ข้ามไปเนื้อหา

ภาษาชวา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาชวา
basa Jawa
ꦧꦱꦗꦮ
بَاسَا جَاوَا
คำว่า บาซา ("ภาษา") ในอักษรชวา
ออกเสียง[bɔsɔ d͡ʒɔwɔ]
ประเทศที่มีการพูดอินโดนีเซีย
ภูมิภาคเกาะชวา
ชาติพันธุ์
จำนวนผู้พูด82 ล้านคน  (2550)[1]
ตระกูลภาษา
รูปแบบก่อนหน้า
ภาษาชวาเก่า
  • ภาษาชวากลาง
    • ภาษาชวา
รูปแบบมาตรฐาน
กาวี
(รูปแบบมาตรฐานแรก)
ชวาแบบซูราการ์ตา
(รูปแบบมาตรฐานปัจจุบัน)
ภาษาถิ่นภาษาถิ่น
ระบบการเขียนอักษรละติน
อักษรชวา
อักษรเปโกน
สถานภาพทางการ
ภาษาทางการเขตพิเศษยกยาการ์ตา[2]
รหัสภาษา
ISO 639-1jv
ISO 639-2jav
ISO 639-3มีหลากหลาย:
jav – ชวา
jvn – ภาษาชวาแบบซูรินาม
jas – ภาษาชวาแบบนิวแคลิโดเนีย
osi – ภาษาถิ่นโอซิง
tes – ภาษาถิ่นเติงเกอร์
kaw – ภาษากาวี
Linguasphere31-MFM-a
เขียวเข้ม: บริเวณที่ภาษาชวาเป็นภาษาของชนส่วนใหญ่, เขียวอ่อน: บริเวณที่ภาษาชวาเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อย
บทความนี้มีสัญลักษณ์สัทอักษรสากล หากระบบของคุณไม่รองรับการแสดงผลที่ถูกต้อง คุณอาจเห็นปรัศนี กล่อง หรือสัญลักษณ์อย่างอื่นแทนที่อักขระยูนิโคด
ผู้พูดภาษาชวาสองคน บันทึกในประเทศอินโดนีเซีย

ภาษาชวา (ชวา: basa Jawa, ꦧꦱꦗꦮ, بَاسَا جَاوَا, ออกเสียง: [bɔsɔ d͡ʒɔwɔ]) เป็นภาษาของชาวชวาในภาคกลางและภาคตะวันออกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีผู้พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่มากกว่า 98 ล้านคน[3] (มากกว่าร้อยละ 42 ของประชากรทั้งประเทศ)

ภาษาชวาเป็นภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนที่มีจำนวนผู้พูดเป็นภาษาแม่มากที่สุด โดยมีภาษาถิ่นหลายภาษาและมีทำเนียบภาษาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนจำนวนหนึ่ง[4] ญาติที่ใกล้ชิดกับภาษานี้ที่สุดคือภาษาซุนดา, ภาษามาดูรา และภาษาบาหลี ผู้พูดภาษาชวาส่วนใหญ่พูดภาษาอินโดนีเซียในสถานการณ์ทางการและเพื่อการค้า รวมทั้งเพื่อสื่อสารกับชาวอินโดนีเซียที่ไม่พูดภาษาชวา

นอกจากนี้ยังมีผู้พูดภาษาชวาในประเทศมาเลเซีย (โดยเฉพาะแถบชายฝั่งตะวันตกในรัฐเซอลาโงร์และรัฐยะโฮร์) และสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีผู้พูดในชุมชนผู้สืบเชื้อสายชวาในประเทศซูรินาม, ศรีลังกา และนิวแคลิโดเนีย[5]

นอกจากภาษาอินโดนีเซียแล้ว ภาษาชวายังเป็นภาษาทางการในเขตพิเศษยกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย[2]

การจัดอันดับ

[แก้]

ภาษาชวาเป็นส่วนหนึ่งของสาขามลายู-พอลินีเชียในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน แม้ว่าความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับภาษากลุ่มมลายู-พอลินีเชียอื่น ๆ ยากที่จะระบุได้ Isidore Dyen ใช้กระบวนการทางศัพทสถิติศาสตร์ในการจัดภาษาชวาเป็นส่วนหนึ่งของ "Javo-Sumatra Hesion" ซึ่งรวมภาษาซุนดาและกลุ่มภาษา "มาเลย์อิก"[a][6][7] นักภาษาศาสตร์ Berndt Nothofer ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่พยายามสร้างกลุ่มภาษาใหม่โดยใช้ภาษาเพียงสี่ภาษาที่มีการรับรองดีที่สุดในขณะนั้น (ชวา ซุนดา มาดูรา และมลายู) ก็เรียกกลุ่มนี้เป็น "มลายู-ชวา"[8]

