ข้ามไปเนื้อหา

ไทเขิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ชาวเขิน)
ไทเขิน/ไทขึน
ประชากรทั้งหมด
ประมาณ 138,000 คน[1]
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
ประเทศพม่า ประเทศพม่า130,000 คน
จีน ประเทศจีน10,000 คน
ไทย ประเทศไทย6,800 คน
ลาว ประเทศลาว800 คน
ภาษา
ไทเขิน, ไทยวน, ไทย, พม่า
ศาสนา
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท

ไทเขิน ไทขึน หรือ ไตขึน[2][3] เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทกลุ่มหนึ่งที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า มีบ้างที่อาศัยในประเทศไทยและประเทศจีน

ประวัติ

[แก้]

ชาวไทขึน หรือไทยเรียกว่า ไทเขิน เป็นพลเมืองหลักของเมืองเชียงตุง ที่เข้ามาแทนที่ชนพื้นเมืองที่ตั้งรกรากอยู่ก่อนหน้าคือชาวลัวะ จากแต่เดิมไทเขินเข้าไปอยู่ปะปนก่อนหน้านี้[4] บางแห่งก็ว่าไทเขินสืบเชื้อสายมาจากไทลื้อ[3] ด้วยมีลักษณะและขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายกัน[5] บ้างก็ว่ามีบรรพบุรุษเป็นไทยวนที่อพยพขึ้นเหนือช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ตั้งแต่สมัยพญามังราย และสันนิษฐานว่าชนกลุ่มนี้น่าจะเคยเรียกตัวเองว่า "โยน" หรือ "ยวน" มาก่อน[6]

ใน ตำนานพื้นเมืองเชียงตุง กล่าวถึง พิธีนั่งเมืองในรัชสมัยพญามังราย ที่ส่งเจ้าน้ำท่วมขึ้นมาครองเมืองว่า เมืองเชียงตุงเป็นเมือง "นามจันทร์" ไม่ต้องโฉลกในโหราศาสตร์กับ "โยน" ซึ่งเป็นเมือง "นามราหู" ดังนั้นพวกโยนขึ้นไปปกครองเมืองเชียงตุงจะอยู่ได้ไม่มั่นคง ต้องแก้เคล็ดด้วยการตามพวก "เขินหลวง" 96 คนจากทางใต้ที่ถูกนามเมืองให้ร่วมพิธีด้วย แล้วให้พวกโยนที่ขึ้นไปอยู่เชียงตุงตัดผมสั้นอย่างเขินหลวง หลังจากนั้นเจ้าน้ำท่วมก็ครองเมืองเชียงตุงด้วยความผาสุกสืบมา[7] จนกระทั่งรัฐบาลทหารพม่ายกเลิกตำแหน่งเจ้านายไป เมื่อปี พ.ศ. 2505[8]

บางแห่งก็ว่าบรรพบุรุษชาวไทเขินเป็นชาวญี่ปุ่น ปรากฏครั้งแรกในงานเขียนของ ดอกเตอร์ วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ โดยกล่าวว่า ในปี ค.ศ. 1931 มีคณะทูตญี่ปุ่นประจำพม่าได้มาสืบเรื่องราวของชาวญี่ปุ่นในเชียงตุง ก็พบว่าเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวไทเขิน อาทิ หมวก, รองเท้า และแบบแผนบ้านเรือนนั้น คล้ายกับชาวญี่ปุ่นในสมัยก่อน และตีความว่า "เขินหลวง" 96 คนในตำนานเมืองเชียงตุงนั้น อาจเป็นซะมุไรในบัญชาของยะมะดะ นะงะมะซะ อดีตขุนนางในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ได้พาพรรคพวกหนีมายังเชียงตุงเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่อย่างไรก็ตามการตีความดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองรัฐฉาน ก็ถือโอกาสแพร่โฆษณาชวนเชื่อว่าชาวเชียงตุงและชาวญี่ปุ่นเป็นสายเลือดเดียวกัน และปัจจุบันนี้เรื่องดังกล่าวก็ได้รับการเชื่อถือจากชาวไทเขินพอสมควร และปรากฏในงานเขียนประวัติศาสตร์ของไทเขินอยู่ดาษดื่น[9]

