Anchoring
บทความนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากชื่อเป็นศัพท์เฉพาะทางจิตวิทยา ราชบัณฑิตยสถานยังไม่บัญญัติภาษาไทย ยังไม่ชัดเจนว่าควรจะใช้คำอะไร |
ในสาขาจิตวิทยา คำภาษาอังกฤษว่า Anchoring (แปลว่า การตั้งหลัก) หรือ focalism หมายถึงความเอนเอียงทางประชานของมนุษย์ ความมีแนวโน้มที่จะอิงข้อมูลแรกที่ได้มากเกินไป (โดยเป็น anchor คือเป็นหลัก) เมื่อทำการตัดสินใจ ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราพิจารณาข้อมูลแรกที่ได้ในการประเมินค่าที่ไม่รู้ ซึ่งจะกลายเป็นหลักที่จะใช้ต่อ ๆ มา และเมื่อมีหลักตั้งขึ้นแล้ว การประเมินผลต่อ ๆ มาจะเป็นการปรับค่าใช้ข้อมูลที่เป็นหลักนั้น[1] ดังนั้น จึงอาจเกิดความความเอนเอียงเพราะตีความข้อมูลต่อ ๆ มาเป็นค่าใกล้ ๆ หลักที่อาจจะไม่ได้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน โดยไม่สมเหตุผล[2][3] ยกตัวอย่างเช่น ราคาที่เสนอเริ่มแรกในการซื้อขายรถมือสองจะกลายเป็นหลักที่ใช้ในการต่อราคาที่มีต่อ ๆ มา ดังนั้น ราคาตกลงซื้อที่น้อยกว่าราคาเสนอเบื้องต้นอาจจะดูเหมือนดีกว่าถึงแม้ว่าจริง ๆ แล้ว อาจจะเป็นราคาที่สูงกว่ามูลค่าของรถจริง ๆ
ปรากฏการณ์เพ่งจุดสนใจ
[แก้]ปรากฏการณ์เพ่งจุดสนใจ (focusing effect) เป็นความเอนเอียงทางประชาน ที่เกิดขึ้นเมื่อเราให้ความสำคัญกับลักษณะหนึ่ง ๆ ของเหตุการณ์มากเกินไป ทำให้เกิดความผิดพลาดในการพยากรณ์อรรถประโยชน์ (utility) ของผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต[4] คือ เราเพ่งเล็งความสนใจไปที่ความแตกต่างที่ชัดเจน โดยไม่สนใจความแตกต่างที่ไม่ชัดเจน เมื่อต้องทำการพยากรณ์เกี่ยวกับความสุขหรือความสะดวกสบายที่จะได้
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อถามคนอเมริกันว่า เขาคิดว่าคนแคลิฟอร์เนียมีความสุขมากกว่าคนที่มาจากรัฐทางตอนกลาง (midwesterner) ของประเทศมากแค่ไหน ทั้งคนแคลิฟอร์เนียและคนที่มาจากรัฐทางตอนกลางกล่าวว่า คนแคลิฟอร์เนียจะต้องมีความสุขมากกว่าพอสมควร เมื่อจริง ๆ แล้ว ในงานสำรวจจริง ๆ จะไม่มีความแตกต่างกันระหว่างคะแนนความสุขที่ตนได้ระหว่างคนแคลิฟอร์เนีย กับคนที่มาจากรัฐทางตอนกลาง
ความเอนเอียงเช่นนี้มีฐานมาจากการที่คนอเมริกันเพ่งความสนใจไปที่ภูมิอากาศที่แจ่มใสและรูปแบบชีวิตที่ดูเหมือนจะเป็นแบบง่าย ๆ สบาย ๆ ของคนแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นเรื่องที่คิดถึงได้ชัดเจนกว่า และไม่ให้ค่าและความสำคัญกับการใช้ชีวิตและตัวกำหนดความสุขอย่างอื่น ๆ เช่นการมีอาชญากรรมน้อย และความปลอดภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่นแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นสิ่งที่คนแคลิฟอร์เนียไม่มี[5]
