พระนางวิสุทธิเทวี
วิสุทธิเทวี | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระมหาเทวีแห่งเชียงใหม่ ภายใต้การปกครองของพม่า | |||||
ครองราชย์ | พ.ศ. 2107–2121 | ||||
ก่อนหน้า | เมกุฏิสุทธิวงศ์ | ||||
ถัดไป | นรธาเมงสอ | ||||
ประสูติ | ไม่ปรากฏ | ||||
พิราลัย | พ.ศ. 2121 | ||||
พระราชบุตร | เมกุฏิสุทธิวงศ์ | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | มังราย |
พระนางวิสุทธิเทวี หรือ สมเด็จเจ้าราชวิศุทธ (? — พ.ศ. 2121) เป็นขัตติยราชนารีพระองค์หนึ่งที่สำคัญพระองค์หนึ่งของอาณาจักรล้านนา และเป็นผู้ปกครององค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์มังราย ก่อนที่การปกครองอาณาจักรล้านนาจะตกไปสู่การปกครองของราชวงศ์ตองอู
พระนางวิสุทธิเทวีได้ให้การยอมรับอำนาจของพม่า เป็นที่รู้จักในนามพระมหาเทวี (พม่า: မဟာဒေဝီ) ผู้สนองนโยบายการขยายอำนาจจากล้านนาไปสู่กรุงศรีอยุธยาและล้านช้างโดยใช้ล้านนาเป็นที่มั่น ทรงส่งกองทัพเข้าร่วมรบกับเชียงใหม่ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2112[1] และ พ.ศ. 2117 เชียงใหม่ส่งกองทัพไปปราบล้านช้างเวียงจันทน์สองกองทัพ[2] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่มีมากของพระเจ้าบุเรงนอง รวมไปถึงพระราโชบายเพื่อประคับประคองบ้านเมืองให้อยู่รอดตลอดรัชสมัยของพระนาง[3]
ด้วยที่ทรงพระราชฐานะที่พระนางเป็นเจ้านายอาวุโสตำแหน่งพระมหาเทวี หรือกษัตรีย์แห่งล้านนาที่ให้ความร่วมมือแก่พม่า พระนางจึงได้รับการยอมรับจากขุนนางพม่าที่มาปกครองเมืองเชียงใหม่ ดังการพบการได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่า ข้าหลวงชาวอังวะ และหงสาวดีที่มาประจำการในเชียงใหม่ เมื่อมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี[3]
ข้อสันนิษฐาน
[แก้]กรณีพระตนคำ
[แก้]แต่เดิมศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล เคยสันนิษฐานว่าพระนางวิสุทธิเทวีเดิมมีพระนามว่า "พระตนคำ" ผู้เป็นพระราชธิดาในพระเมืองเกษเกล้าที่พระเจ้าบุเรงนองนำไปเป็นองค์ประกันและเรียนรู้วัฒนธรรมพม่า และภายหลังได้ตกเป็นมเหสีของพระเจ้าบุเรงนองโดยปริยาย[4]
ครั้นเมื่อ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ได้สอบทำเนียบพระมเหสีของพระเจ้าบุเรงนองอย่างละเอียดก็มิพบนาม พระตนคำ, วิสุทธิเทวี หรือราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่เลยแต่อย่างใด[5] แต่พบนามของสตรีเชียงใหม่ตำแหน่งบาทบริจาริกานางหนึ่ง ความว่า "นางผู้เป็นชาวเชียงใหม่ (Zinme) นามว่าเคงเก้า (Khin Kank) ซึ่งให้กำเนิดพระธิดากับพระเจ้าบุเรงนองนางหนึ่งนามว่าราชมิตร"[6]
ภายหลังศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ได้เปลี่ยนความคิดใหม่ และเห็นว่านรธาเมงสอมิใช่เชื้อพระวงศ์มังรายอย่างที่เข้าใจ[7][8] ส่วนพระนางเคงเก้าจะเป็นคนเดียวกับพระตนคำหรือพระวิสุทธิเทวี หรือพระวิสุทธิเทวีจะเป็นคนเดียวกับพระตนคำหรือไม่ ยังคงเป็นปริศนาที่ต้องค้นคว้าต่อไป[9]
กรณีเป็นพระราชชนนีของนรธาเมงสอ
[แก้]และเชื่อกันมาแต่เดิมว่า นางอาจเป็นพระราชชนนีในนรธาเมงสอ พระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนองซึ่งครองราชย์สืบต่อจากพระนาง ข้อสันนิษฐานเกิดจากการตีความโคลงบทหนึ่งของ "โครงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่" ที่มีเนื้อความระบุว่า[10]
ได้แล้วภิเษกท้าว | เทวี | |
เป็นแม่มังทราศรี | เร่งเรื่อง | |
เมืองมวลส่วยสินมี | ตามแต่ เดิมเอ่ | |
บ่ถอดถอนบั้นเบื้อง | ว่องไว้วางมวล |
นักภาษาศาสตร์ทั้ง ดร. ประเสริฐ ณ นคร และสิงฆะ วรรณสัย ถอดความดังกล่าวได้ว่า[11]
"แล้วอภิเษกมหาเทวี [มหาเทวีวิสุทธิ] ผู้เป็นแม่มังทรา [นรธาเมงสอ เจ้าเมืองสาวัตถี–ตามความเข้าใจของผู้แปล] ขึ้นเสวยราชย์เหมือนเดิม ให้รวบรวมสินส่งส่วยเหมือนแต่ก่อน ไม่ทรงถอดถอนออก แต่มอบอำนาจให้ปกครองเมืองทั้งสิ้น"
รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ให้ความเห็นว่า "มังทรา" มาจากคำว่า "เมงตะยา" อันมีความหมายตรงตัวในภาษาพม่าว่า "ธรรมราชา"[11] เป็นสมัญญานามที่ใช้ระบุหรือนำหน้ากษัตริย์พม่าทั่วไป และในโคลงบทที่ 12 นี้ได้ใช้คำว่า มังทรา แทนพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นคำว่า แม่มังทราศรี ก็จะหมายถึงแม่ของพระเจ้าแผ่นดิน และมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นแม่ของพระเจ้าแผ่นดินองค์ถัดไป ซึ่งก็อาจจะเป็นมารดาของอดีตกษัตริย์ คือ พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ก็เป็นไปได้[11]
รวมทั้งโคลงบทที่ 15 ของเรื่องเดียวกันนั้นที่กล่าวถึงภูมิหลังของนรธาเมงสอ ก็ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเป็นพระโอรสของพระนางแต่อย่างใด[11] เช่นเดียวกับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, พงศาวดารเชียงใหม่ฉบับพม่า (Zinme Yazawin) หรือแม้แต่พงศาวดารโยนกก็มิได้ระบุเช่นกัน[12]
กรณีเป็นพระราชชนนีของพระเมกุฏิ
[แก้]จากการศึกษาของ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ โดยใช้หลักฐานของพม่าคือพงศาวดารมหายาสะวินเต๊ะ (Mahayazawinthet)[12] กลับพบว่า พระมารดาของนรธาเมงสอ ชื่อ "ราชเทวี" มเหสีอันดับ 3 ของบุเรงนอง พระนางเป็นธิดาของสตุกามณีแห่งดีมเยง มีนามเดิมว่า เชงทเวละ พระนางสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2106 ก่อนที่พระเจ้าบุเรงนองจะสถาปนาพระนางวิสุทธิเทวีครองเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2107 ฉะนั้นพระนางวิสุทธิเทวี จึงมิใช่พระมารดาของนรธาเมงสอ[13] แต่มหาเทวีวิสุทธิอาจเป็นมารดาของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์[7][14]