กลุ่มภาษามลายู-ชวาถูกนักภาษาศาสตร์หลายคนวิจารณ์และปฏิเสธ[9][10] Alexander Adelaar ไม่รวมภาษาชวาในการจัดกลุ่มมลายู-ซุมบาวาที่เขาเสนอ (ซึ่งรวมกลุ่มภาษามาเลย์อิก ซุนดา และมาดูรา)[10][11] รอเบิร์ต บลัสต์ก็ไม่รวมภาษาชวาในกลุ่มย่อยเกรตเตอร์บอร์เนียวเหนือ ซึ่งเขาเสนอเป็นทางเลือกหนึ่งของการจัดกลุ่มมลายู-ซุมบาวา อย่างไรก็ตาม บลัสต์ยังแสดงถึงความเป็นไปได้ที่กลุ่มภาษาเกรตเตอร์บอร์เนียวเหนือมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับภาษากลุ่มอินโดนีเซียตะวันตกอื่น ๆ อีกหลายภาษา ซึ่งรวมถึงภาษาชวาด้วย[12] ข้อเสนอแนะของบลัสต์ยังได้รับการอธิบายเพิ่มเติมจากอเล็กซานเดอร์ สมิธที่รวมภาษาชวาเข้าในกลุ่มอินโดนีเซียตะวันตก (ซึ่งอยู่ในกลุ่มภาษาเกรตเตอร์บอร์เนียวเหนือและกลุ่มย่อยอื่น ๆ) ซึ่งสมิธถือเป็นหนึ่งในสายหลักของมลายู-พอลินีเชีย[13]

ประวัติ

[แก้]

โดยทั่วไป ประวัติภาษาชวาแบ่งออกเป็นสองช่วง: 1) ชวาโบราณ และ 2) ชวาใหม่[11][14]

ภาษาชวาโบราณ

[แก้]

หลักฐานการเขียนในเกาะชวาย้อนหลังไปได้ถึงยุคของจารึกภาษาสันสกฤต จารึกตรุมเนคระ ใน พ.ศ. 993 ส่วนการเขียนด้วยภาษาชวาที่เก่าที่สุดคือจารึกสุกภูมีซึ่งระบุวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1346 จารึกนี้พบที่เกอดีรีในชวาตะวันออกและเป็นสำเนาของจารึกต้นฉบับที่น่าจะมีอายุ 120 ปีก่อนหน้านั้น แต่หลักฐานเหลือเพียงจารึกที่เป็นสำเนาเท่านั้น เนื้อหากล่าวถึงการสร้างเขื่อนใกล้กับแม่น้ำสรินยังในปัจจุบัน จารึกนี้เป็นจารึกรุ่นสุดท้ายที่ใช้อักษรปัลลวะ จารึกรุ่นต่อมาเริ่มใช้อักษรชวา

ในพุทธศตวรรษที่ 13–14 เป็นยุคที่เริ่มมีวรรณคดีพื้นบ้านในภาษาชวา เช่น สัง ฮยัง กะมาฮะยานีกัน ที่ได้รับมาจากพุทธศาสนา และ กากาวัน รามายานา ที่มาจากรามายณะฉบับภาษาสันสกฤต แม้ว่าภาษาชวาจะใช้เป็นภาษาเขียนทีหลังภาษามลายู แต่วรรณคดีภาษาชวายังได้รับการสืบทอดจนถึงปัจจุบัน เช่นวรรณคดีที่ได้รับมาจากรามายณะและมหาภารตะยังได้รับการศึกษาจนถึงทุกวันนี้

การแพร่กระจายของวัฒนธรรมชวารวมทั้งอักษรชวาและภาษาชวาเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1836 ซึ่งเกิดจากการขยายตัวไปทางตะวันออกของราชอาณาจักรมัชปาหิตซึ่งเป็นอาณาจักรที่นับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ไปสู่เกาะมาดูราและเกาะบาหลี ภาษาชวาแพร่ไปถึงเกาะบาหลีเมื่อ พ.ศ. 1906 และมีอิทธพลอย่างลึกซึ้ง โดยภาษาชวาเข้ามาแทนที่ภาษาบาหลีในฐานะภาษาทางการปกครองและวรรณคดี ชาวบาหลีรักษาวรรณคดีเก่าที่เป็นภาษาชวาไว้มาก และไม่มีการใช้ภาษาบาหลีเป็นภาษาเขียนจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24

ภาษามาดูราเขียนด้วยอักษรชวา

ภาษาชวายุคกลาง

[แก้]

ในยุคของราชอาณาจักรมัชปาหิต ได้เกิดภาษาใหม่ขึ้นคือภาษาชวายุคกลางที่อยู่ระหว่างภาษาชวาโบราณและภาษาชวาสมัยใหม่ จริง ๆ แล้ว ภาษาชวายุคกลางมีความคล้ายคลึงกับภาษาชวาสมัยใหม่จนผู้พูดภาษาชวาสมัยใหม่ที่ศึกษาวรรณคดีสามารถเข้าใจได้ ราชอาณาจักรมัชปาหิตเสื่อมลงเนื่องจากการรุกรานของต่างชาติและอิทธิพลของศาสนาอิสลาม และการคุกคามของสุลต่านแห่งเดอมักที่อยู่ทางชายฝั่งด้านเหนือของเกาะชวา ราชอาณาจักรมัชปาหิตสิ้นอำนาจลงเมื่อ พ.ศ. 2021

ภาษาชวาใหม่

[แก้]

ภาษาชวาสมัยใหม่เริ่มปรากฏเมื่อพุทธศตวรรษที่ 21 พร้อม ๆ กับการเข้ามามีอิทธิพลของศาสนาอิสลาม และการเกิดรัฐสุลต่านมะตะรัม รัฐนี้เป็นรัฐอิสลามที่สืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมจากยุคราชอาณาจักรมัชปาหิต วัฒนธรรมชวาแพร่หลายไปทางตะวันตก เมื่อรัฐมะตะรัมพยายามแพร่อิทธิพลไปยังบริเวณของผู้พูดภาษาซุนดาทางตะวันตกของเกาะชวา ทำให้ภาษาชวากลายเป็นภาษาหลักในบริเวณนั้น เช่นเดียวกับภาษาบาหลี ไม่มีการใช้ภาษาซุนดาเป็นภาษาเขียนจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 และได้รับอิทธิพลจากภาษาชวามาก คำศัพท์ร้อยละ 40 ในภาษาซุนดาได้มาจากภาษาชวา

แม้ว่าจะเป็นจักรวรรดิอิสลาม แต่ราชอาณาจักรมะตะรัมก็ยังรักษาหน่วยเดิมที่มาจากวัฒนธรรมเก่าไว้และพยายามรวมเข้ากับศาสนาใหม่ จึงเป็นเหตุผลที่ยังคงมีการใช้อักษรชวาอยู่ ในขณะที่อักษรดั้งเดิมของภาษามลายูเลิกใช้ไปตั้งแต่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม โดยหันไปใช้อักษรที่มาจากอักษรอาหรับแทน ในยุคที่ศาสนาอิสลามกำลังรุ่งเรืองราวพุทธศตวรรษที่ 21 ได้เกิดภาษาชวาใหม่ขึ้น มีเอกสารทางศาสนาอิสลามฉบับแรก ๆ ที่เขียนด้วยภาษาชวาใหม่ ซึ่งมีคำศัพท์และสำนวนที่ยืมมาจากภาษาอาหรับมาก ต่อมาเมื่อได้รับอิทธิพลจากภาษาดัตช์และภาษาอินโดนีเซีย ทำให้ภาษาชวาพยายามปรับรูปแบบให้ง่ายขึ้น และมีคำยืมจากต่างชาติมากขึ้น

ภาษาชวาสมัยใหม่

[แก้]

นักวิชาการบางคนแยกภาษาชวาที่ใช้พูดตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 25 ว่าเป็นภาษาชวาสมัยใหม่ แต่ก็ยังคงถือว่าเป็นภาษาเดียวกับภาษาชวาใหม่

ภาษาชวาในปัจจุบัน

[แก้]

ภาษาชวาไม่ใช่ภาษาประจำชาติโดยมีสถานะเป็นแค่ภาษาประจำถิ่นในจังหวัดที่มีชาวชวาอยู่เป็นจำนวนมาก มีการสอนภาษาชวาในโรงเรียนและมีการใช้ในสื่อต่าง ๆ ไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันเป็นภาษาชวา แต่มีนิตยสารภาษาชวา ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นของชวาตะวันออกออกอากาศเป็นภาษาชวาด้วยภาษาถิ่นชวากลางและภาษามาดูราด้วย ใน พ.ศ. 2548 มีการออกนิตยสารภาษาชวา Damar Jati ในจาการ์ตา

การกระจายตามเขตภูมิศาสตร์

[แก้]
ภาษาที่ใช้พูดในเกาะชวา

ภาษาชวาเป็นภาษาที่ใช้พูดทั่วอินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนเธอร์แลนด์ ซูรินาม นิวแคลิโดเนีย และประเทศอื่น ๆ ชุมชนที่ใหญ่ที่สุดของผู้พูดภาษานี้ อยู่ใน 6 จังหวัดบนเกาะชวา และจังหวัดลัมปุงบนเกาะสุมาตรา จากข้อมูล พ.ศ. 2523 ชาวอินโดนีเซียร้อยละ 43 ใช้ภาษาชวาในชีวิตประจำวัน โดยมีผู้พูดภาษาชวาได้ดีมากกว่า 60 ล้านคน ในแต่ละจังหวัดของอินโดนีเซียมีผู้พูดภาษาชวาได้ดีอย่างน้อยร้อยละ 1

ในชวาตะวันออก มีผู้พูดภาษาชวาในชีวิตประจำวันร้อยละ 74.5, ภาษามาดูราร้อยละ 23 และภาษาอินโดนีเซียร้อยละ 2.2 ในจังหวัดลัมปุง มีผู้พูดภาษาชวาในชีวิตประจำวันร้อยละ 62.4, ภาษาลัมปุงร้อยละ 16.4, ภาษาซุนดาร้อยละ 10.5 และภาษาอินโดนีเซียร้อยละ 9.4 ส่วนในจาการ์ตา มีจำนวนผู้พูดภาษาชวาเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่า ในเวลา 25 ปี แต่ในอาเจะฮ์กลับลดจำนวนลง ในบันเติน ชวาตะวันตก ผู้สืบทอดมาจากรัฐสุลต่านมะตะรัมในชวากลาง ยังใช้รูปแบบโบราณของภาษาชวา มีผู้พูดภาษาซุนดาและภาษาอินโดนีเซียตามแนวชายแดนติดกับจาการ์ตา

จังหวัดชวาตะวันออกยังเป็นบ้านเกิดของผู้พูดภาษามาดูรา แต่ชาวมาดูราส่วนใหญ่พูดภาษาชวาได้ด้วย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา มีการเขียนภาษามาดูราด้วยอักษรชวา ในลัมปุง มีชนพื้นเมืองที่พูดภาษาลัมปุงเพียงร้อยละ 15 ที่เหลือเป็นผู้อพยพมาจากส่วนอื่น ๆ ของอินโดนีเซีย ซึ่งผู้อพยพเข้ามาส่วนใหญ่เป็นผู้พูดภาษาชวา ในซูรินามซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ในอเมริกาใต้ มีผู้ที่เป็นลูกหลานของชาวชวาและยังพูดภาษาชวาอยู่ราว 75,000 คน

สัทวิทยา

[แก้]

หน่วยเสียงภาษาชวามาตรฐานสมัยใหม่มีดังนี้[15][16]

สระ

[แก้]
หน้า กลาง หลัง
ปิด i     u
กึ่งปิด e ə o
กึ่งเปิด (ɛ)   (ɔ)
เปิด   a  

ในพยางค์ปิด สระ /i u e o/ ออกเสียงเป็น ʊ ɛ ɔ] ตามลำดับ[15][17] ในพยางค์เปิด สระ /e o/ ยังออกเสียงเป็น ɔ] เมื่อสระที่ตามมาคือสระ /i u/ ในพยางค์เปิด ไม่เช่นนั้นก็จะออกเสียงเป็นสระ /ə/ หรือออกเสียงเหมือนกัน (/e...e/, /o...o/) ในภาษาถิ่นซูราการ์ตาซึ่งเป็นมาตรฐาน สระ /a/ จะออกเสียงเป็น [ɔ] เมื่ออยู่ในพยางค์เปิดท้ายคำและเมื่ออยู่ในพยางค์เปิดที่เป็นพยางค์รองสุดท้ายของคำ ก่อนหน้า [ɔ] ดังกล่าว

พยัญชนะ

[แก้]
ริมฝีปาก ฟัน/
ปุ่มเหงือก
ปลายลิ้นม้วน เพดานแข็ง เพดานอ่อน เส้นเสียง
เสียงนาสิก m n ɲ ŋ
เสียงหยุด/
เสียงกักเสียดแทรก
เสียงพูดเกร็ง p ʈ t͡ʃ k ʔ
เสียงพูดคลาย d̪̥ ɖ̥ d̥͡ʒ̥ ɡ̥
เสียงเสียดแทรก s h
เสียงเปิด ธรรมดา j w
ข้างลิ้น l
เสียงโรทิก r

หน่วยเสียงพยัญชนะ "ก้อง" ในภาษาชวาที่จริงแล้วไม่ใช่เสียงก้อง แต่เป็นเสียงไม่ก้องที่มีเสียงพูดลมแทรกอยู่ในสระที่ตามมา[15] นอกจากภาษามาดูราแล้ว ภาษาชวาเป็นเพียงภาษาเดียวในอินโดนีเซียตะวันตกที่มีการจำแนกความต่างระหว่างหน่วยเสียงพยัญชนะฟันกับหน่วยเสียงพยัญชนะปลายลิ้นม้วน[15]

ไวยากรณ์

[แก้]

การเรียงประโยค

[แก้]

ภาษาชวาสมัยใหม่เรียงประโยคแบบ ประธาน-กริยา-กรรม ในขณะที่ภาษาชวาโบราณเรียงประโยคแบบ กริยา-ประธาน-กรรม หรือ กริยา-กรรม-ประธาน ตัวอย่างเช่น ประโยค "เขาเข้ามาในพระราชวัง" เขียนได้ดังนี้

  • ชวาโบราณ: Těka (กริยา) ta sira (ประธาน) ri ng (คำชี้เฉพาะ) kadhatwan (กรรม)
  • ชวาสมัยใหม่: Dheweke (ประธาน) těka (กริยา) neng kĕdhaton (กรรม)

คำกริยา

[แก้]

ไม่มีการผันคำกริยาตามบุคคลหรือจำนวน ไม่มีการแสดงกาลแต่ใช้การเติมคำช่วย เช่น "เมื่อวานนี้" "แล้ว" แบบเดียวกับภาษาไทย ระบบของคำกริยาในการแสดงความแตกต่างของประธานและกรรมค่อนข้างซับซ้อน

วงศัพท์

[แก้]

ภาษาชวามีศัพท์มากมายที่เป็นคำยืมและคำดั้งเดิมของภาษาตระกูลออสโตรนีเซีย ภาษาสันสกฤตมีอิทธิพลต่อภาษาชวามาก คำยืมจากภาษาสันสกฤตมักเป็นคำที่ใช้ในวรรณคดี และยังคงใช้อยู่ คำยืมจากภาษาอื่น ๆ มีภาษาอาหรับ ภาษาดัตช์ และภาษามลายู

ภาษาชวามีคำยืมจากภาษาอาหรับน้อยกว่าภาษามลายู โดยมากเป็นคำที่ใช้ในศาสนาอิสลาม เช่น pikir ("คิด" มาจากภาษาอาหรับ fikr), badan ("ร่างกาย"), mripat ("ตา" คาดว่ามาจากภาษาอาหรับ ma'rifah หมายถึง "ความรู้" หรือ "วิสัยทัศน์") คำยืมจากภาษาอาหรับนี้มีศัพท์พื้นเมืองและคำยืมจากภาษาสันสกฤตที่มีความหมายเหมือนกันใช้อยู่ด้วย เช่น pikir = galih, idhĕp (ออสโตรนีเซีย) และ manah, cipta หรือ cita (จากภาษาสันสกฤต); badan = awak (ออสโตรนีเซีย) และ slira, sarira, หรือ angga (จากภาษาสันสกฤต); และ mripat = mata (ออสโตรนีเซีย) และ soca หรือ netra (จากภาษาสันสกฤต)

ต่อไปนี้เป็นตารางเปรียบเทียบศัพท์จากภาษาต่าง ๆ

ภาษาชวา ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาดัตช์ ภาษาไทย
pit sepeda fiets จักรยาน
pit montor sepeda motor motorfiets จักรยานยนต์
sepur kereta api spoor คือราง (รถไฟ) รถไฟ

ทำเนียบภาษา

[แก้]
กุลสตรี (ซ้าย) พูดกับบริวารด้วยคำพูดแบบหนึ่ง และพวกเขาจะตอบอีกรูปแบบหนึ่ง (ภาพถ่ายภรรยาและบริวารของศิลปินราเดิน ซาเละฮ์, ปัตตาเวียของอาณานิคม ค.ศ. 1860–1872)

การพูดภาษาชวาแตกต่างไปขึ้นกับบริบททางสังคมทำให้มีการแบ่งชั้นของภาษา แต่ละชั้นมีศัพท์ กฎทางไวยากรณ์ และฉันทลักษณ์เป็นของตนเอง การแบ่งชั้นนี้ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของภาษาชวา เพราะพบในภาษาในเอเชียหลายภาษา เช่น ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น แต่ละชั้นของภาษาชวามีชื่อเรียกดังนี้

  • โงโก (ꦔꦺꦴꦏꦺꦴ): รูปแบบพูดอย่างไม่เป็นทางการระหว่างเพื่อนและญาติสนิท และใช้โดยคนที่มีฐานะสูงกว่าเมื่อพูดกับคนที่มีฐานะต่ำกว่า เช่น ผู้ใหญ่ใช้กับเด็ก
  • มัดยา (ꦩꦢꦾ): รูปแบบกลาง ๆ ระหว่างโงโกกับกรามา สำหรับในสถานะที่ไม่ต้องการทั้งความเป็นทางการและไม่เป็นทางการ คำนี้มาจากภาษาสันสกฤตว่า มัธยะ ("กลาง")[18]
  • กรามา (ꦏꦿꦩ): รูปแบบที่สุภาพและเป็นทางการ ใช้กับคนที่อยู่ในสถานะเดียวกัน เป็นรูปแบบที่ใช้พูดในที่สาธารณะ การประกาศต่าง ๆ ใช้โดยคนที่มีฐานะต่ำกว่าเมื่อพูดกับคนที่มีฐานะสูงกว่า เช่น เด็กพูดกับผู้ใหญ่ คำนี้มาจากภาษาสันสกฤตว่า กรมา ("ตามลำดับ")[18]

สถานะในสังคมที่มีผลต่อรูปแบบของภาษาชวากำหนดโดยอายุหรือตำแหน่งในสังคม การเลือกใช้ภาษาระดับใดนั้นต้องอาศัยความรอบรู้ในวัฒนธรรมชวาและเป็นสิ่งที่ยากสำหรับการเรียนภาษาชวาของชาวต่างชาติ

ภาษาถิ่นของภาษาชวาสมัยใหม่

[แก้]

ภาษาถิ่นของภาษาชวาแบ่งได้เป็นสามกลุ่มตามบริเวณย่อยที่มีผู้พูดภาษาเหล่านี้อาศัยอยู่ คือ ภาษาชวากลาง ภาษาชวาตะวันออก และภาษาชวาตะวันตก ความแตกต่างระหว่างภาษาถิ่นอยู่ที่การออกเสียงและคำศัพท์

  • ภาษาชวากลางเป็นภาษาถิ่นที่ใช้พูดในซูราการ์ตาและยกยาการ์ตา ถือเป็นภาษาถิ่นมาตรฐานของภาษานี้ มีผู้พูดกระจายตั้งแต่เหนือถึงใต้ของจังหวัดชวากลาง
  • ภาษาชวาตะวันตกใช้พูดทางตะวันตกของจังหวัดชวากลางและตลอดทั้งจังหวัดชวาตะวันตก โดยเฉพาะชายฝั่งทางตอนเหนือ ได้รับอิทธิพลจากภาษาซุนดา และยังมีศัพท์เก่า ๆ อยู่มาก
  • ภาษาชวาตะวันออกเริ่มใช้พูดจากฝั่งตะวันออกของกาลี บรันตัส ในเกอร์โตโซโนไปจนถึงบาญูวังกี ครอบคลุมบริเวณส่วนใหญ่ของจังหวัดชวาตะวันออก รวมเกาะมาดูราด้วย ภาษาถิ่นนี้ได้รับอิทธิพลจากภาษามาดูรา ภาษาถิ่นตะวันออกสุดได้รับอิทธิพลจากภาษาบาหลี

การออกเสียง

[แก้]

ชาวชวาส่วนใหญ่ยกเว้นในชวาตะวันตก ยอมรับการออกเสียง a เป็น /ออ/ เช่น apa ในภาษาชวาตะวันตกออกเสียงเป็นอาปา ส่วนภาษาชวากลางและภาษาชวาตะวันออกออกเสียงเป็นออปอ

เมื่อมีหน่วยเสียงที่มีโครงสร้างเป็นสระ-พยัญชนะ-สระ โดยสระทั้งสองเสียงเป็นเสียงเดียวกัน ภาษาชวางกลางลดเสียงสระตัวท้าย i เป็น e และ u เป็น o ภาษาชวาตะวันออกลดทั้งสองเสียงส่วนภาษาชวาตะวันตกคงเสียงเดิมไว้ เช่น cilik ภาษาชวากลางเป็น จิเละ ภาษาชวาตะวันออกเป็น เจะเละ ภาษาชวาตะวันตกเป็น จิลิก

วงศัพท์

[แก้]

ภาษาชวามีคำศัพท์ที่ต่างกันไปในแต่ละภาษาถิ่น เช่นคำว่าคุณ ชวากลางเป็น kowe ภาษาชวาตะวันออกเป็น kon ภาษาชวาตะวันตกเป็น rika

อักขรวิธี

[แก้]
ป้ายสองภาษา (โปรตุเกสและชวา) ในยกยาการ์ตา

ภาษาชวามีรูปเขียนแบบดั้งเดิมด้วยอักษรชวา อักษรชวาและอักษรบาหลีที่มีความเกี่ยวข้องสืบต้นตอจากอักษรกวิเก่า ซึ่งเป็นอักษรพราหมีที่เข้าสู่ชวาพร้อมกับศาสนาฮินดูและพุทธ นอกจากนี้ ยังสามารถเขียนด้วยอักษรอาหรับ (รู้จักกันในชื่ออักษรเปโกน) และปัจจุบันเขียนด้วยอักษรละตินแทนอักษรชวา ด้วยจุดประสงค์ทางการใช้งาน โดยอักขรวิธีละตินอิงจากอักขรวิธีดัตช์ที่นำเข้าใน พ.ศ. 2469 แล้วปรับปรุงใน พ.ศ. 2515–2516 รูปแบบอักษรละตินในปัจจุบันมีดังนี้:

ตัวพิมพ์ใหญ่
A Å B C D Dh E É È F G H I J K L M N Ng Ny O P Q R S T Th U V W X Y Z
ตัวพิมพ์เล็ก
a å b c d dh e é è f g h i j k l m n ng ny o p q r s t th u v w x y z
สัทอักษรสากล
a ɔ d̪̥ ɖ̥ ə, e e ɛ f h i dʒ̊ k l m n ŋ ɲ ɔ, o p q r s ʈ u v w x j z

อักษรที่เป็นตัวเอียงคืออักษรที่ใช้ในคำยืมจากภาษาอาหรับและภาษายุโรป

อักษรชวา:

พยัญชนะฐาน
ha na ca ra ka da ta sa wa la pa dha ja ya nya ma ga ba tha nga

ตัวอย่าง

[แก้]

ตัวอย่างข้อความภาษาชวามาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 1

อักษรละติน:[19] "Sabén uwong kalairaké kanthi mardikå lan darbé martabat lan hak-hak kang pådhå. Kabèh pinaringan akal lan kalbu sartå kaajab pasrawungan anggoné mêmitran siji lan sijiné kanthi jiwå sumadulur."
จารากัน (อักษรดั้งเดิม)[20] "꧋ꦱꦧꦺꦤ꧀ꦲꦸꦮꦺꦴꦁꦚꦭꦲꦶꦫꦏꦺꦏꦤ꧀ꦛꦶꦩꦂꦢꦶꦏꦭꦤ꧀ꦢꦂꦧꦺꦩꦂꦠꦧꦠ꧀ꦭꦤ꧀ꦲꦏ꧀ꦲꦏ꧀ꦏꦁꦥꦝ꧉ ꦏꦧꦼꦃꦥꦶꦤꦫꦶꦔꦤ꧀ꦲꦏꦭ꧀ꦭꦤ꧀ꦏꦭ꧀ꦧꦸꦱꦂꦠꦏꦲꦗꦧ꧀ꦥꦱꦿꦮꦸꦔꦤ꧀ꦲꦁꦒꦺꦴꦤꦺꦩꦼꦩꦶꦠꦿꦤ꧀ꦱꦶꦗꦶꦭꦤ꧀ꦱꦶꦗꦶꦤꦺꦏꦤ꧀ꦛꦶꦗꦶꦮꦱꦸꦩꦢꦸꦭꦸꦂ꧉"
อักษรเปโกน «سابَين أورَوڠ كالائيراكَي كانڟي ألووَار لان داربَي مرتبة لان حق۲ كاڠ ڤاڎا. كابَيه ڤيناريڠان أكال لان كالبو سارتا كاأجاب ڤاسراوُونڠان أڠڮَونَي مَيميتران سيجي لان كانڟي جيوا سومادولور.»
ตัวอย่างเสียง:
แปลไทย:[21] "มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรี และสิทธิ ต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ"

หมายเหตุ

[แก้]
  1. "มาเลย์อิก"ของ Dyen แตกต่างจาก"มาเลย์อิก"ตามแนวคิดสมัยใหม่ (เสนอโดย Alexander Adelaar) มาเลย์อิกของ Dyen รวมภาษามาดูรา อาเจะฮ์ และภาษากลุ่มมาลายา (=ปัจจุบันคือมาเลย์อิก)

อ้างอิง

[แก้]
  1. Mikael Parkvall, "Världens 100 största språk 2007" (The World's 100 Largest Languages in 2007), in Nationalencyklopedin.
  2. 2.0 2.1 "Peraturan Daerah Daerah Istimewa Yogyakarta Nomor 2 Tahun 2021 tentang Pemeliharaan dan Pengembangan Bahasa, Sastra, dan Aksara Jawa".
  3. Kewarganegaraan, Suku Bangsa, Agama dan Bahasa Sehari-hari Penduduk Indonesia - Hasil Sensus Penduduk 2010. Badan Pusat Statistik. 2011. ISBN 978-979-064-417-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-10.
  4. "Javanese language". britannica.com. Encyclopedia Britannica. 2010. สืบค้นเมื่อ 17 March 2021.
  5. Akhyari Hananto (December 8, 2017). "121 Years of Javanese People in New Caledonia". Seasia: Good News from Southeast Asia.
  6. Dyen 1965, p. 26.
  7. Nothofer 2009, p. 560.
  8. Nothofer 1975, p. 1.
  9. Blust 1981.
  10. 10.0 10.1 Adelaar 2005a, pp. 357, 385.
  11. 11.0 11.1 Ogloblin 2005, p. 590.
  12. Blust 2010, p. 97.
  13. Smith 2017, pp. 443, 453–454.
  14. Wedhawati et al. 2006, p. 1.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 Brown, Keith; Ogilvie, Sarah (2008). Concise encyclopedia of languages of the world. Elsevier. p. 560. ISBN 9780080877747. สืบค้นเมื่อ 2010-05-24. Madurese also possesses aspirated phonemes, including at least one aspirated retroflex phoneme.
  16. Suharno, Ignatius (1982). A Descriptive Study of Javanese. Canberra: ANU Asia-Pacific Linguistics / Pacific Linguistics Press. pp. 4–6. doi:10.15144/PL-D45. hdl:1885/145095.
  17. Perwitasari, Arum; Klamer, Marian; Witteman, Jurriaan; Schiller, Niels O. (2017). "Quality of Javanese and Sundanese Vowels". Journal of the Southeast Asian Linguistics Society. 10 (2): 1–9. hdl:10524/52406.
  18. 18.0 18.1 Wolff, John U.; Soepomo Poedjosoedarmo (1982). Communicative Codes in Central Java. Cornell Southeast Asia Program. p. 4. ISBN 0-87727-116-X.
  19. "OHCHR | Universal Declaration of Human Rights - Javanese". OHCHR (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-01-31.
  20. "Universal Declaration of Human Rights - Javanese (Javanese)". OHCHR (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-08. สืบค้นเมื่อ 2023-05-27.
  21. "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน". แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-09-17.

แหล่งข้อมูล

[แก้]

อ่านเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]