หย่งฉี
หย่งฉี | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เหอซั่วชินหวัง (和硕亲王) | |||||||||
หรงฉุนชินหวัง | |||||||||
ดำรงพระยศ | ค.ศ. 1765 - 1766 | ||||||||
ถัดไป | เหมียนอี้ | ||||||||
ประสูติ | 23 มีนาคม ค.ศ.1741 | ||||||||
สิ้นพระชนม์ | 16 เมษายน ค.ศ.1766 (พระชันษา 25 ปี) | ||||||||
| |||||||||
ราชวงศ์ | ชิง | ||||||||
พระบิดา | จักรพรรดิเฉียนหลง | ||||||||
พระมารดา | ยฺหวีกุ้ยเฟย์ |
หรงฉุนชินหวัง พระนามเดิมหย่งฉี (永琪) เป็นเจ้าชายแห่งจักรวรรดิต้าชิง เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ห้าในจักรพรรดิเฉียนหลง ที่ประสูติกับยฺหวีกุ้ยเฟย์ (愉貴妃)
เจ้าชายหย่งฉีเป็นคนรอบคอบและขยันหมั่นเพียรตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ในบรรดาเจ้าชายทั้งหมด ทรงเป็นท่านแรกที่ไปถึงสถานที่เรียนเสมอ ทรงสนิทสนมกับเจ้าชายหย่งเหยี่ยน พระอนุชาต่างพระมารดา ทรงปรีชาสามารถในการตรัสภาษาแมนจูและภาษามองโกลอย่างคล่องแคล่ว และยังทรงรอบรู้ด้านดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการคำนวณปฏิทินจันทรคติ ทรงมีผลงานคือหนังสือเรื่อง เจียวถง เถิงเก่า (蕉桐幐稿) นอกจากนี้ยังทรงปรีชาสามารถในด้านการแต่งบทกวี ประดิษฐ์ตัวอักษร และอีกทั้งยังทรงมีฝีพระหัตถ์ในด้านการขี่ม้าและยิงธนู จากพรสวรรค์เหล่านี้ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่สนิทเสน่หาของพระบิดายิ่งนัก ใน ค.ศ.1765 จักรพรรดิเฉียนหลงได้ทรงสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น “หรงชินหวัง” (榮親王) และเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกที่ได้รับพระนามอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ตัวอักษรคำว่า “หรง” (榮) นั้นหมายถึง “บารมี” หรือ “เกียรติ” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจักรพรรดิเฉียนหลง ทรงตั้งความหวังไว้สูงมากกับพระราชโอรสองค์นี้
สิ้นพระชนม์
[แก้]เจ้าชายหย่งฉีสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.1766 หลังจากทรงทุกข์ทนทรมานจากโรคที่ไม่รู้จัก เป็นเวลาหลายเดือน (ทรงเริ่มประชวรตั้งแต่ได้รับพระนามเป็นหรงชินหวัง) ทรงได้รับพระนามหลังสิ้นพระชนม์ว่า “ฉุน” (純) อันหมายถึง “บริสุทธิ์” พระนามเต็มหลังสิ้นพระชนม์คือ “หรงฉุนชินอ๋อง” (榮純親王)
พระสุสาน
[แก้]เจ้าชายหย่งฉี มีพระสุสานอยู่ใกล้กับเจ้าชายหย่งหวง (永璜) พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในจักรพรรดิเฉียนหลงที่สิ้นพระชนม์ขณะพระชันษาเพียง 22 ปี พระสุสานในบางครั้งถูกเรียกว่า “พระสุสานรัชทายาท” ตั้งอยู่ในตอนเหนือของกรุงปักกิ่งไปทางทิศตะวันออก อยู่ใกล้กับ อาคารปู้เหล่าถุน ในปี ค.ศ.1958 ที่ของพระสุสานถูกทำลายเพื่อทำการก่อสร้าง โครงกระดูกถูกเคลื่อนย้ายอย่างระมัดระวังและถูกนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์
การถูกสนับสนุน
[แก้]พระมารดาของเจ้าชายหย่งฉีไม่ได้เป็นจักรพรรดินีแต่เป็นเพียงกุ้ยเฟย แต่เจ้าชายหย่งฉีกลับได้รับสถาปนาขึ้นเป็นอ๋องชั้นเอก และมีสัญญาณว่าจักรพรรดิเฉียนหลงทรงพิจารณาจะให้เจ้าชายหย่งฉีเป็นรัชทายาท แทนที่เจ้าชายหย่งจีและเจ้าชายหย่งจิ่งที่ประสูติกับจักรพรรดินีจี้ เช่นนี้ก็เป็นที่เชื่อและมั่นใจได้ว่าจักรพรรดิเฉียนหลงได้ทรงสนับสนุนส่งเสริมและหมายมั่นที่จะให้พระราชโอรสพระองค์นี้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์
เจ้าชายหย่งฉีเป็นเจ้าชายที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาพระราชโอรสในจักรพรรดิเฉียนหลง และทรงเลือกที่จะประสบความสำเร็จเหมือนกับพระบิดา แต่ก็สิ้นพระชนม์ขณะพระชันษาเพียง 25 ปี ใน ค.ศ.1793 เมื่อจักรพรรดิเฉียนหลงได้พบกับทูตอังกฤษชื่อ จอร์จ มาคาร์ทนีย์ ทูตคนนี้ก็พูดยกย่องและชื่นชอบในตัวองค์ชายหย่งฉีเป็นอันมาก
พระบรมวงศานุวงศ์
[แก้]- พระบิดา: จักรพรรดิเฉียนหลง
- พระมารดา: อวี๋กุ้ยเฟย จากสกุลเคอหลี่เย่เท่อ
- พระชายา
- พระชายาเอก จากสกุลซีหลินเจวี๋ยหลัว
- พระชายารอง จากสกุลสั่วชั่วหลัว
- พระชายารอง จากสกุลกวาเอ่อร์เจีย
- พระชายารอง จากสกุลอีเอ่อร์เกินเจวี๋ยหลัว
- พระชายารอง จากสกุลว่านหลิวฮา
- พระสนม จากสกุลหู
- พระโอรส
- เจ้าชาย (ไม่ปรากฏพระนาม) (1759-1759)
- เจ้าชาย (ไม่ปรากฏพระนาม) (1760-1760)
- เจ้าชาย (ไม่ปรากฏพระนาม) (1761-1763)
- เจ้าชาย (ไม่ปรากฏพระนาม) (1764-1764)
- เจ้าชายเหมียนอี้ (绵亿,1764-1815) หรงเค่อจวิ้นหวัง (榮恪郡王,1784-1815)
- เจ้าชาย (ไม่ปรากฏพระนาม) (1765-1765)
- พระธิดา
- เจ้าหญิงกู้ซาน (ไม่ปรากฏพระนาม)