ชาวไทเขิน ปลูกเรือนยกเสาสูง หลังคามีจั่ว เช่นเดียวกับคนไทยและลาว[3]

ที่มาของชื่อ

[แก้]

สาเหตุที่เขาเรียกตนเองว่า "ขึน" นั้นยังไม่มีข้อยุติ บ้างก็ว่าตั้งชื่อตามแม่น้ำขึน ซึ่งไหลผ่านเมืองเชียงตุงจากตะวันตกขึ้นไปทางเหนือแล้วจึงไหลลงใต้แปลกจากแม่น้ำสายอื่น จึงเรียกแม่น้ำนั้นว่า "ขึน" (ทำนองคำว่า ขัดขืน หรือ ฝืน) ด้วยเหตุนี้พลเมืองที่อาศัยอยู่ตามสองฝั่งน้ำจึงเรียกตนเองว่า "ขึน"[6] หรือ "ไตขึน"[10] บ้างก็ว่าในรัชสมัยพญามังรายรบได้เมืองเชียงตุงแล้ว ได้ส่งไพร่พลจากเชียงแสนและเชียงรายขึ้นไปอยู่ ชาวเมืองทั้งสองไม่ชอบเมืองเชียงตุงจึงหนีกลับกันลงมา พญามังรายก็ส่งกลับขึ้นไปอีกแล้วก็หนีลงมาอีก ชาวเมืองจึงได้ชื่อว่า "ขืน" ที่หมายถึง "กลับคืน"[6]

ศิลปะและวัฒนธรรม

[แก้]

ภาษา

[แก้]

ภาษาไทเขิน มีความคล้ายและใกล้เคียงกับภาษายองและไทลื้อมาก ทั้งยังคล้ายกับภาษาไทยวน ต่างเพียงแค่สำเนียง และการลงท้ายคำ ซึ่งชาวเขินแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มเขินก่อ-เขินแด้, กลุ่มเขินอู และกลุ่มเขินหวา[11]

นอกจากนี้ชาวไทเขินในเชียงตุงบางส่วนที่เคยได้รับการเรียนภาษาไทยช่วงที่ไทยเข้าปกครอง สามารถพูดและอ่านภาษาไทยได้ดี[12]

อักษร

[แก้]

อักษรไทเขิน ชาวไทเขินได้รับอิทธิพลอักษรจากชาวไทยวนจากการเผยแผ่ศาสนาในเมืองเชียงตุง ไทเขินรับอักษรธรรมล้านนาและอักษรฝักขามไปพร้อม ๆ กับศาสนา อักษรไทเขินจึงมีลักษณะคล้ายกับอักษรธรรมล้านนา รวมทั้งยังรับวรรณกรรมล้านนาที่แพร่หลายสู่เชียงตุงด้วย[13]

การแต่งกายในพิธีเสกสมรสของ เจ้าห่มฟ้า เมืองแสนหวี และเจ้านางแว่นทิพย์ เมืองเชียงตุง

การแต่งกาย

[แก้]

ผู้ชาย สวมเสื้อผ้าฝ้ายทอมือแขนสามส่วน คอกลม ผ่าหน้า ติดกระดุม นิยมสวมเสื้อทับข้างนอก ส่วนเสื้อข้างในมักจะเป็นเสื้อยืดหรือเสื้อสีขาวมีปก นิยมผ้าโพกหัวใช้สีครีมหรือสีขาว และมัดเอวด้วยผ้าสีอ่อน สวมกางเกงสะดอใช้ได้ทุกสี

ผู้หญิง สวมเสื้อที่มีลักษณะเดียวกับเสื้อปั๊ด ไม่มีปก เสื้อมีตัวสั้น ชายเสื้อตรงเอวจะงอนขึ้นหรือกางออกเล็กน้อย ใช้ผ้าสีชมพูหรือสีอ่อนโพกหัว และผ้าซิ่น ส่วนบนเป็นลายริ้วหรือที่เรียกกันว่า “ซิ่นก่าน” ส่วนตีนจะต่อด้วยผ้าสีเขียวเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทเขิน

อาหาร

[แก้]