อีกตัวอย่างหนึ่ง การมีรายได้เพิ่มขึ้นมีผลเพียงเล็กน้อยและชั่วคราวต่อความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีในชีวิต แต่เราจะประเมินค่านี้สูงเกินไป นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบล ดร. แดเนียล คาฮ์นะมันเสนอว่า นี้เป็นผลของการแปลสิ่งเร้าผิดโดยการเพ่งเล็ง (focusing illusion) ที่เราเข้าไปเพ่งเล็งสิ่งที่สังคมเห็นว่าเป็นความสำเร็จในชีวิต แทนที่จะใส่ใจกิจกรรมในชีวิตประจำวันของตัวเราเอง[6]
Anchoring and adjustment heuristic
[แก้]Anchoring and adjustment heuristic (ฮิวริสติกการตั้งหลักและการปรับใช้) เป็นฮิวริสติก (คือวิธีการคิดแก้ปัญหา) ที่มีอิทธิพลต่อการประเมินค่าความน่าจะเป็นแบบรู้เอง (intuitive) ของมนุษย์ โดยการใช้ฮิวริสติกนี้ เราจะเริ่มที่ค่าหลัก (anchor) ที่อาจจะมีการเสนอแบบอ้อม ๆ แล้วปรับใช้เป็นค่าประเมิน คือเราจะมีหลักเป็นค่าประเมินเบื้องต้น (anchor) แล้วปรับค่าขึ้นลงอาศัยข้อมูลอื่น ๆ แต่ว่าการปรับค่ามักจะไม่ได้ทำอย่างเพียงพอ ทำให้หลักเบื้องตนมีอิทธิพลมากเกิดไปในการประเมินค่า
ในปี ค.ศ. 1974 อะมอส ทเวอร์สกี้และแดเนียล คาฮ์นะมันได้คิดค้นทฤษฎีการตั้งหลักและการปรับใช้เป็นพวกแรก ในงานศึกษาเบื้องต้นงานหนึ่งของพวกเขา มีการถามผู้ร่วมการทดลองให้คำนวณเลขภายใน 5 วินาที เป็นการคูณเลขตามลำดับตั้งแต่เลข 1 ถึง 8 โดยแสดงเป็น หรือเป็น แต่เพราะว่าผู้ร่วมการทดลองไม่มีเวลาพอที่จะคูณเลขทั้งหมด จึงต้องประเมินคือเดาคำตอบหลังจากคูณเลข 2-3 ตัวแรก ถ้าผลคูณเลขตัวแรก ๆ มีค่าน้อย เพราะว่าเริ่มจากลำดับเลขน้อย ผลประเมินเฉลี่ยที่ผู้ร่วมการทดลองตอบจะอยู่ที่ 512 แต่ถ้ามีค่ามาก ผลประเมินเฉลี่ยก็จะอยู่ที่ 2,250 (แต่ผลที่ถูกอยู่ที่ 40,320)
ส่วนในงานศึกษาอีกงานหนึ่งของพวกเขา มีการให้ผู้ร่วมการทดลองสังเกตดูล้อรูเล็ตต์ที่กำหนดไว้ก่อนตั้งแต่ต้นให้ตกอยู่ที่เลข 10 หรือ 65 แล้วให้ผู้ร่วมการทดลองเดาเปอร์เซ็นต์ของประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่เป็นประเทศในแอฟริกา ผู้ร่วมการทดลองที่ลูกรูเล็ตต์ตกลงที่ 10 เดาค่าเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำกว่า (25% โดยเฉลี่ย) ส่วนผู้ร่วมการทดลองที่ลูกรูเล็ตต์ตกลงที่ 65 เดาค่าเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่า (45% โดยเฉลี่ย)[2] รูปแบบเช่นนี้ปรากฏซ้ำ ๆ ในงานทดลองอื่น ๆ ที่เป็นการประเมินค่าอย่างอื่น ๆ มากมาย
อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นงานศึกษาที่ให้ผู้ร่วมการทดลองเขียนเลขสองหลักสุดท้ายของเลขประกันทางสังคมของตน (ซึ่งโดยรวม ๆ แล้วเหมือนกับเป็นเลขสุ่มที่ให้แต่ละบุคคล) แล้วให้พิจารณาว่า ตนยินดีจะจ่ายเงินจำนวนเท่านี้ (เป็นดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับสินค้าที่ตนไม่รู้มูลค่า เช่นไวน์ ช็อกโกแลต หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือไม่ ต่อจากนั้นก็ให้ผู้ร่วมการทดลองประมูลสินค้าเหล่านี้ ผลปรากฏว่า ผู้ร่วมการทดลองที่มีค่าเลขสูงกว่าจะทำการประมูลสินค้ามีค่า 60-120% มากกว่าผู้ที่มีค่าเลขต่ำกว่า คือผู้ร่วมการทดลองมีการใช้ค่าเลขประกันทางสังคมของตนเป็นหลักในการประมูลสินค้า[7]
ความยากที่จะหลีกเลี่ยงการตั้งหลัก
[แก้]งานวิจัยต่าง ๆ แสดงว่า การตั้งหลักเป็นเรื่องยากที่จะป้องกัน ยกตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยหนึ่ง มีการให้หลักที่ไม่สมเหตุสมผล คือมีการถามนักศึกษาสองกลุ่มว่าท่านมหาตมา คานธีเสียชีวิตก่อนหรือหลังวัย 9 ขวบ หรือก่อนหรือหลังอายุ 140 ปี เป็นเรื่องชัดเจนอยู่แล้วว่า เลขหลักเหล่านี้ไม่ใช่อายุที่ถูกต้อง แต่ว่า กลุ่มทั้งสองทำการเดาที่มีค่าต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือค่าเฉลี่ยที่ 50 ปี กับที่ 67 ปี[8]
มีงานวิจัยอื่น ๆ ที่พยายามจะกำจัดการตั้งหลักอย่างตรง ๆ ในงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาเหตุและลักษณะต่าง ๆ ของการตั้งหลัก มีการแสดงหลักให้กับผู้ร่วมการทดลองแล้วให้เดาว่า มีแพทย์กี่คนที่อยู่ในสมุดโทรศัพท์ (ขององค์การโทรศัพท์) นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการให้ข้อมูลตรง ๆ ว่า ปรากฏการณ์การตั้งหลักนั้นจะทำคำตอบของผู้ร่วมการทดลองให้เกิดความบิดเบือน และดังนั้น ผู้ร่วมการทดลองควรที่จะพยายามแก้ปัญหานั้น ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้ทั้งเลขหลักไม่ได้ทั้งข้อมูล ไม่ว่าจะมีการให้ข้อมูลแก่ผู้ร่วมการทดลองอย่างไร ผู้ร่วมการทดลองในกลุ่มทดลองทั้งหมดล้วนแต่เดาจำนวนแพทย์ในสมุดโทรศัทพ์ ที่มีค่าสูงกว่ากลุ่มควบคุม ดังนั้น แม้ว่าจะรู้ถึงปรากฏการณ์ตั้งหลัก แต่ผู้ร่วมการทดลองก็ยังไม่สามารถจะป้องกันความเอนเอียงที่เกิดขึ้นได้[9] มีงานใน ปี ค.ศ. 2010 ที่พบว่า แม้จะมีการให้รางวัลเป็นเงิน ผู้ร่วมการทดลองก็ยังไม่สามารถที่จะปรับค่าออกจากหลักให้เพียงพอ[10]
ทฤษฎีที่อธิบายเหตุ
[แก้]มีการเสนอทฤษฎีหลายอย่างที่สามารถอธิบายเหตุของการตั้งหลัก ถึงแม้ว่า ทฤษฎีบางอย่างจะได้รับความนิยมกว่า แต่ก็ยังไม่มีความเห็นพ้องว่าทฤษฎีไหนดีที่สุด[11] ในงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาเหตุของการตั้งหลัก ผู้ทำงานวิจัยสองท่านพรรณนาการตั้งหลักว่า ง่ายที่จะแสดงหลักฐาน แต่ยากที่จะอธิบาย[8] มีนักวิจัยอย่างน้อยกลุ่มหนึ่งที่เสนอว่า มีหลายสาเหตุ และปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "anchoring" จริง ๆ แล้วเป็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ กันหลายอย่าง[12]
ทฤษฎีการตั้งหลักและการปรับใช้
[แก้]ในงานศึกษาดั้งเดิม ทเวอร์สกี้และคาฮ์นะมันเสนอทฤษฎีที่มีชื่อว่า anchoring-and-adjusting ตามทฤษฎีนี้ เมื่อเกิดการตั้งหลักแล้ว เราจะปรับค่าไปจากหลักนั้นเพื่อที่จะได้ค่าที่เป็นคำตอบ แต่เนื่องจากว่า เราปรับค่าไม่เพียงพอ ดังนั้น ค่าการเดาที่ได้ในที่สุดจะอยู่ใกล้หลักโดยไม่สมเหตุผล[13] มีนักวิจัยอื่น ๆ ที่พบหลักฐานที่สนับสนุนทฤษฎีนี้[14]
แต่ว่า นักวิจัยต่อ ๆ มาวิจารณ์ทฤษฎีนี้ เพราะว่าทฤษฎีใช้อธิบายได้แต่ในกรณีที่หลักแรกไม่ได้อยู่ในช่วงคำตอบที่พอรับได้ของผู้ทำการประเมิน เช่น ในตัวอย่างท่านมหาตมา คานธี เนื่องจากการเสียชีวิตในวัย 9 ขวบเป็นหลักที่อยู่นอกช่วงคำตอบ เราจะปรับใช้ค่าจากหลักนั้น แต่ว่า ถ้าให้ค่าที่ดูสมเหตุผล เราก็จะใช้ค่านั้นเลยโดยไม่ได้ปรับใช้ ดังนั้น ทฤษฎีนี้ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ตั้งหลักได้ทั้งหมด[15]
มีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่า ปรากฏการณ์ตั้งหลักเกิดขึ้นแม้เมื่อการรับรู้หลักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใต้จิตสำนึก แต่ตามทฤษฎีการตั้งหลักและการปรับใช้ เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าการปรับใช้ค่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเหนือจิตสำนึก[16] เพราะเหตุผลที่ว่ามาดังกล่าวนี้ ทฤษฎี anchoring-and-adjusting เริ่มจะไม่ได้รับความนิยม[ต้องการอ้างอิง]
ทฤษฎี Selective accessibility
[แก้]ในงานศึกษาเดียวกันที่วิจารณ์ทฤษฎีการตั้งหลักและการปรับใช้ ผู้ทำงานวิจัยเสนออีกทฤษฎีหนึ่งเรียกว่า selective accessibility ซึ่งเป็นทฤษฎีดัดแปลงมาจากทฤษฎี "confirmatory hypothesis testing" อย่างสั้น ๆ ก็คือ ทฤษฎี selective accessibility เสนอว่า เมื่อได้หลัก เราจะตรวจสอบสมมุติฐานว่า หลักนั้นเป็นคำตอบที่ดีหรือไม่ เมื่อคิดว่ามันไม่ใช่ ก็จะทำการเดาต่อไป แต่ว่าจะเดาหลังจากที่ได้ตรวจดูลักษณะต่าง ๆ ของหลักนั้นที่เข้าประเด็นกับคำตอบ เพราะฉะนั้น เมื่อประเมินค่าคำตอบใหม่ เราก็จะค้นหาลักษณะที่เหมือนกันกับหลัก มีผลเป็นปรากฏการณ์ตั้งหลัก[15] มีงานวิจัยหลายงานที่แสดงหลักฐานการทดลองสนับสนุนสมมุติฐานนี้[17] ทฤษฎีนี้สมมุติว่า เราจะพิจารณาหลักว่าเป็นค่าที่อาจเป็นไปได้จึงไม่ได้ทิ้งค่านั้นไปตั้งแต่ต้น และการทิ้งจะขัดขวางการพิจารณาลักษณะที่เข้าประเด็นของหลักนั้น[ต้องการอ้างอิง]
การเปลี่ยนทัศนคติ
[แก้]ส่วนทฤษฎีล่าสุดที่ใช้อธิบายการตั้งหลักเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการเปลี่ยนทัศนคติ ตามทฤษฎีนี้ การตั้งหลักเปลี่ยนทัศนคติของบุคคลนั้นให้เอนไปทางลักษณะบางอย่างของหลักนั้น ทำให้เกิดความเอนเอียงต่อคำตอบในอนาคตที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับหลัก ผู้ที่สนับสนุนทฤษฎีนี้พิจารณาว่า เป็นคำอธิบายในแนวเดียวกับ anchoring-and-adjusting และ selective accessibility ที่เสนอในงานวิจัยก่อน ๆ[18][19]
องค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการตั้งหลัก
[แก้]พื้นอารมณ์
[แก้]มีงานวิจัยมากมายที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพื้นอารมณ์ซึมเศร้า กับการหาคำตอบต่อปัญหาที่อาศัยความพยายามมากกว่าและมีความแม่นยำกว่า[20] และเพราะเหตุนี้ งานศึกษาต้น ๆ จึงตั้งสมมุติฐานว่า ผู้มีพื้นอารมณ์ซึมเศร้าจะโน้มเอียงไปใช้วิธีแก้ปัญหาเนื่องกับการตั้งหลัก น้อยกว่าผู้ที่มีพื้นอารมณ์ที่ดีกว่า แต่ว่า งานศึกษาต่อ ๆ มากลับแสดงผลตรงกันข้าม คือผู้มีความเศร้าแก้ปัญหาเนื่องกับการตั้งหลักมากกว่าผู้ที่มีความสุขหรือมีความรู้สึกเฉย ๆ[21]
