาง

การขับไล่

[แก้]

หงส์ใบ้มักป้องกันรังอย่างก้าวร้าว และปกป้องคู่และลูกของมันได้ดี การโจมตีเชิงป้องกันตัวของหงส์ใบ้ส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยเสียงขู่ฟ่อ (เสียงการพ่นลมออกจากปากอย่างแรง คล้าย “แฮ่” หรือ "ฟู่") และหากไม่เพียงพอที่จะขับไล่ผู้ล่าออกไปจะตามมาด้วยการโจมตีทางกายภาพ หงส์โจมตีโดยการทุบศัตรูด้วยเดือยกระดูกปีกพร้อมกับการงับด้วยจะงอยปากขนาดใหญ่ ในบางครั้งที่ไล่นกน้ำขนาดเล็กเช่น เป็ด หงส์ขาวมักจะงับและลากเป็ดนั้น หรือเหวี่ยงโยนเป็ดออกจากเขตที่หงส์คู่และลูกของมันอาศัย ปีกของหงส์มีพลังมากแต่ไม่แข็งแรงพอที่จะหักขาของคนที่โตเต็มวัยได้อย่างที่เล่ากันต่อ ๆ มา[34] นกน้ำขนาดใหญ่เช่น ห่านแคนาดาอาจถูกขับไล่อย่างก้าวร้าวจากหงส์ขาว (เนื่องจากห่านแคนาดามีแนวโน้มพฤติกรรมในการแข่งขันมากกว่า แม้ไม่ใช่การแข่งขันแบบนักล่าหรือการขโมยก็ตาม) และหงส์ใบ้ยังมีพฤติกรรมโจมตีมนุษย์ที่เข้ามาในดินแดนของมันเป็นประจำเช่นกัน[35]

หงส์ขาวตัวผู้มีหน้าที่ในการปกป้องลูกหงส์ขณะที่อยู่บนน้ำและบางครั้งอาจโจมตีเรือขนาดเล็ก เช่นเรือแคนู ที่มันรู้สึกว่าเป็นภัยคุกคามต่อลูกของมัน นอกจากนี้หงส์ขาวตัวผู้ยังพยายามไล่ล่าสัตว์นักล่าออกไปจากอาณาเขตครอบครัวของมัน และกักบริเวณสัตว์เหล่านี้ เช่นสุนัขจิ้งจอกและสัตว์เลื้อยคลาน ไว้ที่บริเวณไกลออกไป

ในนิวยอร์ก (ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตถิ่นกำเนิดเดิม) สัตว์นักล่าที่พบมากที่สุดคือ เต่าสแนปปิ้ง[36] โดยปกติหงส์ขาวตัวเต็มวัยที่มีแข็งแรงมักไม่ค่อยตกเป็นเหยื่อของ สัตว์จำพวกหมาเช่น หมาป่าไคโยตี สัตว์จำพวกแมวเช่น แมวลิงซ์ และหมี แต่อาจเป็นภัยคุกคามต่อหงส์ขาวที่อ่อนแอได้ (หงส์ขาวตัวเต็มวัยที่แข็งแรงมักจะว่ายน้ำหนีจากอันตรายได้ เว้นแต่การอยู่กับที่เพื่อการป้องกันรัง) และมีบางกรณีที่หงส์ขาวตัวเต็มวัยที่ไม่แข็งแรงอาจเป็นเหยื่อของนกอินทรีทอง[37][38]

ในอังกฤษมีอัตราการโจมตีหงส์โดยหมาจรจัดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสวนสาธารณะที่หงส์ขาวมีอาณาเขตขนาดเล็ก และถือเป็นความผิดทางอาญาในกฎหมายอังกฤษ เนื่องจากหงส์ขาวอยู่ภายใต้การคุ้มครองสูงสุดเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์[39] หงส์ขาวจะโจมตีกลับเพื่อป้องกันตัวเองและลูกของพวกมันจากการโจมตีของหมา และหงส์ที่โตเต็มวัยสามารถกดหมาให้จมน้ำได้[40] แม้กระทั่งหมาพันธุ์ใหญ่ก็ตาม[41]

ท่าการชี้ระวังภัยคุกคาม คือ คอโก่งโค้งไปทางหลัง (คล้ายเครื่องหมาย "?") และยกปีกขึ้นกึ่งหนึ่ง ที่เรียกว่า ท่ายืดอก (busking) โดยเท้าทั้งสองยืนประกบกันระหว่างการทำท่า และอาจมีการกระตุกคอ กระพือปีกและอกมากขึ้น[42] หงส์ขาวยังอาจใช้ท่าเดียวกันนี้ในการร่อนลงจากระยะไกลหลายร้อยเมตรก่อนถึงพื้นน้ำ ซึ่งเรียกว่า ท่าร่อนลง (ท่าวินด์เซิร์ฟ หรือ ท่าโต้ลม)[43][44]

เช่นเดียวกับหงส์อื่น ๆ หงส์ขาวเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องท่าทีของการแสดงความเศร้าโศก เมื่อคู่ครองหรือลูกหงส์สูญหายหรือตายไป[45][46] หงส์ขาวมีกระบวนการไว้อาลัยโดยอาจจะยังอยู่ในที่ที่คู่ของมันเคยอาศัยอยู่หรือบินออกไปร่วมฝูง[47] หากคู่ใดคู่หนึ่งเสียชีวิตในขณะที่มีการเลี้ยงลูก พ่อหรือแม่ที่เหลืออยู่จะรับหน้าที่แทนทั้งหมดในการดูแลครอก

การผสมพันธุ์

[แก้]
รังหงส์ใบ้ขนาดใหญ่ ภาพจากโปแลนด์
ลูกหงส์ฟักออกจากไข่ได้หนึ่งวัน[ลิงก์เสีย] ที่ Newburg Lake, Livonia, MI สหรัฐอเมริกา

หงส์ขาววางไข่ตั้งแต่ 4 ถึง 10 ฟอง ตัวเมียจะฟักไข่เป็นเวลาประมาณ 36 วัน โดยปกติแล้วลูกนกจะฟักเป็นตัวระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม[48] หงส์รุ่นจะยังไม่มีความสามารถในการบินก่อนอายุประมาณ 120 ถึง 150 วัน ข้อจำกัดนี้ทำให้การแพร่กระจายพันธุ์ของประชากรในด้านทิศเหนือสุดเป็นไปได้น้อย เนื่องจากลูกหงส์จำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้ที่จะบินอย่างเร่งรีบ และบางส่วนเสียชีวิตก่อนในฤดูหนาวที่มาก่อนกำหนด[ต้องการอ้างอิง]

การแพร่กระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่

[แก้]

หงส์ใบ้พบได้ตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตอบอุ่นของยุโรป ตลอดแนวเขตชีวภาพพาลีอาร์กติก ไปถึงทางตะวันออกสุดที่ Primorsky Krai ใกล้ Sidemi [49]

บางส่วนอพยพจากละติจูดทางตอนเหนือของยุโรปและเอเชีย ลงใต้ไปจนถึงแอฟริกาเหนือและเมดิเตอร์เรเนียน และมีการบันทึกไว้ว่าเคยพบในไอซ์แลนด์ และเป็นนกพลัดหลงไปยังพื้นที่เช่น เบอร์มิวดา อ้างอิงตามข้อมูลสถานะระหว่างประเทศของนกใน 70 ประเทศจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ[ต้องการอ้างอิง] ในญี่ปุ่นแม้ว่าประชากรหงส์ขาวส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะถูกนำเข้า แต่พบหงส์ขาวปรากฏในภาพวาดบนกระดาษม้วนที่มีอายุมากกว่า 1,000 ปี ประกอบกับประชากรหงส์ขาวธรรมชาติที่อพยพมายังทวีปเอเชียแผ่นดินใหญ่ในฤดูหนาวยังไม่มาก จึงเชื่อว่ายังมีหงส์ขาวอพยพไปญี่ปุ่นตามธรรมชาติพร้อม ๆ กับหงส์ชนิดอื่น ๆ ในสมัยก่อน[ต้องการอ้างอิง]

หงส์ใบ้ หรือหงส์ขาว ได้รับการคุ้มครองในเกือบทุกพื้นที่ในช่วงถิ่นการแพร่กระจายพันธุ์ แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองการล่าที่ผิดกฎหมายและการรุกล้ำของพื้นที่เกษตรกรรมอย่างผิดกฎหมาย และมักถูกกักขังเลี้ยงไว้ภายนอกถิ่นที่อยู่ธรรมชาติเพื่อเป็นของประดับตกแต่งของสวนสาธารณะและสระน้ำ ซึ่งหงส์บางส่วนมีการหลบหนี ออกลูกหลานออกนอกที่กักขัง และกลายเป็นสัตว์ธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันออกและภูมิภาคเกรตเลกส์ เหมือนกับที่ห่านแคนาดาทำในยุโรป[ต้องการอ้างอิง]

