ข้ามไปเนื้อหา

ปองสิบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปองสิบ (เฝิง สี)
馮習
รูปปั้นของปองสิบในศาลจูกัดเหลียงที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน
แม่ทัพใหญ่ (大督)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 221 (221) – ค.ศ. 222 (222)
กษัตริย์เล่าปี่
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ปรากฏ
เมืองจิงโจฺว มณฑลหูเป่ย์
เสียชีวิตค.ศ. 222
อำเภออี๋ตูหรืออำเภอฉางหยาง มณฑลหูเป่ย์
อาชีพขุนพล
ชื่อรองซิวยฺเหวียน (休元)

ปองสิบ (เสียชีวิต ค.ศ. 222) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฝิง สี (จีน: 馮習; พินอิน: Féng Xí) ชื่อรอง ซิวยฺเหวียน (จีน: 休元; พินอิน: Xiūyuán) เป็นขุนพลของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก

ประวัติ

[แก้]

ปองสิบเป็นชาวเมืองลำกุ๋น (南郡 หนานจฺวิ้น)[1] ซึ่งปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองจิงโจฺว มณฑลหูเป่ย์ รับราชการเป็นขุนพลของเล่าปี่ จักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก

ในปี ค.ศ. 221 เล่าปี่โจมตีซุนกวน (ภายหลังคือจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊ก) ผู้เป็นอดีตพันธมิตร หลังซุนกวนทำลายความเป็นพันธมิตรและยึดครองอาณาเขตของเล่าปี่ในมณฑลเกงจิ๋ว รวมถึงจับกวนอูขุนพลของเล่าปี่มาประหารชีวิต ปองสิบเข้าร่วมในการศึกนี้ที่นำไปสู่ยุทธการที่อิเหลงในปี ค.ศ. 221-222 ในช่วงต้นของการศึก ปองสิบและงอปั้นเอาชนะลิอี้ (李異 หลี่ อี้) และหลิว เออ (劉阿) นายทหารของซุนกวนในพื้นที่ใกล้ช่องเขาอู (巫峽 อูเซี่ย) และรุดหน้าไปยังอำเภอจีกุ๋ย (秭歸 จื่อกุย) ปองสิบได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพใหญ่ (大督 ต้าตู) ของทัพจ๊กก๊ก

ในฤดูร้อน ค.ศ. 222 ทัพซุนกวนนำโดยลกซุนเข้าโจมตีตอบโต้ทัพจ๊กก๊กโดยฉับพลันหลังคุมเชิงอยู่ 6 เดือนตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 222[2] ปองสิบถูกสังหารในที่รบโดยทหารใต้บังคับบัญชาของพัวเจี้ยงขุนพลของง่อก๊ก หน่วยทหารที่ปองสิบบัญชาการก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก[3][4]

คำวิจารณ์

[แก้]

ในจี้ฮั่นฝู่เฉินจ้าน (季漢輔臣贊) งานเขียนของหยาง ซี่ ขุนนางของจ๊กก๊ก กล่าวถึงจุดจบของปองสิบว่าเป็นเพราะความมั่นใจมากเกินไปและประเมินข้าศึกต่ำเกินไป[5]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. (休元名習,南郡人。隨先主入蜀。先主東征吳,習為領軍,統諸軍,大敗於猇亭。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  2. (漢人自巫峽建平連營至夷陵界,立數十屯,以馮習為大督,張南為前部督,自正月與吳相拒,至六月不決。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 69.
  3. (初,先主忿孫權之襲關羽,將東征,秋七月,遂帥諸軍伐吳。孫權遣書請和,先主盛怒不許,吳將陸議、李異、劉阿等屯巫、秭歸;將軍吳班、馮習自巫攻破異等, ... 後十餘日,陸議大破先主軍於猇亭,將軍馮習、張南等皆沒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
  4. (劉備出夷陵,璋與陸遜并力拒之,璋部下斬備護軍馮習等,所殺傷甚衆, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 55.
  5. (休元輕寇,損時致害, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.