รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2514
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2514 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้นำการรัฐประหารตนเอง | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
รัฐบาลถนอม |
ส.ส. พรรคสหประชาไทย ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
จอมพลถนอม กิตติขจร |
ญวง เอี่ยมศิลา หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช |
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2514 เป็นการรัฐประหารตนเองของจอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อเวลา 19.00 น. ของวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514[1]
สาเหตุ
[แก้]สาเหตุสืบเนื่องจากการที่สมาชิกพรรคสหประชาไทยของจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 นำโดย นายญวง เอี่ยมศิลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนต่าง ๆ ตามที่จอมพลถนอมได้เคยสัญญาไว้ในช่วงเลือกตั้ง เมื่อไม่ได้รับการตอบแทนดังที่สัญญาไว้ ส.ส.เหล่านี้ได้ต่างพากันเรียกร้องต่าง ๆ นานา บ้างก็ขู่ว่าจะลาออก นอกจากนี้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอมได้บันทึกไว้ว่า
รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2515 ผ่าน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนกรกฎาคม 2514 ซึ่งทางสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติรับหลักการในวาระที่ 1 เรียบร้อยแล้วแต่เพราะ ส.ส. บางส่วนต้องการเพิ่มเงินงบประมาณในส่วนเงินบำรุงท้องที่เป็นเงิน 448 ล้านบาททั้ง ๆ ที่รัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณไว้เพียง 224 ล้านบาทอาจทำให้โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลต้องสะดุดและหยุดชะงักลงทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลและ ส.ส. บางส่วน
ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ จอมพล ถนอม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หัวหน้าพรรคสหประชาไทยและนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับฉายาสมัยนั้นว่า "นายกฯคนซื่อ" ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ในสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงยึดอำนาจตนเอง โดยไม่มีชื่อเรียกคณะรัฐประหารในครั้งนี้โดยเฉพาะเหมือนรัฐประหารที่ผ่านมา แต่เรียกตัวเองเพียงแค่ว่า คณะปฏิวัติ[2]
โดยมีคำปรารภในการยึดอำนาจตัวเองครั้งนี้ว่า
ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ภายใน ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน
จากนั้นประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 3 ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้น และยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมืองและประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เวลา 20.11 น.[3] และห้ามมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป [4]
คณะปฏิวัติครองอำนาจจนวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้และตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติให้จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งในธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับนี้มีการนำเอารัฐธรรมนูญมาตรา 17 กลับมาใช้อีกครั้งเหมือนยุคของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มที่ในการสั่งการใด ๆ อันเนื่องจากเหตุที่กระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หรือมีกฎหมายฉบับใด ๆ มารองรับ
จอมพลถนอม กิตติขจร ได้รวบอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียว ท่ามกลางความไม่พอใจของนิสิต นักศึกษาและประชาชนโดยทั่วไป ที่ไม่มีรัฐธรรมนูญการปกครองอย่างถาวรมาตั้งแต่รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2501 (สมัยจอมพลสฤษดิ์) แล้ว ซึ่งกว่าที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2511 ที่ถูกยกเลิกไปในการปฏิวัติครั้งนี้ก็ต้องใช้เวลาร่างนานถึง 10 ปี ประกอบกับเหตุการทุจริตต่าง ๆ ในรัฐบาล ก็กลายเป็นสาเหตุให้เกิด เหตุการณ์ 14 ตุลา ในอีก 2 ปี ต่อมา
หลังจากการปฏิวัติไม่นาน อุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส.จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยบุญเกิด หิรัญคำ ส.ส.จังหวัดชัยภูมิ และอนันต์ ภักดิ์ประไพ ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน ถือเป็นการท้าทายผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา การตีความของศาลทำให้ทั้งสามคนตกเป็นจำเลยและถูกสั่งให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี อย่างไรก็ตาม ส.ส. ทั้งสามคนถูกปล่อยตัวหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ในสมัยรัฐบาลที่มีสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี[5][6]
สภาบริหารคณะปฏิวัติ
[แก้]สภาบริหารคณะปฏิวัติ เป็นสภาที่ตั้งขึ้นตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 34 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2514 หลังจอมพล ถนอม กิตติขจรยึดอำนาจตัวเอง โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้ได้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีเป็นของสภาบริหารคณะปฏิวัติ
ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 34 ได้กำหนดให้บุคคลเป็นสมาชิกสภาบริหารคณะปฏิวัติทั้งสิ้น 16 คนดังนี้
- ประธานสภา
- จอมพล ถนอม กิตติขจร
- รองประธานสภา
- พลเอก ประภาส จารุเสถียร
- สมาชิกสภา
- พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์
- นายพจน์ สารสิน
- นายกมล วรรณประภา
- พลเอก กฤษณ์ สีวะรา
- พลเอก สุรกิจ มัยลาภ
- นายสมภพ โหตระกิตย์
สภาบริหารคณะปฏิวัติได้สิ้นสุดลงภายหลังการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 และประกาศแต่งตั้ง สภานิติบัญญัติ พ.ศ. 2515
ดูเพิ่ม
[แก้]- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
- สภาบริหารคณะปฏิวัติ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑ (ยึดอำนาจการปกครอง)
- ↑ เริงศักดิ์ กำธร. กินอยู่เรียบง่ายสบายแบบชาวบ้าน ชวน หลีกภัย ลูกแม่ค้าขายพุงปลา. กรุงเทพฯ : เฟื่องอักษร, พฤษภาคม 2545. 168 หน้า. ISBN 974-87151-6-7
- ↑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒
- ↑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙ (มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พุทธศักราช ๒๕๑๑ และห้ามตั้งพรรคการเมืองขึ้น)
- ↑ 131010 ThaiPBS สัจจะวิถี 40ปี 14ตุลา E03 (1/2)
- ↑ 15 ย้อนรอยประวัติศาสตร์รัฐประหารไทย 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม ปฏิวัติตัวเอง