ประชากร

[แก้]
[50]
  พื้นที่ผสมพันธุ์ในฤดูร้อน
  ถิ่นอาศัยตลอดปี
  พื้นที่อพยพในฤดูหนาว
  พื้นที่ที่นำเข้าไปเลี้ยงและกลายเป็นนกประจำถิ่น

กลุ่มประชากรในถิ่นอาศัยปกติ

[แก้]

จำนวนประชากรในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติทั้งหมดของหงส์ขาว คือ ประมาณ 500,000 ตัว ในทุกช่วงท้ายของฤดูผสมพันธุ์ (ตัวเต็มวัยและวัยหนุ่มสาว) ซึ่งประมาณ 350,000 ตัวอยู่ในดินแดนอดีตสหภาพโซเวียต[51] แหล่งผสมพันธุ์เดี่ยว (ที่มีความเข้มข้นที่สุด) ที่ใหญ่ที่สุดคือ 11,000 คู่ พบที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำวอลกา [52]

ประชากรในสหราชอาณาจักรมีประมาณ 22,000 ตัว นับในช่วงฤดูหนาวปี 2549-2550[53] ลดลงเล็กน้อยจากจุดสูงสุดที่มีประมาณ 26,000–27,000 ตัวในปี 2533[54] จำนวนนี้รวมถึงคู่ผสมพันธุ์ประมาณ 5,300 คู่ ส่วนที่เหลือยังเป็นหงส์ที่ยังไม่สมบูรณ์วัย[55] กลุ่มประชากรที่สำคัญอื่น ๆ ในยุโรป ได้แก่ ในเยอรมนีซึ่งมีคู่ผสมพันธุ์ 6,800–8,300 คู่, ในเดนมาร์ก 4500 คู่, ในโปแลนด์ 4000–4200 คู่, ในเนเธอร์แลนด์ 3000–4000 คู่, ประมาณ 2500 คู่ในไอร์แลนด์ และ 1,200–1700 คู่ในยูเครน[54]

เป็นเวลาหลายศตวรรษที่หงส์ขาวในบริเตนใหญ่ได้รับการเลี้ยงดูให้อาหารในฐานะสัตว์เลี้ยง โดยมีการทำเครื่องหมายด้วยขลิบผังผืดตีน หรือจะงอยปากเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ เครื่องหมายรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ Crown and a Royal Swanherd (องค์กรผู้เลี้ยงหงส์ในราชูปถัมภ์) หงส์ขาวอื่นตัวใดที่ไม่ได้รับการทำเครื่องหมายจะกลายเป็นทรัพย์สินในราชูปถัมภ์ ด้วยเหตุนี้หงส์จึงกลายเป็นที่รู้จักในนาม "Royal Bird" และเป็นไปได้ว่าการจัดการการเลี้ยงแบบนี้ช่วยให้หงส์ขาวในบริเตน รอดพ้นจากภาวะการสูญพันธุ์ผ่านการล่าสัตว์ที่เข้มข้น[56][57]

อย่างไรก็ตาม ประชากรในยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ถูกกำจัดโดยแรงกดดันจากการล่าสัตว์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-19 ยกเว้นหงส์กึ่งเลี้ยงที่เจ้าของที่ดินรายใหญ่ถือครองภายในเขตที่ดิน (ในฐานะสัตว์เลี้ยงในไร่) การอนุรักษ์ที่ดีขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำให้ประชากรหงส์ขาวสามารถฟื้นฟูกลับไปยังจำนวนเดิม (หรือเกือบทั้งหมด) ได้[58][59] ในช่วงประมาณปีพ.ศ. 2503 ถึงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 (พ.ศ. 2523) ประชากรหงส์ขาวกลับมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้งในหลายพื้นที่ของอังกฤษ[60] สาเหตุหลักมาจากพิษตะกั่วจากนกที่กลืนจากการตกปลาที่ถ่วงด้วยตุ้มตะกั่ว โดยหลังจากการแทนที่น้ำหนักตะกั่วด้วยทางเลือกโลหะอื่นที่เป็นพิษน้อยกว่า ประชากรหงส์ขาวก็เพิ่มขึ้นอีกครั้งอย่างรวดเร็ว [61]

กลุ่มประชากรที่นำเข้า

[แก้]

นับตั้งแต่มีการนำเข้ามาในอเมริกาเหนือ หงส์ใบ้ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากจนถึงขนาดที่ถือว่าเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน ในขณะที่กลุ่มประชากรที่นำเข้าในภูมิภาคอื่น ๆ ยังคงจำนวนที่น้อย โดยมีประมาณ 200 ตัวในญี่ปุ่น, น้อยกว่า 200 ตัวในนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย และประมาณ 120 ตัวในแอฟริกาใต้[62]

อเมริกาเหนือ
[แก้]

หงส์ใบ้ได้รับการนำเข้าสู่อเมริกาเหนือในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และเนื่องจากจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและผลกระทบต่อนกน้ำ และระบบนิเวศพื้นเมืองอื่น ๆ จึงถูกจัดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ตัวอย่างเช่นการศึกษาขนาดของประชากรใน Great Lakes ตอนล่างตั้งแต่ปีค.ศ. 1971 ถึง 2000 พบว่าจำนวนหงส์ใบ้เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยอย่างน้อย 10% ต่อปีโดยเพิ่มจำนวนประชากรเป็นสองเท่าทุก ๆ เจ็ดถึงแปดปี[63] การศึกษาหลายชิ้นสรุปได้ว่าหงส์ใบ้ส่งผลต่อการลดความสมบูรณ์หนาแน่นของพืชใต้น้ำเป็นอย่างมาก[64]

ในปีพ.ศ. 2546 หน่วยงานคุ้มครองพันธุ์ปลาและสัตว์ป่าของสหรัฐฯ (USFWS) ได้เสนอให้ "ลดความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากหงส์ใบ้" ให้น้อยที่สุด โดยการลดจำนวนของพวกมันในแนวบินอพยพฝั่งแอตแลนติก (แอตแลนติกฟลายเวย์) ให้เป็นระดับประขากรของก่อนปีพ.ศ. 2529 ซึ่งหมายถึงต้องลดลง 67% ในปีนั้น ตามรายงานที่ตีพิมพ์ใน Federal Register ปี 2546[65] ข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานด้านสัตว์ป่าของรัฐทั้งสิบสามหน่วยงานที่ส่งความคิดเห็นรวมทั้งองค์กรการอนุรักษ์นก องค์กรการอนุรักษ์สัตว์ป่าและการจัดการสัตว์ป่า 43 แห่ง ขณะเดียวกันองค์กรสิทธิสัตว์ 10 แห่ง และความคิดเห็นจำนวนมากจากประชาชนทั่วไปต่างไม่เห็นด้วย

ในปัจจุบันหงส์ใบ้ได้รับการคุ้มครองภายใต้ พระราชบัญญัติสนธิสัญญานกอพยพ โดยคำสั่งศาล แต่ในปีพ.ศ. 2548 กระทรวงมหาดไทยสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าหงส์ขาวเป็นสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์ท้องถิ่นอเมริกาและจะไม่ได้รับการคุ้มครอง[66] อย่างไรก็ตามหงส์ขาวได้รับการคุ้มครองในบางพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาตามกฎหมายท้องถิ่นเช่นใน คอนเนตทิคัต[67]

สถานะของหงส์ขาวนฐานะสายพันธุ์ที่ได้รับการนำเข้าในอเมริกาเหนือถูกกลุ่มสิทธิประโยชน์ "Save the Mute Swans" โต้แย้ง[68] โดยยืนยันว่าหงส์ใบ้มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคอเมริกา ดังนั้นจึงสมควรได้รับความคุ้มครอง พวกเขาอ้างว่าแม้หงส์ขาวมีต้นกำเนิดจากรัสเซีย แต่ได้อ้างถึงการสำรวจทางประวัติศาสตร์และบันทึกจากฟอสซิล (ว่ามีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคอเมริกา) การอ้างสิทธิ์เหล่านี้ถูกปฏิเสธโดยกระทรวงมหาดไทยของสหรัฐอเมริกา[69]

โอเชียเนีย
[แก้]

หงส์ใบ้ได้รับการคุ้มครองอย่างสมบูรณ์ในนิวซีแลนด์ภายใต้ พระราชบัญญัติสัตว์ป่าปี 1953 แต่คำสั่งนี้ได้เปลี่ยนไปในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 เป็นระดับการคุ้มครองที่ต่ำกว่า คือยังคงมีความคุ้มครอง แต่ได้รับอนุญาตให้ถูกกำจัดหรือถูกกักขังตามดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอนุรักษ์[70]

มีกลุ่มประชากรที่จัดเข้าในระดับรุกรานเล็กน้อยต่อระบบนิเวศน์ คือ ในบริเวณรอบเมืองเพิร์ธ แต่เชื่อว่ายังมีจำนวนน้อยกว่า 100 ตัว

ประเทศไทย
[แก้]

สามารถชมหงส์ขาวที่เลี้ยงในที่กักขัง[71] ได้ที่สวนสัตว์เชียงใหม่[72] สวนสัตว์นครราชสีมา[73] สวนสัตว์ขอนแก่น[74]

ในวัฒนธรรม

[แก้]
หงส์ที่ถูกคุกคาม[ลิงก์เสีย] ( ป. ค.ศ. 1650) โดย Jan Asselijn
แสตมป์ฟินแลนด์ที่มีรูปหงส์ขาว ปีพ.ศ. 2499

หงส์ขาวถูกนำมาใช้บนเหรียญที่ระลึกทองคำและเงินยูโร (ไอร์แลนด์) ในปี 2004 เพื่อเป็นเครื่องรำลึกของการเข้าเป็นสมาชิกของ 10 ประเทศสมาชิกใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่ไอร์แลนด์เป็นประธานสภาแห่งสหภาพยุโรป

หงส์ใบ้ หรือหงส์ขาว เป็นนกประจำชาติของเดนมาร์ก ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 (โดยแทนที่สกายลาร์ก ที่เป็นนกประจำชาติของเดนมาร์กตั้งแต่ปีพ. ศ. 2503)

เทพนิยาย "ลูกเป็ดขี้เหร่" ของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน เล่าเรื่องราวของลูกหงส์ขาว (ลูกเป็ดตัวหนึ่ง) ที่มีหน้าตาขี้ริ้วแตกต่างจากเพื่อนๆ จนถูกรังเกียจและกีดกันออกจากฝูงเป็ดต่าง ๆ แต่สร้างความประหลาดใจให้กับเป็ดอื่น เมื่อเติบโตเป็นหงส์ที่สง่างาม และสวยที่สุดในบรรดานกทั้งหมด

ในบัลเล่ต์ที่มีชื่อเสียง สวอนเลก (Swan Lake) ตัวละครหลักเจ้าหญิงโอเด็ตต์และพรรคพวก ถูกสาปให้กลายร่างเป็นหงส์ในเวลากลางวัน และเป็นมนุษย์ในเวลากลางคืน โอเดตต์มีความรักกับเจ้าชายชื่อ "ซิกฟรีด" แต่มีอุปสรรคทำให้ไม่สามารถอภิเษกสมรสกันได้

ปัจจุบันพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร ยังคงรักษาสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของหงส์ใบ้ที่ไม่มีเครื่องหมายทั้งหมด ในน่านน้ำเปิด แต่กระนั้นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แสดงความเป็นเจ้าของเฉพาะในบางส่วนของแม่น้ำเทมส์และแควโดยรอบเท่านั้น โดยกรรมสิทธิ์นี้แบ่งปันกับ Vintners' และ Dyers' Companies ซึ่งได้รับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของโดย Crown ในศตวรรษที่ 15 [75]

หงส์ขาวในคูน้ำรอบพระราชวังบิชอป ที่อาสนวิหารเว็ลส์ ในเวลส์ ประเทศอังกฤษได้รับการฝึกฝนมานานหลายศตวรรษให้กดกริ่งผ่านเชือกที่ติดกับพวกมันเพื่อขออาหาร หงส์สองตัวยังคงส่งเสียงดังเพื่อกินอาหารกลางวัน [76]

หงส์คู่ในสวนสาธารณะบอสตัน มีชื่อว่าโรมิโอและจูเลียตตามคู่ของเชกสเปียร์ อย่างไรก็ตามพบว่าทั้งสองตัวเป็นตัวเมีย[77]

ยังเป็นที่ถกเถียงว่า แท้จริงแล้วหงส์ (สันสกฤต: हंस haṃsa) ที่เป็นพาหนะ (หรือ Hamsavāhini - หงสวาหน) ของพระพรหมและพระสุรัสวดีในคติของศาสนาฮินดู[78] นั้นอาจได้แรงบันดาลใจมาจากห่านหัวลายที่พบมากในตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งมีลักษณะตรงตามภาพวาดที่ถ้ำอชันตา[79] แม้ว่าในงานศิลปะช่วงหลายศตวรรษหลัง ๆ จนถึงปัจจุบันมักอ้างอิงหงส์ขาวมากกว่า[80]

การผสมข้ามพันธุ์

[แก้]

มีความเป็นไปได้ที่หงส์ขาวสามารถผสมข้ามพันธุ์กับหงส์แตร[81] โดยเฉพาะในที่กักขังเพาะเลี้ยงหรือในพื้นที่หากินที่ทับซ้อนกัน แม้จะเกิดขึ้นน้อยมากก็ตาม[82]

  • ลูกผสมที่เกิดจากพ่อหงส์ขาวและแม่หงส์แตร จะมีลักษณะทางสรีระวิทยาไปในทางหงส์แตร ลูกผสมที่โตเด็มวัยมีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักเฉลี่ยของพ่อแม่ จะงอยปากไม่มีโหนก ตีนดำและมีวงสีเหลือง จะงอยปากสีดำแบบหงส์แตรแต่ด้านในเป็นสีชมพู คอตรง ร้องเสียงแบบหงส์แตร[82]
  • ลูกผสมที่เกิดจากพ่อหงส์แตรและแม่หงส์ขาว จะมีลักษณะทางสรีระวิทยาไปในทางหงส์ขาว ลูกผสมที่โตเด็มวัยมีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักเฉลี่ยของพ่อแม่ จะงอยปากมีโหนกแต่ค่อนข้างแบน จะงอยปากมีสีผสม คอโค้ง[82]

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. BirdLife International Cygnus olor[ลิงก์เสีย] สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2564.
  2. del Hoyo, Josep; Elliott, Andrew; Sargatal, Jordi, บ.ก. (1992). Handbook of the Birds of the World. Vol. 1, Ostrich to Ducks. Barcelona: Lynx Edicions. pp. 577–78. ISBN 978-84-87334-10-8.
  3. Snow, D. W.; Perrins, C. M. (1998). The Birds of the Western Palearctic (Concise ed.). Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-854099-1.
  4. Madge, S.; Burn, H. (1987). Wildfowl: An Identification Guide to the Ducks, Geese and Swans of the World. A & C Black. ISBN 978-0-7470-2201-5.
  5. κύκνος Henry George Liddell, Robert Scott, A Greek-English Lexicon.
  6. Simpson, D. P. (1979). Cassell's Latin Dictionary (5th ed.). London: Cassell. ISBN 978-0-304-52257-6.
  7. 7.0 7.1 del Hoyo, Josep; Elliott, Andrew; Sargatal, Jordi, บ.ก. (1992). Handbook of the Birds of the World. Vol. 1, Ostrich to Ducks. Barcelona: Lynx Edicions. pp. 577–78. ISBN 978-84-87334-10-8.
  8. Madge, S.; Burn, H. (1987). Wildfowl: An Identification Guide to the Ducks, Geese and Swans of the World. A & C Black. ISBN 978-0-7470-2201-5.
  9. Northcote, E. M. (1981). "Size difference between limb bones of recent and subfossil Mute Swans (Cygnus olor)". J. Archaeol. Sci. 8 (1): 89–98. doi:10.1016/0305-4403(81)90014-5.
  10. Palmer, Ralph S., บ.ก. (1976). Handbook of North American Birds. Vol. 2. New Haven: Yale University Press. ISBN 978-0300019025.
  11. 11.0 11.1 Jefferson, George T.; Lindsay, Lowell, บ.ก. (2005). Fossil Treasures of the Anza-Borrego Desert. Sunbelt Publications. p. 153. ISBN 9780932653505.
  12. The Waterfowl of the World. pp. 262–265.
  13. Madge, Steve, Waterfowl: An Identification Guide to the Ducks, Geese, and Swans of the World. Houghton Mifflin Harcourt (1992), ISBN 978-0-395-46726-8
  14. Mullarney, K., Svensson, L, Zetterstrom, D., & Grant, P.J. (1999) Collins Bird Guide. HarperCollins Publishers Ltd., London p. 14
  15. 15.0 15.1 Madge, S.; Burn, H. (1987). Wildfowl: An Identification Guide to the Ducks, Geese and Swans of the World. A & C Black. ISBN 978-0-7470-2201-5.
  16. del Hoyo, et al., Handbook of the Birds of the World. Volume 1: Ostrich to Ducks (Handbooks of the Birds of the World). Lynx Edicions (1992), ISBN 978-84-87334-10-8
  17. Madge, S.; Burn, H. (1987). Wildfowl: An Identification Guide to the Ducks, Geese and Swans of the World. A & C Black. ISBN 978-0-7470-2201-5.
  18. CRC Handbook of Avian Body Masses by John B. Dunning Jr. (Editor). CRC Press (1992), ISBN 978-0-8493-4258-5.
  19. Sears, J. (1989). Feeding activity and body condition of mute swans Cygnus olor in rural and urban areas of a lowland river system. Wildfowl, 40(40), 88–98.
  20. Reynolds, C. M. (1972). Mute Swan weights in relation to breeding. Wildfowl, 23(23), 8.
  21. Bacon, P. J., & Coleman, A. E. (1986). An analysis of weight changes in the Mute Swan Cygnus olor. Bird Study, 33(3), 145–158.
  22. Wood, Gerald (1983). The Guinness Book of Animal Facts and Feats. ISBN 978-0-85112-235-9.
  23. 23.0 23.1 หงส์ใบ้. eBird, สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธุ์ 2564.
  24. "The Mute Swan | Birds of Eden". Birds of Eden. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014.
