ข้ามไปเนื้อหา

มารีย์ (มารดาพระเยซู)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มารีย์
แม่พระระทมทุกข์ วาดโดยซัสโซแฟร์ราโต ราวคริสต์ศตวรรษที่ 17
เกิดไม่ปรากฏ แต่ได้กำหนดให้วันที่ 8 กันยายนเป็นวันฉลองแม่พระบังเกิด[1]
สัญชาติอิสราเอล จักรวรรดิโรมัน[2]
คู่สมรสนักบุญโยเซฟ[3]
บุตรพระเยซู
บิดามารดานักบุญโยอาคิมและนักบุญอันนา[4]

มารีย์[5] (ฮีบรู: מרים, มัรยาม, มีเรียม) คริสต์ศาสนิกชนบางนิกายเรียกว่าพระแม่มารีย์ พระนางมารีย์พรหมจารี (อังกฤษ: Blessed Virgin Mary) หรือพระนางมารีย์พระชนนีพระเป็นเจ้า (Mary, Mother of God) (ในอัลกุรอานว่านางมัรยัม) เป็นสตรีชาวยิวจากเมืองนาซาเรธ แคว้นกาลิลี คัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่และคัมภีร์อัลกุรอานระบุตรงกันว่านางได้เป็นมารดาของพระเยซูโดยอำนาจของพระเจ้า[6][7][8]

รูปปั้นพระแม่มารี ทรงอุ้มพระกุมาร(พระเยซู) หน้าศูนย์มิสซังราชบุรี

พระวรสารนักบุญมัทธิวและพระวรสารนักบุญลูการะบุว่ามารีย์เป็นหญิงพรหมจรรย์ (παρθένος, parthénos ในภาษากรีก)[9] ชาวคริสต์เชื่อสืบกันมาแต่อดีตว่านางได้ตั้งครรภ์บุตรด้วยอำนาจพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะที่ยังเป็นหญิงพรหมจรรย์ ส่วนชาวมุสลิมก็เชื่อว่านางตั้งครรภ์ด้วยโองการของพระเจ้า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อนางได้หมั้นหมายกับนักบุญโยเซฟแล้วและอยู่ระหว่างรอพิธีแต่งงาน[10] เมื่อนางได้แต่งงานกับโยเซฟแล้วก็ย้ายไปอยู่ที่เมืองเบธเลเฮมซึ่งได้เป็นที่ประสูติพระเยซู[3] ตามธรรมเนียมยิวการหมั้นน่าจะเกิดขึ้นเมื่อนางอายุราว 12 ปีแล้วให้กำเนิดพระเยซูในหนึ่งปีหลังจากนั้น[11]

คัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่เริ่มกล่าวถึงนางด้วยเหตุการณ์แม่พระรับสาร เมื่อทูตสวรรค์กาเบรียลมาปรากฏกายต่อหน้านาง แล้วแจ้งว่าพระเจ้าทรงเลือกนางให้เป็นมารดาของพระเยซู คริสตจักรและข้อเขียนนอกพระคัมภีร์ในยุคแรกยังระบุว่าบิดามารดาของนางเป็นคู่สามีภรรยาสูงอายุชื่อนักบุญโยอาคิมและนักบุญอันนา คัมภีร์ไบเบิลบันทึกถึงบทบาทของนางในชีวิตของพระเยซูตั้งแต่การตั้งครรภ์พระองค์จนถึงพระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์ ข้อเขียนจากคัมภีร์นอกสารบบยังกล่าวว่าหลังจากมรณกรรมนางได้รับการยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณด้วย[12]

ชาวโรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์ แองกลิคัน และลูเทอแรน เชื่อว่ามารีย์ในฐานะที่เป็นมารดาของพระเยซูย่อมถือว่าเป็นพระมารดาพระเจ้า (Μήτηρ Θεοῦ) ด้วย ซึ่งตามตัวอักษร (คำว่า theotokos) แปลว่าผู้ให้กำเนิดพระเจ้า พระแม่มารีย์เป็นที่เคารพนับถือมาตั้งแต่ศาสนาคริสต์ยุคแรก[13][14] ตลอดยุคสมัยนางได้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดงานศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรมมากมายในคริสต์ศาสนา

คริสต์ศาสนานิกายต่าง ๆ จะมีความเชื่อและหลักปฏิบัติที่แสดงถึงเลื่อมใสต่อพระแม่มารีย์แตกต่างกัน ไป คริสตจักรโรมันคาทอลิกมีหลักความเชื่อเกี่ยวกับพระแม่มารีย์โดยเฉพาะ เช่น การปฏิสนธินิรมล การถูกรับขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ชาวคาทอลิกเรียกนางว่าแม่พระหรือพระแม่เจ้า (Our Lady) และมีการแสดงความเคารพต่อนางด้วยเชื่อว่านางเป็นราชินีสวรรค์และมารดาคริสตจักร แต่ชาวโปรเตสแตนต์ส่วนมากไม่ยอมรับความเชื่อเหล่านี้[15][16] ทั้งเห็นว่านางมีบทบาทเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในคริสต์ศาสนา เพราะคัมภีร์ไบเบิลเองก็กล่าวถึงนางเพียงสั้น ๆ นางจึงเป็นเพียงธรรมิกชนและมิได้ถูกยกขึ้นตามความเชื่อที่กล่าวมาข้างต้น

ทัศนะอิสลาม

[แก้]

ส่วนชาวมุสลิมเรียกมารีย์มารดาของพระเยซู (นบีอีซา) ว่า มัรยัม และเชื่อเช่นเดียวกับชาวคริสต์ทั่วไปว่านางให้กำเนิดนบีทั้งที่เป็นหญิงพรหมจรรย์ ในอัลกุรอานยังมีชื่อบทที่ตั้งตามชื่อนางโดยเฉพาะ (คือบทที่ 19 ซูเราะฮ์มัรยัม) กล่าวถึงหลายเหตุการณ์เกี่ยวกับนาง ทั้งก่อนเกิด ตอนเกิด ตอนเติบโต การรับสารจากทูตสวรรค์ว่าจะมีบุตรโดยการเป่าวิญญาณเข้าไปในครรภ์ เพื่อให้กำเนิดนบีอีซา มีการบ่งบอกการเกิดของนางมัรยัมในกุรอาน โดยนางฮันนะฮ์มารดาของมัรยัมได้บนบานกับพระเจ้าไว้ว่าขอให้มีบุตรและหากมีบุตรก็จะมอบให้กับโบสถ์เพื่อการสักการะพระเจ้า ดังใน ซูเราะฮ์ อาละอิมรอน วรรคที่ 35-36

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม

[แก้]
  • อัญชลี สุสายัณห์. “แมรีในฐานะแม่พระ (Mother of God) กับความเปลี่ยนแปลงของคริสตศาสนาในยุโรป.” รวมบทความประวัติศาสตร์ 24 (2545): 1-30.

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Feast of the Nativity of the Blessed Virgin Mary". Newadvent.org. 1911-10-01. สืบค้นเมื่อ 2010-03-02.
  2. The Life of Jesus of Nazareth, By Rush Rhees, (BiblioBazaar, LLC, 2008), page 62
  3. 3.0 3.1 Ruiz, Jean-Pierre. "Between the Crèche and the Cross: Another Look at the Mother of Jesus in the New Testament." New Theology Review; Aug2010, Vol. 23 Issue 3, pp3-4
  4. Ronald Brownrigg, Canon Brownrigg Who's Who in the New Testament 2001 ISBN 0-415-26036-1 page T-62
  5. กิจการของอัครทูต บทที่ 1 ข้อที่ 14 เก็บถาวร 2011-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. คริสตจักรไคร้สตเชิช กรุงเทพ. เรียกข้อมูลวันที่ 25 ก.ค. พ.ศ. 2554
  6. "พระกิตติคุณฉบับมัทธิว บทที่ 1 ข้อที่ 16". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-20. สืบค้นเมื่อ 2011-07-25.
  7. "ลูกา 1:26-56". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-20. สืบค้นเมื่อ 2011-07-25.
  8. "ลูกา 2:2-7". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-22. สืบค้นเมื่อ 2011-07-25.
  9. มัทธิว 1:23 เก็บถาวร 2011-05-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ใช้คำภาษากรีกว่า parthénos ซึ่งแปลว่าพรหมจารี ขณะที่ฉบับภาษาฮีบรูหนังสืออิสยาห์ บทที่ 7 ข้อที่ 14 เก็บถาวร 2011-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ซึ่งภาคพันธสัญญาใหม่ใช้อ้างอิงมากลับระบุแค่เป็น Almah ซึ่งแปลว่าหญิงสาว ดูบทความว่าด้วย parthénos ใน Bauer/(Arndt)/Gingrich/Danker, "A Greek-English Lexicon of the New Testament and Other Early Christian Literature", พิมพ์ครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยชิคาโก, 1979, หน้า 627
  10. Browning, W. R. F. A dictionary of the Bible. 2004 ISBN 0-19-860890-X page 246
  11. Dale C. Allison, "Matthew: A Shorter Commentary", p.12
  12. สมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ เก็บถาวร 2010-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เขตมิสซังกรุงเทพฯ. เรียกข้อมูลวันที่ 14 ก.พ. พ.ศ. 2554
  13. Burke, Raymond L.; et al. (2008). Mariology: A Guide for Priests, Deacons, Seminarians, and Consecrated Persons ISBN 978-1-57918-355-4 page 178
  14. Mary for evangelicals by Tim S. Perry, William J. Abraham 2006 ISBN 0-8308-2569-X page 142
  15. Christian belief and practice by Gordon Geddes, Jane Griffiths 2002 ISBN 0-435-30691-X page 12
  16. "Mary, the mother of Jesus." The New Dictionary of Cultural Literacy, Houghton Mifflin. Boston: Houghton Mifflin, 2002. Credo Reference. Web. 28 September 2010.
  • ความหมายอัลกุรอ่าน ภาษาไทย โดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