ข้ามไปเนื้อหา

ตัลกาวาโน

พิกัด: 36°43′S 73°7′W / 36.717°S 73.117°W / -36.717; -73.117
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตัลกาวาโน
อำเภอของประเทศชิลี
ตราราชการของตัลกาวาโน
ตราอาร์ม
ตัลกาวาโนตั้งอยู่ในชิลี
ตัลกาวาโน
ตัลกาวาโน
พิกัด: 36°43′S 73°7′W / 36.717°S 73.117°W / -36.717; -73.117
ประเทศ ชิลี
แคว้นบิโอบิโอ
จังหวัดกอนเซปซิออน
พื้นที่
 • ทั้งหมด92.3 ตร.กม. (35.6 ตร.ไมล์)
ความสูง1 เมตร (3 ฟุต)
ประชากร
 (พ.ศ. 2545)[1]
 • ทั้งหมด163,626 คน
 • ความหนาแน่น1,772 คน/ตร.กม. (4,590 คน/ตร.ไมล์)
เขตเวลาUTC−3 (CLT)
รหัสพื้นที่56 + 41
เว็บไซต์talcahuano.cl

ตัลกาวาโน (สเปน: Talcahuano) เป็นเมืองท่าแห่งหนึ่งในประเทศชิลี มีฐานะเป็นอำเภอ (comuna) ของจังหวัดกอนเซปซิออน แคว้นบิโอบิโอ ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศชิลี ครอบคลุมพื้นที่ 92.3 ตารางกิโลเมตร[1] จากการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อ พ.ศ. 2545 ตัลกาวาโนมีประชากรราว 164,000 คน นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของเขตกอนเซปซิออนและปริมณฑลซึ่งมีประชากรทั้งสิ้นราว 950,000 คน เป็นเมืองที่มีความสำคัญเชิงอุตสาหกรรมและการทหารของประเทศ

ประวัติศาสตร์

[แก้]
ภาพวาดอ่าวตัลกาวาโนในปี พ.ศ. 2389 โดยหลุยส์ เลอ เบรอตง จิตรกรชาวฝรั่งเศส

ชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางถึงพื้นที่แถบตัลกาวาโนในปัจจุบันคือฆวน เบาติสตา ปัสเตเน (Juan Bautista Pastene) กัปตันเรือชาวเจนัว เมื่อ พ.ศ. 2087 เมืองตัลกาวาโนก่อตั้งอย่างเป็นทางการโดยอันโตนิโอ เด กิล อี กอนซากา (Antonio de Guill y Gonzaga) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2307 หลังจากที่เมืองก่อสร้างเส้นทางรถไฟสำหรับการขนส่งจากทางทะเลสู่ทางบกเมื่อ พ.ศ. 2415 ตัลกาวาโนก็กลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศชิลี

ตัลกาวาโนยังมีประวัติการประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377 และวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 เมืองเสียหายอย่างหนักจากคลื่นสึนามิพัดถล่ม โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2503 เมืองถูกทำลายไปกว่าร้อยละ 65 และแผ่นดินไหวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ก็ยังก่อให้เกิดสึนามิท่วมพื้นที่บางส่วนของเมือง โดยเฉพาะเขตท่าเรือซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง

ภูมิศาสตร์

[แก้]
ที่ตั้งของอำเภอตัลกาวาโน (สีแดง) ในแคว้นบิโอบิโอ

ตัลกาวาโนอยู่ในจังหวัดกอนเซปซิออน แคว้นบิโอบิโอ ห่างจากซานเตียโก เมืองหลวงของประเทศชิลี 505.4 กิโลเมตรไปทางทิศใต้[2] เมืองใหญ่แห่งอื่นที่อยู่ใกล้ได้แก่ กอนเซปซิออน (ประชากร 216,000) อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 18.7 กิโลเมตร[2] ซึ่งมีเขตชุมชนเมืองเชื่อมต่อกัน ตัลกาวาโนมีภูมิประเทศเป็นที่ราบ อยู่ติดชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นชายฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอ่าวตัลกาวาโน พื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือยื่นออกไปในทะเลอย่างแหลม บริเวณนี้มีภูมิประเทศเป็นภูเขา ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอเปงโกและกอนเซปซิออน ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอวัลเปน ซึ่งเป็นปากแม่น้ำบิโอบิโอ ความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยบริเวณใจกลางเมืองคือ 1 เมตร แม้ว่าพื้นที่ส่วนอื่นของเมืองจะมีระดับความสูงแตกต่างกัน เช่น เขตลัสอิเกรัส สูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 5–10 เมตร

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

ตัลกาวาโนเป็นเขตปกครองระดับอำเภอ ซึ่งเป็นระดับที่สามตามการปกครองของประเทศชิลี รองจากแคว้นและจังหวัด บริหารจัดการโดยสภาเทศบาล มีนายกเทศมนตรี (alcalde) เป็นผู้นำสภาเทศบาล ซึ่งเลือกโดยประชาชนทุก ๆ สี่ปี ตัลกาวาโนยังแบ่งการปกครองย่อยออกเป็นเขตได้ 17 เขต ดังนี้

  • เอลปอร์ตอน
  • บัลดิบิเอโซ
  • เซร์โรฟูเอนเตส
  • ลาอาดัวนา
  • เซร์โรบูเอนาบิสตา
  • ตุมเบส
  • อิสลากิริกินา
  • ซานบิเซนเต
  • เอสตาดิโอ
  • วาชิปาโต
  • เอสตาโดอิเกรัส
  • ซานมิเกล
  • เอลอาเรนัล
  • การ์ริเอล
  • ลัสซาลินัส
  • บาร์รังกิยา
  • ซูนิโก

กีฬา

[แก้]

สโมสรฟุตบอลที่มีชื่อเสียงของเมืองคือ วาชิปาโต (Huachipato) ซึ่งลงเล่นในฟุตบอลลีกหนึ่งของประเทศชิลี สนามเหย้าของสโมสรคือ Estadio MCAP

ภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 División Político Administrativa y Censal, 2550, Instituto Nacional de Estadísticas
  2. 2.0 2.1 Dirección de Vialidad (2544). "Distancia entre ciudades". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-30. สืบค้นเมื่อ 2015-09-24.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]