โดย รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ให้เหตุผลว่า เมื่อพระเจ้าบุเรงนองได้นำตัวพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ไปหงสาวดี และสถาปนามหาเทวีวิสุทธิซึ่งชราภาพแล้วครองล้านนา เพื่อที่มหาเทวีจะได้ไม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า[15] ด้วยเหตุผลนี้พระเมกุฏิสุทธิวงศ์อาจมีฐานะเป็นพระโอรสของมหาเทวีวิสุทธิก็เป็นได้[16]
ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะเห็นตรงกับ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ว่าพระนางวิสุทธิเทวีเป็นพระราชชนนีของพระเมกุฏิ แต่ได้เพิ่มเติมด้วยว่าพระนางวิสุทธิเทวีคงเป็นพระชายาของพระเมืองแก้ว[17]
พระประวัติ
[แก้]พระชนม์ชีพช่วงต้น
[แก้]พระนางวิสุทธิเทวีเป็นเจ้านายดั้งเดิมมาจากที่ไหน หรือทรงสืบเชื้อสายมาจากผู้ใดไม่เป็นที่ทราบ ซึ่งใน จารึกวัดชัยพระเกียรติ ที่กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปเมืองรายเจ้าโดยขุนนางพม่าของพระเจ้าบุเรงนอง ระบุพระนามของพระนางวิสุทธิเทวีว่า "...สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าตนเป็นเหง้าในนพบุรี..." ซึ่งคำว่า "เหง้า" นี้ ฮันส์ เพนธ์สันนิษฐานไว้เมื่อปี พ.ศ. 2519 ว่าที่จารึกใช้คำว่าเหง้านี้ อาจเป็นเพราะมหาเทวีพระองค์นี้ทรงมีเชื้อสายพญามังราย กอปรกับชื่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้าก็เป็นชื่อตั้งเพื่อถวายพระเกียรติพญามังรายและพระมหาเทวีวิสุทธิผู้มีเชื้อสายของพญามังราย[19] ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะอธิบายว่าพระนางวิสุทธิเทวีเป็นเจ้าหญิงมาจากเมืองนาย ซึ่งถูกส่งมาเป็นพระชายากษัตริย์ล้านนาตามพระราชธรรมเนียม[17] อย่างไรก็ตามพระราชประวัติอันมืดมนซึ่งปรากฏบทบาทของพระองค์เพียงช่วงครองราชย์เท่านั้น ทำให้ไม่ทราบและไม่มีข้อมูลที่แน่นอนเกี่ยวกับพระประวัติตอนต้นของพระองค์ จึงกลายเป็นปริศนาที่ต้องค้นคว้าต่อไป[9] เรื่องราวของพระองค์มาปรากฏชัดเจนเมื่อครั้งมีพระอิสริยยศเป็นพระมหาเทวี คือเป็น "พระราชชนนีของพระมหากษัตริย์"[7]
ทั้งนี้ตำแหน่งพระมหาเทวีเป็นตำแหน่งที่มีบทบาททางการเมืองสูง ดังจะเห็นจะได้จากพระราชประวัติของมหาเทวีจิรประภา และมหาเทวีสิริยศวดี และเป็นที่แน่นอนว่าพระองค์ต้องเป็นพระราชมารดาของกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง[9] ซึ่ง รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์สันนิษฐานว่าพระองค์เป็นพระราชชนนีในพระเมกุฏิสุทธิวงศ์[16][20][21] โดยปรากฏหลักฐานว่าพระองค์ร่วมประกอบพระราชกรณียกิจร่วมกับพระราชโอรสบ่อยครั้ง[22][23]
เสวยราชย์