ประสบการณ์
[แก้]งานวิจัยยุคต้น ๆ พบว่า ผู้เชี่ยวชาญ (คือผู้มีความรู้ ประสบการณ์ หรือความเชี่ยวชาญทางวิชาการในระดับสูง) มีโอกาสเสี่ยงต่อปรากฏการณ์ตั้งหลักน้อยกว่า[9] แต่ต่อจากนั้นมา มีงานวิจัยมากมายที่แสดงว่า แม้ว่าประสบการณ์บางครั้งอาจจะลดระดับปรากฏการณ์ได้ แต่ว่าแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังเสี่ยงต่อปรากฏการณ์นี้ ในงานวิจัยที่ศึกษาผลของการตั้งหลักในการพิพากษา นักวิจัยพบว่า แม้แต่ผู้พิพากษาผู้มีประสบการณ์สูงก็ได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์นี้ ซึ่งสามารถดำรงอยู่ได้แม้ว่า หลักที่ให้จะไม่มีกฏเกณฑ์อะไรและไม่เกี่ยวข้องกับคดีที่กำลังพิจารณา[22]
บุคลิกภาพ
[แก้]มีงานวิจัยที่แสดงสหสัมพันธ์ของความเสี่ยงต่อการตั้งหลักกับลักษณะบุคลิกภาพบางอย่าง คือ ความไม่ขัดกับคนอื่น (agreeableness คือเห็นใจผู้อื่นและพร้อมที่จะร่วมมือ) และความรอบคอบระมัดระวัง (conscientiousness คือมีระเบียบ ไว้ใจได้ มีวินัย รู้จักหน้าที่) มีโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งหลักมากกว่า แต่ผู้ที่ชอบสังคม (extroversion คืออารมณ์ดี มั่นใจ ชอบเข้าสังคม และชอบพูด) มีโอกาสเสี่ยงน้อยกว่า[23] ส่วนอีกงานหนึ่งพบว่า ผู้ชอบหาประสบการณ์ใหม่ ๆ มีโอกาสเสี่ยงมากกว่า[24]
สมรรถภาพทางประชาน
[แก้]อิทธิพลของสมรรถภาพทางประชาน (cognitive ability) ต่อการตั้งหลักยังเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อยุติ งานวิจัยเกี่ยวกับความยินดีที่จะจ่ายค่าสินค้าในปี ค.ศ. 2010 พบว่า ปรากฏการณ์ตั้งหลักจะลดลงในผู้ที่มีสมรรถภาพทางประชานที่สูงกว่า ถึงแม้ว่าจะไม่ได้หายไปโดยไม่มีส่วนเหลือ[25] แต่อีกงานหนึ่งในปี ค.ศ. 2009 กลับพบว่า สมรรถภาพทางประชานไม่มีผลต่อความเสี่ยงการตั้งหลัก[26]
การตั้งหลักในการต่อราคา
[แก้]ในการเจรจาต่อรองราคา การตั้งหลักหมายถึงการตั้งขอบเขตจำกัดเป็นพื้นฐานของการต่อรองราคา และปรากฏการณ์ตั้งหลักหมายถึงปรากฏการณ์ที่เราประเมินมูลค่าจริง ๆ ของสินค้า[2] นอกจากผลงานดั้งเดิมของทเวอร์สกี้และคาฮ์นะมันแล้ว ยังมีงานวิจัยอื่น ๆ อีกหลายงานที่แสดงว่า การตั้งหลักมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการประเมินมูลค่าสินค้าของเรา[27] ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าผู้ทำการต่อรองราคาสินค้าจะสามารถประเมินข้อเสนอโดยลักษณะหลายอย่าง แต่ว่า งานวิจัยต่าง ๆ พบว่า ผู้ต่อรองราคามักจะเพ่งความสนใจไปในด้านเดียว และดังนั้น การตั้งราคาเบื้องต้นที่ทำอย่างจงใจ สามารถมีอิทธิพลที่มีกำลังต่อขอบเขตของการต่อรองราคา[13] แม้ว่า กระบวนการเสนอราคาและต่อรองราคาปกติจะมีผลเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย แต่ว่า งานวิจัยหลายงานได้แสดงว่า ข้อเสนอเบื้องตนมีอิทธิพลที่มีกำลังต่อผลที่ได้ มากกว่าการต่อราคาต่อ ๆ มา[28]
