อันเดด
อันเดด (อังกฤษ: undead) เป็นสิ่งมีชีวิตในตำนาน, นิทาน หรือนิยายที่เสียชีวิตแล้ว แต่กลับมีพฤติกรรมราวกับว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ ตัวอย่างทั่วไปของสิ่งมีชีวิตที่เป็นอันเดดคือศพที่ฟื้นขึ้นมาอีกครั้งโดยพลังเหนือธรรมชาติ โดยการใช้พลังชีวิตของผู้ตายเองหรือพลังชีวิตจากสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ (เช่น ปีศาจ หรือวิญญาณชั่วร้ายอื่น ๆ) ทั้งนี้ อันเดดอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีร่างกาย (ผี) หรือมีร่างกาย (มัมมี่, แวมไพร์, โครงกระดูก หรือซอมบี)
อันเดดมีอยู่ในความเชื่อของวัฒนธรรมส่วนใหญ่ และปรากฏในผลงานแฟนตาซีตลอดจนนิยายสยองขวัญจำนวนมาก คำนี้ยังใช้เป็นครั้งคราวสำหรับความพยายามในชีวิตจริงที่จะชุบชีวิตคนตายโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่การทดลองในช่วงแรก ๆ เช่น ของโรเบิร์ต อี. คอร์นิช ไปจนถึงวิทยาศาสตร์ในอนาคต เช่น "การเก็บรักษาสมองด้วยสารเคมี" และ "ไครโอนิกส์" แม้ว่าคำนี้มักจะหมายถึงสิ่งที่มีรูปร่าง แต่ในบางกรณี (เช่น ในเกมดันเจียนส์แอนด์ดรากอนส์) คำนี้ยังรวมถึงรูปร่างของสิ่งที่ไม่มีร่างกายของคนตาย เช่น ผี
ประวัติ
[แก้]แบรม สโตกเกอร์ เคยคิดที่จะใช้ชื่อเรื่องดิอัน-เดด (The Un-Dead) สำหรับนวนิยายเรื่องแดรกคูลา (ค.ศ. 1897) ของเขา และการใช้คำนี้ในนวนิยายเป็นส่วนใหญ่ที่ทำให้คำนี้มีความหมายตามแบบสมัยใหม่ ซึ่งคำนี้ปรากฏในภาษาอังกฤษก่อนการเขียนของสโตกเกอร์ แต่มีความหมายตามตัวอักษรมากกว่าว่า "มีชีวิต" หรือ "ไม่ตาย" โดยสามารถค้นหาการอ้างอิงได้ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด และในตอนหนึ่งของเรื่องแดรกคูลา ได้กล่าวถึงนอสเฟอราตูว่าเป็นคำพ้องความหมายกับคำว่า "อัน-เดด" ในภาษา "ยุโรปตะวันออก"[1]
สโตกเกอร์ใช้คำว่า "อันเดด" หมายถึงแวมไพร์เท่านั้น ส่วนการขยายความไปถึงสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติประเภทอื่น ๆ เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ในปัจจุบันมักใช้เพื่ออ้างถึงสิ่งเหนือธรรมชาติที่เคยมีชีวิตอยู่และยังคงแสดงลักษณะบางอย่างของชีวิตหลังความตาย แต่การใช้คำนั้นมีความหลากหลายมาก[2]
ส่วนการฟื้นคืนชีพหรือการสร้างซอมบีในเรื่องแต่งโดยวิธีที่ไม่เหนือธรรมชาติได้ได้กลายมาเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เช่น แฟรงเกนสไตน์ (ค.ศ. 1818) ได้ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ระบุรายละเอียด, ข้าคือตํานานพิฆาตมหากาฬ (ค.ศ. 1954) เรื่องแต่งที่มีอิทธิพลได้กล่าวโทษเชื้อโรค, ไนต์ออฟเดอะลิฟวิงเดด (ค.ศ. 1968) ได้เสนอเกี่ยวกับรังสีจากยานสำรวจอวกาศที่ตก, ผีลืมหลุม (ค.ศ. 1985) แสดงให้เห็นแก๊สพิษ และเรซิเดนต์อีวิล (ค.ศ. 1996) นำเสนอเกี่ยวกับอาวุธชีวภาพ
ทั้งนี้ อันเดดกลายมาเป็นศัตรูที่ได้รับความนิยมในเกมแฟนตาซีและเกมสยองขวัญ โดยมีบทบาทโดดเด่นในเกมเล่นตามบทบาท, วิดีโอเกมเล่นตามบทบาท, เกมออนไลน์ผู้เล่นจำนวนมากแบบเล่นตามบทบาท และเกมกลยุทธ์จำนวนมาก
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ *Stoker, Bram (1975) [1897]. Leonard Wolf (บ.ก.). The Annotated Dracula. Crown. p. 193. ISBN 978-0-517-52017-8.
- ↑ "Can Such Things Be". Etext.virginia.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-02-16. สืบค้นเมื่อ 2012-07-31.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อันเดด