ข้ามไปเนื้อหา

เกอิชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เกอิชา

เกอิชา (ญี่ปุ่น: 芸者โรมาจิgeishaทับศัพท์: เกชะ; "ศิลปิน") เป็นอาชีพหนึ่งของสตรีญี่ปุ่นในสมัยก่อน ถือว่าเป็นผู้ที่ชำนาญทางศิลปะและให้ความเพลิดเพลินบันเทิงใจ เป็นเสมือนผู้คอยต้อนรับและปรนนิบัติแขก เกอิชามีอยู่แพร่หลายอย่างมากในญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ19 เมื่อ ค.ศ. 1920 มีจำนวนเกอิชาถึง 80,000 คน ส่วนในปัจจุบันแม้ว่าจะยังมีอาชีพเกอิชา แต่จำนวนค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับเกอิชาฝึกหัดจะเรียกว่า ไมโกะ (ญี่ปุ่น: 舞子โรมาจิmaiko)

คำว่า "เกอิชา" นั้น ภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า "เกชะ" ในแถบคันไซเรียกว่า เกงิ (芸妓, げいぎ) ส่วนเกอิชาฝึกงานหรือ "เกโกะ" (芸子, げいこ) มีใช้มาตั้งแต่สมัยเมจิ ส่วนคำว่า "กีชา" ที่เรียกว่า "สาวเกอิชา" นั้น นิยมเรียกในช่วงปฏิบัติการร่วมระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา หมายถึง หญิงขายบริการ แต่เรียกตัวเองว่า "เกอิชา"

อาชีพของเกอิชานั้นพัฒนาขึ้นมาจาก ไทโคะโมะชิ หรือ โฮกัง ซึ่งคล้ายกับพวกตลกหลวงในราชสำนัก เกอิชาในสมัยแรกนั้นล้วนเป็นผู้ชาย ส่วนผู้หญิงที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกันนั้นจะเรียกกันว่า "อนนะ เกชะ" (女芸者) หรือเกอิชาหญิง แต่ในปัจจุบันเกอิชาเป็นหญิงเท่านั้น

เดิมนั้นหญิงที่จะทำอาชีพเกอิชาจะได้รับการฝึกอบรมตั้งแต่เด็ก สำนักเกอิชามักจะซื้อตัวเด็กหญิงมาจากครอบครัวที่ยากจน แล้วนำมาฝึกฝนเลี้ยงดูโดยตลอด ในช่วงวัยเด็ก พวกเขาจะทำงานเป็นหญิงรับใช้ เพราะผู้ช่วยเกอิชารุ่นพี่ในสำนักถือเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนด้วยเช่นกัน และเพื่อชดใช้กับค่าเลี้ยงดูและการอบรมสั่งสอน การสอนและฝึกฝนอาชีพที่ยาวนานเช่นนี้ นักเรียนจะอาศัยอยู่ในบ้านของครูผู้ฝึก ช่วยทำงานบ้าน สังเกต และช่วยครู และเมื่อชำนาญเป็นเกอิชาแล้ว สุดท้ายก็จะเลื่อนขึ้นไปสู่ตำแหน่งครูผู้ฝึกอบรมต่อไป การฝึกอบรมนี้จะต้องใช้เวลานานหลายปีทีเดียว

ในเบื้องต้นนั้นเด็กสาวจะได้เรียนศิลปะหลายแขนง ได้แก่ การเล่นดนตรี (โดยเฉพาะชะมิเซ็ง รูปร่างคล้ายกีตาร์) การขับร้อง การเต้นรำ การชงชา การจัดดอกไม้ (อิเกะบะนะ) รวมถึงเรื่องบทกวีและวรรณคดี การได้คอยเป็นผู้ช่วยและได้เห็นเกอิชารุ่นพี่ทำงาน พวกเขาก็จะมีความชำนาญมากขึ้นและเรียนรู้ศิลปะที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การแต่งชุดกิโมโน รวมถึงการพนันหลายแบบ รู้จักการสนทนา และการโต้ตอบกับลูกค้า

