ข้ามไปเนื้อหา

วิชวลเค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วิชวลเค (ญี่ปุ่น: ヴィジュアル系โรมาจิvijuaru keiทับศัพท์: ทับศัพท์จาก; Visual Kei) เป็นวัฒนธรรมย่อยทางดนตรีรูปแบบหนึ่งของนักดนตรีชาวญี่ปุ่น วิชวลเคมาจากการผสมคำว่า วิชวล (อังกฤษ: Visual) ซึ่งแปลว่า "ภาพลักษณ์" และคำว่าเค (ญี่ปุ่น: โรมาจิkei) ซึ่งแปลว่า "แนวทาง" ดังนั้นวิชวลเคจึงสามารถนิยามได้ว่าเป็นวัฒนธรรมทางดนตรีที่เน้นภาพลักษณ์มากกว่าสกุลทางดนตรี หรือสั้นๆว่า "ดนตรีแนวภาพลักษณ์" [1] วิชวลเคมักถูกเข้าใจผิดว่ามีแต่วงดนตรีร็อกเพราะมีต้นกำเนิดมาจากวงดนตรีร็อกที่เรียกแนวทางของตนว่าวิชวลร็อก แต่อันที่จริงวงวิชวลเคมีแนวทางทางดนตรีที่หลากหลายทั้งร็อก, ป๊อป, พังก์, โกธิก, เมทัล ฯลฯ

กำเนิดของวิชวลเค

[แก้]

ในช่วงทศวรรษที่ 1960 วงการดนตรีในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเกิดวัฒนธรรมทางดนตรีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ไซเคเดลิกร็อก ซึ่งเน้นเนื้อหาของดนตรี และเนื้อเพลงเกี่ยวกับการเมือง, และจิตวิญญานแบบเสรีนิยม ในส่วนของเสียงนั้นมีรากฐานมากจากเพลงบลูส์ผสมผสานเข้ากับร็อกแอนด์โรล ซึ่งแนวทางย่อยๆของวัฒนธรรมไซเคเดลิกร็อกอาทิ โพรเกรสซีฟร็อก,พังก์ร็อก,ฮาร์ดร็อก และแกลมร็อก ได้ถูกนำเข้ามาสู่ญี่ปุ่นในราวกลางทศวรรษที่ 1960 และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมทางดนตรีต่อวัยรุ่นในญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก[2]

เอ็กซ์วงดนตรีระดับหัวหอกของวัฒนธรรมวิชวลร็อก

ในราวทศวรรษที่ 1980 วงดนตรีอินดี้ร็อกของญี่ปุ่นได้แก่ เอ็กซ์, บัค-ทิค, เดอร์ แลงเจอร์ และ คัลเลอร์ ได้เริ่มแสดงดนตรีด้วยการแต่งตัวด้วยชุดหนังสีดำ แต่งหน้าอย่างฉูดฉาด ย้อมสีผมเป็นสีสันแปลกๆ ที่สำคัญและทำให้วิชวลร็อกเป็นที่รู้จักคือมีการแต่งกายแบบข้ามเพศซึ่งยังนิยมมาถึงวงวิชวลเคในปัจจุบัน วงดนตรีดังกล่าวเรียกแนวทางทางดนตรีของวงว่าเป็น วิชวลร็อก ซึ่งแปลว่าดนตรีร๊อกแนวภาพลักษณ์ โดยคำว่าวิชวลร๊อกนี้มีที่มาจากสโลแกนของวงเอ็กซ์ที่ว่า Psychedelic Violence Crime of Visual Shock [3] [4]

ช่วงทศวรรษที่ 1990 วิชวลร็อกกลายเป็นวัฒนธรรมทางดนตรีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง มีวงดนตรีจำนวนมากที่นิยามแนวทางของวงว่าเป็นวิชวลร็อก อย่างไรก็ตามวงดนตรีจำนวนมากได้ผสมผสานดนตรีร็อกเข้ากับดนตรีอีกหลายสกุลอาทิโกธิกร็อก อาทิ มาลิซไมเซอร์, ป็อปร็อก อาทิ ลาร์คอองเซียล, อัลเทอร์เนทีฟเมทัล อาทิ เดอร์ ออง เกรย์ หรือไม่ก็เล่นดนตรีที่ไม่มีส่วนผสมของความเป็นร๊อกเลยอาทิ ชาซน่า, เพนนิซิลลิน ทำให้วงดนตรีเหล่านี้เรียกตัวเองว่าวิชวลเคแทน ในจุดสูงสุดของวิชวลเคนี้มีวงดนตรีที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมวิชวลเคคือ เอ็กซ์ เจแปน, เกลย์ และ ลูนาซี[3] ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 วงดนตรีวิชวลเคจำนวนมากที่เริ่มมีชื่อเสียง และเซ็นสัญญากับค่ายคนตรีขนาดใหญ่เริ่มลดความฉูดฉาดของการแต่งตัวลง ในขณะที่วงดนตรีจำนวนมากมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละทิ้งอุดมการณ์ของวิชวลเค จึงมีวงดนตรีวิชวลเคที่มีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อยที่ปฏิเสธที่จะเซ็นสัญญากับค่ายคนตรีขนาดใหญ่[5] ค.ศ. 1999 วัฒนธรรมวิชวลเคเริ่มเสื่อมถอยไปพร้อมๆกับการเสียชีวิตของ ฮิเดะโตะ มัทซึโมะโตะ และนำมาซึ่งการประกาศยุบวงของ เอ็กซ์ เจแปน หลังจากลูนาซีประกาศยุบวงใน ค.ศ. 2000 ก็ยิ่งทำให้กระแสวิชวลเคซบเซา[3]

อย่างไรก็ตามในทศวรรษที่ 2000 ถึงแม้จะซบเซาลงและไม่ได้กลายเป็นวัฒนธรรมทางดนตรีกระแสหลักของญี่ปุ่นดังที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 วัฒนธรรมวิชวลเคเองก็ยังได้รับความนิยมอยู่ในหมู่วัยรุ่น โดยเฉพาะในย่าน ฮะระจุกุ ซึ่งเป็นย่านการค้า และแฟชันที่สำคัญของญี่ปุ่น [6]

แนวทางต่างๆของวิชวลเค

[แก้]

การที่วงดนตรีวิชวลเคนั้นให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมทางสายตาเป็นหลัก ดังนั้นวงดนตรีวิชวลเคจึงมักนิยามแนวทางของวงบนฐานของแฟชั่นมากกว่าแนวเพลงที่มักผสมผสานจนไม่สามารถนิยามได้อย่างตายตัว ในปัจจุบันแฟชั่นการแต่งกายของวงวิชวลเคเองก็มักผสมผสานจนไม่ได้สามารถแยกได้อย่างตายตัวว่าวงดนตรีใดมีแนวทางใด หากแบ่งหยาบๆวงวิชวลเคสามารถแยกย่อยตามอารมณ์ของทำนองและเนื้อร้อง[7]เป็น 2 แบบกว้างๆคือ

  • แนวดำ (อังกฤษ: Black Kei) จะมีเนื้อร้องและทำนองที่หมองหม่น เพลงที่เล่นมักมีจังหวะหนักแน่น หรือเน้นความเร็ว วงแนวนี้ส่วนมากจะเล่นเพลงเมทัลเป็นหลัก บางทีวงแนวดำส่วนมากจึงมักถูกเรียกว่า เมทัล เค (ญี่ปุ่น: メタル系โรมาจิMetaru kei) ด้วย
  • แนวขาว (อังกฤษ: White Kei) จะมีเนื้อร้องและทำนองที่สดใสกว่า เน้นเมโลดี้ของเพลง และการเรียบเรียงที่งดงาม[8]

อย่างไรก็ตามหากจำแนกแนวทางย่อยต่างๆของวิชวลเคตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังพอสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มอย่างน้อย 5 กลุ่มใหญ่ โดยในแต่ละกลุ่มก็จะมีการแยกย่อยลงไปอีกมากมาย ดังนี้

โคเทะเค

[แก้]