  25. Cramp, S., บ.ก. (1977). The Birds of the Western Palearctic. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-857358-6.
  26. Taylor, Moss (January 2018). "The Polish swan in Britain & Ireland". British Birds. 111 (1): 10–24.
  27. Parrott, D.; McKay, H. V. (2001). "Mute swan grazing on winter crops: Estimation of yield loss in oilseed rape and wheat. Mute swans occasionally eat insects, amphibians and smaller birds". J. Crop Protection. 20 (10): 913–919. doi:10.1016/s0261-2194(01)00041-2.
  28. Cramp, S., บ.ก. (1977). The Birds of the Western Palearctic. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-857358-6.
  29. Hogan, C. M. (2006). Environmental Database for Oland, Sweden. Lumina Press.
  30. Scott, P.; Wildfowl Trust (1972). Behavioral patterns of juvenile Mute Swans.
  31. "The Berwick Swan and Wildlife Trust". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 August 2009.
  32. "Mute Swan". allaboutbirds.org. สืบค้นเมื่อ 29 April 2016.
  33. Cramp, S., บ.ก. (1977). The Birds of the Western Palearctic. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-857358-6.
  34. https://www.bbc.co.uk/news/magazine-17736292
  35. "Mute Swan". New York Department of Environmental Conservation. สืบค้นเมื่อ 3 May 2012.
  36. "Mute Swan". New York Department of Environmental Conservation. สืบค้นเมื่อ 3 May 2012.
  37. "ADW: Cygnus olor: INFORMATION". Animaldiversity.ummz.umich.edu. สืบค้นเมื่อ 3 May 2012.
  38. Watson, Jeff (2011). The Golden Eagle (Second ed.). ISBN 978-0-30017-019-1.
  39. "Protection of swans from attack by dangerous/uncontrolled dogs? – a Freedom of Information request to Department for Environment, Food and Rural Affairs". 17 March 2013.
  40. "Swan beats dog to death in park pond". Metro (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2 July 2019. สืบค้นเมื่อ 7 July 2019.
  41. "Two dogs killed in swan attacks". 25 May 2004. Retrieved 7 July 2019.
  42. "Topic: Busking". Bird On! Bird Care. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014.
  43. Terenius, Olle (1 September 2016). "Windsurfing in Mute Swans (Cygnus olor)" (PDF). The Wilson Journal of Ornithology. 128 (3): 628–631. doi:10.1676/1559-4491-128.3.628. ISSN 1559-4491.
  44. "Windsurfing Mute Swan".
  45. Wedderburn, Pete. "Animals grieve just as people do". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 25 July 2019.
  46. "Lonely Irish swan 'hugs' cars after its mate was killed". IrishCentral.com (ภาษาอังกฤษ). 22 October 2018. สืบค้นเมื่อ 25 July 2019.
  47. "The care and treatment of swans and waterfowl with an established worldwide reputation". The Swan Sanctuary (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 25 July 2019.
  48. "Frequently Asked Questions (FAQs)". The Swan Sanctuary. สืบค้นเมื่อ 3 April 2019.
  49. Dement'ev, G. P.; Gladkov, N. A. (1967). Birds of the Soviet Union. Vol. IV. U.S. Fish & Wildlife Translation.
  50. LC Mute Swan Cygnus olor BirdLife International, สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธุ์ 2564.
  51. del Hoyo, Josep; Elliott, Andrew; Sargatal, Jordi, บ.ก. (1992). Handbook of the Birds of the World. Vol. 1, Ostrich to Ducks. Barcelona: Lynx Edicions. pp. 577–78. ISBN 978-84-87334-10-8.
  52. Snow, D. W.; Perrins, C. M. (1998). The Birds of the Western Palearctic (Concise ed.). Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-854099-1.
  53. Austin, G.; Collier, M.; Calbrade, N.; Hall, C.; Musgrove, A. (2008). Waterbirds in the UK 2006/07. Thetford: Wetland Bird Survey. ISBN 978-1-906204-33-4.
  54. 54.0 54.1 Snow, D. W.; Perrins, C. M. (1998). The Birds of the Western Palearctic (Concise ed.). Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-854099-1.
  55. Baker, Helen; Stroud, David A.; Aebischer, Nicholas J.; Cranswick, Peter A.; Gregory, Richard D.; McSorley, Claire A.; Noble, David G.; Rehfisch, Mark M. (January 2006). "Population estimates of birds in Great Britain and the United Kingdom" (PDF). British Birds. 99: 25–44. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-03-08. สืบค้นเมื่อ 2021-02-05.
  56. "About Mute Swans". northwestswanstudy.org.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 March 2016. สืบค้นเมื่อ 3 February 2013.
  57. "Swan Upping on the River Thames – History by The Royal Windsor Web Site". thamesweb.co.uk.
  58. Ticehurst, N. E. (1957). The Mute Swan in England. London: Cleaver-Hume Press.
  59. Holloway, S. (1996). The Historical Atlas of Breeding Birds in Britain and Ireland 1875–1900. London: Poyser. ISBN 978-0-85661-094-3.
  60. Jane Sears; Alan Hunt. "Lead Poisoning in Mute Swans". สืบค้นเมื่อ 19 July 2018.
  61. Snow, D. W.; Perrins, C. M. (1998). The Birds of the Western Palearctic (Concise ed.). Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-854099-1.
  62. del Hoyo, Josep; Elliott, Andrew; Sargatal, Jordi, บ.ก. (1992). Handbook of the Birds of the World. Vol. 1, Ostrich to Ducks. Barcelona: Lynx Edicions. pp. 577–78. ISBN 978-84-87334-10-8.
  63. Petrie, Scott A.; Francis, Charles M. (2010). "Rapid increase in the lower Great Lakes population of feral mute swans: a review and a recommendation". Wildlife Society Bulletin. 31 (2): 407.
  64. Allin, Charles C.; Husband, Thomas P. (September 2003). "Mute Swan (Cygnus olor) impact on submerged aquatic vegetation and macroinvertebrates in a Rhode Island coastal pond". Northeastern Naturalist. 10 (3): 305–318. doi:10.1656/1092-6194(2003)010[0305:MSCOIO]2.0.CO;2. ISSN 1092-6194.
  65. Williams, Steve. "Finding of No Significant Impact and Final Environmental Assessment for the Management of Mute Swans in the Atlantic Flyway" (PDF). Federal Register. 68 (152): 47085.
  66. "Final List of Bird Species to Which the Migratory Bird Treaty Act Does Not Apply" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 26 July 2011.
  67. "Bird lovers, Conn. are at odds on swans". Boston Globe. 24 December 2007. Retrieved 7 April 2009.
  68. "Mute Swan Advocacy". Mute Swan Advocacy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 August 2011. สืบค้นเมื่อ 3 May 2012.
  69. "Final List of Bird Species to Which the Migratory Bird Treaty Act Does Not Apply" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 26 July 2011.
  70. "Protection status changes to Wildlife Act". New Zealand Government. 10 June 2010.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  71. หงส์ขาว/Mute Swan (Cygnus olor) องค์การสวนสัตว์, 29 พฤศจิกายน 2560.
  72. หงส์ขาว/Mute Swan (Cygnus olor) สวนสัตว์เชียงใหม่, 11 เมษายน 2560.
  73. หงส์ขาว/Mute Swan (Cygnus olor) สวนสัตว์นครราชสีมา, 11 เมษายน 2560.
  74. หงส์ขาว/Mute Swan (Cygnus olor) สวนสัตว์ขอนแก่น, 11 เมษายน 2560.
  75. British Monarchy website regarding swan upping and the Crown's ownership of Mute Swans.
  76. "Swan Watch: The Bishop's Swans". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-29. สืบค้นเมื่อ 4 September 2013.
  77. Slack, Donovan (12 August 2005). "Thou art no Romeo". Boston Globe. Retrieved 26 December 2009.
  78. Monier-Williams, Monier, Sir, 1819-1899. (2004). A[n] English-Sanskrit dictionary (AES 2nd reprint ed.). New Delhi: Asian Educational Services. ISBN 81-206-1509-3. OCLC 58437084.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  79. C.B. Varma. The Story of Two Swans. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2564.
  80. Dave, K. N., 1884-1983. (2005). Birds in Sanskrit literature : with 107 bird illustrations (Rev ed.). Delhi: Motilal Banarsidass Publishers. ISBN 81-208-1842-3. OCLC 213224574.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  81. Scherer & Hilsberg (1982) Hybridisierung und Verwandtschaftsgrade innerhalb der Anatidae - eine systematische und evolutionstheoretische Betrachtung, Journ. für Orn. Bd 123:357-380
  82. 82.0 82.1 82.2 Mathiasson 1992, p. 43–59