[แก้]พระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระยากระมลเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนร่วมกันคิดกบฏต่อกรุงหงสาวดี เพราะไม่ยอมส่งทัพช่วยพม่ารบกับอาณาจักรอยุธยาเมื่อคราวสงครามช้างเผือกในปี พ.ศ. 2016 โดยมีเจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองลำปางร่วมก่อกบฏด้วยโดยมีสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระมหากษัตริย์ล้านช้างทรงสนับสนุน หลังพม่าเสร็จศึกที่อาณาจักรอยุธยาก็ยกทัพขึ้นมาปราบล้านนาอีกครั้ง บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่เคยลุกขึ้นมาต่อต้านกลับพากันหลบลี้ไปล้านช้างเสียหมดยกเว้นพระเมกุฏิที่ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดีและจัดบรรณาการมาถวาย ทว่าความผิดที่พระเมกุฏิฝ่าฝืนการปฏิบัติคำสั่งถือเป็นโทษร้ายแรง[24] เป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองถอดพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ออกจากพระราชบัลลังก์ล้านนาและพาตัวไปหงสาวดีเป็นการลงทัณฑ์ แล้วพระราชทานตำหนักขาวให้ประทับ ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว ที่กล่าวถึงปี พ.ศ. 2110 ความว่า (คำอธิบายในวงเล็บเป็นของ รศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์)[25]
"...ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานตำหนักให้กับนะระปะติเจ้าเมืองแพร่ ๑ อะวะนะระปะติจีสู ๑ [นะระปะติสีตู] พระสังข์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ๑ [ที่ถูกต้องคือพระตาน มาจากคำว่าเจ้าขนานแม่กุ] พระสาธิราชพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา [พระเธียรราชา] แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก..."
หลังจากนั้นพระเจ้าบุเรงนองจึงตั้งพระนางวิสุทธิเทวี ขัตติยนารีผู้มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายครองล้านนาสืบต่อไป ซึ่ง ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ได้สันนิษฐานว่าพระนางวิสุทธิเทวีนี้คือพระราชชนนีของพระเมกุฏิ โดยให้เหตุผลว่าเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินล้านนาพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า[15] เพราะฝ่ายพม่าได้ยกไพร่พลและขุนนางรามัญไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่เสียด้วย ดังปรากฏใน พงศาวดารโยนก ความว่า[26]
"...แล้วตั้งราชเทวีอันเป็นเชื้อสายเชียงใหม่แต่ก่อนทรงนามพระวิสุทธิเทวีขึ้นเป็นราชินีครองเมืองนครเชียงใหม่สืบไป ให้ขุนนางรามัญอยู่เป็นข้าหลวงกำกับเมือง..."
เมื่อพระนางวิสุทธิเทวีได้ขึ้นเสวยราชสมบัติก็เมื่อพระองค์ชราภาพแล้ว หลังพระองค์ครองราชย์ได้เพียง 14 ปีก็พิราลัย โดยมีหลักฐานจากโคลงมังทรารบเชียงใหม่ที่ได้ระบุไว้ในโคลงบทที่ 13 ที่ได้กล่าวถึงพระนางวิสุทธิเทวีที่ยืนยันเกี่ยวกับการครองราชย์เมื่อชราภาพ และทำบุญเป็นประจำ ความว่า
