ข้ามไปเนื้อหา

ปลาแซลมอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาแซลมอน
(Salmon)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์Edit this classification
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
Actinopterygii
อันดับ: Salmoniformes
Salmoniformes
วงศ์: ปลาแซลมอน
Salmonidae
วงศ์ย่อย: ปลาแซลมอน
Salmoninae
กลุ่มที่รวมอยู่ด้วย
หน่วยที่รวมโดยแคลดิสติกส์แต่ไม่รวมโดยดั้งเดิม

สปีชีส์ Oncorhynchus และ Salmo อื่น ๆ ทั้งหมด

ปลาแซลมอน (อังกฤษ: Salmon อ่านว่า /ˈsæmən/ ) เป็นชื่อสามัญของปลาที่มีก้านครีบหลายสปีชีส์ในวงศ์ Salmonidae (วงศ์ปลาแซลมอน) ปลาอื่น ๆ ในวงศ์เดียวกันรวมทั้งปลาเทราต์ (trout), ปลาชาร์, ปลาสกุล Thymallus และปลาในวงศ์ย่อย Coregoninae คือ freshwater whitefish เป็นปลาที่กระจายพันธุ์อยู่ในซีกโลกเหนือ คือ อเมริกาเหนือ, อะแลสกา, ไซบีเรีย, ยุโรปเหนือ, เอเชียเหนือ และเอเชียตะวันออก[1] ปลาแซลมอนเป็นปลาท้องถิ่นของแม่น้ำต่าง ๆ ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ (สกุล Salmo) และในมหาสมุทรแปซิฟิก (สกุล Oncorhynchus) ปลาหลายสปีชีส์ได้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำซึ่งไม่ใช่ที่อยู่เดิมต่าง ๆ รวมทั้งเกรตเลกส์ในอเมริกาเหนือและปาตาโกเนียในอเมริกาใต้ ปลาเลี้ยงกันอย่างกว้างขวางในฟารม์ทั่วโลก

ปลาผสมพันธุ์ในน้ำจืดแต่ชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร มีปลาเพียงส่วนน้อยที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบ[1] ปกติแล้วปลาจะว่ายจากทะเลสู่แม่น้ำเพื่อวางไข่ (anadromous) คือลูกปลาจะออกจากไข่ในน้ำจืด อพยพไปอยู่ในมหาสมุทร แล้วกลับไปยังน้ำจืดเพื่อสืบพันธุ์ แต่ก็มีกลุ่มประชากรของปลาหลายสปีชีส์ที่อยู่ในน้ำจืดตลอดชีวิต นิทานพื้นบ้านเล่าว่าปลาจะกลับไปสู่จุดที่มันออกจากไข่เพื่อวางไข่ และงานศึกษาติดตามปลาก็พบว่านี้จริงโดยมาก ปลาส่วนหนึ่งในช่วงวางไข่ (salmon run) อาจหลงไปยังย่านน้ำจืดอื่นเพื่อวางไข่ เปอร์เซ็นต์ที่หลงขึ้นอยู่กับพันธุ์แซลมอน[2] พฤติกรรมว่ายกลับบ้านปรากฏว่าอาศัยความจำเกี่ยวกับกลิ่น[3][4] (ซึ่งอาจเป็นกลิ่นเฉพาะของแม่น้ำที่เกิด[1]) ปลามีมาตั้งแต่ยุคนีโอจีน[ต้องการอ้างอิง]

คำว่า "แซลมอน" มาจากคำภาษาละตินว่า salmo ซึ่งก็อาจมาจากคำว่า salire ซึ่งแปลว่า "กระโดด"[5]

ลักษณะ

[แก้]

ส่วนมากลำตัวมีสีเงินวาว มีจุดสีดำที่บริเวณด้านบนของลำตัวเหนือเส้นข้างลำตัว ลักษณะอย่างอื่นคล้ายปลาทั่วไปไม่ว่าจะเป็นลักษณะภายนอกหรือลักษณะภายใน

สปีชีส์

[แก้]

สปีชีส์สำคัญทางเศรษฐกิจ 9 สปีชีส์อยู่ในสองสกุล สกุล Salmo รวมปลาแซลมอนแอตแลนติก ซึ่งพบในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ โดยมีปลาหลายพันธุ์ที่มีชื่อสามัญว่า ปลาเทราต์ ส่วนสกุล Oncorhynchus มีสปีชีส์ 8 สปีชีส์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือเท่านั้น โดยรวมเรียกว่าปลาแซลมอนแปซิฟิก ส่วนปลาแซลมอนชินูกซึ่งเป็นปลาท้องถิ่นแปซิฟิกตอนเหนือได้นำไปปล่อยในทั้งประเทศนิวซีแลนด์และปาตาโกเนียในซีกโลกใต้ อนึ่ง ปลาแซลมอนโคโฮ (Oncorhynchus kisutch) ปลาแซลมอนซ็อกอายซึ่งเป็นปลาน้ำจืด และปลาแซลมอนแอตแลนติกก็นำไปปล่อยที่ปาตาโกเนียเช่นกัน[6]

ปลาแซลมอนแอตแลนติกและแปซิฟิก
สกุล ภาพ ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ยาวสุด
(ซม.)
ยาวปกติ
(ซม.)
หนักสุด
(กก.)
อายุมากสุด (ปี) ระดับ
ในโซ่อาหาร
Fish
Base
FAO ITIS สถานะ IUCN
Salmo
(ปลาแซลมอนแอตแลนติก)
ปลาแซลมอนแอตแลนติก Salmo salar (Linnaeus, 1758) 150 120 46.8 13 4.4 [7] [8] [9] Least concern Least concern[10]
Oncorhynchus
(ปลาแซลมอนแปซิฟิก)
ปลาแซลมอนชินูก Oncorhynchus tshawytscha (Walbaum, 1792) 150 70 61.4 9 4.4 [11] [12] [13] Not assessed
ปลาแซลมอนชัม (Chum salmon) Oncorhynchus keta (Walbaum, 1792) 100 58 15.9 7 3.5 [14] [15] [16] Not assessed
ปลาแซลมอนโคโฮ (Coho salmon) Oncorhynchus kisutch (Walbaum, 1792) 108 71 15.2 5 4.2 [17] [18] [19] Not assessed
ปลาแซลมอนมาซู (Masu salmon) Oncorhynchus masou (Brevoort, 1856) 79 10.0 3 3.6 [20] [21] Not assessed
ปลาแซลมอนชมพู (Pink salmon) Oncorhynchus gorbuscha (Walbaum, 1792) 76 50 6.8 3 4.2 [22] [23] [24] Not assessed
ปลาแซลมอนซ็อกอาย Oncorhynchus nerka (Walbaum, 1792) 84 58 7.7 8 3.7 [25] [26] [27] Least concern Least concern[28]

   ทั้งสกุล Salmo และ Oncorhynchus ต่างก็มีสปีชีส์จำนวนหนึ่งที่เรียกว่าปลาเทราต์ ในสกุล Salmo ยังมีสปีชีส์มีประชากรน้อยอื่น ๆ ที่เรียกว่าแซลมอนในภาษาอังกฤษ คือ Adriatic salmon (Salmo obtusirostris) และ Black Sea salmon (Salmo labrax) มีปลาสตีลเฮด (ปลาเรนโบว์เทราต์ สกุล Oncorhynchus) ที่ว่ายจากทะเลสู่แม่น้ำเพื่อวางไข่แล้วอพยพไปสู่ทะเล แต่ก็ไม่เรียกว่าแซลมอน

ยังมีสปีชีส์อื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่ปลาแซลมอนพันธุ์แท้เหมือนกับในรายการที่ผ่านมา แต่ก็มีชื่อสามัญเป็นแซลมอนเหมือนกัน ในบรรดารายการต่อไปนี้ มีแต่ปลาแซลมอนดานูบหรือ huchen (Hucho hucho) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาแซลมอนเท่านั้นที่เป็นเครือญาติ แต่ปลาทะเลอื่น ๆ อยู่ในอันดับปลากะพงซึ่งไม่เกี่ยวกัน

ปลาอื่น ๆ ที่เรียกว่าแซลมอน
ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ยาวสุด
(ซม.)
ยาวปกติ
(ซม.)
หนักสุด
(กก.)
อายุมากสุด (ปี) ระดับ
ในโซ่อาหาร
Fish
Base
FAO ITIS สถานะ IUCN
ปลาแซลมอนออสเตรเลีย (Australian salmon) Arripis trutta (Forster, 1801) 89 47 9.4 26 4.1 [29] [30] Not assessed
ปลาแซลมอนดานูบ (Danube salmon) Hucho hucho (Linnaeus, 1758) 150 70 52 15 4.2 [31] [32] Endangered Endangered[33]
ปลาแซลมอนฮาวาย (Hawaiian salmon) Elagatis bipinnulata (Quoy & Gaimard, 1825) 180 90 46.2 3.6 [34] [35] [36] Not assessed
ปลากุเราสี่หนวด (Indian salmon) Eleutheronema tetradactylum (Shaw, 1804) 200 50 145 4.4 [37] [38] Not assessed

Eosalmo driftwoodensis เป็นปลาแซลมอนเก่าแก่ที่สุดตามหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ และช่วยนักวิทยาศาสตร์ให้รู้ว่า ปลาแซลมอนสปีชีส์ต่าง ๆ วิวัฒนาการแยกออกจากบรรพบุรุษเดียวกันอย่างไร ซากดึกดำบรรพ์แซลมอนในรัฐบริติชโคลัมเบียได้ให้หลักฐานว่า ปลาแซลมอนแปซิฟิกและแอตแลนติกยังไม่ได้แยกสายพันธุ์ออกจากกันเมื่อ 40 ล้านปีก่อน ทั้งหลักฐานทางซากดึกดำบรรรพ์และทางดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรียบ่งว่า การแยกสายพันธุ์เกิดเมื่อ 10-20 ล้านปีก่อน ซึ่งแสดงว่า การแยกสายพันธุ์เกิดก่อนธารน้ำแข็งจะเริ่มขยายและหดถอยในสมัย Quaternary glaciation[39]

การกระจายตัว

[แก้]
ปลาแซลมอนแปซิฟิกกระโดดขึ้นแถวน้ำตกในรัฐออริกอน
การจับปลา/เลี้ยงปลาแซลมอนเพื่อการพาณิชย์เป็นล้านตันระหว่างปี 1950-2010[40]
ปลาแซลมอนแอตแลนติก Salmo salar
  • ปลาแซลมอนแอตแลนติก (Salmo salar) สืบพันธุ์ในแม่น้ำของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือทั้งสองชายฝั่ง
    • ปลาแซลมอน Salmo salar m. sebago ซึ่งอยู่ในแหล่งน้ำที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อยู่ในทะเลสาบจำนวนหนึ่งในอเมริกาเหนือตะวันออกและยุโรปเหนือ เช่นทะเลสาบ Sebago, โอเนกา, โดกา, Saimaa, แวแนร์น และ Winnipesaukee เป็นปลาไม่ต่างพันธุ์กับปลาแซลมอนแอตแลนติก แต่ก็มีวงจรชีวิตต่างหากที่ไม่มีการย้ายถิ่น ซึ่งก็ยังคงเป็นเช่นนั้นแม้เมื่อสามารถเข้าไปในมหาสมุทรได้
  • ปลาแซลมอนชินูก (Oncorhynchus tshawytscha) ซึ่งเรียกในสหรัฐว่า king salmon หรือ blackmouth salmon และเรียกในรัฐบริติชโคลัมเบียว่า spring salmon เป็นปลาแซลมอนแปซิฟิกที่ใหญ่สุด บ่อยครั้งหนักกว่า 13.6 กก..[41] ชื่อว่า tyee จะใช้หมายถึงปลาที่หนักกว่า 13.6 กก. ในบริติชโคลัมเบียและในบริเวณลุ่มน้ำของแม่น้ำโคลัมเบีย โดยปลาที่ใหญ่มากเคยเรียกว่า June hogs ปลาอาจไปไกลทางทิศเหนือจนถึงแม่น้ำแมกเคนซี (ในนอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์) และหมู่บ้าน Kugluktuk ที่ปากแม่น้ำ Coppermine ในนูนาวุตซึ่งอยู่ในเขตอาร์กติก[42] และทางทิศใต้จนถึงชายฝั่งแคลิฟอร์เนียส่วนกลาง[43]
  • ปลาแซลมอนชัม (Chum salmon, Oncorhynchus keta) หรือในสหรัฐบางแห่งอาจเรียกว่า dog salmon, keta salmon หรือ calico salmon สปีชีส์นี้อยู่ในเขตภูมิภาคกว้างขวางที่สุดในบรรดาปลาแซลมอนแปซิฟิก[44] คือ ทางด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่ทิศเหนือของแม่น้ำแมกเคนซีในแคนาดา (เหนือ) จนถึงทิศใต้ของแม่น้ำแซคราเมนโตในแคลิฟอร์เนีย (ใต้) และทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่แม่น้ำลีนาในไซบีเรีย (เหนือ) จนถึงเกาะคีวชูในทะเลญี่ปุ่น (ใต้)
  • ปลาแซลมอนโคโฮ (Coho salmon, Oncorhynchus kisutch) หรือเรียกในสหรัฐว่า silver salmon สปีชีส์นี้พบในตอนเหนือทั่วชายฝั่งของรัฐอะแลสกา (สหรัฐ) และรัฐบริติชโคลัมเบีย (แคนาดา) จนถึงในตอนใต้คืออ่าวมอนเตอเรย์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย (สหรัฐ) ตอนกลาง[45] แต่ก็พบเป็นบางครั้งบางคราวในแม่น้ำแมกเคนซีด้วย[42]
  • ปลาแซลมอนมาซู (Masu salmon) หรือปลาแซลมอนเชอร์รี่ (cherry salmon, Oncorhynchus masou) พบแต่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกในญี่ปุ่น เกาหลี และรัสเซีย ส่วนสปีชีส์ย่อยที่อยู่ในน้ำซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเลที่เรียกว่า ปลาแซลมอนไต้หวัน (Taiwanese salmon) หรือปลาแซลมอนฟอร์โมซา (Formosan salmon, Oncorhynchus masou formosanus) จะพบในไต้หวันตอนกลางในย่านน้ำ Chi Chia Wan Stream[46]
  • ปลาแซลมอนชมพู (Pink salmon, Oncorhynchus gorbuscha) หรือเรียกว่า humpies ในรัฐอะแลสกาภาคใต้ พบในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตั้งแต่แม่น้ำลีนาในไซบีเรียจนถึงเกาหลี พบทั่วไปในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ และพบในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกตั้งแต่แม่น้ำแมกเคนซีในแคนาดา[42] จนถึงแคลิฟอร์เนียภาคเหนือ โดยปกติพบในสายน้ำลงไปถึงฝั่งทะเลโดยเป็นสายที่สั้น ๆ กว่า เป็นปลาเล็กที่สุดในบรรดาสปีชีส์แปซิฟิก โดยหนักเฉลี่ยที่ 1.6-1.8 กก.[47]
  • ปลาแซลมอนซ็อกอาย (Oncorhynchus nerka) โดยเรียกในสหรัฐว่า red salmon[48] สปีชีส์ที่โตขึ้นในทะเลเสาบนี้ พบในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกตั้งแต่ Bathurst Inlet ในแคนาดาเหนือจนถึงแม่น้ำคลาแมท (Klamath River) ในแคลิฟอร์เนีย และในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตั้งแต่ Anadyr River ในไซบีเรียจนถึงเกาะฮกไกโดในญี่ปุ่น แม้ปลาแซลมอนแปซิฟิกที่โตแล้วโดยมากจะกินปลา กุ้ง และหมึกเล็ก ๆ แต่ปลาแซลมอนซ็อกอายก็กินแพลงก์ตอนที่กรองด้วยเหงือก (ที่เรียกว่า gill raker)[49] ปลาแซลมอนโคคานี (Kokanee salmon) เป็นรูปแบบปลาแซลมอนซ็อกอายซึ่งอยู่ในน้ำซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล
  • ปลาแซลมอนดานูบ (Danube salmon) หรือ huchen (Hucho hucho) เป็นปลาแซลมอนน้ำจืดที่ใหญ่สุด

วงจรชีวิต

[แก้]
วงจรชีวิตของปลาแซลมอนแปซิฟิก
ไข่ในพัฒนาการระยะต่าง ๆ - ในปลาบางพวก มีเซลล์ไม่กี่เซลล์ที่โตขึ้นบนไข่แดง ในภาพล่างขวา เส้นเลือดได้ล้อมไข่แดง ในภาพบนซ้าย ตาสีดำมองเห็นได้พร้อมกับเลนส์เล็ก ๆ
ลูกปลาแซลมอนซึ่งจะโตอาศัยไข่แดงที่เหลือ ที่เห็นก็คือเส้นเลือดที่ล้อมไข่แดงและหยดไขมันเล็ก ๆ ไส้ปลา กระดูกสันหลัง เส้นเลือดหลักที่หาง กระเพาะปลา และ gill arches

ปลาวางไข่ในน้ำจืดปกติที่เส้นละติจูดค่อนข้างสูง ลูกปลา (alevin, sac fry) จะออกมาจากไข่ ซึ่งจะพัฒนาอย่างรวดเร็วเป็น parr ซึ่งประกอบด้วยลายแนวตั้งเพื่อพรางตัว โดยอยู่ในน้ำที่เกิดเป็นเวลา 6 เดือนถึง 3 ปี ก่อนจะกลายเป็น smolt ซึ่งต่างโดยสีเงินเลื่อมพรายและเกล็ดที่หลุดออกง่าย จากไข่จนถึงระยะนี้ ประเมินว่ามีปลาเพียงแค่ 10% ที่รอดมาได้[50] ระบบเคมีในร่างกายของ smolt จะเปลี่ยนไปทำให้ปลาสามารถอยู่ในน้ำเค็มได้ แม้จะมีสปีชีส์ปลาแซลมอนบ้างที่อยู่ในน้ำจืดตลอดชีวิต แต่ส่วนมากก็ออกสู่ทะเล ในสปีชีส์ส่วนมากนี้ smolt จะใช้เวลาอยู่กับน้ำกร่อยในที่ที่ระบบเคมีในร่างกายจะปรับตัวให้เข้ากับระบบปรับความดันออสโมซิส (osmoregulation) ที่จะใช้ในทะเล

เมื่อออกจากไข่ลูกปลาแซลมอนก็จะอพยพไปสู่มหาสมุทรซึ่งเป็นแหล่งอาหารและเจริญเติบโต[1] ปลาจะใช้เวลา 1-5 ปี ขึ้นอยู่กับสปีชีส์ในทะเล โดยจะพัฒนาทางเพศอย่างสมบูรณ์ ปลาที่โตแล้วจะกลับไปยังย่านน้ำที่เกิดโดยหลักเพื่อวางไข่ ปลาแซลมอนแอตแลนติกใช้เวลา 1-4 ปีในทะเล ถ้าปลากลับไปยังย่านน้ำที่เกิดหลังจากอยู่ในทะเลแค่ปีเดียว มันจะเรียกว่า grilse ในแคนาดา บริเตน และไอร์แลนด์ grilse อาจมีอยู่ในช่วงการวางไข่ แต่ปลาตัวผู้ตัวใหญ่อาจจะไม่สนใจ แม้ก็จะปล่อยตัวอสุจิที่ไข่เหมือนกัน[51][ต้องการเลขหน้า]

ก่อนจะไปวางไข่ ปลาแซลมอนอาจจะเปลี่ยนไปโดยขึ้นอยู่กับสปีชีส์ ปลาจอาจจะเกิดโหนก เกิดฟันคล้ายของสุนัข หรือเกิด kype คือขากรรไกของตัวผู้จะเกิดแนวโค้งอย่างเห็นได้ชัด ทั้งหมดจะเปลี่ยนจากสีเงินออกน้ำเงิน ๆ กลายเป็นสีที่เข้มกว่า

ปลาแซลมอนวางไข่ในทะเลสาบน้ำจืดหรือแม่น้ำที่มีปริมาณออกซิเจนสูง สิ่งที่นำทางปลาแซลมอนให้กลับมาวางไข่ได้ถูกต้อง อาจเป็นกลิ่นเฉพาะแม่น้ำที่เกิด ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากลิ่นมีคุณสมบัติทางเคมีเช่นไร และก็ยังไม่เข้าใจอย่างชัดเจนว่าปลาแซลมอนหาทางมายังปากน้ำได้อย่างไรโดยไม่มีเครื่องหมายใด ๆ เพื่อนำทางมาจากทะเล การทดลองให้ข้อคิดว่า ปลาโตเต็มวัยอาจได้เครื่องนำทางเป็นปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเช่น ดวงดาว ทิศทางและตำแหน่งของพระอาทิตย์เป็นต้น ในกรณีนี้ปลาแซลมอนอาจสามารถจับเวลาเสมือนหนึ่งเป็นนาฬิกาชีวภาพดังที่พบในสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ[1][ลิงก์เสีย]

ปลาอาจจะต้องผ่านการเดินทางที่น่าอัศจรรย์ บางครั้งเดินทางเป็นร้อย ๆ กิโลเมตรทวนกระแสน้ำเชี่ยวเพื่อจะได้ผสมพันธุ์ เช่น ปลาแซลมอนชินูกและแซลมอนซ็อกอายจากรัฐไอดาโฮจะต้องเดินทางถึง 1,400 กม. และว่ายขึ้นสูง 2.1 กม. จากมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อกลับไปสู่บ้านเกิดเพื่อวางไข่

ปลายิ่งอยู่ในน้ำจืดนานเท่าไร สภาพของปลาก็มักจะแย่ลงมากเท่านั้น และจะแย่ลงอีกหลังวางไข่ ซึ่งตอนนี้จะเรียกว่า kelt ปลาแซลมอนแปซิฟิกทุกสปีชีส์จะตายภายในไม่กี่วันหลังวางไข่ เป็นการสืบพันธุ์ครั้งเดียวในชีวิต (semelparity) ส่วน kelt ของปลาแซลมอนแอตแลนติกประมาณ 2-4% จะรอดชีวิตไปวางไข่อีกโดยทั้งหมดเป็นตัวเมีย ถึงกระนั้น แม้ในสปีชีส์ที่รอดชีวิตไปวางไข่เกินกว่าครั้ง โดยเป็นวิธีการสืบพันธุ์ที่เรียกว่า iteroparity อัตราการตายหลังวางไข่ก็สูงมากโดยอาจถึง 40-50%

เพื่อจะวางไข่ ปลาแซลมอนตัวเมียจะใช้ครีบหางสร้างโซนที่มีแรงดันต่ำ คุ้ยก้อนกรวดให้กระจายไหลไปตามน้ำ โดยขุดเป็นแอ่งตื้น ๆ ที่เรียกว่า redd (รังวางไข่) ซึ่งบางครั้งมีไข่ถึง 5,000 ฟองในพื้นที่ 2.8 ตร.ม.[52] ไข่มักจะมีสีตั้งแต่ส้มจนถึงแดง ตัวผู้หนึ่งตัวหรือมากกว่านั้นจะเข้ามาหาตัวเมียแล้วปล่อยตัวอสุจิ (sperm, milt) มาปฏิสนธิกับไข่[49] ตัวเมียก็จะกลบไข่โดยคุ้ยกรวดทรายเหนือน้ำ (เพื่อไม่ให้ไข่ถูกกระแสน้ำพัดพาไป[1]) แล้วก็จะไปทำรังวางไข่อีกที่หนึ่ง ซึ่งอาจทำมากถึง 7 แห่งก่อนจะหมดไข่[49]

ในแต่ละปี ปลาจะโตอย่างรวดเร็วในช่วงระยะหนึ่งบ่อยครั้งในฤดูร้อน และโตอย่างช้า ๆ อีกช่วงระยะหนึ่งปกติในฤดูหนาว ซึ่งก่อวงรอบ ๆ กระดูกหูซึ่งเรียกว่า otolith (annuli) คล้ายกับวงที่พบในเนื้อไม้ การเติบโตในน้ำจืดจะเป็นวงที่ต่อ ๆ กันอย่างแน่น การเติบโตในทะเลจะเป็นวงที่ห่าง ๆ กัน ช่วงวางไข่จะเห็นเป็นเส้นที่แปลกไปจากเส้นรอบ ๆ อย่างมากเพราะมวลร่างกายต้องแปลงเป็นไข่และตัวอสุจิ

ธารน้ำจืดและบริเวณน้ำกร่อย/ชะวากทะเล (estuaries) เป็นแหล่งที่อยู่สำคัญของแซลมอนหลายสปีชีส์ โดยกินแมลงบก, แมลงน้ำ, amphipod และสัตว์พวกกุ้งกั้งปูเมื่อยังเล็ก และกินปลาอื่น ๆ โดยหลักเมื่อโตขึ้น ไข่จะวางในน้ำที่ลึกกว่าที่มีกรวดใหญ่กว่า ต้องได้น้ำเย็นและกระแสน้ำที่ดี (เพื่อให้ออกซิเจน) สำหรับตัวอ่อนที่กำลังพัฒนา อัตราการตายของปลาในต้น ๆ ชีวิตปกติสูงเพราะสัตว์ล่าเยื่อและการเปลี่ยนแปลงที่อยู่เนื่องกับกิจกรรมมนุษย์ เช่น การทับถมของดินและตะกอน อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น ความเข้มข้นออกซิเจนน้อย ย่านน้ำลดลง และกระแสน้ำลดลง บริเวณน้ำกร่อย/ชะวากทะเล (estuaries) และพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแหล่งเติบโตที่ขาดไม่ได้สำหรับปลาก่อนออกสู่ทะเล พื้นที่ชุ่มน้ำไม่เพียงแต่ช่วยกันชะวากทะเลจากดินตะกอนและมลพิษ แต่ยังเป็นบริเวณหากินและซ่อนตัวของปลาด้วย

ปลาที่ไม่ได้ตายเพราะเหตุอื่น ๆ จะโทรมลงอย่างรวดเร็ว (เป็นปรากฏการณ์ phenoptosis หรือ "programmed aging") เมื่อถึงบั้นปลายชีวิต ร่างกายจะเสื่อมอย่างรวดเร็วหลังวางไข่เพราะหลั่งคอร์ติโคสตีรอยด์ (corticosteroid) ออกอย่างมหาศาล

ไข่

[แก้]
ไข่ (Eggs) เริ่มต้นที่ปลาแซลมอนตัวเมีย ไปวางไข่ไว้ที่ก้อนกรวดในแหล่งน้ำจืด โดยมันจะใช้หางขุดก้อนกรวดเป็นหลุมเพื่อวางไข่ ส่วนปลาแซลมอนตัวผู้จะคอยอยู่ข้าง ๆ ตัวเมียเสมอ เพื่อคอยระวังอันตรายและปล่อยตัวอสุจิให้ปฏิสนธิกับไข่ พวกมันจะทำรังสำหรับวางไข่เป็นจำนวนมาก ปลาแซลมอนตัวเมียจะวางไข่ทีละ 2,000 ถึง 10,000 ฟอง แล้วแต่สายพันธุ์ ไข่จะฟักออกเป็นตัวภายหลังวางไข่เป็นเวลาประมาณ 3-4 เดือน[53]

ตัวอ่อน

[แก้]
ตัวอ่อน (Alevin) ปลาที่เพิ่งฟักออกจากไข่จะเรียกว่า “ตัวอ่อน” ตัวอ่อนของแซลมอนไม่สามารถว่ายน้ำได้ ทำได้แค่เพียงใช้หางสะบัดเพื่อเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ ลูกรังที่มันอยู่เท่านั้น ตัวอ่อนที่เพิ่งฟักออกมานั้นยาวเพียงแค่นิ้วครึ่ง นอกจากนั้นแต่ละตัวยังจะมีถุงไข่ติดอยู่ด้วย[53]

ลูกอ่อน

[แก้]
ลูกอ่อน (Fry) เมื่อตัวอ่อนได้รับอาหารจากถุงไข่ทำให้มันมองดูคล้ายปลาแซลมอนตัวเล็ก ๆ ระยะนี้จะเรียกว่า “ลูกอ่อน” ระยะเวลาของการเป็นลูกอ่อนนี้จะแตกต่างกันไปแล้วแต่สายพันธุ์ ชีนุค เริ่มว่ายน้ำกลับสู่ทะเลแล้ว ในขณะที่ สายพันธ์ โคโฮ จะใช้เวลาอยู่ในแหล่งน้ำจืดนานเป็นปีก่อนว่ายสู่ทะเล มีปลาแซลมอนบางตัวใช้ชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำจืดที่มันเกิดเป็นเวลานานกว่า 3 ปี จึงว่ายลงไปสู่ทะเล[53]

ลูกปลาแซลมอน

[แก้]
ลูกปลาแซลมอน (Smolt) ปลาแซลมอนที่อยู่ในระยะนี้จะออกจากแหล่งน้ำจืดและมุ่งสู่ทะเล โดยมากแล้วจะเป็นปลาที่มีอายุประมาณ 2 ปี ความยาวมากกว่า 5 นิ้ว ปลาแซลมอนในระยะนี้จะมีลำตัวออกสีเงิน ปลาแซลมอนในระยะนี้จะใช้เวลาส่วนมากอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่น้ำจืดและน้ำเค็มต่อกัน ในขณะที่มันกำลังปรับตัวเข้าสู่น้ำเค็ม บริเวณปากแม่น้ำนี้สำคัญต่อปลาแซลมอนมากเนื่องจากเป็นแหล่งอาหารสำคัญเพื่อการเจริญเติบโต[1]

ตัวเต็มวัย

[แก้]
ตัวเต็มวัย (Adult salmon) ปลาจะถือว่าเต็มวัยก็ต่อเมื่อมันกลับสู่ท้องทะเลเรียบร้อยแล้ว พวกมันจะใช้เวลาอยู่ในท้องทะเลตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี อาหารของปลาแซลมอนก็ได้แก่ กุ้ง ปลาหมึก และปลาตัวเล็ก ๆ ปลาแซลมอนจะอยู่ในท้องทะเลห่างจากแหล่งน้ำจืดที่มันเกิดเป็นระยะทางกว่า 2,000 ไมล์ และเมื่อมันโตเต็มที่มันก็จะว่ายกลับไปสู่แหล่งน้ำจืดอีกครั้งเพื่อวางไข่[53]

วางไข่

[แก้]
วางไข่ (Spawning) เมื่อปลาแซลมอนว่ายไปสู่แหล่งน้ำจืดเพื่อวางไข่ มันจะหยุดกินอาหาร และมันจะตายภายใน 1 สัปดาห์หลังจากที่วางไข่เรียบร้อยแล้ว ปลาแซลมอนที่ตายไปก็จะกลายเป็นสารอาหารอยู่ในแหล่งน้ำจืดต่อไป[53]

นิเวศวิทยา

[แก้]
ลูกหมีกับปลาแซลมอน

หมีกริซลี

[แก้]

ในสหรัฐเขตแปซิฟิกนอร์ทเวสต์ (Pacific Northwest) และรัฐอะแลสกา ปลาแซลมอนเป็นสปีชีส์สำคัญ (keystone species) ที่เป็นอาหารแก่สัตว์ป่า เช่น นก หมี และนาก[54] ตัวปลาแซลมอนเป็นสื่อส่งสารอาหารจากทะเลที่มีไนโตรเจน กำมะถัน คาร์บอน และฟอสฟอรัสมากไปสู่ระบบนิเวศในป่า

หมีกริซลีมีชีวิตเป็น ecosystem engineer[A] เพราะจับปลาแซลมอนแล้วนำไปสู่ป่าที่อยู่ใกล้ ๆ และทิ้งปัสสาวะ อุจจาระ และซากปลาที่กินไม่หมด ซึ่งล้วนค่อนข้างมีสารอาหารมาก ประเมินว่า หมีทิ้งปลาแซลมอนเกือบครึ่งที่จับได้ไว้ในป่า[55][56] ซึ่งอาจมากจนถึง 4,000 กก./เฮกตาร์ (0.4 กก./ตร.ม.)[57] ซึ่งให้ไนโตรเจนถึง 24% แก่ป่าที่อยู่ริมน้ำ ใบไม้ของต้นสนที่ไกลถึง 500 เมตรจากลำน้ำที่หมีจับปลาแซลมอนพบว่า มีไนโตรเจนที่มาจากแซลมอน[58]

บีเวอร์

[แก้]
ปลาแซลมอนซ็อกอายกระโดดข้ามเขื่อนบีเวอร์

บีเวอร์ก็มีชีวิตเป็น ecosystem engineer[A] เหมือนกัน เพราะมันถางป่าทำเขื่อน จึงเปลี่ยนระบบนิเวศเป็นอย่างมาก สระน้ำของบีเวอร์เป็นแหล่งที่อยู่ของลูกปลาที่สำคัญ

ตัวอย่างหนึ่งพบที่ลุ่มน้ำแม่น้ำโคลัมเบียในปีต่อ ๆ มาหลัง ค.ศ. 1818 คือในปีนั้น รัฐบาลอังกฤษได้ตกลงกับรัฐบาลสหรัฐอนุญาตให้คนสหรัฐเข้าไปใช้แหล่งน้ำซึ่งอยู่ในแคนาดาที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษได้ แต่บริษัทฮัดสันเบย์ (Hudson's Bay Company) กลับส่งข่าวไปยังนายพรานให้จับสัตว์ที่มีขนให้หมดในพื้นที่ เพื่อกันคนค้าขายขนสัตว์จากสหรัฐไม่ให้เข้าไปทำกิน ผลที่ได้จากการกำจัดบีเวอร์จากแม่น้ำต่าง ๆ เช่นนี้ ก็คือจำนวนปลาที่กลับมาวางไข่ได่ลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ปกติสัมพันธ์กับปัญหาปลาขาดแคลน ปลาอาจน้อยลงเนื่องกับเขื่อนบีเวอร์ เพราะเขื่อนอาจจะ[59][60][61]

  • ชะลออัตราที่สารอาหารไหลออกจากระบบ คือสารอาหารจากปลาแซลมอนที่ตายตลอดฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวก็ยังเหลือมาถึงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อลูกปลาที่ออกจากไข่
  • ทำให้น้ำไหลช้าลง ลูกปลาจึงสามารถใช้พลังงานเพื่อเติบโตแทนที่จะใช้ว่ายต้านกระแสน้ำ
  • เพิ่มความซับซ้อนในแหล่งที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำให้ลูกปลาสามารถหลีกเลี่ยงสัตว์ล่าเหยื่อได้

เขื่อนบีเวอร์ทำให้ลูกปลาอยู่ได้ในที่ลุ่มราบน้ำขึ้นถึง (tidal marsh) อันเป็นชะวากทะเล (estuaries) ที่มีเกลือน้อยกว่า 10 ppm บีเวอร์สร้างเขื่อนปกติเตี้ยกว่า 60 ซม. แม้น้ำจะสามารถไหลข้ามเขื่อนนี้ได้เมื่อน้ำขึ้นแต่เขื่อนก็เก็บน้ำไว้ได้เมื่อน้ำลง ซึ่งให้ที่หลบภัยกับลูกปลาเพราะไม่ต้องว่ายน้ำในกระแสที่ใหญ่กว่าซึ่งตกเป็นเหยื่อได้ง่าย[62]

ปลาแลมป์เพรย์

[แก้]

ปลาแลมป์เพรย์เป็นปลาที่ออกจากไข่ในแม่น้ำแล้วว่ายออกสู่ทะเลอีกประเภทหนึ่ง พบว่า แม่น้ำที่ปลาแลมป์เพรย์ลดจำนวนหรือหายไป ก็จะพบปัญหาเดียวกันกับปลาแซลมอนด้วย เหมือนกับปลาแซลมอน ปลาแลมป์เพรย์จะหยุดกินแล้วตายหลังวางไข่ และตัวที่เน่าจะปล่อยสารอาหารลงในกระแสน้ำ อนึ่ง เหมือนกับปลาเรนโบว์เทราต์และ Sacramento sucker (Catostomus occidentalis) ปลาแลมป์เพรย์จะทำความสะอาดกรวดในแม่น้ำเมื่อวางไข่[63] ตัวอ่อนของปลา ซึ่งเรียกว่า ammocoetes เป็นสัตว์ที่กินอาหารแบบกรองน้ำ (filter feeder) ซึ่งทำให้น้ำดีขึ้น และยังเป็นอาหารของลูกปลาแซลมอน อนึ่ง ปลายังอ้วนกว่าและมีไขมันมากกว่า จึงสมมุติว่าสัตว์ล่าเหยื่อจะชอบมันมากกว่าปลาแซลมอน ทำให้ลูกปลาแซลมอนแบบ smolt รอดชีวิตได้มากขึ้น[64]

ปลาแลมป์เพรย์ที่โตแล้วยังเป็นเหยื่อที่ชื่นชอบของแมวน้ำและสิงโตทะเล ซึ่งสามารถกินปลาแลมป์เพรย์ 30 ตัวแทนปลาแซลมอน 1 ตัว ทำให้มีปลาแซลมอนที่โตแล้วจำนวนมากขึ้นกลับคืนเข้าแม่น้ำเพื่อวางไข่โดยไม่ถูกกินก่อน[65][66]

ปรสิต

[แก้]

ตามนักชีววิทยาชาวแคนาดาท่านหนึ่ง (Dorothy Kieser) ปรสิตในชั้น myxozoa คือ Henneguya salminicola จะมีอยู่ในเนื้อปลาแซลมอนอย่างสามัญ ดังที่พบในตัวอย่างที่ได้จากปลาแซลมอนที่กลับมายังหมู่เกาะไฮดาไกว รัฐบริติชโคลัมเบีย ปลามีปฏิกิริยาโดยล้อมปรสิตในถุงหุ้ม (cyst) ที่มีน้ำขาว ๆ น้ำนี้แสดงการสะสมปรสิตเป็นจำนวนมาก

Henneguya salminicola เป็นปรสิตชั้น myxozoa ที่มักพบในเนื้อปลาแซลมอนจากแคนาดาฝั่งตะวันตก ภาพนี้แสดงเนื้อปลาแซลมอนโคโฮ

Henneguya และปรสิตอื่น ๆ ในชั้นย่อย myxosporea มีวงจรชีวิตที่ซับซ้อน และแซลมอนเป็นเพียงสัตว์ถูกเบียนอย่างหนึ่งในสองอย่าง ปลาจะปล่อยสปอร์ของปรสิตออกเมื่อวางไข่ ในกรณี Henneguya สปอร์จะเข้าไปในสัตว์ถูกเบียนอย่างที่สองในย่านน้ำที่ปลาวางไข่ โดยมีโอกาสเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังมากที่สุด เมื่อปลากำลังอพยพไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก สัตว์ถูกเบียนที่สองก็จะปล่อยปรสิตในรูปแบบที่ปลาติดได้ แล้วปลาก็จะเป็นพาหะนำพาปรสิตไปจนกระทั่งถึงเวลาวางไข่ ปรสิตชั้นย่อย myxosporea ที่ทำให้เกิดโรค whirling disease (โรคหมุน) ในปลาเทราต์ก็มีวงจรชีวิตคล้าย ๆ กัน[67] โดยเป็นโรคที่ทำให้กระดูกผิดปกติ เกิดปัญหาทางประสาท ทำให้ปลาหมุนตัวรอบ ๆ ไปทางด้านหน้าแทนการว่ายน้ำตามปกติ ทำให้หากินได้ยาก และเสี่ยงต่อสัตว์ล่าเหยื่อยิ่งขึ้น[68] แต่ Henneguya กลับไม่ก่อโรคอาการเดียวกันในปลาแซลมอน เพราะปลาที่มีปรสิตมากก็ยังกลับไปวางไข่ได้

รายงานปี 1985[69] ระบุว่า ลูกปลาที่อยู่ในน้ำจืดนานที่สุดมีปัญหาปรสิตมากที่สุด ดังนั้น ตามลำดับความชุกของโรค ปลาแซลมอนโคโฮมีปรสิตมากที่สุดตามด้วยปลาแซลมอนซ็อกอาย ปลาแซลมอนชัม และปลาแซลมอนชมพู รายงานยังระบุด้วยว่า ในช่วงงานศึกษา ปลาที่ได้จากแม่น้ำตอนต้นและตอนกลางในรัฐบริติชโคลัมเบีย เช่น แม่น้ำเฟรเซอร์, สกีนา (Skeena) แนสส์ (Nass) และจากสายน้ำชายฝั่งของแผ่นดินใหญ่ในตอนใต้ของรัฐ มีความชุกโรคน้อยกว่า รายงานเน้นว่า ปรสิต Henneguya แม้จะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจดังที่ว่า ก็จัดว่าไม่เป็นอันตรายทางสาธารณสุข เพราะเป็นปรสิตเฉพาะของปลา ไม่สามารถมีชีวิตภายในหรือมีผลต่อสัตว์เลือดอุ่นรวมทั้งมนุษย์

ตามผู้ชำนาญการของสำนักงานตรวจอาหารแคนาดา (Food Inspection Agency) ปรสิต Henneguya salminicola พบในรัฐบริติชโคลัมเบียภาคใต้ด้วยและพบในปลาแซลมอนทุกสปีชีส์ เขาเองได้ตรวจเห็นปลาแซลมอนชัมรมควันมีถุงน้ำ (cyst) จำนวนมาก และปลาแซลมอนซ็อกอายที่ว่ายกลับแหล่งเกิดใน Barkley Sound (รัฐบริติชโคลัมเบียภาคใต้ ชายฝั่งตะวันตกของเกาะแวนคูเวอร์) ก็ชุกโรค

sea lice (ในไฟลัมย่อย Crustacea) โดยเฉพาะสปีชีส์ Lepeophtheirus salmonis และหลายพันธุ์ในสกุล Caligus รวมทั้ง C. clemensi และ C. rogercresseyi อาจก่อโรคถึงตายทั้งในปลาแซลมอนเลี้ยงและปลาธรรมชาติ[70][71] sea lice เป็นปรสิตภายนอก (ectoparasite) ที่เกินหนอง เลือด และหนัง และมาเกาะผิวหนังของปลาแซลมอนธรรมชาติในระยะพัฒนาการต่าง ๆ คือ free-swimming planktonic nauplii และ copepodid larval โดยอาจคงอยู่หลายวัน[72][73][74]

ฟาร์มปลาแซลมอนที่เลี้ยงในกรงตาข่ายภายในทะเลเปิด (open-net salmon farm[B]) อาจเป็นจุดรวม sea lice อย่างมหาศาล ถ้าลูกปลาธรรมชาติผ่านมาในบริเวณน้ำกร่อยที่มีฟาร์มเช่นนี้มาก ลูกปลาก็จะติดปรสิตแล้วไม่สามารถรอดชีวิตได้[76][77] ปลาที่โตแล้วอาจรอดชีวิตจากปรสิตที่มีมากเช่นนี้ แต่ลูกปลาที่ยังเล็ก ผิวบาง ซึ่งกำลังอพยพไปสู่ทะเลก็จะเสี่ยงตายมาก ทางชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของแคนาดา อัตราการตายของปลาแซลมอนชมพูเนื่องกับ sea lice ในที่บางแห่งอาจสูงเป็นปกติถึง 80%[78]

ผลของการตอกเสาเข็ม

[แก้]

เสียงเช่นการตอกเสาเข็มเพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือการใช้เสียงสำรวจพื้นที่ใต้ทะเลอาจมีผลลบต่อปลา งานศึกษาปี 2012 กับปลาแซลมอนชินูกพบว่า เมื่อปลาได้รับเสียงดังแบบสะสมเกินขีดเริ่มเปลี่ยน (cumulative sound exposure level เกิน 210 dB relative to 1 μPa2 s) ก็จะเป็นอันตรายต่อปลา[79]

การประมงปลาธรรมชาติ (ไม่ได้เลี้ยง)

[แก้]
การประมงปลาธรรมชาติ การจับปลาเพื่อการพาณิชย์เป็นตันสำหรับปลาแซลมอนพันธุ์แท้ตามธรรมชาติระหว่างปี 1950-2010 ตามรายงานของ FAO[40]

พาณิชย์

[แก้]

ดังที่เห็นในกราฟการประมงปลาทางด้านซ้าย การจับปลาแซลมอนธรรมชาติเพื่อการพาณิชย์ทั่วโลกที่รายงานให้ FAO ทราบค่อนข้างจะสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 1990 ที่ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งต่างกับปลาเลี้ยง (ดูต่อไป) ซึ่งเพิ่มขึ้นภายในช่วงเวลาเดียวกันจาก 6 แสนตันเป็นมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี[40] ปลาที่จับได้เกือบทั้งหมดเป็นปลาแซลมอนแปซิฟิก ปลาแซลมอนแอตแลนติกที่จับได้ค่อนข้างน้อย และได้ลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 1990 ในปี 2011 ก็จับได้เพียง 2,500 ตันเท่านั้น[8] เทียบกับปลาแซลมอนเลี้ยงซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นปลาแซลมอนแอตแลนติก

คนตกปลาด้วยเบ็ดกับผู้ช่วยและปลาแซลมอนที่จับได้ในประเทศสกอตแลนด์

นันทนาการ

[แก้]

การตกปลาแซลมอนเพื่อนันทนาการเป็นกีฬาที่ยากทางเทคนิก จึงอาจไม่เหมาะกับผู้เริ่มตกปลาใหม่ ๆ[80] คนประมงเพื่อการพาณิชย์และคนตกปลาเพื่อนันทนาการต้องแข่งขันแย่งปลากัน แต่การประมงเพื่อการพาณิชย์ภายในบริเวณน้ำกร่อย (estuaries) และตามชายฝั่งบ่อยครั้งจำกัดเพื่อให้ปลาสามารถกลับไปยังแหล่งน้ำเกิดจำนวนมากพอเพื่อวางไข่และเพื่อตกเป็นกีฬา ในบางเขตของชายฝั่งตะวันตกในอเมริกาเหนือ การตกปลาเป็นกีฬาได้ทดแทนการประมงเพื่อการพาณิชย์โดยสิ้นเชิง[81] ในกรณีโดยมาก มูลค่าทางพาณิชย์ของปลาแซลมอนตัวหนึ่งอาจน้อยกว่าคุณค่าที่คนตกปลาให้กับปลาเดียวกันที่จับได้เป็นหลายเท่า นี่จึงเป็นข้ออ้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้โอกาสคนตกปลาสำหรับการกีฬามากกว่า[81]

ปลาแซลมอนเลี้ยง

[แก้]
ผลผลิตปลาแซลมอนพันธุ์แท้เลี้ยงเป็นตันระหว่างปี 1950-2010 ตามรายงานของ FAO[40]

ฟาร์มปลาแซลมอนเป็นแหล่งผลิตสำคัญของปลาเลี้ยงทั่วโลก โดยมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 300,000 ล้านบาท) ปลาที่เลี้ยงอย่างสามัญอื่น ๆ รวมทั้งปลาทิลาเพีย ปลาคาร์ป ปลาหนัง และปลาบรีม (เป็นปลาทั้งน้ำจืดน้ำเค็มในสกุลหลายสกุล) ฟาร์มปลาแซลมอนเป็นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศชิลี นอร์เวย์ สกอตแลนด์ แคนาดา และหมู่เกาะแฟโร เป็นปลาแซลมอนโดยมากที่บริโภคในสหรัฐและยุโรป ปลาแซลมอนแอตแลนติกยังเลี้ยงเป็นจำนวนน้อย ๆ ในประเทศรัสเซียและรัฐแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย

ปลาแซลมอนเป็นสัตว์กินเนื้อ จึงเลี้ยงด้วยปลาธรรมชาติที่จับได้และสัตว์ทะเลอื่น ๆ ทำให้มีความต้องการปลาที่เป็นเหยื่อสูง ปลาจำเป็นต้องได้โปรตีนมากโดยต้องกินปลามากกว่าที่ตนเป็นผลผลิต คือ ถ้าเทียบน้ำหนักเมื่อแห้ง ปลาแซลมอน 1 กก. จะต้องกินปลาธรรมชาติที่จับได้ 2-4 กก.[82] เมื่อการเลี้ยงปลาแซลมอนขยายใหญ่ขึ้น ก็จำเป็นต้องได้ปลาเหยื่อที่เป็นอาหารเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปลาประมงที่เฝ้าสอดส่อง 75% ในโลกได้จับเกินปริมาณมากสุดที่จับได้อย่างคงยืนแล้ว (maximum sustainable yield)[83] การตกปลาที่เป็นเหยื่อในระดับอุตสาหกรรมเพื่อเลี้ยงปลาแซลมอนเช่นนี้ มีผลต่อการรอดชีวิตของปลาล่าสัตว์ธรรมชาติซึ่งกินปลาเหยื่อเป็นอาหาร

มีความพยายามเปลี่ยนโปรตีนที่เป็นอาหารปลาให้เป็นโปรตีนจากพืชอย่างต่อเนื่อง แต่การทดแทนเช่นนี้ก็ลดระดับกรดไขมันโอเมกา-3 ที่ผู้บริโภคให้คุณค่ามากในปลาเลี้ยง

การเลี้ยงปลาแซลมอนมักใช้กรงตาข่ายที่ทำในทะเล เพราะมีค่าใช้จ่ายน้อย แต่ก็มีข้อเสียเพราะทำให้โรคและ sea lice กระจายไปหาปลาธรรมชาติได้[84]

ปลาแซลมอนชัมที่ฟักในที่เลี้ยง
ฟารม์ปลาเรนโบว์เทราต์ในหมู่เกาะของประเทศฟินแลนด์

รูปแบบการผลิตปลาแซลมอนอีกอย่างซึ่งปลอดภัยกว่าแต่ควบคุมได้ยากกว่า ก็คือการเลี้ยงปลาในที่ฟักไข่ (hatchery) จนกระทั่งโตพอเลี้ยงตัวเองได้ แล้วปล่อยลงในแม่น้ำเพื่อพยายามเพิ่มจำนวนประชากรปลาแซลมอน ซึ่งเป็นวิธีที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ranching และสามัญในประเทศต่าง ๆ เช่นสวีเดน ก่อนที่ชาวนอร์เวย์ได้พัฒนาระบบฟาร์มแซลมอน แต่บริษัทเอกชนจะไม่ค่อยทำเช่นนี้ เพราะใคร ๆ (หรือสัตว์ใด ๆ) ก็สามารถจับปลาเมื่อกลับมาวางไข่ได้ บริษัทก็จะได้ผลประโยชน์จำกัดจากการลงทุน เพราะเหตุนี้ ผู้ใช้วิธีนี้จึงเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรแซลมอนที่ลดลงเนื่องจากการประมงเกิน, การสร้างเขื่อน และการทำลายหรือรบกวนแหล่งที่อยู่ ผลลบก็มีบ้างเหมือนกัน เพราะยีนของปลาธรรมชาติจะลดน้อยถอยลง (เหตุ genetic dilution) ดังนั้น รัฐบาลระดับต่าง ๆ จึงเริ่มไม่ให้ปล่อยปลาเช่นนี้ แต่ให้ควบคุมการประมง ปรับปรุงแหล่งที่อยู่ของปลา และดูแลป้องกัน

ocean ranching เป็นการเพิ่มจำนวนปลาอีกวิธีหนึ่งและกำลังพัฒนาอยู่ที่รัฐอะแลสกา คือจะปล่อยลูกปลาลงในทะเลห่างจากสายน้ำของแซลมอนธรรมชาติอื่น ๆ เมื่อถึงเวลาจะวางไข่ ปลาก็จะกลับมาสู่ที่ที่ปล่อย ซึ่งชาวประมงสามารถจับมันได้

อีกวิธีหนึ่งก็คือใช้ช่องน้ำวางไข่ คือเป็นช่องน้ำที่ทำขึ้น ปกติจะอยู่ใกล้ ๆ กับทางน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ ผนังด้านข้างจะทำเป็นคอนกรีตหรือหินดาดโดยพื้นเจะป็นก้อนกรวด น้ำจากทางน้ำข้าง ๆ จะปัมพ์เข้าไปที่ต้นช่องน้ำโดยบางครั้งมีสระพักน้ำให้ตกตะกอน การวางไข่จะได้ผลในช่องน้ำนี้ดีกว่าทางน้ำธรรมชาติที่ติดกันเพราะควบคุมน้ำท่วมได้ดีกว่า เพราะบางปีน้ำอาจพัดเอารังวางไข่ (redd) ของปลาไป แต่เพราะไม่มีน้ำท่วม ช่องเช่นนี้บางครั้งต้องลอกเอาสิ่งตกตะกอนออก จริง ๆ น้ำท่วมที่พัดพาเอารังปลาไปก็ทำความสะอาดทางน้ำธรรมชาติไปด้วย แต่การเปิดให้ปลารับปรสิตและจุลชีพก่อโรคที่มีอยู่ตามธรรมชาติจากน้ำที่ไม่ได้ควบคุม บวกกับค่าใช้จ่ายสูงเพื่อทำช่องน้ำวางไข่ ทำให้เทคโนโลยีนี้ไม่เหมาะแก่ธุรกิจเลี้ยงเแซลมอน ดังนั้น โปรแกรมเพิ่มจำนวนปลาที่ไม่หวังผลกำไร (ของรัฐ หรือของเอกชน) เท่านั้นที่ใช้ประโยชน์ได้

ปลาแซลมอนเลี้ยงมักให้กินสารรงควัตถุพวกแคโรทีนอยด์ (carotenoid) คือแอสตาแซนทิน (astaxanthin) และแคนทาแซนทิน (canthaxanthin) เพื่อให้เนื้อมีสีเหมือนปลาธรรมชาติ[85] และขายปลาได้ดีกว่า[86]

ทางเลือกอาหารปลาแทนปลาธรรมชาติซึ่งจับได้ที่เสนออย่างหนึ่งก็คือผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง ซึ่งอาจดีต่อสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ฟาร์มเลี้ยงปลา แต่การผลิตถั่วเหลืองก็มีผลต่อสิ่งแวดล้อมของแหล่งผลิตสูง อนึ่ง กรดไขมันโอเมกา-3 ของปลาก็จะลดลงเทียบกับปลาแซลมอนที่เลี้ยงด้วยปลา

ทางเลือกอีกทางหนึ่งก็คือการใช้ผลิตภัณฑ์ยีสต์ซึ่งเป็นผลพลอยได้ในการผลิตไบโอเอทานอล (bioethanol) เป็นมวลชีวภาพหมักที่เป็นโปรตีน การใช้ผลิตภัณฑ์เช่นนี้ในอาหารเลี้ยงปลาที่ทำขึ้น อาจทำให้ปลาโตได้ในอัตราเดียวกันหรือยิ่งกว่า[87] เมื่อมีผลิตภัณฑ์เช่นนี้มากขึ้น ก็จะแก้ปัญหาค่าอาหารปลาสูงขึ้นด้วย

ทางเลือกอาหารปลาที่น่าสนใจอีกทางหนึ่งก็คือสาหร่ายทะเล สาหร่ายมีแร่ธาตุและวิตามินสำคัญสำหรับปลากำลังโต ข้อได้เปรียบก็คือมีใยอาหารที่ปลาปกติได้ตามธรรมชาติและก่อ glycemic load[C] น้อยกว่าอาหารที่ทำจากธัญพืช[87] ในกรณีดีสุด การใช้สาหร่ายทะเลอย่างกว้างขวางจะทำให้เลี้ยงปลาได้โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรต่าง ๆ รวมทั้งที่ดิน น้ำจืด หรือปุ๋ย[88][ไม่อยู่ในแหล่งอ้างอิง]

การบริหารควบคุมจำนวนปลา

[แก้]
ปลาแซลมอนซ็อกอายกำลังวางไข่ในรัฐอะแลสกา (Becharof Wilderness)

จำนวนปลาแซลมอนเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงในมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิกบางส่วน จำนวนปลาแซลมอนธรรมชาติได้ลดลงอย่างมากในทศวรรษที่ผ่าน ๆ มาโดยเฉพาะปลาแซลมอนแอตแลนติกเหนือซึ่งวางไข่ในน้ำของยุโรปตะวันตกและแคนาดาตะวันออก และโดยเฉพาะปลาแซลมอนธรรมชาติในแม่น้ำโคลัมเบียและแม่น้ำสเนก (Snake river) ในสหรัฐภาคตะวันตกเฉียงเหนือ

ส่วนจำนวนปลาในรัฐอะแลสกายังมากอยู่ และก็จับปลาได้มากขึ้นในทศวรรษที่ผ่าน ๆ มาหลังจากรัฐเริ่มจำกัดการตกปลาตั้งแต่ปี 1972[89][90][ต้องการอ้างอิง] การประมงปลาแซลมอนธรรมชาติที่ยั่งยืนและสำคัญในอะแลสกาอยู่ใกล้แม่น้ำเคไน (Kenai River) แม่น้ำคูเปอร์ (Copper River) และอ่าวบริสตอล (Bristol Bay) การเลี้ยงปลาแซลมอนแปซิฟิกนั้นผิดกฎหมายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของสหรัฐ[ต้องการอ้างอิง] แต่ก็มีบ่อเลี้ยงปลาที่รัฐเป็นผู้สนับสนุน[91] และการบริหารการประมงของรัฐอะแลสกาก็จัดเป็นแนวหน้าในการบริหารจำนวนประชากรปลาธรรมชาติ

ในแคนาดา ปลาธรรมชาติที่กลับมาสู่แดนเกิดคือแม่น้ำสกีนา (Skeena River) ทำให้สามารถทำการประมงเพื่อการพาณิชย์ เพื่อตกปลากิน และเพื่อตกปลาเป็นกีฬา ช่วยเป็นอาหารแก่สัตว์ป่ามากมายทั้งตามชายฝั่งและในบริเวณต่าง ๆ เป็นร้อย ๆ ไมล์เข้าไปในแผ่นดินถัดจากลุ่มน้ำของแม่น้ำ ส่วนสถานะของปลาแซลมอนธรรมชาติในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ไม่ค่อยแน่นอน ในบรรดากลุ่มประชากรธรรมชาติของปลาแซลมอนและปลาเรนโบว์เทราต์ที่อพยพไปสู่ทะเล 435 กลุ่ม 187 กลุ่มเท่านั้นจัดได้ว่ามีสถานะดี 113 กลุ่มมีสถานะไม่ชัดเจน กลุ่มหนึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว 12 กลุ่มอยู่ในสถานะวิกฤติ และ 122 กลุ่มมีจำนวนประชากรน้อยลง[92]

ส่วนการประมงปลาแซลมอนเพื่อการพาณิชย์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้จำกัดลงอย่างยิ่งหรือยุติไปเลยในปีที่ผ่าน ๆ มา เพราะมีปลากลับมายังแม่น้ำคลาแมท (Klamath River) และแม่น้ำแซคราเมนโตน้อยมาก ทำให้ชาวประมงเสียรายได้เป็นล้าน ๆ เหรียญสหรัฐ[93] ทั้งปลาแซลมอนแอตแลนติกและแปซิฟิกก็เป็นปลายอดนิยมที่ตกเพื่อการกีฬา

ปลาแซลมอนได้นำไปปล่อยในเกรตเลกส์ คือปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 รัฐมิชิแกนได้ปล่อยปลาแซลมอนโคโฮในทะเลสาบเพื่อควบคุมปลาเอลไวฟ์ (alewife, เป็นปลาเฮร์ริงที่อพยพสู่ทะเล) ที่ไม่ใช่ปลาพื้นที่ ปัจจุบัน รัฐที่อยู่ติดกับเกรตเลกส์จะปล่อยปลาแซลมอนชินูก ปลาแซลมอนแอตแลนติก และปลาแซลมอนโคโฮลงในเกรตเลกส์ทุกปี กลุ่มประชากรแซลมอนเหล่านี้ไม่สามารถคงอยู่ด้วยตนเองได้ ดังนั้น จึงไม่มีประโยชน์ต่อการประมงเพื่อการพาณิชย์ แต่ก็มีการตกปลาเพื่อกีฬา

เป็นอาหาร

[แก้]
ซาชิมิแซลมอน

ปลาแซลมอนเป็นอาหารที่นิยม เนื้อปลาแซลมอนมีคุณค่าทางโภชนาการสูง นิยมนำไปแปรรูปต่าง ๆ ทั้ง ปลากระป๋อง หรือเนื้อปลาสด เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญและมีการประมงทั่วโลก รวมถึงการตกเป็นเกมกีฬาด้วย การศึกษาพบว่าเนื้อปลาแซลมอนมีโปรตีนสูง มีกรดอะมิโนที่มีคุณค่า จัดว่าเป็นปลามีไขมันสูงรวมทั้งกรดไขมันโอเมกา-3 ซึ่งผู้บริโภคให้ความนิยม[94] มีวิตามิน A, D, B6, B12 รวมทั้งไนอาซินและไรโบเฟลวิน, ธาตุเหล็ก, แคลเซียม, สังกะสี, แมกนีเซียม และฟอสฟอรัส นับเป็นอาหารที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง จัดเป็นอาหารสุขภาพ[95] เหมาะสำหรับเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เพราะเป็นเนื้อปลาที่ย่อยง่าย มีประโยชน์ต่อร่างกายสูง นอกจากนี้ยังสามารถลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็งบางชนิดได้ด้วย[96][ลิงก์เสีย] อนึ่ง ปลาแซลมอนที่พบในประเทศญี่ปุ่นอาจมีปริมาณไขมันน้อยกว่าปลาแซลมอนที่อื่นด้วย[97]

แต่ปลาก็เป็นแหล่งคอเลสเตอรอลด้วยโดยมี 23-485 ม.ก. ต่อปลา 100 ก. ขึ้นอยู่กับสปีชีส์[98] อนึ่ง ตามรายงานในวารสาร Science ปลาแซลมอนเลี้ยงอาจมีระดับสารมลพิษ dioxin (Polychlorinated dibenzodioxins) สูง เช่น ระดับ PCB (Polychlorinated biphenyl) อาจสูงเป็นแปดเท่าของปลาธรรมชาติ[99] แต่ก็ยังต่ำกว่าขีดอันตรายมาก[100][101] อย่างไรก็ดี ตามงานศึกษาปี 2006 ที่พิมพ์ในวารสารการแพทย์ คือ JAMA ประโยชน์ของการทานแม้ปลาแซลมอนเลี้ยงก็ยังมากกว่าความเสี่ยงที่อาจมีเพราะสิ่งปนเปื้อน[102]

ปลาแซลมอนเลี้ยงมีกรดไขมันโอเมกา-3 เทียบเท่ากับปลาธรรมชาติ[103]

เนื้อแซลมอนปกติจะมีสีส้มจนถึงแดง แม้เนื้อปลาธรรมชาติเป็นสีขาวที่มีหนังเป็นสีขาวดำก็มีด้วย สีเนื้อธรรมชาติเกิดจากสารรงควัตถุแคโรทีนอยด์ (carotenoid pigment) โดยหลักคือแอสตาแซนทิน (astaxanthin) แต่ก็มีแคนทาแซนทิน (canthaxanthin) บ้าง[104] ปลาแซลมอนธรรมชาติได้สารเหล่านี้จากการกินเคยและหอยเล็ก ๆ

ปลาแซลมอนแอตแลนติกโดยมากที่ขายทั่วโลกเป็นปลาเลี้ยง (เกือบ 99%)[105] เทียบกับปลาแซลมอนแปซิฟิกที่โดยมาก (มากกว่า 80%) เป็นปลาธรรมชาติ

แซลมอนกระป๋องในสหรัฐปกติจะเป็นปลาแซลมอนแปซิฟิกธรรมชาติ แต่ก็มีปลาเลี้ยงเช่นกัน ปลาอัดกระป๋องปกติจะมีหนังปลา (ซึ่งไม่เป็นอัตราย) และกระดูก (ซึ่งให้แคลเซียม) รวมอยู่ด้วย แต่ปลากระป๋องไม่มีหนังไร้กระดูกก็มีด้วยเหมือนกัน

การรมควันเป็นวิธีการถนอมปลาที่นิยมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะรมควันร้อนหรือเย็น ล็อกซ์อาจหมายถึงแซลมอนที่รมควันเย็น หรือแซลมอนที่แช่น้ำเกลือจนเค็ม ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า gravlax

เนื้อปลาดิบอาจมีนีมาโทดาสกุล Anisakis ซึ่งเป็นพยาธิทะเล (ก่อโรคพยาธิ anisakiasis ในมนุษย์) ก่อนจะมีการแช่เย็น คนญี่ปุ่นไม่ได้บริโภคปลาแซลมอนดิบ และทั้งเนื้อปลาและไข่ปลาก็พึ่งมาใช้ทำซาชิมิและซูชิเมื่อเริ่มมีปลาแซมอนจากนอร์เวย์ที่ไร้พยาธิในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980[106]

สำหรับคนพื้นเมืองทางชายฝั่งส่วนแปซิฟิกนอร์ทเวสต์ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) ของสหรัฐ ปลาแซลมอนเป็นอาหารที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะก็คือ คนพื้นเมืองของหมู่เกาะไฮดาไกวในรัฐบริติชโคลัมเบียมีแซลมอนเป็นอาหารหลัก และคนเหล่าอื่น ๆ ก็ตกปลาในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นศตวรรษ ๆ แล้ว[107] ปลาแซลมอนมีมาตั้งแต่สมัยโบราณและเป็นของพิเศษ มันสำคัญก็เพราะเป็นส่วนของวัฒนธรรม ศิลปะ และพิธีกรรมต่าง ๆ ปลามาวางไข่ในหมู่เกาะทุก ๆ ปี[107] คนพื้นเมืองเรียกปลานี้ว่า "tsiin"[107] และอาจปรุงอาหารได้หลายวิธีรวมทั้งรมควัน อบ ทอด และทำเป็นซุป

ประวัติ

[แก้]
การจับปาแซลมอนด้วยอวน ภาพโดย Wenzel Hollar (1607-1677)

ปลาแซลมอนเป็นหัวใจของวัฒนธรรมและการหาเลี้ยงชีพของผู้อยู่ตามชายฝั่ง ซึ่งมีประวัติกลับไปยาวนานถึง 5,000 ปีตามซากโบราณคดีของคนเผ่านิสควอลี (Nisqually)[108] ปลาสกุล Oncorhynchus ดั้งเดิมกระจายไปทั่วชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก[109] ประวัติแสดงว่า ปลาแซลมอนใช้แม่น้ำสายย่อย แม่น้ำ และแหล่งน้ำกร่อยโดยไม่จำกัดเป็นเวลานานถึง 18-22 ล้านปี แต่ข้อมูลพื้นฐานก็กำหนดไม่ได้ดีเพราะมีข้อมูลประวัตศาสตร์ไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังบอกได้ว่าปลาได้ลดจำนวนไปอย่างมหาศาลเริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 1900

สหรัฐส่วนแปซิฟิกนอร์ทเวสต์ (ชายฝั่งแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ) เคยมีคนพื้นเมืองผู้อยู่กระจายไปทั่วที่มีวิธีจัดการปลาทางนิเวศวิทยาเพื่อไม่ให้ปลาหมดไปเพราะกิจกรรมชีวิตของพวกเขา พวกเขาเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติมีจิตวิญญาณ (animist) ปลาแซลมอนจึงไม่เพียงเป็นแต่อาหาร แต่เป็นผู้แนะแนวทางทางจิตวิญญาณด้วย ความนับถือเช่นนี้จึงทำให้คำนึงถึงระบบนิเวศ เช่น แม่น้ำและแม่น้ำย่อยที่ปลาแซลมอนใช้วางไข่ ทำให้บ่อยครั้งใช้ปลาทั้งตัวโดยไม่ทิ้งขว้างเพื่อทำวัสดุต่าง ๆ เช่น ทำกาวจากกระเพาะปลา ทำของเล่นจากระดูก ทำเสื้อผ้าและรองเท้าจากหนัง

มีพิธีกรรมเกี่ยวกับปลาของชาวพื้นเมืองชายฝั่งแปซิฟิก (first salmon ceremony) ซึ่งประกอบด้วยองค์ 3 องค์ อย่างแรก เป็นการฉลองการจับปลาได้เป็นคราวแรก ตามด้วยการจัดทำปลา และสุดท้ายเป็นการคืนกระดูกให้แก่ทะเลเพื่อแสดงไมตรีจิตและเพื่อให้ปลาอื่นยอมสละชีวิตแก่คนในหมู่บ้าน[110] มีเผ่าหลายเผ่า (เช่น Yurok) ที่มีข้อต้องห้ามไม่ให้ตกปลาแรก ๆ ที่ว่ายน้ำขึ้นกระแสน้ำในฤดูร้อน แต่เมื่อยืนยันแล้วว่ามีปลาแซลมอนมากจึงจะล่ามันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน[111] ข้อปฏิบัติของชนพื้นเมืองเช่นนี้แสดงความชาญฉลาดทางนิเวศวิทยา แต่ก็หายไปหมดเมื่อคนยุโรป-อเมริกันมาตั้งถิ่นฐาน[112]

ปลาแซลมอนมีประวัติที่น่าทึ่งใจยิ่งกว่าที่ปรากฏในทุกวันนี้ ปลาที่เคยมีทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกปัจจุบันเหลือเป็นแค่บางส่วน จำนวนแซลมอนที่เหลือในปัจจุบันประเมินว่าเป็นเพียงแค่ 1-3% ของปี 1804 (สมัยที่ลิวอิสและคลาก์มาสำรวจออริกอน)[113] ในคำปราศรัยต่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐปี 1908 ประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลต์ ให้ข้อสังเกตว่า การประมงปลาแซลมอนได้ลดลงอย่างสำคัญ คือ[114][115]

การประมงปลาแซลมอนของแม่น้ำโคลัมเบียปัจจุบันเป็นเพียงแค่เศษเหลือของสิ่งที่มีเมื่อ 25 ปีก่อน มันคงจะดีกว่านี้ถ้ารัฐบาลกลางสหรัฐได้เข้าไปควบคุมโดยจัดการปัญหาระหว่างรัฐออริกอนกับวอชิงตัน ใน 25 ปีที่ผ่านมา ชาวประมงของแต่ละรัฐได้พยายามตกปลาให้มากที่สุดเท่าที่ตนจะหาได้ และรัฐสภาของสองรัฐต่างก็ไม่สามารถตกลงทำกิจร่วมกันเพียงพอเพื่อป้องกันการประมงได้ ตอนนี้ การประมงในรัฐออเรกอนเท่ากับยุติไปแล้วแต่ในรัฐวอชิงตันกลับยังไม่มีข้อจำกัดอะไร ๆ โดยประการทั้งปวง ... ในขณะเดียวกัน มีปลาแซลมอนน้อยมากที่กลับไปถึงที่วางไข่ของตน และอีก 4 ปี การประมงก็คงจะไม่เหลืออะไร นี่เป็นความขัดแย้งกันระหว่างชาวประมงที่ใช้อวนเป็นฝ่ายหนึ่ง กับเจ้าของกังหันจับปลาเหนือน้ำ (อีกฝ่ายหนึ่ง)

ในแม่น้ำโคลัมเบีย เขื่อนชิฟโจเซฟ (Chief Joseph Dam) ที่สร้างเสร็จในปี 1955 ทำให้ปลาแซลมอนไม่สามารถอพยพไปยังเหนือน้ำได้ ในแม่น้ำเฟรเซอร์ หินที่ไถลตกลงในแม่น้ำเนื่องกับการสร้างทางรถไฟของบริษัททางรถไฟ Canadian Pacific Railway ที่เฮลล์เกต (Hells Gate) รัฐบริติชโคลัมเบีย มีผลลบต่อจำนวนประชากรแซลอน คือในปี 1917 จำนวนปลาที่จับได้เหลือแค่ 1/4 ของปี 1913[116]

ตำนาน

[แก้]
ในไอร์แลนด์เหนือ เกล็ดปลาของรูปประติมากรรม The Big Fish หรือ Salmon of Knowledge เป็นการฉลองการกลับคืนมาของปลาแซลมอนแม่น้ำริเวอร์ละแกน (River Lagan)
ภาพวาดปลาแซลมอนชนิดต่าง ๆ

ปลาเป็นสัตว์สำคัญในตำนานและกวีนิพนธ์เซลติก (Celtic) โดยมักเกี่ยวกับปัญญาและความน่านับถือ ในตำนานไอริช มีปลาที่เรียกว่า Salmon of Knowledge[117] ซึ่งมีบทบาทสำคัญในนิทานสมัยกลางคือ The Boyhood Deeds of Fionn ในนิทานนี้ ปลาจะให้พลังแห่งปัญญาแก่บุคคลที่กินมัน ดังนั้น นักกวี Finn Eces จึงสืบหามันเป็นเวลาถึง 7 ปี ในที่สุดเขาก็จับปลาได้แล้วมอบแก่ลูกศิษย์วัยเยาว์ของเขาคือฟิน แม็กคูล (Fionn mac Cumhaill) เพื่อให้เอาปลาไปทำ แต่ฟินลวกนิ้วหัวแม่มือด้วยน้ำแซลมอน จึงอมนิ้วเพื่อคลายร้อน เขาจึงได้ปัญญาของแซลมอนโดยไม่ได้ตั้งใจ ในตำนานไอริชอื่น ๆ ปลาแซลมอนเป็นการกลับชาติมาเกิดของบุคคลในตำนานทั้ง Tuan mac Cairill[118] และ Fintan mac Bóchra[119]

ปลาแซลมอนก็อยู่ในตำนานของชาวเวลส์ด้วย ในนิทานร้อยแก้ว Culhwch and Olwen แซลมอนแห่ง Llyn Llyw เป็นสัตว์อาวุโสที่สุดในบริเตน เป็นสัตว์เดียวที่รู้ที่อยู่ของพระเอกคนหนึ่งในนิทานคือมาบอน แอ็ป มอดรอน (Mabon ap Modron) หลังจากได้คุยกับสัตว์อาวุโสอื่น ๆ จำนวนหนึ่งที่ไม่รู้ที่อยู่ของเขา ข้าราชบริพารของกษัตริย์อาเธอร์คือ เซอร์เคย์และเบดิเวียร์ก็ได้ไปหาปลาแซลมอน ผู้ได้ให้บุคคลทั้งสองนั่งไปบนหลังเดินทางกลับไปยังกำแพงคุกเมืองกลอสเตอร์ที่มอดรอนติดอยู่[120]

ในเรื่องปรัมปรานอร์ส หลังจากโลกิได้ลวงเทพตาบอด Höðr ให้ฆ่าน้องชายตัวเองคือ คือ Baldr โลกิก็กระโดดลงไปในแม่น้ำแล้วแปลงเป็นแซลมอนเพื่อหนีการถูกลงโทษจากเทพอื่น ๆ เมื่อพวกเทพเอาอวนมาจับ เขาก็พยายามกระโดดข้ามมันแต่ก็ถูกทอร์จับที่หางซึ่งเป็นเหตุให้หางปลาเรียว[121]

ปลาแซลมอนเป็นส่วนสำคัญทางจิตวิญญาณและทางวัฒนธรรมในเรื่องปรัมปราของคนพื้นเมืองอเมริกันทางชายฝั่งแปซิฟิก เริ่มตั้งแต่คนไฮดาและคน Coast Salish จนถึงคนนูชานูท (Nuu-chah-nulth) ในรัฐบริติชโคลัมเบีย[122]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ecosystem engineer คือสิ่งมีชีวิตที่สร้าง เปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ดำรงรักษา และทำลายแหล่งที่อยู่
  2. Open-net fish farms เป็นกรงทำด้วยตาข่ายลอยน้ำที่ยึดไว้โดยบ่อยครั้งอยู่ในอ่าวหรือเขตที่มีอะไรบังไว้[75]
  3. glycemic load (GL) ของอาหารเป็นตัวเลขที่ประเมินว่า อาหารจะเพิ่มระดับกลูโคสในเลือดของบุคคลเท่าไรหลังรับประทานอาหาร