เมื่อหญิงสาวได้เข้ามารับการฝึกฝนเป็นไมโกะหรือเกอิชาฝึกหัด ก็จะเริ่มติดตามเกอิชารุ่นพี่ไปยังโรงน้ำชา งานเลี้ยง และการสังสรรค์ต่าง ๆ ที่เป็นสภาพแวดล้อมการทำงานจริงของเกอิชา ทำให้ได้ประสบการณ์ทำงานจริงและมีความชำนาญขึ้นเรื่อย ๆ

ย่านกิอง แหล่งเกอิชาในเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

เกอิชาไม่ใช่โสเภณี แม้ว่าในอดีตจะมีการขายพรหมจารีอย่างถูกต้อง และเกอิชาก็ไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า แม้ว่าลูกค้าจะจ่ายเงินซื้อเพื่อการนี้ก็ตาม เกอิชากับโสเภณีมีความแตกต่างพอสมควร โดยสังเกตอย่างง่ายจากการแต่งตัว โดยที่โสเภณีจะมีสายโอบิผูกชุดที่สามารถแกะได้จากข้างหน้า เพื่อความสะดวกในถอดชุดออกออก เครื่องประดับของเหล่าหญิงโสเภณีมีความงดงาม หรูหรา ฟู่ฟ่า ในขณะที่เกอิชามีผ้าโอบิผูกจากข้างหลังตามชุดกิโมโนทั่วไป เครื่องประดับนั้นจะเรียบง่ายแต่แสดงออกถึงความสวยงามตามธรรมชาติ ในรูปแบบของศิลปะได้อย่างดีทีเดียว

เกอิชาสมัยใหม่จะไม่ถูกซื้อตัวหรือพามายังสำนักเกอิชาตั้งแต่เด็กเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว การเป็นเกอิชาในสมัยใหม่นั้นเป็นไปโดยสมัครใจทั้งสิ้น และการฝึกฝนอาชีพนั้นจะเริ่มต้นที่หญิงสาว ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ไม่ใช่เด็กหญิงอย่างแต่ก่อน และจะใช้เวลาที่ยาวนานและยุ่งยากมาก เพราะฝึกเมื่ออายุมาก

ปัจจุบันเกอิชายังคงอาศัยอยู่มากในสำนักเกอิชาในบริเวณพื้นที่ซึ่งเรียกว่า ฮะนะมะชิ (花街 "เมืองดอกไม้") หรือ คะเรียวไก (花柳界 "โลกของดอกไม้และต้นหลิว") ซึ่งคล้ายกับย่านโพนโทะโช ในเกียวโต

เกอิชานั้นมักได้รับการว่าจ้างให้ปรนนิบัติหมู่คณะ และมักทำงานร่วมกันในโรงน้ำชา (茶屋 ชะยะ) หรือร้านอาหารแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น โดยเวลาใช้บริการนั้นจะใช้ธูปจุดเป็นเกณฑ์วัด เรียกว่า "เซนโกได" (線香代 "ค่าธูป") หรือ เคียวกุได (玉代 "ค่าเพชร") ลูกค้าจะติดต่อโดยผ่านสำนักติดต่อเกอิชาหรือ "เค็นบัน" (検番) ซึ่งจะมีตารางนัดของเกอิชาแต่ละคน และทำการนัดหมาย ทั้งเพื่อการทำงานและการฝึกฝนอาชีพ

เมื่อหญิงที่ทำงานเป็นเกอิชาแต่งงานก็จะเลิกจากอาชีพนี้ หากไม่แต่งงาน เมื่ออายุมากขึ้นก็จะเลิกอาชีพนี้เช่นกัน แต่อาจทำงานเป็นเจ้าของร้านอาหาร ครูสอนดนตรี เต้นรำ หรือครูสอนเกอิชาต่อไปก็ได้

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]