โคเทะเค (ญี่ปุ่น: コテ系โรมาจิkote kei) หรือวิชวลเคแบบโบราณ (อังกฤษ: Traditional Visual Kei) บางทีก็เรียกว่าว่าโคเทะ, โคเทะโคเทะ, หรือโคเทะโคเทะเคเป็นวงดนตรีที่มีการแต่งตัวที่เน้นความเคร่งขรึม มืดมนเป็นหลัก โดยยึดถือแนวทางแฟชั่นของวงดนตรีวิชวลร็อกในยุค 1980 เป็นสำคัญ ซึ่งแนวทางของวงแนวโคเทะเคนั้นถูกนิยามด้วย 3 อุดมการณ์หลักคือ แปลก, ทราม และสุนทรีย์ โดยวงโคเทะเคอาจมีทั้งแบบที่นำเอาวัฒนธรรมการแต่งตัว และเครื่องดนตรีของญี่ปุ่นมาผสมเข้ากับวัฒนธรรมวิชวลเค อาทิ คางูระ, องเมียวสะ หรือแบบที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมโกธิกร็อก (ญี่ปุ่น: コツィク系โรมาจิGothic kei) และแฟชั่นแนวโกธิก โลลิต้า อาทิ มัว ดิกซ์ มัวส์ แต่งตัวแบบ ปีศาจ หรือ เดวิล เค (ญี่ปุ่น: デビル系โรมาจิDebiru kei) อาทิ ดี,ฟานทาสมาโกเรีย, มาเทนรู โอเปร่า,เดลูฮี หรือแบบเอเลเกนท์ โกธิค เค อาทิ มาลิซ ไมเซอร์, แวร์ซาย์ แต่งตัวแบบคอสเพลย์ (ญี่ปุ่น: コスプレ系โรมาจิKosubure kei) อาทิวงไซโค เลอ เซมู

โคเทะโอสะเค

[แก้]

โคเทะโอสะเค (ญี่ปุ่น: コテ信系โรมาจิkoteosa kei) หรือวิชวลเคแบบนุ่มนวล (อังกฤษ: Soft Visual kei) เป็นแนวทางการแต่งตัวที่เน้นการแต่งตัวแบบธรรมดา และการแต่งหน้าแบบบางๆมากกว่าแนวโคเทะเค แต่ยังคงเน้นการแต่งกายด้วยสีดำเป็นหลัก วงวิชวลเคที่แต่งกายแบบโคเทะโอสะมักเป็นวงโคเทะเคเดิม แต่ต่อมาได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงขนาดใหญ่จึงลดความฉูดฉาดของการแต่งตัวลง และมักทำดนตรีให้มีความเป็นเพลงตลาดมากขึ้น วงวิชวลเคที่มีการแต่งกายแบบโคเทะโอสะมีอาทิ เกลย์, สยาม เฉด, ลาร์คอองเซียล, เดอร์ ออง เกรย์, ไฮดี, ไนท์แมร์ ในส่วนของดนตรีและเนื้อร้องของวงแนวโคเทะโอสะส่วนมากนั้นมักจะเน้นเมโลดี้ และเนื้อเพลงที่ไม่มืดหม่นนัก และมักปฏิเสธว่าวงดนตรีของตนไม่ได้มีแนวทางแบบวิชวลเคด้วยเหตุผลว่าการแสดงดนตรีต้องแต่งหน้า แต่งตัวขึ้นเวทีอยู่แล้ว[9] บางวงจึงเรียกแนวของวงตนเองว่า นอร์มอล เค (อังกฤษ: Normal kei) หรือ โนรุมะ เค (ญี่ปุ่น: ノルマ系โรมาจิ์Noruma kei)

นาโงย่าเค

[แก้]

นาโงย่าเค (ญี่ปุ่น: 名古屋系โรมาจิnagoya kei) เป็นวัฒนธรรมวิชวลเคที่กำเนิดขึ้นในเมือง นะโงะยะ และกระจายตัวได้รับความนิยมอยู่ในพื้นที่แถบจังหวัดไอจิของญี่ปุ่น นาโงย่าเคกำเนิดขึ้นในราวทศวรรษที่ 1990 โดยได้รับอิทธิพลทางดนตรีจากดนตรีพังก์ฝั่งอังกฤษ, ดนตรีโกธิก และ เดธเมทัล เนื้อร้องและทำนองของเพลงจากวงนาโงย่าเคจึงเน้นเสียงทุ้มต่ำแสดงออกถึงความมืดมน โหดร้าย สิ้นหวัง และความเศร้าเป็นหลัก การแต่งกายของวงนาโงย่าเคจะแต่งกายแบบคาบเกี่ยวระหว่างโคเทะโคเทะและโคเทะโอสะ บางครั้งก็มีการผสมผสานการแต่งกายแบบโอชาเระเข้ามาด้วยเพียงแต่ไม่จัดจ้านเท่า วงดนตรีที่ได้ชื่อว่าเป็นจุดกำเนิดของแนวนาโงย่าเคคือ วง ซิลเวอร์~โรส (อังกฤษ: Silver~Rose) อย่างไรก็ตามมีวงที่นิยามแนวดนตรีของตนว่านาโงย่าเค แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวงนาโงย่าเค อาทิ ฟานาติก◇ไครซิส,ลาพิวต้า, คาเงโระ ปัจจุบันวงดนตรีทีมีชื่อเสียงของแนวนาโงย่าเคคือ เดทเกซ, ลินช์, -ออซ-, ไนน์โกทส์ แบล็คเอาท์, กาเซล, อีท ยู อไลฟ์ เป็นต้น[10]

อังกุระเค

[แก้]

อังกุระเค (ญี่ปุ่น: アングーラ系โรมาจิangura kei) เป็นวงดนตรีที่ไม่ได้มีลักษณะของวัฒนธรรมการแต่งกายที่ตายตัว การแต่งกายของวงดนตรีแนวอังกุระอาจแต่งกายทั้งแบบโคเทะเค, โคเทะโอสะเค, โอชาเระเค, นาโงย่าเค ได้ แต่จุดร่วมอย่างหนึ่งของวงแนวอันกุระเคคือการเรียบเรียงดนตรีโดยนำเอาสำเนียงแบบพังก์ร็อก เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของเพลง[11] คำว่าอันกุระ (ญี่ปุ่น: アングーラโรมาจิangura) นั้นก็คือการออกเสียงคำว่า Underground ด้วยสำเนียงแบบญี่ปุ่นนั่นเอง (ออกเสียงว่า อัง-ดะ-กุ-ระ-โดะ)[12] วงอันกุระ เคที่มีชื่อเสียงอาทิ เดอร์ ออง เกรย์, คาลิ≠การิ, เฮจิ,มุคคุ, กิรุกาเมช, ซาดิ

นอกจากนี้วงอันกุระเคส่วนหนึ่งมีการแต่งเนื้อเพลงที่เน้นไปที่เรื่องเพศ, ความรุนแรง, ความวิปริต ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า พอร์น เค (อังกฤษ: Porn kei) หรือ โพรุโนะ เค (ญี่ปุ่น: ポルノ系โรมาจิ์Poruno kei) อีกคำหนึ่งที่ใช้คือ เวียร์ด เค (อังกฤษ: Weird kei) หรือ วิอิโดะ เค (ญี่ปุ่น: ヰド系โรมาจิ์Wiido kei) และมีการแต่งตัวที่แปลกประหลาดโดยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมทางดนตรีแบบโพสต์พังก์ โดยเฉพาะจากวง มาริลีน แมนสัน วงอันกุระกลุ่มนี้จะเรียกตัวเองว่า อีโร กุโร (ญี่ปุ่น: エログロโรมาจิero guro) ซึ่งย่อมาจากคำว่า erotic and grotesque (ความหมกมุ่นทางเพศ และความวิตถาร) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากมาจากวัฒนธรรมอีโร กุโร นันเซ็ทสุ (อังกฤษ: Erotic Grotesque Nonsense) ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางศิลปะของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ราวทศวรรษ 1920 วงอันกุระที่เป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมอีโรกุโรคือวง คาลิ≠การิ[13] ส่วนวงอังกุระบางวงจะเน้นทำเพลงแบบโพรเกรสซีฟร็อก ซึ่งจะเรียกตัวเองว่า สตอร์รี่ เค (อังกฤษ: Story kei หรือ สุโตริ เค (ญี่ปุ่น: ヅトリ系โรมาจิ์Sutori kei) อาทิ สตอร์เบอร์รี่ ซอง ออเคสตร้า, อินุงามิ เซอร์คัส-ดัง เป็นต้น

โอชาเระเค

[แก้]

โอชาเระเค (ญี่ปุ่น: おしゃれ系โรมาจิOshare kei) เป็นแนวทางที่เกิดขึ้นกับวงวิชวลเคที่นำเอาวัฒนธรรมการแต่งตัวแบบฮาราจูกุ[14] วัฒนธรรมของวงโอชาเระจะเน้นแฟชั่นที่ดูสดใส สวยงาม มีสีสัน ให้ความรู้สึกสนุกสนานและมีความสุขตามความหมายของคำว่าโอชาเระ (ญี่ปุ่น: おしゃれโรมาจิoshare) คือแฟชั่นธรรมดาที่ดูสดใส วัฒนธรรมโอชาเระยังยึดถือการแต่งตัวข้ามเพศเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมอีกด้วย ในวงโอชาเระบางวงจะมีการแต่งตัวที่ไม่เน้นสีสันหรือเครื่องประดับมากนัก รวมถึงไม่มีการแต่งตัวข้ามเพศ จะเรียกวงเหล่านี้ว่า เดโคระ เค (ญี่ปุ่น: デコラ系โรมาจิDecora kei) เช่น แก๊กต์, เดอะ กาเซตต์, อลิซ ไนน์ เป็นต้น แต่ถ้าเน้นการแต่งตัวแบบ คาวายอิ ก็จะเรียกว่า คาวายอิ เค (ญี่ปุ่น: かわいい系โรมาจิKawaii kei) เช่น เมก้ามัสโซ่, แอนทิค คาเฟ่ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นวงที่มีกำเนิดแถวชิบุยะ จะเรียกตัวเองว่า ชิบุย่า เค (ญี่ปุ่น: 渋谷系โรมาจิShibuya kei)

วัฒนธรรมโอชาเระเป็นวิชวลเคที่เกิดหลังสุดคือราวต้นทศวรรษที่ 2000 ทว่าได้รับความนิยมใหมู่วัยรุ่นญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว โอชาเระเคได้รับอิทธิพลมาจากการแต่งกายของเรียวนักร้องนำของวงบาโรค ในมิวสิกวิดีโอเพลง "Anakuro Film" (ญี่ปุ่น: アナクロ film) และอิทธิพลและวัฒนธรรมการนำเสนอทางดนตรีของวงฮิเดะ วิธ สเปรดบีเวอร์ในปัจจุบันวงดนตรีแนวโอชาเระถือได้ว่าเป็นวิชวลเคกระแสหลักของวัฒนธรรมวิชวลเค ซึ่งแนวเพลงของวงโอชาเระมักเป็นเพลงจังหวะสนุกสนาน โดยไม่เน้นที่ความเป็นร็อกมากนัก ที่สำคัญคือการนำเอาดนตรีแบบอิเล็กทรอนิกาเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของทำนองในเพลงวงดนตรีแนวโอชาเระที่มีชื่อเสียงอาทิ เดอะ กาเซตต์, อลิซ ไนน์, อยาบิเอะ, เมก้ามัสโซ่, แอนทิค คาเฟ่, มิยาบิ เป็นต้น[15]

อิทธิพลของวิชวลเคในสังคมไทย

[แก้]

วัฒนธรรมวิชวลเคเข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทยราวปลายทศวรรษที่ 1980 (ราว พ.ศ. 2530) โดยวัฒนธรรมที่ถูกนำเข้ามาในยุคนี้นั้นเป็นวัฒนธรรมในช่วงที่วิชวลเคยังถูกเรียกว่าวิชวลร็อกอยู่ ซึ่งทำให้ในปัจจุบันสังคมไทยยังเข้าใจวัฒนธรรมวิชวลเคด้วยการติดภาพของวงวิชวลร็อกในยุคแรกนี้

วัฒนธรรมวิชวลเคที่ถูกนำเข้ามาสู่สังคมไทยในส่วนของดนตรีนั้นที่เด่นชัดที่สุดคือเพลง "Say Anything" ของวงเอ็กซ์ที่ถูกนำมาเรียบเรียงเนื้อร้องใหม่เป็นเพลง "เธอไม่เคยตาย" โดยวงทู(อังกฤษ: Two) และในช่วงเวลาเดียวกันนี้วงวิชวลเคจำนวนมากได้กลายเป็นที่รู้จักในสังคมไทย โดยสังคมไทยมักเรียกวงเหล่านี้ว่าวงเจร็อก และเจป็อป ซึ่งวงเหล่านี้ก็สร้างแฟนคลับได้มากพอสมควร ในเวลาต่อมาวงจิว่า (อังกฤษ: Jiwa) [16] และ เพาเวอร์แพท(อังกฤษ: Power Pat) เป็นวงดนตรีไทยวงแรกๆที่นำเสนอภาพลักษณ์ของวงในแบบโคเทะโอสะเค รวมถึงการเรียบเรียงเนื้อร้องและทำนองแบบวิชวลเค นอกจากนี้ไมเคิล ตั๋ง ยังเคยใช้ภาพลักษณ์แบบโคเทะเคมาประกอบการแสดงในวง ฮ็อทด็อก (อังกฤษ: Hot Dog) นอกจากนี้วัฒนธรรมวิชวลเคโดยเฉพาะวัฒนธรรมโคเทะโคเทะยังมีความสัมพันธ์กับจุดเริ่มต้นของกิจกรรมการแต่งคอสเพลย์ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสังคมไทยช่วงราว พ.ศ. 2541 อีกด้วย[17] ในปัจจุบันวัฒนธรรมวิชวลเคแนวต่างๆก็ยังเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในสังคมไทย และมีนักดนตรีจำนวนหนึ่งที่ยังคงเล่นเพลงของวงวิชวลเคทั้งในแบบเพลงคัพเวอร์ และเพลงต้นฉบับ อาทิ วง ครักซ์ (อังกฤษ: Crux), วงเดิรท บีช (อังกฤษ: Dirt Beach), วงลาเมนเทีย (อังกฤษ: Lamentia)[18] , วงเมลโรส (อังกฤษ: Malerose)[19], วงชายกะสัน[20] เป็นต้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. ""Visual Kei" Quoted in Urban Encyclopedia, (Aug 31, 2003)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-10-16.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-04. สืบค้นเมื่อ 2012-09-28.
  3. 3.0 3.1 3.2 Dejima, Kōji (出嶌 孝次) www.bounce.com Original Link, Archive Link, Bounce Di(s)ctionary Number 13 - Visual Kei Retrieved September 12, 2007 (Japanese)
  4. Inoue, Takako (2003). Visual kei no jidai. Tokyo: Seikyūsha. ISBN 978-4787232168.
  5. ""Soft Visual Kei" Quoted in Urban Encyclopedia, (Oct 21, 2007)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-10-16.
  6. http://www.harajukustyle.net/visual_kei.htm
  7. ดูเพิ่มที่ http://kei-music.myblog.de/kei-music/page/1675689[ลิงก์เสีย]
  8. "Kote Kei" Quoted in Urban Encyclopedia, (Oct 21, 2007)[ลิงก์เสีย]
  9. ""Soft Visual Kei" Quoted in Urban Encyclopedia, (Oct 21, 2007)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-10. สืบค้นเมื่อ 2021-10-16.
  10. "Nagoya Kei" in JaME World, (Nov 13, 2008)[ลิงก์เสีย]
  11. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-22. สืบค้นเมื่อ 2011-05-07.
  12. "Angura Kei" Quoted in Urban Encyclopedia, (Mar 21, 2006)[ลิงก์เสีย]
  13. ""Eroguro" Quoted in Urban Encyclopedia, (Mar 10, 2005)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-10. สืบค้นเมื่อ 2021-10-16.
  14. "Oshare Kei" Quoted in Urban Encyclopedia, (Oct 14, 2006)[ลิงก์เสีย]
  15. ""Oshare Kei" Quoted in Urban Encyclopedia, (Dec 9, 2006 )". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-10-16.
  16. http://moonclock.exteen.com/20100121/j-rock[ลิงก์เสีย]
  17. คอสเพลย์เจร็อค, Cosplay Wiki
  18. ดู http://jrock-explosion.exteen.com/bands-1 เก็บถาวร 2010-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  19. ประวัติวงเมลโรส
  20. เฟซบุ๊ควงชายกะสัน