ศัมภละ
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
ศัมภละ (สันสกฤต: शम्भल, อักษรโรมัน: Śambhala; ทิเบต: བདེ་འབྱུང; ฮินดี: शम्भल) หรือบางครั้งปรากฏ[1] ทับศัพท์อิงการถอดอักษรโรมันว่า ชัมบาลา (โรมัน: Shambhala) เป็นชื่อนครแห่งหนึ่งซึ่งพุทธศาสนาแบบทิเบตและอินเดียเชื่อว่าซ่อนตัวอยู่ในเอเชียใน นครนี้ปรากฏอยู่ในตำราโบราณหลายฉบับ รวมถึงกาลจักรตันตระ (Kalachakra Tantra) และเอกสารโบราณในวัฒนธรรมซังซุง[2][3] แต่ไม่ว่าจะมีเค้ามูลทางประวัติศาสตร์หรือไม่อย่างไร ก็มีผู้ถือว่าศัมภละเป็นเมืองแห่งสุขาวดีกันเรื่อย ๆ มา และศัมภละในรูปแบบสุขาวดีนี้เองที่แพร่ไปในวัฒนธรรมตะวันตกจนเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ทั้งผู้เป็นและไม่เป็นพุทธศาสนิกชน
ในคัมภีร์กาลจักรตันตระ
[แก้]ศัมภละเป็นคำภาษาสันสกฤตซึ่งยังไม่ทราบรากศัพท์แน่ชัด ความเชื่อเรื่องศัมภลนครในพุทธศาสนานั้น แท้จริงรับเอามาจากคติพราหมณ์เรื่องพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นบุรุษชื่อกัลกิแห่งศัมภลนครซึ่งปรากฏอยู่ในกาพย์มหาภารตะและคัมภีร์ปุราณะ แต่ก็มีผู้เห็นว่าเป็นการสร้างอุดมคติจากวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่แล้ว โดยเอาภูมิภาคในกลางหรือตะวันออกไกลของเอเชียมาปรุงแต่งเป็นศัมภลนคร
ตามความเชื่อในพุทธศาสนา ศัมภลนครเป็นดินแดนแห่งความสงบร่มเย็นและปีติศานติ์ ว่ากันว่าพระโคตมพุทธเจ้าเคยมีพระพุทธฎีกาตรัสสอนเรื่องกาลจักรให้แก่พระเจ้าสุจันทระแห่งศัมภละ ซึ่งต่อมาได้รับการบันทึกเป็นคัมภีร์ชื่อกาลจักรตันตระ และคัมภีร์นั้นว่าศัมภละเป็นสังคมซึ่งไพร่บ้านพลเมืองทั้งปวงมีความรู้ เป็นสุขาวดีโดยแท้จริง ตั้งอยู่กลางกรุงกลปะ (Kalapa) พระเจ้าศัมภละนั้นมีตำแหน่งเรียกว่า "กัลกิ" ทรงปกครองแผ่นดินโดยดำรงอยู่ในราชธรรมตามคัมภีร์กาลจักรตันตระ[4][5][6]
คัมภีร์กาลจักรตันตระยังพยากรณ์ว่า เมื่อโลกถดถอยเข้าสู่กลียุค สรรพสิ่งจะถึงแก่ความดับสูญ ครั้งนั้น ศัมภละกษัตริย์พระองค์ที่ยี่สิบห้าจะเสด็จกรีธาพยุหะรี้พลมหึมาออกจากนครเพื่อกระทำสงครามต่อต้านความชั่วร้าย และจะทรงบำรุงโลกให้เป็นยุคทอง นักวิชาการหลายคน เช่น อเลกซ์ เบอร์ซิน (Alex Berzin) อาศัยคัมภีร์กาลจักรตันตระนี้คำนวณว่า เหตุการณ์ดังกล่าวตกใน ค.ศ. 2424[7]
อนึ่ง ยังเชื่อกันด้วยว่าพระเจ้ามัญชุศรีกีรติมีพระประสูติกาลในปีที่ 159 ก่อนคริสตกาล และได้เป็นศัมภละกษัตริย์พระองค์ที่แปด ในแว่นแคว้นของพระองค์นั้น พลเมืองสามแสนห้าร้อยสิบคนถือศาสนามฤจฉา (Mleccha) หรือศาสนาอันเห็นผิดเป็นชอบ และบางคนบวงสรวงสุริยเทพ ต่อมา พระองค์จึงทรงขับไล่นักพรตมฤจฉาไปเสียจากนคร แต่ภายหลังเมื่อสดับตรับฟังฎีกาพวกเขาเหล่านั้นแล้ว ก็ทรงอภัยโทษให้กลับเข้ามาได้ ทว่า เพื่อประโยชน์สุขแห่งแว่นแคว้น พระองค์จึงเสด็จเที่ยวสั่งสอนคัมภีร์กาลจักรตันตระแก่ประชาชนพลเมือง ครั้นปีที่ 59 ก่อนคริสตกาล พระองค์ทรงสละพระราชสมบัติให้พระราชกุมารปุณฑริก (Puṇdaŕika) เสวยสืบต่อมา ไม่ช้าก็เสด็จนฤพาน และทรงกลายเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
การตีความ
[แก้]มีผู้กำหนดแนวคิดเกี่ยวกับศัมภลนครไว้มากมาย บ้างก็ว่า ศัมภลนครมีความหมายภายนอก ความหมายภายใน และความหมายเผื่อเลือก สำหรับความหมายภายนอกนั้นเห็นว่า ศัมภลนครเป็นสถานที่มีอยู่จริง แต่เฉพาะบุคคลที่ประกอบกรรมอันสมควรเท่านั้นจึงจะเข้าถึงและรับรู้ได้ ทะไลลามะองค์ที่สิบสี่ตรัสไว้เมื่อปี 1985 ว่า ศัมภลนครนั้นมิใช่แว่นแคว้นธรรมดา พระองค์ทรงว่า "แม้ว่าบุคคลซึ่งมีกำเนิดพิเศษย่อมสามารถเข้าสู่ที่นั้นโดยอาศัยความสัมพันธ์ทางกรรมได้ ทว่า นครนี้มิใช่สถานที่อันจับต้องได้ซึ่งเราจะพบเจอกันได้ พวกเราพูดได้ก็แต่ว่าเป็นสุขาวดี สุขาวดีบนดินแดนมนุษย์ และถ้าการกระทำกับคุณงามความดีไม่สัมพันธ์สอดคล้องกันแล้ว ก็ไม่สามารถถึงที่นั่นได้โดยแท้"
มีผู้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับที่ตั้งของศัมภลนครเช่นกัน ที่นิยมที่สุดว่าตั้งอยู่กลางเอเชีย ไม่ก็เหนือหรือตะวันตกของประเทศทิเบต ตำราโบราณของวัฒนธรรมเซี่ยงสฺยงระบุว่า ศัมภลนครคือหุบเขาศุตุทริ (शुतुद्रि, Śutudri) รัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย ส่วนชาวมองโกลมองว่าศัมภลนครเป็นหุบเขาแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของไซบีเรีย ในขณะที่คติชนอัลไตเชื่อว่า ภูเขาเบลูฮา (Белуха) ในประเทศรัสเซีย เป็นปากทางศัมภลนคร ฝ่ายนักพุทธศาสตร์ในปัจจุบันราวกับจะได้ข้อยุติว่า ศัมภลนครเป็นหมู่เขาอยู่ทางตอนเหนือของหิมาลัยซึ่งเรียกว่า เธาลาธาร (धौलाधार, Dhauladhar)
ส่วนความหมายภายในและความหมายเผื่อเลือกนั้นมุ่งหมายถึง การทำความเข้าใจโดยแยบคายว่า ศัมภละสื่อถึงสิ่งใดในกายและใจของมนุษย์ และในทางวิปัสสนา การสั่งสอนความหมายทั้งสองประการนี้มักเป็นไปในระหว่างอาจารย์กับศิษย์แบบปากต่อปาก
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ ปรากฏในชื่อของ ชัมบาลา (ภาพยนตร์) และในสื่อ เช่น ไทยรัฐ และ กรุงเทพธุรกิจ
- ↑ The Tantra by Victor M. Fic, Abhinav Publications, 2003, p.49.
- ↑ The Bon Religion of Tibet by Per Kavǣrne, Shambhala, 1996
- ↑ 香巴拉—时轮金刚的清净刹土(上) (ภาษาจีน), CN: Sina, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14, สืบค้นเมื่อ 2012-06-29.
- ↑ 时轮金刚与香巴拉王朝 (ภาษาจีน), FJDH, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-04, สืบค้นเมื่อ 2012-06-29
- ↑ 香巴拉净土_罗鸣_新浪博客 (ภาษาจีน), CN: Sina.
- ↑ Berzin, Alexander (1997). "Taking the Kalachakra Initiation". สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
อ้างอิง
[แก้]- Berzin, Alexander (2003). The Berzin Archives. Mistaken Foreign Myths about Shambhala.
- Martin, Dean. (1999). "'Ol-mo-lung-ring, the Original Holy Place." In: Sacred Spaces and Powerful Places In Tibetan Culture: A Collection of Essays. (1999) Edited by Toni Huber, pp. 125–153. The Library of Tibetan Works and Archives, Dharamsala, H.P., India. ISBN 81-86470-22-0.
- Meyer, Karl Ernest and Brysac, Shareen Blair (2006) Tournament of Shadows: The Great Game And the Race for Empire in Central Asia ISBN 0-465-04576-6
- Bernbaum, Edwin. (1980). The Way to Shambhala: A Search for the Mythical Kingdom Beyond the Himalayas. Reprint: (1989) St. Martin's Press, New York. ISBN 0-87477-518-3.
- Jeffrey, Jason. Mystery of Shambhala เก็บถาวร 2008-05-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน in New Dawn, No. 72 (May–June 2002).
- Trungpa, Chogyam. Shambhala: The Sacred Path of the Warrior. Shambhala Publications. ISBN 0-87773-264-7
- Le Page, Victoria. [1] เก็บถาวร 2008-03-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Shambhala: The Fascinating Truth behind the Myth of Shangri-La. Quest ISBN 0-8356-0750-X
- Znamenski, Andrei. (2011). Red Shambhala: Magic, Prophecy, and Geopolitics in the Heart of Asia. Quest Books, Wheaton, IL (2011) ISBN 978-0-8356-0891-6.
อ่านเพิ่ม
[แก้]- Allen, Charles. (1999). The Search for Shangri-La: A Journey into Tibetan History. Little, Brown and Company. Reprint: Abacus, London. 2000. ISBN 0-349-11142-1.
- Znamenski, Andrei. Red Shambhala: Magic, Prophecy, and Geopolitics in the Heart of Asia. Wheaton, IL: Quest Books, 2011. ISBN 978-0-8356-0891-6
- Martin, Dan. (1999). "'Ol-mo-lung-ring, the Original Holy Place." In: Sacred Spaces and Powerful Places In Tibetan Culture: A Collection of Essays. (1999) Edited by Toni Huber, pp. 125–153. The Library of Tibetan Works and Archives, Dharamsala, H.P., India. ISBN 81-86470-22-0.
- Symmes, Patrick. (2007). "The Kingdom of the Lotus" in "Outside", 30th Anniversary Special Edition, pp. 148–187. Mariah Media, Inc., Red Oak, Iowa.
- Jongbloed, Dominique. (2011) "Civilisations antédiluviennes" ed. Alphée, France