พรรคพลังประชาชน (พ.ศ. 2541)
พรรคพลังประชาชน (อักษรย่อ: พปช. อังกฤษ: People Power Party) เป็นพรรคการเมืองไทยในอดีต มี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคคือ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกพรรคคือ กุเทพ ใสกระจ่าง และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ของพรรคแต่เดิมมาจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนมีนโยบายประชานิยมและมีฐานเสียงที่เข้มแข็งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พรรคกลายเป็นผู้นำของรัฐบาลผสมหลังจากที่รัฐบาลทหารสนับสนุนการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2550 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณ สาบานว่าจะต่อต้านพรรคพลังประชาชนหลังจากที่พรรคตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 รองหัวหน้าพรรคคือยงยุทธ ติยะไพรัช ถูกตั้งข้อหาทุจริตการเลือกตั้งในระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2550 ข้อหาเหล่านี้นำไปสู่การยุบพรรคโดยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยหลังยุบพรรค สส. จากพรรคพลังประชาชนแตกออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนใหญ่ไปก่อตั้งพรรคเพื่อไทยขึ้นมามีบทบาทต่อจากพรรคไทยรักไทยแทนพรรคพลังประชาชน แต่กลุ่มเพื่อนเนวินได้แยกตัวออกไปรวมกับ สส. อดีตพรรคมัชฌิมาธิปไตยที่ถูกยุบพรรคในคราวเดียวกัน ก่อตั้งเป็นพรรคภูมิใจไทย และหันไปสนับสนุนให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลแทน
รายชื่อนายกรัฐมนตรี
[แก้]-
สมัคร สุนทรเวช
(วาระ: มกราคม–กันยายน 2551)
-
สมชาย วงศ์สวัสดิ์
(วาระ: กันยายน–ธันวาคม 2551)
ประวัติ
[แก้]พรรคพลังประชาชนก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 โดยมีพันตำรวจโทกานต์ เทียนแก้ว เป็นหัวหน้าพรรค[1] และดำรงอยู่ในฐานะพรรคขนาดเล็กเป็นเวลาหลายปี พรรคพลังประชาชนในยุคแรกๆ ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในระดับประเทศและในกรุงเทพมหานคร แต่ไม่เคยได้รับเลือกตั้ง
พรรคได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสองครั้ง โดยครั้งแรก ใน การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2543 พรรคได้มีมติส่งพันตำรวจโท กานต์ เทียนแก้ว ลงสมัครในนามพรรค แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง และครั้งที่ 2 ใน การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2547 พรรคได้มีมติส่ง การุญ จันทรางศุ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งอีกเช่นกัน
พรรคได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในการเลือกตั้งระดับประเทศทั้งสามครั้ง โดยใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548 พรรคไม่ได้รับเลือกตั้ง จนกระทั่ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2549 มีการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 23 เมษายน พรรคพลังประชาชนได้รับเลือกตั้ง 3 เขต
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยส่วนใหญ่ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชนหลังจากที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และลงสมัครรับเลือกตั้งในฐานะผู้สมัครของพรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2550[2][3] ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากพรรคไทยรักไทยถูกยุบโดยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 อีกทั้งยังมีคำสั่งห้ามอดีตกรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คนเล่นการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เช่น พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรค ทำให้นางสาวสุภาพร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคในตอนนั้นได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2550 ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลืออีก 5 คนพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะแต่ยังคงรักษาการจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่[4]
สมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและอดีตหัวหน้า พรรคประชากรไทย ซึ่งภายหลังประกาศตัวเป็น 'นอมินี' ของทักษิณ ชินวัตร และ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคพลังประชาชนตามลำดับ ในคราวประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 พร้อมกับแก้ไขข้อบังคับพรรค เปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์พรรค และย้ายที่ทำการพรรคมาอยู่ที่ 1770 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง ซึ่งเป็นที่ทำการพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน[5][6]
หลังจากที่ สมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551 สมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรค จึงขึ้นรักษาการหัวหน้าพรรคไปก่อน แต่ยังไม่ทันที่จะมีการประชุมใหญ่ของพรรค พรรคก็ถูกยุบเสียก่อน
สัญลักษณ์ของพรรค
[แก้]สัญลักษณ์ของพรรคในยุคแรก เป็นรูปวงกลมสีเขียว อันหมายถึงความสงบสุขร่มเย็นของแผ่นดินไทย มีภาพเสาธงชาติไทยปักอยู่บนแผนที่ประเทศไทยอยู่ใจกลางของวงกลม รายล้อมด้วยตุ๊กตาแต่งตัวเป็นอาชีพต่างๆ ซึ่งเป็นสื่อแทนชาวไทยในหลายสาขาอาชีพ โดยมีตัวอักษรชื่อพรรค เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ รายล้อมสัญลักษณ์ดังกล่าวทั้งหมด
ส่วนสัญลักษณ์ของพรรคในปัจจุบัน เป็นตัวอักษรไทย พ สีน้ำเงิน โดยเส้นทแยงจากล่างซ้ายขึ้นบนขวาเป็นสีแดง และขาว ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับสัญลักษณ์ของพรรคไทยรักไทย ที่เป็นตัวอักษรไทย ท สีน้ำเงิน ที่มีเส้นทแยงจากล่างซ้ายขึ้นบนขวา เป็นสีแดง ขาว และน้ำเงิน
บุคลากร
[แก้]หัวหน้าพรรค
[แก้]ลำดับ | รูป | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | ตำแหน่งสำคัญ |
1 | พันตำรวจโทกานต์ เทียนแก้ว (22 ตุลาคม พ.ศ. 2504 — ปัจจุบัน) |
30 ธันวาคม พ.ศ. 2541 | 29 มกราคม พ.ศ. 2546 | • อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร | |
2 | สุภาพร เทียนแก้ว (5 มกราคม พ.ศ. 2516 — ปัจจุบัน) |
7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 | 23 สิงหาคม พ.ศ. 2550 | ||
3 | สมัคร สุนทรเวช (13 มิถุนายน พ.ศ. 2478 — 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552) |
24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 | 30 กันยายน พ.ศ. 2551 | • อดีตนายกรัฐมนตรี • อดีตรองนายกรัฐมนตรี 3 สมัย • อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม • อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย • อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2 สมัย • อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย • อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ • อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร | |
4 | สมชาย วงศ์สวัสดิ์ (31 สิงหาคม พ.ศ. 2490 — ปัจจุบัน) |
30 กันยายน พ.ศ. 2551 | 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 | • อดีตนายกรัฐมนตรี • อดีตรองนายกรัฐมนตรี • อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม • อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ |
เลขาธิการพรรค
[แก้]ลำดับ | รูป | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | ตำแหน่งสำคัญ |
1 | สุภาพร เทียนแก้ว (5 มกราคม พ.ศ. 2516 — ) |
23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 | 20 ธันวาคม พ.ศ. 2541 | ||
2 | ปิยะรัตน์ เทียนแก้ว (13 มิถุนายน พ.ศ. 2478 — ) |
31 ธันวาคม พ.ศ. 2541 | 20 สิงหาคม พ.ศ. 2550 | ||
3 | นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี (2 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 — ) |
24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 | 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 | • อดีตรองนายกรัฐมนตรี • อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง • อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร • อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี |
กรรมการบริหารพรรค
[แก้]กลุ่มย่อยในพรรค
[แก้]- กลุ่มไทยรักไทย นําโดย นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี (เดิมมาจากพรรคไทยรักไทย)
- กลุ่มเพื่อนเนวิน นําโดย เนวิน ชิดชอบ (ต่อมาเป็นพรรคภูมิใจไทย)
- กลุ่มวาดะห์ นําโดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา (ต่อมาเป็นพรรคประชาชาติ)
- กลุ่มอีสานพัฒนา นำโดย ไพจิต ศรีวรขาน
- กลุ่มขุนค้อน นำโดย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ซึ่งแยกตัวมาจากกลุ่มอีสานพัฒนาในภายหลัง
- กลุ่มแทนคุณแผ่นดินอีสาน นำโดย วิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ (ต่อมาได้แยกตัวออกจากพรรค แล้วก่อตั้งพรรคแทนคุณแผ่นดิน)
- กลุ่มวังบัวบาน นำโดย เยาวภา วงศ์สวัสดิ์
การเลือกตั้ง
[แก้]2549
[แก้]ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 พรรคส่งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อจำนวน 5 คน ได้คะแนน 305,015 คะแนน ไม่ได้รับเลือก และส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต ได้รับเลือกจำนวน 3 คนในการลงคะแนนรอบที่ 2 วันที่ 23 เมษายน 2549 ที่จังหวัดกระบี่ เขต 1 และเขต 3 และจังหวัดตรัง เขต 2 [8] โดยเป็นพื้นที่ในเขตฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผู้มีสิทธิ์ส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงให้ เพื่อไม่ให้ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยได้รับเลือก และคะแนนเสียงที่ได้ น้อยกว่าคะแนนเลือกที่จะไม่เลือก (No Vote)
ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง รอบที่ 2 เมื่อวันที่ 23 เมษายน ปีเดียวกัน ผู้สมัครในนามพรรคพลังประชาชน ที่จังหวัดสงขลา เขต 2 ถูกกรรมการการเลือกตั้งตัดสิทธิ์ เนื่องจากเป็นผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ เวียนเทียนมาสมัครใหม่ในระบบแบ่งเขต[9]
2550
[แก้]ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 พรรคพลังประชาชนได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 233 คน โดยมีแบบแบ่งเขต 199 คน และแบบสัดส่วน 34 คน กลายเป็นพรรคอันดับหนึ่ง และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อธิบายถึงสาเหตุที่พรรคพลังประชาชนสามารถชนะเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึงวิเคราะห์พรรคที่แยกตัวออกไปจากพรรคไทยรักไทยอย่าง พรรคเพื่อแผ่นดิน และ พรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่ไม่ได้จำนวน สส. ดังที่หวังไว้ ดังนี้[10]
- ความสำเร็จจากนโยบายของพรรคไทยรักไทยยังเป็นความจริงที่ประชาชนสัมผัสได้ทุกๆ วัน เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน OTOP ฯลฯ
- การทำตามนโยบายหาเสียงของพรรคไทยรักไทยทันทีที่จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2544 และในปี พ.ศ. 2548 ทำให้พรรคพลังประชาชนซึ่งต่อเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทย ได้รับผลพวงความมั่นใจจากประชาชนติดมาด้วย ท่ามกลางการหาเสียงในปี พ.ศ. 2550 ที่มีสารพัดนโยบายซึ่งทุกพรรคการเมืองสาดใส่ผู้เลือกตั้ง จนจำกันไม่ได้ว่า นโยบายนั้นๆเป็นของพรรคใด พรรคพลังประชาชนเพียงหาเสียงด้วยคำขวัญว่า “นโยบายดีๆใครก็พูดได้ แต่คนที่พูดแล้วทำได้จริง อยู่ในพรรคพลังประชาชน” และ “เลือกผิด…เพิ่มหนี้ให้ครอบครัว เลือกถูก…เพิ่มเงินในกระเป๋า” ก็ชนะเลือกตั้งไป 233 ที่นั่ง
- พรรคเพื่อแผ่นดินและพรรคมัชฌิมาธิปไตยเพิ่งจัดตั้งขึ้นเพียงไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้ง การบริหารจัดการพรรคแบบที่พรรคไทยรักไทยเคยทำไว้ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในระยะเวลาสั้นๆ
- แกนนำของทั้งสองพรรคเชี่ยวชาญอย่างยิ่งในพื้นที่เขตเลือกตั้ง แต่ไม่เคยมีบทบาทในการวางยุทธศาสตร์เลือกตั้งในภาพรวมของพรรคไทยรักไทยเลย หัวใจของการรณรงค์เลือกตั้ง ไม่ใช่เพียงแต่รุกในเขตเลือกตั้ง แต่ต้องรุกเข้าไปในหัวใจประชาชนด้วย ศาสตร์ของการรณรงค์เลือกตั้งยุคใหม่ไม่มีพรรคใดสู้พรรคไทยรักไทยที่สั่งสมมากว่า 10 ปี และส่งผ่านมาถึงพรรคพลังประชาชนได้
- ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มทรุดลงตอนปลายปี พ.ศ. 2550 ก่อนเกิดภาวะราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในกลางปี พ.ศ. 2551 ตลอดจนความรู้สึกของประชาชนต่อการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ส่งผลให้มีการสนับสนุนพรรคพลังประชาชนมากขึ้น
ต่อมาได้เชิญพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลด้วย โดยมี พรรคชาติไทย, พรรคเพื่อแผ่นดิน, พรรคมัชฌิมาธิปไตย, พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา, และ พรรคประชาราช ซึ่งกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เชิญทุกพรรคร่วมรัฐบาล โดยทิ้ง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียว
ผลการเลือกตั้งทั่วไป
[แก้]การเลือกตั้ง | จำนวนที่นั่ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ผลการเลือกตั้ง | ผู้นำเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|
2544 | 0 / 500
|
ไม่ได้รับเลือกตั้ง | กานต์ เทียนแก้ว | ||
2548 | 0 / 500
|
26,855[11] | |||
2549 | 3 / 500
|
305,015 | การเลือกตั้งเป็นโมฆะ | สุภาพร เทียนแก้ว | |
2550 | 233 / 480
|
26,293,456 | 36.63% | พรรคจัดตั้งรัฐบาล | สมัคร สุนทรเวช |
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
[แก้]การเลือกตั้ง | ผู้สมัคร | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ผลการเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|
2543 | พันตำรวจตรี กานต์ เทียนแก้ว | 1,613 | พ่ายแพ้ | |
2547 | การุญ จันทรางศุ | 11,070 | พ่ายแพ้ | |
2551 | ประภัสร์ จงสงวน | 543,488 | 25.19% | พ่ายแพ้ |
ข้อวิพากษ์วิจารณ์
[แก้]นายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะหัวหน้าพรรค
[แก้]การเข้ามาของนายสมัครทำให้เกิดข้อวิจารณ์ในสังคม เนื่องจากแกนนำส่วนหนึ่งของพรรค ถูกมองว่า “ซ้ายจัด” เคยเข้าป่า ร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ขณะที่นายสมัคร เป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ “ขวาสุดขั้ว” โดยนายแพทย์สุรพงษ์ ได้กล่าวถึงข้อวิจารณ์ในกรณีดังกล่าวว่า “ผมว่าคนที่คิดอย่างนี้เป็นคนที่ใช้ประสบการณ์เดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้วมาพูด อุดมการณ์ซ้ายกับขวานั้นเป็นแนวคิดเรื่องการบริหารประเทศในอดีต ที่แยกออกจากกันระหว่างฝ่ายทุนนิยมกับสังคมนิยม แต่ทุกวันนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไป เพราะสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ต้องเดินทางสายกลาง ฉะนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่ยืนยันจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าพื้นเพความคิดจะเป็นซ้ายหรือขวา ถ้ามีจุดยืนที่จะทวงคืนประชาธิปไตยให้กลับสู่บ้านเมืองโดยเร็วที่สุดแล้วละก็ เราพร้อมที่จะร่วมมือ”[12]
และในช่วงก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 สมัครก็มีเรื่องพิพาทกับนักข่าว หลังจากที่ไม่พอใจที่นักข่าวซักไซ้เรื่องการมีอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยร่วมจัดสรรผู้สมัคร สส. สัดส่วนของพรรค จนเกิดวาทกรรมต่อสื่อมวลชนว่า “เมื่อคืนเสพเมถุนมาหรือ” ท่าทีฉุนเฉียวของนายสมัครทำให้เกิดความตึงเครียดกับผู้สื่อข่าวที่อยู่ในห้องแถลง และภายหลังการแถลงข่าวของนายสมัคร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรคถึงกับกล่าวว่ารู้สึกไม่สบายใจที่หัวหน้าพรรคออกมาเช่นนี้ ที่ผ่านมาก็กังวลกับบุคลิกของนายสมัคร ที่พูดจาโผงผางที่จะทำให้คะแนนใน กทม. ร่วงลง แต่นี้มีปัญหากับสื่อซ้ำอีก พวก ส.ส. ยังพูดเลยว่าหัวหน้าดุ ขนาด ส.ส.ถามยังเจอด่ากันถ้วนหน้า[13]
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวหาว่าในพรรคพลังประชาชนมีแก๊งออฟโฟร์ ซึ่งสมาชิกพรรคใช้สื่อถึงบุคคลสี่คนในพรรค ซึ่งอ้างว่าพยายามจะยึดอำนาจภายในพรรค หลังจาก ทักษิณ ชินวัตร ออกนอกประเทศ ได้แก่
- สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค
- ธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายสมัคร
- เนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน
- สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค
รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ
[แก้]วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 มีงานปฐมนิเทศผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของพรรคพลังประชาชน โดยภายในงาน มีการแจกหนังสือวิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ชื่อหนังสือว่า “รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ” เขียนโดย พ.ต.อ.ประจักษ์ศิลป์ สุพรรณเภสัช ซึ่ง พ.ต.อ.ประจักษ์ศิลป์ ชี้แจงว่า ชื่อหนังสือได้นำมาจากเนื้อหาบางส่วนในบทความของ สุจิตต์ วงศ์เทศ และ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนไว้ว่า รัดทำมะนวยปล้นอำนาจประชาชน และ ไอ้พวกทุจริตมันเป็นพวกหัวคูณ คือคิดอะไรแต่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง โดยการคูณ คูณ คูณ คูณ ว่าเป็นเงินเท่าไร โดยนำคำจากทั้งสองบทความ มาสมาสกันเป็นชื่อหนังสือ[14]
ต่อมา น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา และส่งเสริมการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 ได้ออกแถลงการณ์ประณามหนังสือเล่มดังกล่าว ว่าทำให้ผู้อ่านเข้าใจรัฐธรรมนูญ ที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไปในทางที่ไม่สุภาพ (ผวนแล้วเป็นคำหยาบ) [15]
การกล่าวโทษและการลาออก
[แก้]รัฐบาลอายุ 5 เดือนของนายสมัคร สุนทรเวช ตกที่นั่งลำบากในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 หลังจากนายนพดล ปัทมะ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาออกจากตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคและประธานสภาผู้แทนราษฎรคือนายยงยุทธ ติยะไพรัช ถูกห้ามเล่นการเมืองเป็นเวลา 5 ปี หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาข้อหาซื้อเสียง จากนั้น นายไชยา สะสมทรัพย์ ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะปกปิดทรัพย์สินของภรรยา
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมว่านายนพดล ปัทมะ และคณะรัฐมนตรีทั้งหมดกระทำการโดยไม่ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาสำหรับข้อตกลงทวิภาคีกับกัมพูชา โดยนายนพดลในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามในข้อตกลงเมื่อเดือนมิถุนายนเพื่อสนับสนุนกัมพูชาในการขอสถานะมรดกโลกสำหรับปราสาทพระวิหารอายุ 900 ปี[16] พรรคฝ่ายค้านยื่นคำร้องต่อรองประธานวุฒิสภานายนิคม ไวยรัชพานิช ให้ถอดถอนนายนพดล ปัทมะ ประเด็นปราสาทพระวิหาร ซึ่งนายนพดลถูกกล่าวหาว่าทำผิดมาตรา 190 และมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติไม่ไว้วางใจก่อนที่นายนพดลจะลงจากตำแหน่ง[17]
การเปลี่ยนตัวผู้เสนอชื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
[แก้]จากการสัมภาษณ์ของ ศุภชัย ใจสมุทร อดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชน ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552 ความว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ สมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้ติดต่อ เนวิน ชิดชอบ ว่า ขอให้แจ้งกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคว่า ให้สนับสนุนนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เนวินจึงแจ้งกับ สส. พรรค และให้มีการติดต่อไปหาสมัครให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยสมัครตอบตกลงในอีก 3 วันต่อมา[18]
วันที่ 12 กันยายน เมื่อถึงเวลาประชุมสภา ซึ่งจะมีการตกลงให้มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง กลับมีแต่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนกลุ่มเพื่อนเนวิน และพรรคประชาธิปัตย์มาประชุม ไม่มี ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆเลย ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนั้นได้[19] โดยมีการกล่าวอีกว่า ในวันนั้นได้มีบุคคลไปประสานกับพรรคร่วมรัฐบาลว่า อย่าได้ไปสภา ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ หลังจากนั้น การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย กันยายน พ.ศ. 2551 พรรคพลังประชาชนเสนอชื่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน[20] สร้างความไม่พอใจให้กับ สส. กลุ่มเพื่อนเนวินอย่างมาก
ยุบพรรค
[แก้]2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชาชน รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคเป็นจำนวน 37 คน มีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญคำสั่งให้ยุบพรรค
ตุลาการรัฐธรรมนูญ ระบุว่ากรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคกระทำการฝ่าฝืนและขัดต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต และได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่พรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ต้องร่วมรับผิดชอบ
ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคำแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น เนื่องจากนายยงยุทธ เป็นนักการเมืองหลายสมัย มีฐานะเป็นถึงรองหัวหน้าพรรค และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ย่อมต้องเพิ่มความเข้มงวดที่จะไม่กระทำการใดๆ อันฝ่าฝืนกฎหมาย แต่นายยงยุทธ ติยะไพรัช กลับกระทำผิดเสียเอง
นอกจากนี้กรณีที่พรรคพลังประชาชนโต้แย้งว่าได้จัดการประชุมชี้แจงเพื่อกำชับไม่ให้ผู้สมัครของพรรคกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งแล้วก็ตามนั้น ศาลเห็นว่าแม้พรรคจะมีการกระทำดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดในการที่กรรมการบริหารพรรคจะไปกระทำผิดเอง เพราะทำให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้มีผลบังคับใช้
ส่วนที่มีข้อโต้แย้งว่าผลการสืบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ละเมิดสิทธิและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมนั้น ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า กกต.มีหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาล และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายมาอย่างถูกต้องแล้ว
ภายหลังการยุบพรรค
[แก้]สส. ของพรรคที่ยังเหลืออยู่ได้ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย แต่ขณะเดียวกันก็มี สส.บางส่วนที่ไม่ได้ย้ายตามไป แต่ไปสังกัดพรรคอื่น ดังนี้
- พรรคภูมิใจไทย 22 คน (กลุ่มเพื่อนเนวิน)
- พรรคเพื่อแผ่นดิน 5 คน
- พรรคกิจสังคม 4 คน
- พรรคมาตุภูมิ 3 คน
- พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคพลังประชาชน
- ↑ Thaksin's legal advisor to join People Power party, People's Daily, July 30, 2007
- ↑ Ex-TRT MPs join little-known party เก็บถาวร 2007-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Nation (Thailand), July 29, 2007
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน
- ↑ People Power to elect Samak as new leader on August 22 เก็บถาวร 2009-04-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Nation (Thailand), August 2007
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน
- ↑ ไทยรัฐ, สรุปรวม พรรคไม้ประดับ แย่งที่นั่ง ทรท.ได้ถึง 9 เขต เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ คมชัดลึก, ตัดสิทธิ์ผู้สมัครสส.พรรคเล็ก สงขลา 3 คนเมืองคอน 2 ราย เก็บถาวร 2008-12-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ “หมอเลี๊ยบ” เผย 4 สาเหตุ “เพื่อแผ่นดิน-มัชฌิมา” แพ้ยับในสนามเลือกตั้ง 50
- ↑ "ข้อมูลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปี พ.ศ. 2548 - Open Government Data of Thailand". data.go.th.[ลิงก์เสีย]
- ↑ ฐากูร บุนปาน, คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12, ลืมได้?, นสพ.มติชน, 8 สิงหาคม 2550
- ↑ "คำต่อคำ : "หมัก" โชว์ภาวะผู้นำ! ถูกสื่อซักลั่นคำ "เมื่อคืนเสพเมถุนมาหรือ"". mgronline.com. 2007-11-09.
- ↑ มติชน, สนช.ประณาม พปช.แจก 'รัดทำมะนวยฯ' นศ.พระปกเกล้าแถลงสั่งสอนวัฒนธรรม, นสพ.มติชน, 15 พฤศจิกายน 2550
- ↑ ไทยรัฐ, “ประสงค์” ฉุนรัฐธรรมนูญถูกลบหลู่, นสพ.ไทยรัฐ, 16 พฤศจิกายน 2550
- ↑ afp.google.com, Thai government in disarray as foreign minister resigns เก็บถาวร 2008-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ nationmultimedia.com, Noppadon impeached by the Opposition เก็บถาวร 2008-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ""หมอเลี้ยบ"เรียกประชุม พปช.ด่วนเย็นนี้หลัง"สมัคร"ตอบรับเสนอชื่อนายกฯ". ryt9.com.
- ↑ รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 (เป็นพิเศษ) วันที่ 12 กันยายน 2551
- ↑ "ฉากสุดท้ายของ สมัคร สุนทรเวช อาสาทักษิณจนตัวตาย". mgronline.com. 2009-11-25.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เก็บถาวร 2007-12-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน