ชะวากทะเล
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ที่อยู่อาศัยใต้ทะเล |
---|
ชะวากทะเล (อังกฤษ: Estuary) คือ บริเวณส่วนล่างของปากแม่น้ำที่มีความกว้างมากจนมีลักษณะคล้ายอ่าว ตอนบนของชะวากทะเลนั้นจะตอบแหลมเป็นรูปกรวยและจะค่อยขยายขนาดออกไปเมื่อเข้าหาในส่วนที่เป็นทะเลมากขึ้น บริเวณนี้เป็นบริเวณที่มีการผสมกันระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม เนื่องจากเป็นพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำยุบตัวลงสู่แนวชายฝั่งทะเลจึงได้รับอิทธิพลของน้ำทะเล ตัวอย่างของชะวากทะเลในประเทศไทย ได้แก่ บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี จังหวัดระนอง และ ปากแม่น้ำเวฬุ จังหวัดจันทบุรี โดยชะวากทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ชะวากทะเลเซนต์ลอว์เรนซ์ ในประเทศแคนาดา ที่มีความกว้างถึง 145 กิโลเมตร[1][2][3][4] และ ชะวากทะเลที่ยาวที่สุดในโลก คือ ชะวากอ่าวอ๊อบ สหพันธรัฐรัสเซีย[5]
ชะวากทะเล เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลที่มีแม่น้ำหรือลำธารไหลผ่านเชื่อมต่อลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างสภาพแวดล้อมแบบทางน้ำและสภาพแวดล้อมแบบทะเล จึงทำให้พื้นที่ในบริเวณนี้ได้รับทั้งอิทธิพลจากทะเลอันได้แก่ น้ำขึ้น - น้ำลง, คลื่นและการไหลเวียนของน้ำเกลือ รวมถึงอิทธิพลจากแม่น้ำอันได้แก่ ตะกอนและการไหลเวียนของน้ำจืด ซึ่งการที่มีน้ำจืดและน้ำเค็มไหลเวียนแบบนี้นั้นส่งผลให้พื้นที่ชะวากทะเลประกอบด้วยธาตุอาหารที่สำคัญจำนวนมาก จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดได้
ชะวากทะเลที่พบในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่เป็นชะวากทะเลที่เกิดขึ้นในช่วงยุคโฮโลซีน (Holocene) โดยการไหลท่วมของแม่น้ำหรือการกัดเซาะจากธารน้ำแข็งในช่วงที่มีก่รเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในช่วงประมาณ 10,000 - 12,000 ปีที่ผ่านมา และการจำแนกลักษณะของชะวากทะเลนั้นจะอาศัยลักษณะทางธรณีสัณฐานหรือรูปแบบการไหลของน้ำในการจำแนก ซึ่งหมายถึงการจำแนกเป็นอ่าว (Bay) หรือลากูน (Lagoon) เป็นต้น
ชะวากทะเลเป็นพื้นที่มีประชากรมาอาศัยอยู่จำนวนมาก คือประมาณร้อยละ 60 จากประชากรทั้งหมดของโลกที่ชอบอาศัยตามแนวชายฝั่งทะเลและชะวากทะเล เป็นผลให้พื้นที่ชะวากทะเลนี้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆได้แก่ การตกตะกอนของตะกอนจากการพังทลายของหน้าดินเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า การเพิ่มความเข้มข้นของปริมาณสารเคมีในระบบนิเวศจากสิ่งปฏิกูลและมูลสัตว์ (Eutrophication) มลพิษจากโลหะหนัก, สารพีซีบีเอส (PCBs), ธาตุกัมมันตรังสีและสารประกอบไฮโดรคาร์บอนจากสิ่งปฏิกูล และแนวกั้นน้ำหรือเขื่อนที่ใช้ในการควบคุมปริมาณการไหลของน้ำ
การจำแนกชนิดของชะวากทะเล
[แก้]ชะวากทะเลสามารถจำแนกโดยอาศัยลักษณะทางธรณีสัณฐาน ออกเป็นชนิดต่าง ๆ ได้ 4 ประเภท ดังนี้
- ชะวากทะเลแบบร่องน้ำจมตัว (Drowned river valleys-type estuaries)
ชะวากทะเลชนิดนี้ส่วนมากจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 6,000 ถึง 15,000 ปีที่ผ่านมา หรือในช่วงปลายของ Wisconsin glaciation (เป็นช่วงเวลาที่ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขี้นประมาณ 100 ถึง 130 เมตร) เมื่อระดับน้ำทะเลลดลงจึงได้มีการเกิดลักษณะชะวากทะเลเช่นนี้ขึ้น นอกจากนี้แล้วการทรุดตัวของบริเวณชายฝั่งยังช่วยให้เกิดชะวากทะเลแบบร่องน้ำจมตัวได้อีกด้วย โดยลักษณะเช่นนี้มักเกิดขึ้นในที่ราบต่ำ ขนาดกว้าง มีความลึกไม่มากนัก มักพบได้ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก สหรัฐอเมริกา ตัวอย่างเช่น Chesapeake Bay, Delaware Bay, Galveston Bay และ Tampa Bay
- ชะวากทะเลแบบลากูน (Lagoon-type estuaries)
ชะวากทะเลชนิดนี้จะได้รับอิทธิพลของน้ำทะเลน้อยมาก เนื่องจากในบริเวณนั้นมีเกาะสันดอน (Barrier islands) หรือจะงอยทราย (Sand spit) เป็นตัวกั้นอิทธิพลจากน้ำทะเลเอาไว้ จะมีช่องแคบๆเท่านั้นที่ติดต่อกับน้ำทะเล โดยมากมักจะพัฒนาอยู่บนบริเวณชายฝั่งที่มีความมั่นคงทางธรณีแปรสัณฐานสูง และมีการสะสมตัวของตะกอนตามแนวชายฝั่ง แต่จะต้องมีอัตราของน้ำขึ้นน้ำลงไม่เกิน 4 เมตร และเกาะสันดอนที่เกิดร่วมกันนั้นมักจะเกิดขึ้นในบริเวณทะเลน้ำตื้นคือลึกไม่เกิน 5 ถึง 10 เมตร และมีกระแสที่มากระทำขนานกับแนวชายหาด โดยมากจะพบตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก สหรัฐอเมริกา ตัวอย่างเช่น Barnegat Bay นิวเจอร์ซีย์, Laguna Madre เท็กซัส และ Pamlico Sound นอร์ทแคโรไลนา
- ชะวากทะเลแบบฟยอร์ด (Fjord-type estuaries)
ชะวากทะเลชนิดนี้เกิดขึ้นในบริเวณที่เป็นร่องลึกเนื่องจากการกัดเชาะของธารน้ำแข็ง ร่องลึกดังกล่าวมีลักษณะเป็นรูปตัวยู บริเวณตื้นของชะวากทะเลชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นปากอ่าว และมักจะได้รับผลจากการไหลเวียนของกระแสน้ำขึ้นน้ำลงจากน้ำลึกไปยังน้ำตื้นบริเวณชะวากทะเล พบได้ตามแนวชายฝั่งของอะแลสกา ตะวันออกของแคนาดา กรีนแลนด์ ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และนอร์เวย์
- ชะวากทะเลแบบผลจากธรณีแปรสัณฐาน (Tectonically produced estuaries)
ชะวากทะเลชนิดนี้เกิดจากการทรุดตัว หรือแผ่นดินถูกตัดจากทะเลโดยการเคลื่อนที่ของแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับรอยเลื่อน ภูเขาไฟ และแผ่นดินถล่ม น้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นในยุคโฮโลซีนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างชะวากทะเล ตัวอย่างเช่น อ่าวแซนแฟรนซิสโกที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกตามแนวรอยเลื่อนแซนแอนเดรอัส
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Rossignol, Anne. The Lower Estuary and the Gulf of the St. Lawrence: book of oceanography. Rimouski: INRS-Oceanology. p. 64.
- ↑ http://www.royin.go.th/?knowledges=%E0%B8%8A%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5-%E0%B9%92%E0%B9%91-%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C
- ↑ https://km.dmcr.go.th/th/c_56/s_77/d_1163
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-09. สืบค้นเมื่อ 2019-02-07.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-07. สืบค้นเมื่อ 2019-02-07.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]เนื้อหาโดยส่วนใหญ่ดัดแปลงและแปลมาจาก Estuary ใน [1] [2] [3] เก็บถาวร 2015-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน