ข้ามไปเนื้อหา

เหย่เหริน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อักษรสลักเป็นภาษาจีนบนหน้าผา ความว่า "ถ้ำของเหย่เหริน" ในมณฑลหูเป่ย์ตะวันตก

เหย่เหริน หรือ ซูเหริน (อังกฤษ: Yeren, Yiren, Yeh Ren; จีน: 野人; พินอิน: Yěrén แปลว่า "คนป่า"; อังกฤษ: Xueren; จีน: 神农架野人; พินอิน: Shénnóngjiàyěrén แปลว่า "คนป่าแห่งเสินหนงเจี้ย") หรือ มนุษย์หมี (อังกฤษ: Man Bear; จีน: 人熊; พินอิน: Ren Xiong) เป็นสิ่งมีชีวิตลึกลับขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่เชื่อว่า มีลักษณะคล้ายมนุษย์แต่มีขนดกปกคลุมอยู่ทั่วร่าง อาศัยอยู่ ณ เขตอนุรักษ์ป่าดึกดำบรรพ์เขาเสินหนงเจี้ย ในมณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน

โดยเหย่เหริน มีลักษณะคล้ายอุรังอุตังที่พบบนเกาะบอร์เนียวและเกาะสุมาตรา ในอินโดนีเซีย มีขนสีน้ำตาลแดงเข้มยาว 3–4 เซนติเมตร มีท้องขนาดใหญ่ ยืนด้วยขาหลังทั้งสองข้าง มีความสูง 5–7 ฟุต หรือ 8 ฟุต[1] แต่มีรายงานว่าสามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว ใบหน้ามีลักษณะผสมกับระหว่างมนุษย์และเอป มีส่วนของขาหน้าหรือมือมีนิ้ว 5 นิ้ว โดยที่นิ้วโป้งแยกออกมาเหมือนมนุษย์ เคยมีการพบรอยเท้าของเหย่เหรินมีความยาว 16 นิ้ว มีโครงสร้างที่ใกล้เคียงกับเอป ในตัวผู้มีองคชาตเหมือนผู้ชาย ในขณะที่ตัวเมียมีเต้านมเหมือนผู้หญิง ส่งเสียงร้องได้ดังและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เชื่อกันว่า เหย่เหริน มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์นีแอนเดอร์ธาลที่เคยอาศัยอยู่ในเอเชียเหนือ และเอเชียกลาง เมื่อ 350,000 กว่าปีก่อน

ซึ่งเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นที่คล้ายคลึงกัน เช่น บิ๊กฟุตในอเมริกาเหนือ ในคติของจีนมีศัพท์ที่ใช้เรียกสัตว์ที่มีลักษณะเช่นนี้โดยเฉพาะ โดยมีผู้เชื่อว่าอาจจะมีจำนวนเหย่เหรินมากถึง 1,000–2,000 ตัวอาศัยอยู่ในประเทศจีนตอนกลาง

นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการมีอยู่ของเหย่เหริน โดยการกล่าวอ้างถึงจากนักท่องเที่ยวที่ได้มาเที่ยวยังเขตอนุรักษ์ป่าดึกดำบรรพ์เขาเสินหนงเจี้ย โดยค้นพบรอยเท้าและทำการหล่อเป็นปูนปลาสเตอร์เพื่อศึกษา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มีทฤษฎีว่า เหย่เหรินอาจจะเป็นเอปขนาดใหญ่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gigantopithecus blacki ที่เคยอาศัยอยู่ในเอเชียกลาง แต่ได้สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 500,000 ปี มีนักวิชาการที่ได้รับทุนจากรัฐบาลให้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของเหย่เหริน สามารถเก็บตัวอย่างขนที่เชื่อว่าเป็นของเหย่เหรินได้เมื่อนำไปเทียบกับขนของลิงหรือเอปที่เป็นที่รู้จัก ปรากฏว่าไม่ตรงกับชนิดใดเลย[1]

ในตำนานพื้นบ้านแถบนี้ เหย่เหรินถูกเล่าขานว่าเป็นสัตว์กินเนื้อ และจับมนุษย์ฉีกแขนขากินเป็นอาหารด้วย ปัจจุบันแม้จะมีการสำรวจศึกษาเกี่ยวกับเหย่เหรินมากขึ้น แต่เรื่องของเหย่เหรินก็ยังคงอยู่ในความเชื่อของชาวจีนพื้นถิ่น ซึ่งป่าที่เหย่เหรินอาศัยอยู่นั้นก็ถือได้ว่าเป็นป่าดึกดำบรรพ์ที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ มีพรรณพืชและพรรณสัตว์โบราณและหายากหลายชนิดอาศัยอยู่ด้วย โดยบางคนที่อ้างว่าเคยพบเห็นเหย่เหริน เป็นเจ้าหน้าที่ของเขตอนุรักษ์ อ้างว่าตนเคยคิดที่จะจับเหย่เหรินด้วยซ้ำ โดยเชื่อว่าเหย่เหรินอาศัยอยู่ในป่าหินซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเขตป่าอนุรักษ์เสินหนงเจี้ย รวมถึงมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นขณะนำพานักท่องเที่ยวบนรถทัวร์ ได้เห็นเหย่เหรินตัวหนึ่งที่มีขนสีดำวิ่งตัดหน้ารถด้วยสองขาหลัง คนขับรถได้ตะโกนบอกว่า "เหย่เหริน ๆ"[1]

ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเพิ่มเติม พบว่า เหย่เหรินไม่อยู่เป็นกลุ่ม แต่จะอยู่กันเป็นคู่ ๆ ระหว่างตัวผู้และตัวเมีย โดยปกติจะเดินด้วยสองขาหลัง แต่สามารถใช้ขาทั้งสี่ข้างปีนป่ายได้รวดเร็ว โดยกินอาหารจำพวก ผลไม้, ถั่ว, ข้าวโพด และแมลงบางชนิด ในสถานที่ ๆ ไม่มีใครมาพบเห็น [2]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Chute, David (Jun 27, 2016). "Destination Truth S03E12 Jersey Devil and Yeren". Destination Truth.
  2. "Yeren". unknown-creatures. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-16. สืบค้นเมื่อ 2010-07-02.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]