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 "ปลาแซลมอน". มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
  2. "NOAA/NMFS/NWFSC-TM30: Homing, Straying, and Colonization". U.S. Dept Commerce/NOAA/NMFS/NWFSC/Publications. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 November 2018. สืบค้นเมื่อ 11 August 2015.
  3. Scholz AT, Horrall RM, Cooper JC, Hasler AD (1976). "Imprinting to chemical cues: The basis for home stream selection in salmon". Science. 192 (4245): 1247–9. Bibcode:1976Sci...192.1247S. doi:10.1126/science.1273590. PMID 1273590. S2CID 11248713.
  4. Ueda H (2011). "Physiological mechanism of homing migration in Pacific salmon from behavioral to molecular biological approaches" (PDF). General and Comparative Endocrinology. 170 (2): 222–32. doi:10.1016/j.ygcen.2010.02.003. hdl:2115/44787. PMID 20144612. S2CID 205779299. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-09.
  5. "Salmon (n)". Online Etymology Dictionary. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 April 2019. สืบค้นเมื่อ 25 April 2012.
  6. Heiko Schneider (25 August 2011). "Patagonian salmonids-This is the history and present state of salmonid introduction in Patagonia". Global Fly Fisher. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 April 2014. สืบค้นเมื่อ 25 April 2014.
  7. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2012). "Salmo salar" in FishBase. April 2012 version.
  8. 8.0 8.1 "Species Fact Sheet: Salmo salar, Linnaeus, 1758". FAO. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 April 2019.
  9. "Salmo salar". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  10. World Conservation Monitoring Centre (1996). "Salmo salar". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.2.
  11. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2012). "Oncorhynchus tshawytscha" in FishBase. April 2012 version.
  12. "Species Fact Sheet: Oncorhynchus tshawytscha (Walbaum, 1792)". FAO. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2019.
  13. "Oncorhynchus tshawytscha". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  14. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2012). "Oncorhynchus keta" in FishBase. April 2012 version.
  15. "Species Fact Sheet: Oncorhynchus keta (Walbaum, 1792)". FAO. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2019.
  16. "Oncorhynchus keta". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  17. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2012). "Oncorhynchus kisutch" in FishBase. April 2012 version.
  18. "Species Fact Sheet: Oncorhynchus kisutch (Walbaum, 1792)". FAO. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2019.
  19. "Oncorhynchus kisutch". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  20. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2012). "Oncorhynchus masou" in FishBase. April 2012 version.
  21. "Oncorhynchus masou". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  22. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2012). "Oncorhynchus gorbuscha" in FishBase. April 2012 version.
  23. "Species Fact Sheet: Oncorhynchus gorbuscha (Walbaum, 1792)". FAO. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2019.
  24. "Oncorhynchus gorbuscha". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  25. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2012). "Oncorhynchus nerka" in FishBase. April 2012 version.
  26. "Species Fact Sheet: Oncorhynchus nerka (Walbaum, 1792)". FAO. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2019.
  27. "Oncorhynchus nerka". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  28. Rand PS (2011). "Salmo salar". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.2.
  29. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2012). "Arripis trutta" in FishBase. April 2012 version.
  30. "Arripis trutta". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  31. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2012). "Hucho hucho" in FishBase. April 2012 version.
  32. "Hucho hucho". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  33. Freyhof J, Kottelat M (2008). "Hucho hucho". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.2.
  34. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2012). "Elagatis bipinnulata" in FishBase. April 2012 version.
  35. "Species Fact Sheet: Elagatis bipinnulata (Quoy & Gaimard, 1825)". FAO. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 November 2018.
  36. "Elagatis bipinnulata". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  37. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2012). "Eleutheronema tetradactylum" in FishBase. April 2012 version.
  38. "Eleutheronema tetradactylum". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  39. Montgomery, David (2004). King Of Fish. Cambridge, MA: Westview Press. pp. 27–28. ISBN 0813342996.
  40. 40.0 40.1 40.2 40.3 Based on data sourced from the relevant FAO Species Fact Sheets
  41. "Chinook Salmon". Alaska Department of Fish and Game. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 December 2006. สืบค้นเมื่อ 17 November 2006.
  42. 42.0 42.1 42.2 Stephenson, S. A. "The Distribution of Pacific Salmon (Oncorhynchus spp.) in the Canadian Western Arctic" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 12 July 2017. สืบค้นเมื่อ 1 September 2013.
  43. "Chinook Salmon". NOAA Fisheries. 2012-04-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-28.
  44. "Chum Salmon". Alaska Department of Fish and Game. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 April 2007. สืบค้นเมื่อ 17 November 2006.
  45. "Coho Salmon". NOAA Fisheries. 2012-06-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-02.
  46. "Formosan salmon". Taiwan Journal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 October 2007. สืบค้นเมื่อ 13 December 2006.
  47. "Pink Salmon". Alaska Department of Fish and Game. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 February 2007. สืบค้นเมื่อ 17 November 2006.
  48. "Sockeye Salmon". Alaska Department of Fish and Game. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 December 2006. สืบค้นเมื่อ 17 November 2006.
  49. 49.0 49.1 49.2 "Pacific Salmon, (Oncorhynchus spp.)". U.S. Fish and Wildlife Service. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2018. สืบค้นเมื่อ 17 November 2006.
  50. "A Salmon's Life: An Incredible Journey". U.S. Bureau of Land Management. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-25.
  51. Vladić, Tomislav; Petersson, Erik, บ.ก. (2015). Evolutionary Biology of the Atlantic Salmon (1st ed.). CRC Press. ISBN 1466598484.
  52. McGrath, Susan. "Spawning Hope". Audubon Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 September 2007. สืบค้นเมื่อ 17 November 2006. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  53. 53.0 53.1 53.2 53.3 53.4 "แซลมอนจ๋า เจ้ามาจากหนใด.. รู้จักชนิด ตามติดการเดินทางของปลาแซลมอน และวิถีชีวิตอันน่าทึ่ง !". Japan Guide Book. 2013-07-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-16. สืบค้นเมื่อ 2015-05-08.
  54. Willson MF, Halupka KC (1995). "Anadromous Fish as Keystone Species in Vertebrate Communities" (PDF). Conservation Biology. 9 (3): 489–497. doi:10.1046/j.1523-1739.1995.09030489.x. JSTOR 2386604. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 28 November 2011. สืบค้นเมื่อ 2019-05-16. {{cite journal}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  55. Reimchen, TE (2001). "Salmon nutrients, nitrogen isotopes and coastal forests" (PDF). Ecoforestry. 16: 13. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 6 May 2003.
  56. Quinn, T.; Carlson, S.; Gende, S. & Rich, H. (2009). "Transportation of Pacific Salmon Carcasses from Streams to Riparian Forests by Bears" (PDF). Canadian Journal of Zoology. 87 (3): 195–203. doi:10.1139/Z09-004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 16 June 2012. สืบค้นเมื่อ 2019-05-16. {{cite journal}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  57. Reimchen TE, Mathewson DD, Hocking MD, Moran J (2002). "Isotopic evidence for enrichment of salmon-derived nutrients in vegetation, soil, and insects in riparian zones in coastal British Columbia" (PDF). American Fisheries Society Symposium. 20: 1–12. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 12 October 2003.
  58. Helfield, J. & Naiman, R. (2006). "Keystone Interactions: Salmon and Bear in Riparian Forests of Alaska" (PDF). Ecosystems. 9 (2): 167–180. doi:10.1007/s10021-004-0063-5. S2CID 28989920. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 26 April 2012. สืบค้นเมื่อ 2019-05-16. {{cite journal}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  59. "Extinction". Northwest Power and Conservation Council. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2018. สืบค้นเมื่อ 21 December 2007.
  60. Hyatt, K D; McQueen, D J; Shortreed, K S; Rankin, D P (2004). "Sockeye salmon (Oncorhynchus nerka) nursery lake fertilization: Review and summary of results" (PDF). Environmental Reviews. 12 (3): 133–162. doi:10.1139/a04-008. S2CID 12930576. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-08-07. สืบค้นเมื่อ 2023-03-04. {{cite journal}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  61. Pollock, M. M.; Pess, G. R.; Beechie, T. J. "The Importance of Beaver Ponds to Coho Salmon Production in the Stillaguamish River Basin, Washington, USA" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 1 September 2006. สืบค้นเมื่อ 21 December 2007.
  62. Hood, W Gregory. "AN OVERLOOKED ECOLOGICAL WEB". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 July 2008. สืบค้นเมื่อ 2019-05-16. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  63. "Yuba River Steelhead Redd Surveys (preliminary draft)" (PDF). Yuba River Management Team (RMT) Web Site, Yuba County Water Agency. 19 January 2010. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 29 April 2018.
  64. "Elder's devotion to ugly fish lives on after his tragic death". Al Jazeera America. 20 August 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2018.
  65. "Pacific Lamprey's Big Year". Redheaded Blackbelt. 18 June 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2018.
  66. "A Primeval Marvel" (PDF). terra. Oregon State University. 2014. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 3 May 2018.
  67. Crosier, Danielle M.; Molloy, Daniel P.; Bartholomew, Jerri. "Whirling Disease - Myxobolus cerebralis" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 16 February 2008. สืบค้นเมื่อ 13 December 2007. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  68. Gilbert, MA; Granath, WO (August 2003). "Whirling disease of salmonid fish: life cycle, biology, and disease". J. Parasitol. 89 (4): 658–67. doi:10.1645/GE-82R. PMID 14533670.
  69. Boyce, N.P.; Kabata, Z.; Margolis, L. (1985). "Investigation of the Distribution, Detection, and Biology of Henneguya salminicola (Protozoa, Myxozoa), a Parasite of the Flesh of Pacific Salmon" (PDF). Canadian Technical Report of Fisheries and Aquatic Sciences (1450): 55. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 12 November 2014.
  70. "Sea Lice and Salmon: Elevating the dialogue on the farmed-wild salmon story" (PDF). Watershed Watch Salmon Society. 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 13 July 2012.
  71. Bravo, S. (2003). "Sea lice in Chilean salmon farms". Bull. Eur. Assoc. Fish Pathol. 23: 197–200.
  72. Morton, A.; Routledge, R; Peet, C; Ladwig, A (2004). "Sea lice (Lepeophtheirus salmonis) infection rates on juvenile pink (Oncorhynchus gorbuscha) and chum (Oncorhynchus keta) salmon in the nearshore marine environment of British Columbia, Canada". Canadian Journal of Fisheries and Aquatic Sciences. 61 (2): 147–157. doi:10.1139/f04-016.
  73. Peet, C. R. (2007). Interactions between sea lice (Lepeophtheirus salmonis and Caligus clemensii), juvenile salmon (Oncorhynchus keta and Oncorhynchus gorbuscha) and salmon farms in British Columbia (PDF) (MSc). Victoria, British Columbia, Canada: University of Victoria. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 26 October 2016.
  74. Krkošek, M; Gottesfeld, A; Proctor, B; Rolston, D; Carr-Harris, C; Lewis, M.A. (2007). "Effects of host migration, diversity and aquaculture on sea lice threats to Pacific salmon populations". Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences. 274 (1629): 3141–9. doi:10.1098/rspb.2007.1122. PMC 2293942. PMID 17939989.
  75. Morton, Alexandra. "SALMON CONFIDENTIAL: The ugly truth about Canada's open-net salmon farms". WHAT IS AFISH FARM?. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 October 2015. สืบค้นเมื่อ 10 May 2019. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  76. Morton, Alexandra; Routledge, Rick; Krkosek, Martin (2008). "Sea Louse Infestation in Wild Juvenile Salmon and Pacific Herring Associated with Fish Farms off the East-Central Coast of Vancouver Island, British Columbia" (PDF). North American Journal of Fisheries Management. 28 (2): 523–532. doi:10.1577/M07-042.1. ISSN 0275-5947. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 29 August 2013. สืบค้นเมื่อ 2019-05-16. {{cite journal}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  77. Krkosek, M.; Lewis, M. A.; Morton, A.; Frazer, L. N.; Volpe, J. P. (2006). "Epizootics of wild fish induced by farm fish". Proceedings of the National Academy of Sciences. 103 (42): 15506–15510. Bibcode:2006PNAS..10315506K. doi:10.1073/pnas.0603525103. ISSN 0027-8424. PMC 1591297. PMID 17021017.
  78. Krkošek, Martin (2007). "Declining Wild Salmon Populations in Relation to Parasites from Farm Salmon". Science. 318 (5857): 1772–5. Bibcode:2007Sci...318.1772K. doi:10.1126/science.1148744. PMID 18079401.
  79. Browman, Howard; Halvorsen, Michele B.; Casper, Brandon M.; Woodley, Christa M.; Carlson, Thomas J.; Popper, Arthur N. (2012). "Threshold for Onset of Injury in Chinook Salmon from Exposure to Impulsive Pile Driving Sounds". PLOS ONE. 7 (6): e38968. Bibcode:2012PLoSO...738968H. doi:10.1371/journal.pone.0038968. ISSN 1932-6203. PMC 3380060. PMID 22745695.
  80. Weissglas, G; Appelblad, H (1997). Bengtsson, Bo; Toivonen, A-L; Tuunainen, P (บ.ก.). Wild-spawning Baltic salmon - A natural resource redefined: From food to toys for "boys"?. Socio-economics of recreational fishery: Hotel Royal Wasa, Vaasa, Finland. Copenhagen: Nordic Council of Ministers [Nordiska ministerrådet]. pp. 89–95. ISBN 9789289301206.
  81. 81.0 81.1 Shaw, Susan; Muir, James (1987). Salmon: Economics and Marketing. Springer Netherlands. p. 250. ISBN 9780709933441.
  82. Naylor, Rosamond L. "Nature's Subsidies to Shrimp and Salmon Farming" (PDF). Science; 10/30/98, Vol. 282 Issue 5390, p883. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 26 March 2009. สืบค้นเมื่อ 2019-05-16. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  83. "It's all about salmon" (PDF). Seafood Choices Alliance. 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 24 September 2015.
  84. "Fish farms drive wild salmon populations toward extinction". SeaWeb. 13 December 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 November 2018.
  85. "Pigments in Salmon Aquaculture: How to Grow a Salmon-colored Salmon". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 October 2007. สืบค้นเมื่อ 26 August 2007. Astaxanthin (3,3'-hydroxy-β,β-carotene-4,4'-dione) is a carotenoid pigment, one of a large group of organic molecules related to vitamins and widely found in plants. In addition to providing red, orange, and yellow colours to various plant parts and playing a role in photosynthesis, carotenoids are powerful antioxidants, and some (notably various forms of carotene) are essential precursors to vitamin A synthesis in animals.
  86. Guilford, Gwynn (12 March 2015). "Here's why your farmed salmon has color added to it". Quartz (publication). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 March 2015. สืบค้นเมื่อ 12 March 2015.
  87. 87.0 87.1 "The Future of Aquafeeds: DRAFT for public comment" (PDF). NOAA/USDA Alternative Feeds Initiative. November 2010. p. 56. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 15 October 2011.
  88. Salmon Recovery Planning. nwr.noaa.gov. p. 57.
  89. "1878–2010, Historical Commercial Salmon Catches and Exvessel Values". Alaska Department of Fish and Game. สืบค้นเมื่อ 6 August 2011.
  90. Viechnicki, Joe (3 August 2011). "Pink salmon numbers record setting in early season". KRBD Public Radio in Ketchikan, Alaska. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 March 2012. สืบค้นเมื่อ 6 August 2011. {{cite news}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  91. low fish returns in Southeast this summer have been tough on the region's hatcheries เก็บถาวร 2013-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน media.aprn.org
  92. Johnson, Thom H.; Lincoln, Rich; Graves, Gary R.; Gibbons, Robert G. (1997). "Status of Wild Salmon and Steelhead Stocks in Washington State". ใน Stouder, Deanna J.; Bisson, Peter A.; Naiman, Robert J. (บ.ก.). Pacific Salmon and Their Ecosystems: Status and Future Options. Springer. pp. 127–144. doi:10.1007/978-1-4615-6375-4_11. ISBN 978-1-4615-6375-4.
  93. Hackett, S. & D. Hansen. "Cost and Revenue Characteristics of the Salmon Fisheries in California and Oregon". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-04. สืบค้นเมื่อ 1 June 2009. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  94. "What's an oily fish?". Food Standards Agency. 24 June 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 December 2010. สืบค้นเมื่อ 2019-05-16. {{cite news}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  95. "Dietary Supplement Fact Sheet: Vitamin D". National Institutes of Health. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 July 2007. สืบค้นเมื่อ 13 December 2007. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  96. ปลาแซลมอนอลาสก้า
  97. "Iron Chef Thailand เชฟกระทะเหล็ก 11 มิ.ย.57 ปลาหมึกยักษ์ 1/6". Bugaboo TV. 2014-06-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-22. สืบค้นเมื่อ 2014-06-12.
  98. "Cholesterol: Cholesterol Content in Seafoods (Tuna, Salmon, Shrimp)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-20. สืบค้นเมื่อ 13 December 2007. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  99. Hites, R. A.; Foran, J. A.; Carpenter, D. O.; Hamilton, M. C.; Knuth, B. A.; Schwager, S. J. (2004). "Global Assessment of Organic Contaminants in Farmed Salmon" (PDF). Science. 303 (5655): 226–9. Bibcode:2004Sci...303..226H. CiteSeerX 10.1.1.319.8375. doi:10.1126/science.1091447. PMID 14716013. S2CID 24058620. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 11 August 2017. สืบค้นเมื่อ 27 October 2017. {{cite journal}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  100. "Farmed vs. wild salmon – which is better?". CTV News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 November 2018. สืบค้นเมื่อ 28 April 2013.
  101. Foran, J. A.; Carpenter, D. O.; Hamilton, M. C.; Knuth, B. A.; Schwager, S. J. (2005). "Risk-Based Consumption Advice for Farmed Atlantic and Wild Pacific Salmon Contaminated with Dioxins and Dioxin-like Compounds". Environmental Health Perspectives. 113 (5): 552–556. doi:10.1289/ehp.7626. PMC 1257546. PMID 15866762.
  102. Mozaffarian, Dariush; Rimm, Eric B. (2006). "Fish Intake, Contaminants, and Human Health". JAMA. 296 (15): 1885–99. doi:10.1001/jama.296.15.1885. PMID 17047219.
  103. Raatz, S. K.; Rosenberger, T. A.; Johnson, L. K.; Wolters, W. W.; Burr, G. S.; Picklo Mj, Sr (2013). "Dose-Dependent Consumption of Farmed Atlantic Salmon (Salmo salar) Increases Plasma Phospholipid n-3 Fatty Acids Differentially". Journal of the Academy of Nutrition and Dietetics. 113 (2): 282–7. doi:10.1016/j.jand.2012.09.022. PMC 3572904. PMID 23351633.
  104. "Opinion of the Scientific Committee on Animal Nutrition on the use of canthaxanthin in feedingstuffs for salmon and trout, laying hens, and other poultry" (PDF). European Commission—Health & Consumer Protection Directorate. pp. 6–7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 16 November 2006. สืบค้นเมื่อ 13 November 2006.
  105. Montaigne, Fen. "Everybody Loves Atlantic Salmon: Here's the Catch..." National Geographic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 March 2007. สืบค้นเมื่อ 17 November 2006.
  106. Jiang, Jess (18 September 2015). "How The Desperate Norwegian Salmon Industry Created A Sushi Staple". National Public Radio. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 April 2019. สืบค้นเมื่อ 14 January 2017.
  107. 107.0 107.1 107.2 "Haida Gwaii Strategic Land Use Agreement" (PDF). Council of the Haida Nation. September 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2 April 2015. สืบค้นเมื่อ 2019-05-16. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  108. Wilkinson, Charles (2000). Messages from Frank's Landing: A Story of Salmon, Treaties, and the Indian Way. University of Washington Press. ISBN 978-0295980119. OCLC 44391504.
  109. Nadel., Foley, Dana (2005-01-01). Atlas of pacific salmon : the first map-based status assessment of salmon in the North Pacific. California University Press. ISBN 978-0520245044. OCLC 470376738.
  110. Amoss, Pamela (1987). "The Fish God Gave Us: The First Salmon Ceremony Revived". University of Wisconsin Press. 24: 56–66.
  111. Lichatowich, Jim (1999). Salmon Without Rivers: A History of the Pacific Salmon Crisis. Island Press. ISBN 978-1559633604. OCLC 868995261.
  112. E., Taylor, Joseph (2001). Making Salmon: An Environmental History of the Northwest Fisheries Crisis. Univ Of Washington Press. ISBN 978-0295981147. OCLC 228275619.
  113. Mcdermott, Jim (2017). "Endangered Salmon". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 November 2006.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  114. "Columbia River History: Commercial Fishing". Northwest Power and Conservation Council. 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 December 2010. สืบค้นเมื่อ 26 January 2012.
  115. Roosevelt, Theodore (8 December 1908). "State of the Union Address Part II by Theodore Roosevelt". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 January 2013. สืบค้นเมื่อ 31 January 2012.
  116. Babcock, John P (1920). Fraser River Salmon Situation a Reclamation Project. Victoria, B.C: W. H. Cullin. pp. 5.
  117. "The Salmon of Knowledge. Celtic Mythology, Fairy Tale". Luminarium.org. 18 January 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2018. สืบค้นเมื่อ 1 June 2010.
  118. "The Story of Tuan mac Cairill". Maryjones.us. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 March 2010. สืบค้นเมื่อ 18 March 2010.
  119. "The Colloquy between Fintan and the Hawk of Achill". Ucc.ie. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 December 2018. สืบค้นเมื่อ 18 March 2010.
  120. Parker, Will. "Culhwch ac Olwen: A translation of the oldest Arthurian tale". Culhwch ac Olwen. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2018. สืบค้นเมื่อ 17 January 2018.
  121. "The Poetic Edda". แปลโดย Henry Adams Bellows. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 May 2019. สืบค้นเมื่อ 27 April 2011.
  122. "Tribal Salmon Culture: Salmon Culture of the Pacific Northwest Tribes". Columbia River Inter-Tribal Fish Commission. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 May 2019.

อ่านเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]