ข้ามไปเนื้อหา

เต่าบก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เต่าบก
เต่าซูลคาต้า (Geochelone sulcata) เป็นเต่าบกขนาดใหญ่หรือที่นิยมเรียกว่า "เต่ายักษ์" ซึ่งก็เป็นอีกชนิดที่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกัน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Testudines
อันดับย่อย: Cryptodira
วงศ์: Testudinidae
Gray 1825[1]
วงศ์ย่อยและสกุล[4]

เต่าบก (อังกฤษ: Tortoise, Land turtle) คือ เต่าที่อยู่ในวงศ์ Testudinidae ซึ่งเป็นวงศ์ใหญ่ มีสกุลต่าง ๆ จำนวนมากที่อยู่ในวงศ์นี้

เต่าบก คือ เต่ากลุ่มที่ไม่สามารถที่จะว่ายน้ำหรือใช้ชีวิตอยู่ในน้ำได้ เนื่องจากจะจมน้ำตายได้ เนื่องจากโดยมากแล้วจะมีกระดองขนาดใหญ่ โค้ง และมีน้ำหนักมาก รวมทั้งเท้าที่ไม่มีพังผืดระหว่างนิ้ว จึงไม่สามารถใช้ว่ายน้ำได้

การค้นพบ

[แก้]
เต่าบก

บรรพบุรุษของเต่าบก โดยเฉพาะที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกค้นพบเมื่อกลางปี พ.ศ. 2552 ในยุคจูราสสิกตอนปลาย ที่จังหวัดมุกดาหาร ซากฟอสซิลมีขนาดความยาวและกว้างกว่า 90 เซนติเมตร[5]

โดยมากแล้ว เต่าบกจะเป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่ หลายชนิดเมื่อโตเต็มที่แล้วจะมีน้ำหนักร่วมร้อยกว่ากิโลกรัม มักจะอาศัยอยู่บนพื้นที่มีความแห้งและอุณหภูมิค่อนข้างร้อนหรือกึ่งทะเลทราย หรือแม้แต่จะเป็นทะเลทรายเลยในบางชนิด และโดยมากแล้วเต่าบก จะเป็นเต่าที่กินพืชและผักเป็นอาหาร มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่กินเนื้อหรือกินทั้งเนื้อและพืชเป็นอาหาร

ลักษณะ

[แก้]

เต่าบกเป็นสัตว์ที่มีความแตกต่างระหว่างเพศชัดเจน โดยตัวผู้มักจะมีกระดองส่วนหางที่เว้าลึกกว่าตัวเมีย เนื่องจากจะต้องสอดใส่อวัยวะเพศเข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของตัวเมียในเวลาผสมพันธุ์

ถึงแม้จะมีชีวิตอยู่บนบกและอาศัยในที่ ๆ สภาพอากาศแห้งแล้ง แต่เต่าบกก็ยังต้องการน้ำ ซึ่งวิธีที่จะทำให้ได้รับน้ำ ก็คือ การที่กินเข้าไปทั้งโดยตรง และผ่านจากอาหารที่กินเข้าไป และการที่ลงไปแช่ในน้ำ

แสงแดดเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อเต่าบกมาก เนื่องจากต้องการรังสียูวีเอและยูวีบี ซึ่งยูวีเอจะเป็นตัวกระตุ้นในเรื่องของความอยากอาหารและกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการสืบพันธุ์อีกด้วย ส่วนยูวีบีจะช่วยในเรื่องของการดูดซึมแคลเซียมและเสริมสร้างวิตามินดี 3 ภายในร่างกายของเต่า ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับยูวีบี แล้วจะทำให้กระดองเต่าอ่อนแอ นุ่มนิ่ม ทำให้เต่ามีร่างกายที่อ่อนแอและตายได้ง่าย[6]

มีรายงานว่าเต่าบกที่เลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงของครอบครัวหนึ่ง ในกรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 30 ปี ภายในห้องเก็บของที่ถูกปิดตายมาตลอด โดยที่ไม่ทราบว่าอยู่รอดมาได้อย่างไร[7]

ประเภท

[แก้]

เต่าบก สามารถแบ่งออกเป็นวงศ์ย่อยได้อีก 2 วงศ์[2]มีการกระจายพันธุ์ทั่วทุกทวีปของโลก ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งหลายชนิดเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ได้แก่ เต่ายักษ์กาลาปากอส (Geochelone nigra) ซึ่งเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่และมีอายุยืนยาวที่สุดในโลก ซึ่งจะพบได้เฉพาะในหมู่เกาะกาลาปากอสเท่านั้น, เต่ายักษ์เซเชลส์ (Aldabrachelys hololissa) ที่อาศัยอยู่เฉพาะสาธารณรัฐเซเชลส์, เต่าดาวพม่า (Geochelone platynota) หรือ เต่าราเดียตา (Astrochelys radiata) ซึ่งเป็นเต่าบกขนาดเล็ก กระดองมีความสวยงาม นิยมเลี้ยงกันสัตว์เลี้ยง โดยกระดองของตัวที่มีสีเหลืองมาก จะเรียกว่า "ไฮเยลโล่"

ถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

[แก้]

ส่วนที่พบได้ในประเทศไทย ได้แก่ เต่าเหลือง (Indotestudo elongata) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยและง่ายที่สุดในประเทศไทยและอินโดจีน, เต่าหก (Manouria emys) ซึ่งมักอาศัยในป่าดิบเขา จัดเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในทวีปเอเชีย[8] เป็นต้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. Gray, J.E. "A synopsis of the genera of reptiles and amphibia, with a description of some new species". Annals of Philosophy. 2 (10): 193-217.
  2. 2.0 2.1 Batsch, A.J.G.C. 1788. Versuch einer Anleitung zur Kenntniss und Geschichte der Thiere und Mineralien. Erster Theil. Allgemeine Geschichte der Natur; besondre der Säugthiere, Vögel, Amphibien und Fische. Jena: Akademischen Buchandlung, 528 pp.
  3. Agassiz, L. 1857. Contributions to the natural history of the United States of America. Vol. 1. Little, Brown and Co., Boston. 452p.
  4. Anders G.J. Rhodin, Peter Paul van Dijk, John B. Iverson, and H. Bradley Shaffer. 2010. Turtles of the World, 2010 Update: Annotated Checklist of Taxonomy, Synonymy, Distribution, and Conservation Status
  5. เจอบรรพบุรุษเต่าบกสกุลและชนิดใหม่ของโลก จากคมชัดลึก
  6. "เรื่องเล่าตั้งแต่โลกเย็นตัว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-19. สืบค้นเมื่อ 2011-01-10.
  7. เต่ายักษ์ถูกขัง 30 ปี ไม่ตาย จากไทยรัฐ
  8. "เต่าหก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-29. สืบค้นเมื่อ 2011-01-10.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]