ปู่เจ้าลาวจก
ปู่เจ้าลาวจก ลาวจง หรือ ลวจักราช เป็นต้นราชวงศ์ของพญามังราย[1] (เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ลาว) ปรากฏอยู่ในตำนานหลายฉบับ เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเมืองพะเยา ตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน พงศาวดารโยนก ฯลฯ
เนื้อหาตำนาน
[แก้]ปู่เจ้าลาวจกเป็นผู้นำชาวลัวะ มีที่ตั้งถิ่นฐานเดิมอยู่ดอยตุง ดังความว่า "หัวหน้าชนเผ่าละว้าเรียกกันว่า ปู่เจ้าลาวจก หรือ ลาวจังกราช ผู้มีถิ่นกำเนิดอยู่แถวดอยตุง หรือ ดอยเกตุบรรพต ราว พ.ศ. 430" บรรดากษัตริย์ละว้าชาติพันธุ์มีการสืบราชวงศ์ต่อมาจนถึงพญามังราย กษัตริย์ลำดับที่ 25 ของลวจักรราช ต่อมาได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ เป็นอาณาจักรล้านนา[2]
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า เมื่อพระเจ้าอนุรุทธแห่งพุกาม ประชุมกษัตริย์เมืองต่าง ๆ เพื่อตั้งศักราชใหม่ ปรากฏว่าพวกลุ่มน้ำกกหามีกษัตริย์ไม่ พระอินทร์จึงส่งลาวจงเทวบุตร ก่าย "เกินเงิน" (บันไดเงิน) แต่จอมเขายุคุนธร มาสู่บริเวณดอยตุงที่ต้นไม้หมากขะทัน พร้อมบริวารหนึ่งพันคน ลาวจงเทวบุตรมายืนบนแท่นเงินใต้ต้นหมากขะทัน (พุทรา) แล้วกลายเพศจากเทวดา โอปปาติกะเป็นมนุษย์เหนือแท่นเงินนั้น ชาวเมืองจึงยกให้เป็นปฐมกษัตริย์พระองค์แรก บ้างว่าเป็นหัวหน้าชนชาติไทที่อพยพมาจากแคว้นจก (ทางตอนใต้ของจีน) เดิมทีเรียกขานกันว่า "ปู่เจ้าลาวจก" คือเป็นผู้มีจอบมาก (จกหมายถึงจอบ) และได้ให้ประชาชนทั่วไปเช่าจอบเพื่อทำนา
ในตำนานที่เกี่ยวข้องกับดอยตุงระบุว่า ปู่เจ้าลาวจกมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาถวายข้าวใส่บาตรให้แด่พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพระองค์เสด็จผ่านมายังบริเวณดอยดินแดงหรือดอยตุงแห่งนี้[3]
ต่อมาปู่เจ้าลาวจกได้ส่งโอรสไปครองเมืองต่าง ๆ ทั้งเมืองเชียงของ เมืองยอง เมืองเชียงลาว และเมืองเงินยาง (หิรัญนครเงินยางหรือเชียงแสน ที่เป็นที่ประสูติของพญามังราย)[4]
สถานที่อันเนื่องในตำนาน
[แก้]ดอยสามเส้าหรือดอยสามยอด ประกอบด้วยดอยทา เป็นทางขึ้นลงซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มลาวจกกับพวกชาวเมืองที่ราบดอยตุง ดอยย่าเถ้า ที่อยู่ภรรยาปู่เจ้าลาวจก ดอยดินแดงเป็นที่อยู่ปู่เจ้าลาวจก ภายหลังคือดอยตุง[5] ภายหลังดอยสามเส้านี้ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ดอยนางนอน"
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "เลี้ยงผีบ่อเหล็ก". สำนักการสังคีต.
- ↑ นิคม พรหมมาเทพย์. ลัวะล้านนาโลกาภิวัฒน์ (PDF). แม็กซ์พริ้นติ้ง (มรดกล้านนา). p. 12.
- ↑ พนมกร นวเสลา. "รายการ "อดีตในอนาคต" ตอนที่ ๑๖ ภูสามเส้า". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
- ↑ "วงศ์ลวจังกราชกับพญามังรายและพญางำเมือง".
- ↑ "ค้นร่องรอยภูสามเส้าหรือดอยนางนอน กับตำนานปู่จ้าวลาวจก". ศิลปวัฒนธรรม.