อิทธิพลของการตั้งหลักเห็นได้ในงานวิจัยงานหนึ่งที่ทำในเวิ้ร์กฉ็อป คือมีการแบ่งผู้ร่วมงานออกเป็นสองกลุ่ม คือคนซื้อและคนขาย แต่ละฝ่ายจะได้รับข้อมูลเดียวกันของฝ่ายตรงข้ามก่อนที่จะทำการเจรจาต่อราคากันหนึ่งต่อหนึ่ง ต่อจากการเจรจา มีการให้ทุกคนรายงานประสบการณ์ของตน ผลแสดงว่า จุดตั้งหลักของผู้ร่วมงานมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความสำเร็จของแต่ละคน[29][ต้องการเลขหน้า]
การตั้งหลักมีผลต่อทุกคน แม้แต่ผู้มีความเชี่ยวชาญสูง มีงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาความแตกต่างราคาประเมินของบ้านระหว่างที่ทำโดยนักศึกษากับนายหน้าขายบ้านมืออาชีพ มีการโชว์บ้านให้กับทั้งสองกลุ่มแล้วแสดงราคาขายที่เจ้าของบ่งว่าจะขาย หลังจากให้ผู้ร่วมการทดลองเสนอราคาซื้อสำหรับบ้านนั้นแล้ว มีการถามถึงองค์การตัดสินใจของทั้งสองกลุ่ม แม้ว่านายหน้าขายบ้านมืออาชีพจะปฏิเสธว่าราคาที่แสดงขายมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของตน แต่ผลการทดลองแสดงว่า ราคาแสดงขายมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจต่อคนทั้งสองกลุ่มเท่า ๆ กัน[30]
นอกจากนั้นแล้ว การตั้งหลักยังมีผลที่แยบยลอื่น ๆ ต่อการต่อรองราคาอีกด้วย มีงานทดลองหนึ่งที่ศึกษาผลของหลักที่ตั้งอย่างเฉพาะเจาะจง มีการให้ผู้ร่วมการทดลองดูราคาแสดงขายของบ้านริมหาดหลังหนึ่ง แล้วให้กำหนดราคาที่ตนคิดว่าเป็นมูลค่าของบ้านนั้น กลุ่มแรกจะเห็นราคาทั่ว ๆ ไปที่ดูไม่เฉพาะเจาะจง (เช่น $800,000) และอีกกลุ่มหนึ่งเห็นราคาที่เฉพาะเจาะจง (เช่น $799,800) กลุ่มที่เห็นราคาที่กำหนดไม่เฉพาะเจาะจงจะปรับราคาประเมินมากกว่ากลุ่มที่เห็นราคาที่เฉพาะเจาะจง ($751,867 เปรียบเทียบกับ $784,671) นักวิจัยเสนอว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดจากความแตกต่างระหว่างตัวประกอบมาตราส่วน (scale) คือหลักที่ตั้งไม่ใช่มีผลแต่ต่อ "มูลค่า" เบื้องต้นอย่างเดียว แต่มีผลต่อ "ตัวประกอบมาตราส่วน" ด้วย เช่นถ้าตั้งราคาเบื้องต้นที่ดูทั่ว ๆ ไปเป็น $20 คนจะปรับราคาโดยส่วนเพิ่มที่ใหญ่กว่า (เช่น $19, $21, เป็นต้น) แต่ถ้าตั้งราคาเบื้องต้นที่เฉพาะเจาะจงเช่น $19.85 คนจะปรับราคาใช้ค่าประกอบมาตราส่วนที่น้อยกว่า (เช่น $19.75, $19.95, เป็นต้น)[31] ดังนั้น ราคาเบื้องต้นที่เฉพาะเจาะจงมักจะมีผลเป็นราคาซื้อขายที่ใกล้ราคาเบื้องต้นมากกว่า
เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ Kahneman, Daniel (2011). "11. Anchors". Thinking, Fast and Slow. New York: Farrar, Straus & Giroux. ISBN 978-0374275631.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Tversky, A.; Kahneman, D. (1974). "Judgment under Uncertainty: Heuristics and Biases" (PDF). Science. 185 (4157): 1124–1131. doi:10.1126/science.185.4157.1124.
- ↑ Kudryavtsev, Andrey; Cohen, Gil; Hon-Snir, Shlomit (2013). ""Rational" or "Intuitive": Are Behavioral Biases Correlated Across Stock Market Investors?" (PDF). Contemporary Economics. 7 (2): 31–53. doi:10.5709/ce.1897-9254.81.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Vass, Zoltán. A Psychological Interpretation of Drawings and Paintings. The SSCA Method: A Systems Analysis Approach. Alexandra Publishing. p. 83. ISBN 978-963-297-474-3. สืบค้นเมื่อ 2013-08-27.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Schkade, D. A.; Kahneman, D. (1998). "Does Living in California Make People Happy? A Focusing Illusion in Judgments of Life Satisfaction". Psychological Science. 9 (5): 340–346. doi:10.1111/1467-9280.00066.
- ↑ Kahneman, Daniel; Krueger, Alan B.; Schkade, David; Schwarz, Norbert; Stone, Arthur A. (2006-06-30). "Would you be happier if you were richer? A focusing illusion" (PDF). Science. 312 (5782): 1908–10. doi:10.1126/science.1129688. PMID 16809528. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-08-10. สืบค้นเมื่อ 2015-04-07.
- ↑ Teach, Edward (2004-06-01). "Avoiding Decision Traps". CFO Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-14. สืบค้นเมื่อ 2007-05-29.
- ↑ 8.0 8.1 Strack, Fritz; Mussweiler, Thomas (1997). "Explaining the enigmatic anchoring effect: Mechanisms of selective accessibility". Journal of Personality and Social Psychology. 73 (3): 437–446. doi:10.1037/0022-3514.73.3.437.
- ↑ 9.0 9.1 Wilson, Timothy D.; Houston, Christopher E.; Etling, Kathryn M.; Brekke, Nancy (1996). "A new look at anchoring effects: Basic anchoring and its antecedents" (PDF). Journal of Experimental Psychology: General. 125 (4): 387–402. doi:10.1037//0096-3445.125.4.387.
- ↑ Simmons, Joseph P.; LeBoeuf, Robyn A.; Nelson, Leif D. (2010). "The effect of accuracy motivation on anchoring and adjustment: Do people adjust from provided anchors?". Journal of Personality and Social Psychology. 99 (6): 917–932. doi:10.1037/a0021540.
- ↑ Furnham, Adrian; Boo, Hua Chu (2011). "A literature review of the anchoring effect". The Journal of Socio-Economics. 40 (1): 35–42. doi:10.1016/j.socec.2010.10.008.
- ↑ Epley, Nicholas; Gilovich, Thomas (2005). "When effortful thinking influences judgmental anchoring: differential effects of forewarning and incentives on self-generated and externally provided anchors". Journal of Behavioral Decision Making. 18 (3): 199–212. doi:10.1002/bdm.495.
- ↑ 13.0 13.1 Tversky, Amos; Kahneman, Daniel (1992). "Advances in prospect theory: Cumulative representation of uncertainty". Journal of Risk and Uncertainty. 5 (4): 297–323. doi:10.1007/BF00122574.
- ↑ Epley, N.; Gilovich, T. (2001). "Putting Adjustment Back in the Anchoring and Adjustment Heuristic: Differential Processing of Self-Generated and Experimenter-Provided Anchors". Psychological Science. 12 (5): 391–396. doi:10.1111/1467-9280.00372.
- ↑ 15.0 15.1 Mussweiler, Thomas; Strack, Fritz (1999). "Hypothesis-Consistent Testing and Semantic Priming in the Anchoring Paradigm: A Selective Accessibility Model" (PDF). Journal of Experimental Social Psychology. 35 (2): 136–164. doi:10.1006/jesp.1998.1364. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-11-29. สืบค้นเมื่อ 2015-04-07.
- ↑ Mussweiler, Thomas; Englich, Birte (2005). "Subliminal anchoring: Judgmental consequences and underlying mechanisms". Organizational Behavior and Human Decision Processes. 98 (2): 133–143. doi:10.1016/j.obhdp.2004.12.002.
- ↑ Chapman, Gretchen B.; Johnson, Eric J. (1999). "Anchoring, Activation, and the Construction of Values". Organizational Behavior and Human Decision Processes. 79 (2): 115–153. doi:10.1006/obhd.1999.2841.
- ↑ Wegener, Duane T.; Petty, Richard E.; Detweiler-Bedell, Brian T.; Jarvis, W.Blair G. (2001). "Implications of Attitude Change Theories for Numerical Anchoring: Anchor Plausibility and the Limits of Anchor Effectiveness". Journal of Experimental Social Psychology. 37 (1): 62–69. doi:10.1006/jesp.2000.1431.
- ↑ Blankenship, Kevin L.; Wegener, Duane T.; Petty, Richard E.; Detweiler-Bedell, Brian; Macy, Cheryl L. (2008). "Elaboration and consequences of anchored estimates: An attitudinal perspective on numerical anchoring". Journal of Experimental Social Psychology. 44 (6): 1465–1476. doi:10.1016/j.jesp.2008.07.005.
- ↑ Bodenhausen, G. V.; Gabriel, S.; Lineberger, M. (2000). "Sadness and Susceptibility to Judgmental Bias: The Case of Anchoring". Psychological Science. 11 (4): 320–323. doi:10.1111/1467-9280.00263.
- ↑ Englich, B.; Soder, K (2009). "Moody experts: How mood and expertise influence judgmental anchoring". Judgment and Decision Making. 4: 41–50.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Englich, B.; Mussweiler, Thomas; Strack, Fritz (2006). "Playing Dice With Criminal Sentences: The Influence of Irrelevant Anchors on Experts' Judicial Decision Making". Personality and Social Psychology Bulletin. 32 (2): 188–200. doi:10.1177/0146167205282152.
- ↑ Eroglu, Cuneyt; Croxton, Keely L. (2010). "Biases in judgmental adjustments of statistical forecasts: The role of individual differences". International Journal of Forecasting. 26 (1): 116–133. doi:10.1016/j.ijforecast.2009.02.005.
- ↑ McElroy, T; Dowd, K (2007). "Susceptibility to anchoring effects: How openness-to-experience influences responses to anchoring cues". Judgment and Decision Making. 2: 48–53.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Bergman, Oscar; Ellingsen, Tore; Johannesson, Magnus; Svensson, Cicek (2010). "Anchoring and cognitive ability". Economics Letters. 107 (1): 66–68. doi:10.1016/j.econlet.2009.12.028.
- ↑ Oechssler, Jörg; Roider, Andreas; Schmitz, Patrick W. (2009). "Cognitive abilities and behavioral biases". Journal of Economic Behavior & Organization. 72 (1): 147–152. doi:10.1016/j.jebo.2009.04.018.
- ↑ Orr, D: Guthrie, C (2006). "Anchoring, information, expertise, and negotiation: New insights from meta-analysis" (PDF). Ohio St. J. Disp. Resol. 597 (21). SSRN 900152.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)[ลิงก์เสีย] - ↑ Kristensen, Henrik; Gärling, Tommy (1997). "The Effects of Anchor Points and Reference Points on Negotiation Process and Outcome". Organizational Behavior and Human Decision Processes. 71 (1): 85–94. doi:10.1006/obhd.1997.2713.
- ↑ Dietmeyer, Brian (2004). Strategic Negotiation: A Breakthrough Four-Step Process for Effective Business Negotiation. Kaplan Publishing. ISBN 978-0-7931-8304-3.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Northcraft, Gregory B; Neale, Margaret A (1987). "Experts, amateurs, and real estate: An anchoring-and-adjustment perspective on property pricing decisions". Organizational Behavior and Human Decision Processes. 39 (1): 84–97. doi:10.1016/0749-5978(87)90046-X.
- ↑ Janiszewski, Chris; Uy, Dan (2008). "Precision of the Anchor Influences the Amount of Adjustment". Psychological Science. 19 (2): 121–127. doi:10.1111/j.1467-9280.2008.02057.x.