ปลานิล
ปลานิล/ปลาหมอ | |
---|---|
พันธุ์ป่า (บน), พันธุ์เพาะเลี้ยง (น่าจะเป็นพันธุ์ผสม; ล่าง) | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | ปลาที่มีก้านครีบ Actinopterygii |
อันดับ: | Cichliformes |
วงศ์: | Cichlidae |
สกุล: | ปลานิล (สกุล) (Linnaeus, 1758) |
สปีชีส์: | Oreochromis niloticus |
ชื่อทวินาม | |
Oreochromis niloticus (Linnaeus, 1758) | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลานิล (ชื่อวิทยาศาสตร์: Oreochromis niloticus) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) เป็นปลาเศรษฐกิจ แพร่ขยายพันธุ์ง่าย และมีรสชาติดี เดิมพบในแอฟริกาตอนเหนือและพื้นที่ลิแวนต์ เช่น อิสราเอลและเลบานอน[2] และยังมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจำนวนมากนอกพื้นที่ดั้งเดิม[1][3]
ถิ่นกำเนิด
[แก้]ปลานิลสามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่แม่น้ำไนล์ ทวีปแอฟริกา พบทั่วไปตามหนอง บึง และทะเลสาบในประเทศซูดาน, ยูกันดา และทะเลสาบแทนกันยีกา ปลานิลนำเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ซึ่งทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 จำนวน 50 ตัว ครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อนํ้าภายในสวนจิตรลดา เป็นหนึ่งโครงการในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
ผลการทดลองปรากฏว่าปลานิลที่โปรดเกล้าให้ทดลองเลี้ยงได้เจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ต่อมาจึงได้พระราชทานชื่อว่า ปลานิล (โดยมีที่มาจากชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Tilapia nilotica) ส่วนในสื่อมวลชนญี่ปุ่นกล่าวถึงที่มาของชื่อปลานี้ว่า นิล มาจากตัวอักษรคันจิตัวหนึ่งในพระนามอากิฮิโตะ คือตัว 仁 ตัวอักษรนี้ในภาษาญี่ปุ่นมีวิธีอ่านสองแบบคือฮิโตะหรือนิน[4]
และพระราชทานพันธุ์ปลาดังกล่าวให้กับกรมประมงจำนวน 10,000 ตัว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 เพื่อนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่พสกนิกร เนื่องจากปลานิลมีคุณลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น กินอาหารได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ, ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์น้ำเล็ก ๆ มีขนาดลำตัวใหญ่ ความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร แพร่ขยายพันธุ์ง่าย และมีรสชาติดี
ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงและแพร่ขยายพันธุ์ปลานิลในบ่อสวนจิตรลดาต่อไป ในทางวิชาการเรียกสายพันธุ์ปลานิลดังกล่าวว่า ปลานิลจิตรลดา ซึ่งยังคงเป็นปลานิลสายพันธุ์แท้ที่ประเทศไทยได้รับจากพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ลักษณะทั่วไป
[แก้]ปลานิลมีเป็นรูปร่างคล้ายปลาหมอเทศ (O. mossambicus) แตกต่างกันที่ปลานิลมีลายสีดำและจุดสีขาวสลับกันไป บริเวณครีบหลัง ครีบก้นและลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล มีลายดำพาดขวางตามลำตัว ปลานิลสามารถมีความยาวถึง 60 ซm (24 in)[2] และมีน้ำหนักถึง 5 kg (11 lb)[5] ปลาเพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าและโตเร็วกว่าเพศเมีย[5]
อาหาร
[แก้]ปลานิลกินอาหารได้หลากหลาย เช่น ไรน้ำ, ตะไคร่น้ำ, ตัวอ่อนของแมลง, กุ้งฝอย,สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ตลอดจนพืชผักชนิดต่างๆ
นิสัย
[แก้]ปลานิลมีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง (ยกเว้นเวลาสืบพันธุ์) มีความอดทนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี จากการศึกษาพบว่าปลานิลทนต่อความเค็มได้ถึง 20 ส่วนในพัน ทนต่อค่าความเป็นกรด–ด่าง (pH) ได้ดีในช่วง 6.5–8.3 และสามารถทนต่ออุณหภูมิได้ถึง 40 องศาเซลเซียส แต่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส พบว่าปลานิลปรับตัวและเจริญเติบโตได้ไม่ดีนัก ทั้งนี้เป็นเพราะถิ่นกำเนิดเดิมของปลาชนิดนี้อยู่ในเขตร้อน
การสืบพันธุ์
[แก้]ปลานิลสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี โดยใช้เวลา 2–3 เดือนต่อครั้ง แต่ถ้าอาหารเพียงพอและเหมาะสม ในระยะเวลา 1 ปี จะผสมพันธุ์ได้ 5–6 ครั้ง โดยตัวผู้จะใช้บริเวณหน้าผากดุนที่ใต้ท้องของตัวเมีย เพื่อเป็นการกระตุ้นและเร่งเร้าให้ตัวเมียวางไข่ ปลาตัวเมียจะวางไข่ออกมาครั้งละ 10 หรือ 12 ฟอง ในขณะเดียวกันปลาตัวผู้ก็จะว่ายคลอคู่เคียงกันไปพร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่นั้น ทำอยู่เช่นนี้จนกว่าการผสมพันธุ์จะแล้วเสร็จ
ไข่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อแล้วปลาตัวเมียจะเก็บไว้ฟัก โดยวิธีอมไข่เข้าไว้ในปาก แล้วว่ายออกจากรังไปยังบริเวณก้นบ่อที่ลึกกว่า ส่วนตัวผู้ก็จะคอยหาโอกาสเวียนว่ายไปเคล้าเคลียกับตัวเมียอื่น ๆ ต่อไป แม่ปลานิลจะอมไข่ไว้ในปากเป็นเวลา 4–5 วัน ไข่จะเริ่มฟักออกเป็นตัว ลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ ๆ จะอาศัยอาหารจากถุงอาหารธรรมชาติซึ่งติดอยู่ที่ท้อง ขณะเดียวกันแม่ปลายังคงต้องอมลูกปลาอยู่ต่อไป จนกระทั่งถุงอาหารธรรมชาติของลูกปลายุบหายไป
หลังจากฟักออกเป็นตัวแล้วประมาณ 3–4 วัน แม่ปลาก็จะคายลูกปลาให้ว่ายออกมาจากปาก ลูกปลาในระยะนี้สามารถกินอาหารจำพวกพืชและไรน้ำเล็ก ๆ ซึ่งมีอยู่ในน้ำ โดยจะว่ายวนเวียนอยู่ที่บริเวณหัวของแม่ปลา และจะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในช่องปากเมื่อต้องการหลบหลีกอันตราย โดยลูกปลาจะเข้าทางปากหรือช่องเหงือก หลังจากลูกปลามีอายุ 1 สัปดาห์ จึงจะเลิกหลบเข้าไปซ่อนในช่องปากของแม่ แต่แม่ปลาก็ยังคอยระวังศัตรูให้ โดยว่ายวนเวียนอยู่ใกล้บริเวณที่ลูกปลาหาอาหารกินอยู่ ปลานิลจะรู้จักวิธีหาอาหารกินได้เองเมื่อมีอายุได้ 3 สัปดาห์ และมักจะว่ายกินอาหารรวมกันเป็นฝูง
ปลาเศรษฐกิจ
[แก้]การเพาะพันธุ์ปลานิลในประเทศไทยเริ่มมีการบันทึกสถิติในปี พ.ศ. 2517 นับจากนั้นมา ปลานิลหน้าฟาร์มได้สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไม่น้อยกว่า 107,000 ล้านบาท จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการผลิตปลานิลไม่น้อยกว่า 220,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าหน้าฟาร์ม 12,000 ล้านบาท ปลานิลยังเป็นปลาน้ำจืดเพื่อการส่งออกที่มีศักยภาพสูงกว่าปลาชนิดอื่น นอกจากนี้แล้ว ปลานิลยังเป็นปลาที่ชาวไทยบริโภคกันมากที่สุดแล้ว ยังทำให้เกิดการมีงานทำแก่ประชาชนมากกว่าล้านคนในฟาร์มปลานิลที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 300,000 แห่งทั่วประเทศ
ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังส่งออกปลานิลไปยังตลาดต่างประเทศทั้งในยุโรป, ตะวันออกกลาง, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย และเอเชีย ในปี พ.ศ. 2551 ตลาดสหภาพยุโรปกลายเป็นตลาดอันดับ 1 ของปลานิล คิดเป็นปริมาณส่งออก 7,758.98 ตัน รองลงมาคือ ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง มีปริมาณการส่งออก 5,583.91 ตัน ส่วนตลาดสหรัฐฯอยู่ในลำดับที่ 3 มีปริมาณ 4,786.27 ตัน คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกปลานิลไทยไปยังประเทศต่างๆในสหภาพยุโรปมากที่สุดถึงร้อยละ 40 รองลงมาคือ สหรัฐฯร้อยละ 37 ส่วนประเทศในแถบตะวันออกกลางมีสัดส่วนราวร้อยละ 15 ของการส่งออกรวม โดยทำการส่งออกทั้งหลายรูปแบบทั้งปลานิลสด, ปลานิลที่ยังมีชีวิต และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
ในปี พ.ศ. 2549 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่า ประเทศไทยสามารถผลิตปลานิลได้เป็นอันดับที่ 4 ของภูมิภาคเอเชีย รองลงมาจากประเทศจีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย[6]
การพัฒนาสายพันธุ์
[แก้]- ปลานิลแดง เป็นการพัฒนาสายพันธุ์จากปลานิลธรรมดา ๆ โดยนำไปผสมข้ามสายพันธุ์กับปลาหมอเทศ[6] ของศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดของจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดขอนแก่น โดย ดร.ปกรณ์ อุ่นประเสริฐ ได้ปลาที่มีลักษณะเป็นปลาที่มีสีขาวอมแดง จึงขึ้นทูลเกล้าฯถวาย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และได้รับการพระราชทานนามว่า "ปลานิลแดง" มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522
- ปลาทับทิม เป็นการพัฒนาสายพันธุ์โดย เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ บริษัท ซีพี ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน จนได้ปลานิลสายพันธุ์ใหม่ที่อดทน สามารถเลี้ยงได้ดีในน้ำกร่อยได้ เนื้อแน่นมีรสชาติอร่อยกว่าปลานิลธรรมดา เนื่องจากมีสีขาวอมแดงเรื่อ ๆ คล้ายทับทิม จึงได้รับการพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า "ปลาทับทิม"[7]
- ปลานิลซูเปอร์เมล หรือ ปลานิลเพศผู้ GMT เป็นการพัฒนาสายพันธุ์จนได้ปลาเพศผู้ทั้งหมด โดยทำการดัดแปลงโครโมโซม ซึ่งปลานิลซูเปอร์เมลให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าปลานิลทั่วไป[8]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Diallo, I.; Snoeks, J.; Freyhof, J.; Geelhand, D.; Hughes, A. (2020). "Oreochromis niloticus". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T166975A134879289. doi:10.2305/IUCN.UK.2020-3.RLTS.T166975A134879289.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
- ↑ 2.0 2.1 Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2015). "Oreochromis niloticus" in FishBase. November 2015 version.
- ↑ Azevedo-Santos, V.M.; O. Rigolin-Sá; and F.M. Pelicice (2011). "Growing, losing or introducing? Cage aquaculture as a vector for the introduction of non-native fish in Furnas Reservoir, Minas Gerais, Brazil". Neotropical Ichthyology. 9 (4): 915–919. doi:10.1590/S1679-62252011000400024.
- ↑ เกตุวดี (24 ตุลาคม 2559). "ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างในหลวง ร.๙ กับจักรพรรดิญี่ปุ่น". marumura. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 5.0 5.1 Nico, L.G.; P.J. Schofield; M.E. Neilson (2019). "Oreochromis niloticus (Linnaeus, 1758)". Food and Agriculture Organization, United Nations. สืบค้นเมื่อ 5 November 2019.
- ↑ 6.0 6.1 หน้า 8 ข่าวเศรษฐกิจไทยรัฐ, ในหลวงผู้ทรงงานหนักตลอดการครองราชย์ 70 ปี โดย ทีมเศรษฐกิจ. ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21356: วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก
- ↑ รายการเพื่อนเกษตร เช้าข่าวเจ็ดสี ทางช่อง 7: วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554
- ↑ "การทดลองเพาะเลี้ยงปลานิลเพศผู้ GMT". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-29. สืบค้นเมื่อ 2011-09-13.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- View the oreNil2 genome assembly in the UCSC Genome Browser.
อ่านเพิ่ม
[แก้]- "Oreochromis niloticus". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ 11 March 2006.
- Bardach, J.E.; Ryther, J.H. & McLarney, W.O. (1972): Aquaculture. the Farming and Husbandry of Freshwater and Marine Organisms. John Wiley & Sons.