ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าซ็อนโจแห่งโชซ็อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าซ็อนโจ
พระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าซ็อนโจ
พระมหากษัตริย์แห่งโชซ็อน
ครองราชย์3 กรกฎาคม ค.ศ. 1567 – 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1608
รัชสมัย40 ปี 213 วัน
ราชาภิเษก3 กรกฎาคม ค.ศ. 1567
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้ามย็องจงแห่งโชซ็อน
รัชกาลถัดไปเจ้าชายควังแฮ
ผู้สำเร็จราชการเจ้าชายควังแฮ
(1592-1608)
พระราชสมภพ26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1552(1552-11-26)
Indalbang, โซล
สวรรคต16 มีนาคม ค.ศ. 1608(1608-03-16) (55 ปี)
พระราชบุตรเจ้าชายควังแฮ
พระบรมนามาภิไธย
ลี ยอน (이연,李蚣)
ราชวงศ์โชซ็อน
ราชสกุลลี
พระราชมารดาพระนางฮาดง บูแทบูอิน ตระกูลจอง
พระเจ้าซ็อนโจแห่งโชซ็อน
ฮันกึล
선조
ฮันจา
อาร์อาร์Seonjo
เอ็มอาร์Sŏn-jo
ชื่อเกิด
ฮันกึล
이연
ฮันจา
李蚣
อาร์อาร์I Yeon
เอ็มอาร์Yi Yŏn

พระเจ้าซ็อนโจ (เกาหลี: 선조 宣祖) เป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์โชซ็อนองค์ที่ 14 (พ.ศ. 2110 - พ.ศ. 2151) รัชสมัยของพระองค์เป็นเวลาที่วิกฤตที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีและมีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่าง ทั้งการรุกรานของญี่ปุ่นและการแบ่งฝ่ายของกลุ่มซานิมออกเป็นฝ่ายตะวันออก และฝ่ายตะวันตก ที่จะส่งผลต่อการเมืองอาณาจักรโชซ็อนไปอีกหลายร้อยปี แม้ว่าในสมัยของพระเจ้าซ็อนโจจะมีผู้มีความสามารถมากมาย เช่น ลีซุนชิน ลีฮวาง อีอี แต่ความแตกแยกก็ทำให้โชซ็อนต้องเผชิญกับศึกหนัก

องค์ชายฮาซง เป็นพระโอรสขององค์ชายทอกกึง ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าชุงจงกับพระสนมอันชางบิน เป็นองค์ชายธรรมดาที่ห่างไกลจากราชบัลลังก์และไม่มีขุนนางใดสนับสนุนให้พระองค์ขึ้นเสด็จครองราชย์ แต่ในพ.ศ. 2110 พระเจ้ามย็องจงเสด็จสวรรคตโดยที่ไม่มีทายาท บรรดาขุนนางจึงสรรหาพระราชวงศ์ที่พระเยาว์มาขึ้นครองราชย์ องค์ชายฮาซงจึงถูกเลือกและขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าซ็อนโจ และเลื่อนสถานะของพระบิดาและพระมารดาเป็นแทวอนกุนและแทกุนบูอิน

การแบ่งฝ่ายของกลุ่มซานิม

[แก้]

เช่นเดียวกับกษัตริย์เกาหลีองค์อื่น ในระยะแรกของรัชสมัยของพระเจ้าซ็อนโจเป็นกษัตริย์ที่ทุ่มเทเพื่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และพัฒนาประเทศ เพราะอาณาจักรโชซ็อนประสบปัญหาความอ่อนแอของการปกครองเนื่องจากเหตุการณ์ตั้งแต่สมัยเจ้าชายยอนซัน สมัยพระเจ้าจุงจงที่ทรงไม่มีอำนาจปกครอง การแก่งแย่งอำนาจของฝ่ายยุนใหญ่และยุนเล็ก จนถึงการปกครองที่ทุจริตของยุนวอนฮัง พระเจ้าซ็อนโจเปลี่ยนแปลงการสอบควากอ (จอหงวน) ใหม่โดยเพิ่มการสอบเกี่ยวกับรัฐศาสตร์การปกครองและประวัติศาสตร์เข้าไป ซึ่งแต่เดิมมีแต่การสอบปรัชญาขงจื้อและการแต่งกลอนเท่านั้น

เพื่อที่จะพัฒนาประเทศ พระเจ้าซ็อนโจรับเอาปราชญ์กลุ่มซานิมกลับเข้ามารับราชการ ยกย่องขุนนางซานิมเก่าที่เคยถูกลงโทษ เช่น โจกวางโจ และทำลายอำนาจของกลุ่มฮุงงู ในพ.ศ. 2118 ขุนนางซานิมสองคน คือ ชิมอึย-กยอม และคิมฮโยวอน แข่งขันกันเพื่อที่จะแย่งตำแหน่งจองนัง (ขั้น 4) สังกัดฝ่ายบุคคล (อีโจ) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่สูงนักแต่มีอำนาจสามารถแนะนำขุนนางให้ดำรงตำแหน่งต่างๆในซัมซา (ผู้ตรวจรวจการทั้งสาม ประกอบด้วย ซาฮองบู ซากันวาน และฮงมุนวาน) ได้ ชิมอึยกยอมเป็นพระญาติของมเหสี ส่วนคิมฮโยวอนเป็นศิษย์ของลีฮวาง ปราชญ์ขงจื้อชื่อดัง

ขุนนางฝ่ายซานิมจึงแตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่สนับสนุนชิมอึยกยอม เรียกว่า ฝ่ายตะวันตก (ซออิน) เพราะชิมอึยกยอมอาศัยทางตะวันตกของ ฮันซอง ประกอบด้วยขุนนางอาวุโส เพราะชิมอึยกยอมมีความเกี่ยวดองกับราชวงศ์ จึงมีขุนนางเก่าสนับสนุนมาก ออกไปทางอนุรักษนิยม ขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนคิมฮโยวอนเรียกว่าฝ่ายตะวันออก (ทงอิน) เพราะคิมฮโยวอนอาศัยอยู่ทางตะวันออกของฮันยาง คือพวกขุนนางอายุน้อย เพราะขุนนางรุ่นใหม่กำลังสนใจในปรัชญาแบบใหม่ของลีฮวาง มีความคิดแนวปฏิรูป

จนลีอี หัวหน้าขุนนางซานิมต้องมาไกล่เกลี่ยมิให้มีการแตกแยก โดยการส่งคิมฮโยวอนไปเมืองพูรยอง และส่งชิมอึยกยอมไปเมืองแคซอง เพื่อตัดปัญหา ให้ไปปกครองท้องถิ่นแทน แต่ฝ่ายทงอินกล่าวหาว่าลีอีเข้าข้างฝ่าซออิน เพราะส่งคิมฮโยวอนไปไกลทางเหนือ แต่ส่งชิมอึยกยอมไม่แค่เมืองแคซองใกล้ๆ ฝ่ายตะวันตกมีอำนาจขึ้นมาก่อนเพราะได้รับการสนับสนุนจากขุนนางอาวุโสและพระราชวงศ์ ขณะที่ฝ่ายตะวันออกเรียกร้องให้มีการปฏิรูปแต่ได้รับการปฏิเสธทุกครั้ง ในพ.ศ. 2126 ลีอี ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมกลาโหม เห็นว่าพวกแมนจูและญี่ปุ่นสะสมกำลังมากขึ้น โชซ็อนควรเตรียมรับมือให้พร้อมโดยการเพิ่มกำลังกองทัพ แต่ทั้งสองฝ่ายและพระเจ้าซ็อนโจไม่มีใครเห็นด้วยเลย เพราะเชื่อว่าบ้านเมืองจะสงบสุขตลอดไป แต่หารู้ไม่อีกไม่กี่ปีข้างหน้าโชซ็อนจะถูกทั้งญี่ปุ่นและแมนจูบดขยี้จนย่อยยับ ลีอีสิ้นชีวิตในพ.ศ. 2127

การรุกรานเกาหลีของญี่ปุ่น (พ.ศ. 2135-2141)

[แก้]

โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ รวบรวมประเทศญี่ปุ่นในยุคเซงโงกุได้สำเร็จ และมีความทะเยอทะยานที่จะพิชิตจีน จึงส่งทูตมาโชซ็อนเพื่อขอความร่วมมือในการบุกยึดจีนในพ.ศ. 2130 โดยผ่านทางตระกูลโซเจ้าครองเกาะซึชิมา ซึ่งเป็นทางเดียวที่โชซ็อนติดต่อกับญี่ปุ่น แต่เจ้าครองเกาะเห็นว่า โชซ็อนไม่มีวันจะเข้ากับญี่ปุ่นรุกรานจีน หากส่งสาสน์ไปจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการค้าที่เกาะซึชิมาพึงมี จึงเปลี่ยนแปลงเนื้อความในสารให้เป็นการทำสัมพันธไมตรีธรรมดา ใน พ.ศ. 2133 พระเจ้าซ็อนโจจึงส่งทูตไปขอบพระทัยโทโยโตมิที่เกียวโต แต่โทโยโตมิกำลังทำสงครามกับไดเมียวอื่นอยู่ ทำให้ทูตโชซ็อนต้องรออยู่หลายวัน และโทโยโตมิเข้าใจว่าทูตโชซ็อนมาส่งบรรณาการ จึงไม่ให้การต้องรับอย่างสมเกียรติเท่าที่ควร และเขียนสาสน์อย่างไม่เคารพพระเจ้าซ็อนโจ ให้ร่วมมือกันบุกยึดจีน

การกระทำของโทโยโตมิสร้างความแปลงประหลาดใจและความสงสัยให้กับโชซ็อนอย่างมาก และไม่เชื่อว่าญี่ปุ่นจะมีความสามารถทำอะไรจีนราชวงศ์หมิงได้ ทูตฝ่ายตะวันตกรายงานว่าโทโยโตมิสะสมกำลังกองทัพไว้ขนาดใหญ่มาก แต่ทูตฝ่ายตะวันออกกลับบอกว่ากองทัพนี้เอาไว้รบกับไดเมียวอื่นๆในญี่ปุ่น พระเจ้าซ็อนโจทรงเชื่อฝ่ายตะวันออก และทรงละเลยความเป็นไปได้ของภัยคุกคามจากญี่ปุ่น

เมื่อไม่ได้รับการตอบรับ ใน พ.ศ. 2134 โทโยโตมิจึงส่งสาสน์มาว่าจะยกทัพผ่านโชซ็อนไปจีน ทำให้ในที่สุดฝ่ายโชซ็อนจึงรู้ถึงสงครามที่กำลังจะเกิด จึงเร่งเตรียมกำลังทัพ แต่ไม่ทันเพราะปีถัดมา พ.ศ. 2135 โคะนิชิ ยุกินะกะ ยกทัพเรือบุกเผ่าเมืองท่าต่างๆทางตอนใต้และยกพลขึ้นบกได้ วันต่อมาคะโต คิโยะมะสะ ก็ตามมาเอาชนะแม่ทัพ ลีอิล ที่ซังจูและชุงจู และรุกคืบหาเมืองฮันซองอย่างรวดเร็ว

พระเจ้าซ็อนโจเมื่อกลับมาก็พบว่าวังของพระองค์เหลือแต่เถ้าถ่าน จึงสร้างพระราชวังใหม่ชื่อว่า พระราชวังต๊อกซู (ต๊อกซูกุง) ยูซอง-ลยอง เสนอว่าโชซ็อนควรจะรับปืนมาใช้ และปรับปรุงกองทัพรวมทั้งเกณฑ์ไพร่พลทุกชนชั้นตั้งแต่ยังบันถึงชอนมิน พ.ศ. 2140 การเจรจาระหว่างจีนและญี่ปุ่นไม่เป็นผล ญี่ปุ่นจึงบุกโชซ็อนอีกครั้งแต่ไม่ง่ายเหมือนคราวก่อน ยึดได้แต่แคว้นเคียงซังและจอลลาทางใต้ ญี่ปุ่นยังวางแผนกำจัดลีซุนชินโดยการหลอกว่าจะส่งทัพเรือมาบุกฮันซองทางทะเล แต่ลีซุนชินไม่เชื่อว่าจะมาได้เพราะผิดหลักยุทธศาสตร์ แต่พระเจ้าซ็อนโจทรงเห็นว่าลีซุนชินขัดพระราชโองการจึงรับสั่งให้จับเข้าคุก เมื่อไม่มีลีซุนชอนโชซ็อนจึงพ่ายแพ้ยับเยินที่ชิลชอน-นยาง จึงปล่อยตัวลีซุนชินและสามารถเอาชนะญี่ปุ่นที่เมียงนัง

ใน พ.ศ. 2141 โทโยโตมิเสียชีวิต ได้สั่งเสียให้ถอนทัพจากโชซ็อน ทัพญี่ปุ่นจึงถอยกลับ ก่อนกลับยังพ่ายแพ้โชซ็อนอีกที่โน-นยาง แต่ลีซุนชินเสียชีวิตในการรบ เป็นอันสิ้นสุดสงครามเจ็ดปี หรือสงครามอิมิจิน

การแบ่งฝ่ายของฝ่ายตะวันออก

[แก้]

สงครามอิมิจินได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพระเจ้าซ็อนโจละเลยหน้าที่ในฐานะผู้นำประเทศ เพราะขณะที่ขุนพลทั้งหลายต่อสู้กับญี่ปุ่นแต่หลบหนีไปจีน และที่กระทำกับลีซุนชินนั้นก็เป็นการขัดขวางความสำเร็จของโชซ็อน ทำให้นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าทรงเป็นหนึ่งในกษัตริย์เกาหลีที่อ่อนแอ

สำหรับสงครามการเมืองนั้น ฝ่ายตะวันออกมีชัย เพราะหลังจากผ่านสงครามมาทำให้ประเทศต้องการการเปลี่ยนแปลงปฏิรูป ซึ่งฝ่ายตะวันตกที่หัวโบราณไม่อาจจะแก้ไขปัญหาที่ประสบอยู่ได้ แต่ฝ่ายตะวันออกนั้นเร่งรัดการปฏิรูปจนยูซองนยองเสนอว่าไม่ควรจะปฏิรูปให้เร็วเกินไป ชะลอลงบ้าง เพราะยูซองนยองอาศัยอยู่ทางใต้ จึงเรียกฝ่ายสนับสนุนยูซองนยองว่าฝ่ายใต้ (นัมอิน) ส่วนที่เหลือเรียกว่าฝ่ายเหนือ (พุกอิน) และฝ่ายเหนือก็ยังแบ่งอีก เป็นฝ่ายเหนือใหญ่ (แทบุก) และฝ่ายเหนือเล็ก (โซบุก) เป็นการแบ่งฝ่ายอีกครั้ง ทำให้การเมืองโจซ็อนมีหลายพรรคหลายพวก ซึ่งจะขัดขวางความเจริญของประเทศไปอีกหลายร้อยปี

พระเจ้าซ็อนโจเหน็ดเหนื่อยหลังจากผ่านวิกฤตมามาก จึงมอบให้องค์ชายควางแฮว่าราชการแทน แต่เมื่อมเหสีอินมอกประสูติองค์ชายยอนชัง ก็เป็นเหตุให้ฝ่ายเหนือใหญ่และฝ่ายเหนือเล็กขัดแย้งกัน เพราะฝ่ายเหนือใหญ่สนับสนุนองค์ชาวควางแฮ และฝ่ายเหนือเล็กสนับสนุนองค์ชายยอนชัง

พระเจ้าซ็อนโจสวรรคตในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2151 โดยที่สถานการณ์ทางการเมืองยังคุกรุ่น องค์ชายควางแฮสืบบัลงก์ต่อจากพระองค์

พระนามเต็ม

[แก้]

พระเจ้าซ็อนโจ แทโจโซคยอง จองรยุน ริปกุ๊ก ซองด็อก ฮงรยอล จิซอง แดอึย คยอกชอล เฮอึน คยองมยอง ซินรยอก ฮงคง ยุนคอป ฮนอนมุน อึยมู ช็อนคเย ดันฮโย แห่งเกาหลี

พระบรมวงศานุวงศ์

[แก้]
  • พระราชบิดา: เจ้าชายท็อกฮึง แทวอนกุน
  • พระราชมารดา: พระนางฮาดง บูแทบูอิน ตระกูลจอง (하동부대부인 정씨)

พระมเหสี

พระสนม

  • พระสนมกงบิน ตระกูลคิม แห่งคิมแฮ (공빈 김씨)
  • พระสนมอินบิน ตระกูลคิม แห่งซูวอน (인빈 김씨)
  • พระสนมซุนบิน ตระกูลคิม (순빈 김씨)
  • พระสนมจองบิน ตระกูลมิน แห่งยอฮึง (정빈 민씨)
  • พระสนมจองบิน ตระกูลฮง แห่งนัมยาง (정빈 홍씨)
  • พระสนมอนบิน ตระกูลฮัน แห่งชองจู (온빈 한씨)
  • พระสนมควีอิน ตระกูลจอง แห่งยองอิล (귀인 정씨)
  • พระสนมซุกอึย ตระกูลจอง แห่งดงแร (숙의 정씨)
  • พระสนมโซวอน ตระกูลยุน (폐소원 윤씨) ภายหลังถูกถอดจากตำแหน่งพระสนม

พระราชโอรส

  • เจ้าชายย็องชัง อี อึย (영창대군 ,永昌大君 ,1606 - 1614) พระราชโอรสของสมเด็จพระราชินีอินม๊ก ตระกูลคิม แห่งยอนอัน
  • เจ้าชายอิมแฮ อี จิน (임해군 ,臨海君 ,1572 - 1609) พระราชโอรสของพระสนมกงบิน ตระกูลคิม แห่งกิมแฮ
  • เจ้าชายควังแฮ อี ฮน (광해군 ,光海君 ,1575 - 1641) พระราชโอรสของพระสนมกงบิน ตระกูลคิม แห่งกิมแฮ
  • เจ้าชายอึยอัน อี ซอง (의안군 ,義安君 ,1576 - 1588) พระราชโอรสของพระสนมอินบิน ตระกูลคิม แห่งซูวอน
  • เจ้าชายซินซอง อี ฮู (신성군 ,信城君 ,1578 - 1592) พระราชโอรสของพระสนมอินบิน ตระกูลคิม แห่งซูวอน
  • เจ้าชายช็องว็อน อี บู (정원군 ,定遠君 ,1580 - 1619) พระราชโอรสของพระสนมอินบิน ตระกูลคิม แห่งซูวอน
  • เจ้าชายอึยชาง อี กวาง ( 의창군 ,義昌君 ,1589 - 1645) พระราชโอรสของพระสนมอินบิน ตระกูลคิม แห่งซูวอน
  • เจ้าชายซุนฮวา อี โบ (순화군 ,順和君 ,1580 - 1607) พระราชโอรสของพระสนมซุนบิน ตระกูลคิม
  • เจ้าชายอินซอง อี คง (인성군 ,仁城君 ,1588 - 1628)พระราชโอรสของพระสนมจองบิน ตระกูลมิน แห่งยอฮึง
  • เจ้าชายอินฮึง อี ยอง (인흥군 ,仁興君 ,1604 - 1651)พระราชโอรสของพระสนมจองบิน ตระกูลมิน แห่งยอฮึง
  • เจ้าชายคยองชาง อี จู (경창군 ,慶昌君 ,1596 - 1644)พระราชโอรสของพระสนมจองบิน ตระกูลฮง
  • เจ้าชายฮึงอัน อี เจ (흥안군 ,興安君 ,1598 - 1624)พระราชโอรสของพระสนมอนบิน ตระกูลฮัน
  • เจ้าชายคยองพยอง อี นึก (경평군 ,慶平君 ,1600 - 1673)พระราชโอรสของพระสนมอนบิน ตระกูลฮัน
  • เจ้าชายยองซอง อี คเย (영성군 ,寧城君 ,1605 - 1649)พระราชโอรสของพระสนมอนบิน ตระกูลฮัน

พระราชธิดา

  • เจ้าหญิงช็องมย็อง (정명공주 ,貞明公主 ,1603 - 1685) พระราชธิดาของสมเด็จพระราชินีอินม๊ก ตระกูลคิม แห่งยอนอัน (ภายหลังองค์หญิงได้กลายเป็นต้นสายตระกูลของพระนางฮอนคยอง พระพันปีหลวง ตระกูลฮง แห่งพุงซาน (헌경왕후 홍씨))
  • เจ้าหญิงจองซิน (정신옹주 ,貞愼翁主 ,1583 - 1653) พระราชธิดาของพระสนมอินบิน ตระกูลคิม แห่งซูวอน
  • เจ้าหญิงจองฮเย (정혜옹주 ,靜惠翁主 ,1584 - 1638) พระราชธิดาของพระสนมอินบิน ตระกูลคิม แห่งซูวอน
  • เจ้าหญิงจองซุก (정숙옹주 ,貞淑翁主 ,1587 - 1627) พระราชธิดาของพระสนมอินบิน ตระกูลคิม แห่งซูวอน
  • เจ้าหญิงจองอัน (정안옹주 ,貞安翁主 ,1590 - 1660) พระราชธิดาของพระสนมอินบิน ตระกูลคิม แห่งซูวอน
  • เจ้าหญิงจองฮวี (정휘옹주 ,貞徽翁主 ,1593 - 1653) พระราชธิดาของพระสนมอินบิน ตระกูลคิม แห่งซูวอน
  • เจ้าหญิงจองอิน (정인옹주 ,貞仁翁主 ,1590 - 1656) พระราชธิดาของพระสนมจองบิน ตระกูลมิน แห่งยอฮึง
  • เจ้าหญิงจองช็อน (정선옹주 ,貞善翁主 ,1594 - 1614) พระราชธิดาของพระสนมจองบิน ตระกูลมิน แห่งยอฮึง
  • เจ้าหญิงจองกึน (정근옹주 ,貞謹翁主 ,1601 - 1613) พระราชธิดาของพระสนมจองบิน ตระกูลมิน แห่งยอฮึง
  • เจ้าหญิงจองจอง (정정옹주 ,貞正翁主 ,1595 - 1666) พระราชธิดาของพระสนมจองบิน ตระกูลฮง
  • เจ้าหญิงจองฮวา (정화옹주 ,貞和翁主 ,1604 - 1667) พระราชธิดาของพระสนมอนบิน ตระกูลฮัน

พงศาวลี

[แก้]
ก่อนหน้า พระเจ้าซ็อนโจแห่งโชซ็อน ถัดไป
พระเจ้ามย็องจง กษัตริย์แห่งโชซ็อน
(พ.ศ. 2110 - พ.ศ. 2151)
เจ้าชายควังแฮ|}