ชาวไทเขินรับประทานข้าวเหนียวเช่นเดียวกับชาวไทยวนและชาวไทลื้อ อาหารที่ขึ้นชื่อของชาวไทเขิน คือ ข้าวซอยหน้อยหรือข้าวซอยอ่อน เป็นอาหารประจำถิ่นของชาวไทเขิน และชาวไทใหญ่ นอกจากนี้ยังมีอาหารอย่างอื่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทเขิน เช่น แกงผักแว่น ไส้อั่ว (ไส้ล้องพิก) พริกข่า ข้าวต้มหัวหงอก การประกอบอาหารของชาวไทเขินยังคงนิยมทำกันเกือบทุกครัวเรือน

ประเพณี

[แก้]

ประเพณีของชาวไทเขินมีความคล้ายคลึงกับชาวล้านนาในการจัดพิธีสืบชะตาหรือต่ออายุหมู่บ้านเพื่อเป็นพลังให้แก่กลุ่มชน ส่วนศิลปะการแสดงที่นิยมเล่นกันตามงานประเพณี เช่น การฟ้อนรำหางนกยูง ฟ้อนฆ้องเชิง ฟ้อนรำนก ฟ้อนรำดาบ ฟ้อนโต ซึ่งการฟ้อนโตเป็นการแสดงถึงวัฒนธรรมร่วมของชาวไทใหญ่และชาวไทเขิน[14]

หัตถกรรม

[แก้]

เครื่องเขิน

[แก้]

เครื่องเขินภาชนะของใช้ที่ทำโดยชาวไทเขินที่มีโครงเป็นเครื่องจักสานหรือไม้ เคลือบทาด้วยยางรักเพื่อความคงทน กันน้ำและความชื้น ทั้งเป็นการเพิ่มความสวยงามวิจิตรแก่พื้นผิวของภาชนะ โดยส่วนใหญ่โครงของเครื่องเขินจะเป็นเครื่องไม้ไผ่สาน ทาด้วยยางรักหลาย ๆ ชั้น โดยการทารักในชั้นแรกจะเป็นการยึดโครงของภาชนะให้เกิดความมั่นคง ส่วนการทารักในชั้นต่อ ๆ ไปเป็นการตกแต่งพื้นผิวภาชนะให้เรียบ และการทารักชั้นสุดท้ายจะเป็นการตกแต่งให้เกิดความสวยงาม เช่น การเขียนลวดลาย การปิดทอง หรือการขุดผิวให้เป็นร่องลึก แล้วฝังรักสีที่ต่างกันเป็นลวดลายสวยงาม หากเป็นภาชนะของใช้ทั่วไปจะมีน้ำหนักเบาจะนิยมใช้รักสีดำและตากแต่งด้วยสีแดงของชาด และกรณีภาชนะที่ใช้ในพิธี จะทำการตกแต่งเชิงศิลปะ เช่น ใช้ทองคำเปลวประดับ บางชิ้นอาจมีการปั้น กดรัก พิมพ์รักให้เป็นลวดลาย เพื่อเพิ่มความงดงามให้แก่ภาชนะ เครื่องเขินที่เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย มีดังนี้ [15]

  1. เชี่ยนหมาก
  2. พาน
  3. ขันโอ
  4. ขันน้ำ
  5. ถาด

ศาสนา

[แก้]

ในอดีตชาวไทเขินนับถือความเชื่อเรื่องและวิญญาณ แม้หลังการรับศาสนาแล้วความเชื่อดังกล่าวก็ยังคงอยู่[2] นอกจากนี้ยังนับถือกบและนาคเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์ ดังปรากฏในพิธีปั้นกบเรียกฝนในช่วงสงกรานต์ และการระบำนางนาค เป็นต้น[3]

เมืองเชียงตุงมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรล้านนาช้านาน จึงมีการติดต่อด้านศาสนาและรับศาสนาพุทธนิกายเถรวาทสืบมา ทั้งนี้พระสงฆ์เขินจะไม่สังฆกรรมร่วมกับพระสงฆ์พม่าและไทใหญ่ แม้จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคณะสงฆ์ไทใหญ่[16] แต่คณะสงฆ์เขินกลับสนิทสนมกับคณะสงฆ์ไทยเสียมากกว่า โดยคณะสงฆ์เขินมี สมเด็จอาชญาธรรม เป็นประมุขสงฆ์แห่งเมืองเชียงตุงและหัวเมืองทางฟากตะวันออกของลุ่มน้ำสาละวิน[17]

ครั้นรัฐบาลพม่าได้จัดประชุมตัวแทนพระสงฆ์ทั่วประเทศ โดยให้ตัวแทนของพระสงฆ์แต่ละนิกายแสดงสถานภาพตนเองว่าจะสังกัดนิกายใด หรือจะใช้นิกายเดิม หรือรวมกับนิกายอื่น ปรากฏว่าพระสงฆ์เขินได้มีเจตจำนงรวมเข้ากับนิกายสุธรรมาซึ่งเป็นนิกายที่ใหญ่ที่สุดของพม่า[16] หลังจากนั้นเป็นต้นมา สมเด็จอาชญาธรรม ประมุขของคณะสงฆ์เขินจึงถูกลดฐานะลงเทียบเจ้าคณะอำเภอเชียงตุงเท่านั้น[17]

อย่างไรก็ตามแม้ล้านนาจะถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยแล้ว การจัดระเบียบปกครองสงฆ์ล้วนทำเป็นอย่างสงฆ์ในกรุงเทพมหานคร และได้รับอิทธิพลศาสนาพุทธแบบกรุงเทพฯ ในยุคหลังมานี้ แม้คณะสงฆ์เขินจะคงจารีตสมณะศักดิ์แบบล้านนาเดิมไว้ แต่ในด้านการศึกษาของพระสงฆ์เขินเชียงตุงได้พยายามอิงหลักสูตรนักธรรมและบาลีของคณะสงฆ์ไทย ทำให้มีความแตกต่างจากศาสนาพุทธแบบพม่า และแบบไทใหญ่ ทั้งศาสนิกชนยังนิยมพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์แบบไทย มากกว่าพระพุทธรูปพุทธศิลป์แบบพม่า[18] ทางรัฐบาลพม่าเองก็ไม่พอใจคณะสงฆ์เขินนักด้วยมองว่าคณะสงฆ์เขินฝักใฝ่คณะสงฆ์ไทย[19]

ปัจจุบันชาวเขินส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับการนับถือผีบรรพบุรุษ มีส่วนน้อยที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม[20]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Tai Khun". Joshua Project. สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 "ไทขึน (ไทเขิน)". ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 เจนจิรา เบญจพงศ์ (17-23 กุมภาพันธ์ 2555). "ไทขึน เมืองเชียงตุง". สุวรรณภูมิสโมสร. สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2546, หน้า 58
  5. วิจิตรวาทการ, พลตรี, หลวง. งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549, หน้า 106
  6. 6.0 6.1 6.2 เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน (เมืองไต):พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552, หน้า 82-83
  7. เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน (เมืองไต):พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552, หน้า 85
  8. สรัสวดี อ๋องสกุล. วัฒนธรรมและการเมืองล้านนา. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2542, หน้า 150
  9. เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน (เมืองไต):พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552, หน้า 86
  10. จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ชนนิยม, 2556, หน้า 396
  11. "ไทเขินบ้านต้นแหนนน้อย". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. 31 พฤษภาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  12. บรรจบ พันธุเมธา. ไปสอบคำไทย. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่เอกลักษณ์ของไทย กระทรวงศึกษาธิการ, 2522, หน้า 174
  13. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552, หน้า 230
  14. "ไทเขิน/ขิน". site.sri.cmu.ac.th.
  15. admin. "เครื่องเขิน: หัตถศิลป์แห่งภูมิปัญญา | Thammasat Museum of Anthropology".
  16. 16.0 16.1 เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน (เมืองไต):พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552, หน้า 132
  17. 17.0 17.1 เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน (เมืองไต):พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552, หน้า 131
  18. เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน (เมืองไต):พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552, หน้า 129-130
  19. เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน (เมืองไต):พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552, หน้า 135
  20. "ไทขึน". กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-29. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)