มหาอัคคราชท้าว | เทวี | |
ยามหงอกกินบุรี | ถ่อมเถ้า | |
ทำทานชู่เดือนปี | ศีลเสพ นิรันดร์เอ่ | |
เห็นเหตุภัยพระเจ้า | ราชรู้อนิจจา[27] |
แม้จะอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่พระองค์ยังมีบทบาททางการเมืองค่อนข้างสูงโดยมีหลักฐานจากแหล่งต่าง ๆ มายืนยันจากพระนามที่ปรากฏ ดังนี้ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้า ผู้ทรงเป็นใหญ่ (จารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดชัยพระเกียรติ), มหาอัครราชท้าวนารี (โคลงมังทรารบเชียงใหม่), พระนางมหาเทวี (พงศาวดารเชียงใหม่ฉบับภาษาพม่า), สมเด็จพระมหาราชเทวีบรมพิตรพระเป็นเจ้าอยู่หัว (ตราหลวงกุหลาบเงิน พ.ศ. 2110) และ มหาเทวี (ตำนานเมืองลำพูน)[28][29] พระนางวิสุทธิเทวีมีพระสถาภาพเป็นมหาเทวีผู้ทรงอำนาจสูง ทรงผ่านการราชาภิเษกสองครั้ง[21][30] พระองค์มีพระราโชบายเพื่อประคับประคองบ้านเมืองให้อยู่รอดตลอดรัชสมัยของพระนางที่ให้ความร่วมมือกับพม่า พระนางจึงได้รับการยอมรับจากกษัตริย์พม่า[30] รวมทั้งขุนนางพม่าที่รั้งเมืองเชียงใหม่ ดังการพบเมื่อคราวมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระองค์ได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่า ข้าหลวงชาวอังวะและหงสาวดีที่มาประจำการในเชียงใหม่ พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี[3]
พิราลัย
[แก้]พระนางวิสุทธิเทวีพิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2121 โดยใน ตำนานเมืองลำพูน กล่าวถึงมหาเทวีที่กิน 14 ปีก็พิราลัย ดังความว่า "...ในปีร้วงไค้ ได้อาราทนาราชภิเสก ๒ หน มหาเทวีรักษาเมืองเชียงใหม่ได้ ๑๔ ปี สุรคุตในปีเปิกยี..."[21] พระนางได้รับการถวายเกียรติยศโดยสร้างปราสาทเป็นที่ตั้งพระศพตั้งบนหลังนกหัสดีลิงค์ และใช้ช้างลากปราสาทศพ โดยเจาะกำแพงเมืองออกไปฌาปนกิจที่วัดโลกโมฬี ถือกันว่าการทำศพครั้งนี้เป็นแบบอย่างการปลงศพเจ้านายเมืองเหนือสืบมา ดังปรากฏความใน พงศาวดารโยนก ความว่า[31]
"นางวิสุทธิราชเทวีผู้ครองนครพิงค์เชียงใหม่ถึงพิราลัย พระยาแสนหลวงแต่งการศพทำเป็นพิมานบุษบก ตั้งบนหลังนกหัสดินทร์ขนาดใหญ่รองด้วยเลื่อนแม่สะดึง เชิญหีบพระศพขึ้นไว้ในบุษบกนั้น แล้วฉุดชักไปด้วยแรงคชสาร เจาะพังกำแพงเมืองไปถึงทุ่งวัดโลก ก็กระทำฌาปนกิจถวายพระเพลิง ณ ที่นั่น เผาพร้อมทั้งรูปสัตว์และวิมานที่ทรงศพนั้นด้วย จึงเป็นธรรมเนียมลาวในการปลงศพเจ้าผู้ครองนครทำเช่นนี้สืบกันมา"
และแม้พระนางวิสุทธิเทวีอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่พระนางก็ได้รับการปฏิบัติอย่างสมพระเกียรติ ด้วยพระอัจฉริยภาพในการดำเนินนโยบายด้านการปกครองอย่างระมัดระวังและประนีประนอมแต่ก็รักษาพระเกียรติยศไว้อย่างสมบูรณ์จนสิ้นรัชกาล[32]
พระราชกรณียกิจ
[แก้]การศาสนา
[แก้]ในตำนานพระธาตุจอมทอง ได้กล่าวถึง ปี พ.ศ. 2099 ช่วงรัชสมัยของพระเจ้าเมกุ ซึ่งกษัตริย์และพระราชมารดาได้อัญเชิญพระบรมธาตุจอมทองเข้าไปพระราชวังที่เชียงใหม่ด้วยความเลื่อมใสจึงถวายข้าวของเงินทอง และกัลปนาคนเป็นข้าวัดพระธาตุจอมทอง ดังปรากฏในความหน้าลานที่ 58-59 ปริวรรตความว่า[33]
“...เมื่อนั้น พระราชบุตต์เจ้าอยู่เกล้าอยู่หัวตนเปนพระองค์ราชมาดามหาเทวี เจ้าทัง 2 พระองค์แม่ลูกทรงราชสัทธาจิ่งนิมนต์พระมหาธาตุเจ้าจอมทองเมือยังหดสรงในราชวัง ยินดีด้วยพระมหาธาตุเจ้าทัง 2 แม่ลูกก็หื้อยังมหาทานอันใหย่ คือว่า ข้าวของ เงินฅำ ข้าฅน ไร่นาที่ดิน ย่านน้ำ เครื่องทาน ขันสรง โกฎแก้วใส่ฅำประดับด้วยแก้วคอวชิระเพก (เพชร) และธารารับน้ำสรงแลสัพพเครื่องแหทังมวลอันพระรัตนราชเจ้าหื้อทานแล้วแต่ก่อน พระเป็นเจ้าทังสองแม่ลูกก็ซ้ำหื้อทานแถมเปนถ้วน 2 จิ่งพระราชอาชญาแก่มหาเสนาผู้ใหย่ทัง 4 คือว่า แสนหลวง สามล้าน จ่าบ้าน เด็กชาย ว่า ตั้งแต่นี้ไปพายหน้า ข้าพระเจ้าจอมทองนี้อย่าได้ใช้สอย...”
แต่อย่างไรก็ตามพระนางวิสุทธิเทวีได้ปฏิบัติตนในฐานะกษัตรีย์ที่ดี ยังสามารถทำบุญสร้างวัด และกัลปนาผู้คนและที่ดินถวายเป็นสมบัติในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับกษัตริย์องค์ก่อน ดังพบพระนางสร้างวัดราชวิสุทธาราม (หรือ วัดหลวงบ้านแปะ) ในเขตจอมทองใน พ.ศ. 2110 และได้ทำตราหลวงหลาบเงินเพื่อไว้คุ้มครองชาวบ้านรากราน, กองกูน, ป่ารวก, อมกูด และบ้านแปะบก ทั้งคนลัวะและคนไทย(ไทยวน หรือชาวล้านนา) ให้เป็นข้าวัดทำหน้าที่ทางพุทธศาสนา ห้ามนำมาใช้งานใด ๆ เนื่องจากได้พระราชทานวัดแล้ว โดยในสมัยของพระเจ้าตลุนมิน หรือพระเจ้าสุทโธธรรมราชา ได้กวาดต้อนเชลยจากเชียงใหม่ พบว่ามีข้าวัดราชวิสุทธารามติดไปด้วย เมื่อพระองค์ทราบจึงได้สั่งให้ปล่อยตัวคืนกลับมาทุกคน[34][35] ดังในบันทึกวัดบ้านแปะความว่า
“ เมื่อปีเถาะ นพศก จุลศักราช ๙๒๙ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๑๐) เดือน ๙ เหนือขึ้น ๑๕ ค่ำ ว่า"...ปีเมืองเหม้า เดือน ๙ ออก ๑๕ ค่ำ มื้อระวายสัน วันเปิกเสด สมเด็จพระมหาราชเทวี บรมบพิตร พระเป็นเจ้าตนเป็นพระ สถิตโรง จิ่งปลงอาชญาใส่หัว แสนหลวงดาบเรือนดวง หมื่นหลวงเชา หมื่นต้องแต้มยี ว่าหื้อแปงตราหลาบเงินดวงนี้ ไว้รักษาชาว รากราน กองขรูน ป่ารวก อมขรูด แปะบก ในยางนี้ ทั้งลัวะทั้งไทย เขาหากเป็นข้า ราชทานมาเฝ้าวัดวิสุทธาราม ปาง มี ๗ คนส่วยเบี้ย คำขา ก็ดี ฝุ่นฝอยอันเกิดมีในแผ่นดินราชทานทั้งมวล ก็ดี ค่านาบ้านแปะ ๕๐๐ เงินชุปี ก็ดี เป็นราชทานอุปการะในวัดวิสุทธารามชุปี เจ้าแคว่น เจ้าฟ่อน อย่ากลั้ว อย่ากวน อย่าเอาส่งหาบ อยู่มื้อ ทือครัว อย่าใส่หญ้าช้างหญ้าม้าแก่เขา หื้อไว้ได้การตามพระราชอาชญาอันใดบ่ใช่การวัด เป็นการศึก เวียก รังพา อย่าใส่ อย่าแต่งหื้อแก่เขา เหตุเขาทั้งหลายเป็นข้าน้ำหยาดราชทาน..."
การต่างประเทศ
[แก้]ในช่วงรัชสมัยของพระนาง พระนางได้ยอมรับและสนับสนุนพระราชอำนาจของราชสำนักบุเรงนองตลอดรัชกาลซึ่งแตกต่างจากนโยบายของท้าวแมกุ มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่าพระนางได้จัดทัพล้านนาไปช่วยพม่าทำศึก โดยเฉพาะเมื่อคราวตีกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2112 ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า[1]
“...พลพระเจ้าหงสาวดียกมาครั้งนั้น คือพลพม่ามอญในหงสาวดี อังวะ ตองอู เมืองปรวน และเมืองประแสนิว เมืองกอง เมืองมิต เมืองตะละ เมืองหน่าย เมืองอุมวง เมืองสะพัว บัวแส และเมืองสรอบ เมืองไทยใหญ่ อนึ่งทัพเชียงใหม่นั้น พระเจ้าเชียงใหม่ประชวร จึงแต่งให้พระแสนหลวงพิงชัย เป็นนายกองถือพลลาวเชียงใหม่ทั้งปวงมาด้วยพระเจ้าหงสาวดีเป็นทัพหนึ่ง...”
และในปี พ.ศ. 2117 เชียงใหม่ได้ส่งทัพไปปราบล้านช้างเวียงจันทน์สองทัพ[2]
เป็นไปได้ว่า พระนางวิสุทธิเทวีทรงยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อพระเจ้าบุเรงนองที่สอดประสานกับนโยบายของผู้ปกครองพม่าที่มุ่งประคับประคองมิตรภาพของสองอาณาจักรให้ยั่งยืน[36] พม่าจึงไม่แทรกแซงปรับเปลี่ยนจารีตท้องถิ่น แต่ยังศึกษาและปกปักจารีตท้องถิ่น ซึ่งส่งผลทางอ้อมต่อการคงไว้ซึ่งความอยู่รอดของบ้านเมือง อาณาราษฎร และคงอยู่ซึ่งอำนาจของพระนางเอง[37] ถึงแม้ว่าพระราชอำนาจของพระนางจะมีขีดจำกัด[32] แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพหยั่งรู้สถานการณ์ แม้ว่าโครงสร้างราชวงศ์จะขาดความมั่นคงแต่ล้านนาก็จะคงอยู่ได้ด้วยพระราชอำนาจและบารมีของพระเจ้าบุเรงนอง ผู้ที่ซึ่งเจ้าแผ่นดินในรัฐจารีตร่วมสมัยมิอาจแข่งขันได้[32]
อย่างไรก็ตามพระราชอำนาจของพระนางนั้น ยังได้รับการยอมรับจากขุนนางพม่าที่มาปกครองเชียงใหม่ ดังพบการได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่าและข้าหลวงชาวอังวะและหงสาวดีที่ประจำการในเชียงใหม่ เมื่อมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ "สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี"[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด). พระนคร : คลังวิทยา, 2507, หน้า 96
- ↑ 2.0 2.1 Tun Aung Chian. Chiang Mai in Bayinnaung's Polity, pp 70
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552, หน้า 275
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2539. หน้า 236-237
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 294
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. หน้า 295
- ↑ 7.0 7.1 7.2 สรัสวดี อ๋องสกุล ศาสตราจารย์. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 272
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 308
- ↑ 9.0 9.1 9.2 สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 295-296
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. หน้า 290-291
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ:มติชน, 2554. หน้า 291
- ↑ 12.0 12.1 สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ:มติชน, 2554. หน้า 291
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. "พระวิสุทธิเทวี กษัตรีย์แห่งล้านนา". ขัตติยานีศรีล้านนา. เชียงใหม่ : วิทอินดีไซน์, 2547, หน้า 64
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. หน้า 293
- ↑ 15.0 15.1 สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. หน้า 294
- ↑ 16.0 16.1 สุเนตร ชุตินธรานนท์. "พระวิสุทธิเทวี กษัตรีย์แห่งล้านนา". ขัตติยานีศรีล้านนา. เชียงใหม่ : วิทอินดีไซน์, 2547, หน้า 65
- ↑ 17.0 17.1 เพ็ญสุภา สุขคตะ (7 ธันวาคม 2560). ""ล้านนาศึกษา" ใน "ไทยศึกษาครั้งที่ 13" (9) เมืองน้อย เมืองเนรเทศกษัตริย์ล้านนา The Romance of Three Kingdoms (จบ)". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 18.0 18.1 ดร.ฮันส์ เพนธ์, ศรีเลา เกษพรหม และอภิรดี เตชะศิริวรรณ. จารึกวัดวิสุทธาราม[ลิงก์เสีย]. เรียกดูเมื่อ 6 พฤษภาคม 2556
- ↑ "จารึกฐานพระพุทธรูปวัดชัยพระเกียรติ ๑". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. หน้า 293
- ↑ 21.0 21.1 21.2 สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552, หน้า 273
- ↑ "จารึกวัดพระธาตุศรีจอมทอง ๑". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "จารึกวัดเชียงสา". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-17. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2539. หน้า 270-271
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. หน้า 299-300
- ↑ ประชากิจวรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516, หน้า 401
- ↑ กรรณิการ์ วิมลเกษม, ปริวรรต. โคลงมังทรา ฉบับจาร พ.ศ. ๒๓๘๑. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533, หน้า 31
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. "พระวิสุทธิเทวี กษัตรีย์แห่งล้านนา". ขัตติยานีศรีล้านนา. เชียงใหม่ : วิทอินดีไซน์, 2547, หน้า 64
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2539, หน้า 272
- ↑ 30.0 30.1 เหมันต สีหศักกพงศ์ สุนทร, นาวาตรี. "ปราสาทนกหัสดีลิงค์แห่งแผ่นดินล้านนา". งานพระเมรุ: ศิลปสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560, หน้า 31
- ↑ ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516, หน้า 402-403
- ↑ 32.0 32.1 32.2 สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. หน้า 305
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552, หน้า 273
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552, หน้า 275
- ↑ เหมันต สีหศักกพงศ์ สุนทร, นาวาตรี. "ปราสาทนกหัสดีลิงค์แห่งแผ่นดินล้านนา". งานพระเมรุ: ศิลปสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560, หน้า 59
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 304
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2539, หน้า 229-230
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แม่ญิงล้านนา. พระนางวิสุทธิเทวี กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์มังราย[ลิงก์เสีย]. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2556
- บทความดี ๆ เพื่อชีวิตเสรี & เวทียุติธรรม. เงื่อนงำจำเลยรัก“บุเรงนอง” “สุพรรณกัลยา”VS“วิสุทธิเทวี” โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2556
ก่อนหน้า | พระนางวิสุทธิเทวี | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ | สามนตราชล้านนา ในฐานะรัฐบรรณาการของอาณาจักรตองอู (พ.ศ. 2107–2121) |
นรธาเมงสอ |