นามสกุล
มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง |
นามสกุล คือ ชื่อบอกตระกูล (หรือสกุล) เพื่อแสดงที่มาของบุคคลนั้น ๆ ว่ามาจากครอบครัวไหน ตระกูลใด ธรรมเนียมการใช้นามสกุลปรากฏอยู่ทั่วไปในหลาย ๆ ประเทศและวัฒนธรรม ซึ่งในแต่ละที่ก็อาจจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป
ในหลาย ๆ วัฒนธรรม (เช่น ทางตะวันตก ตะวันออกกลาง และในทวีปแอฟริกา) นามสกุลจะอยู่ในลำดับหลังสุดของชื่อบุคคล แต่ในบางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม) นามสกุลจะอยู่ในลำดับแรก ส่วนนามสกุลของไทยจะอยู่เป็นลำดับสุดท้ายเหมือนทางตะวันตก
ในบางวัฒนธรรม จะใช้นามสกุลในการเรียกขานในโอกาสที่เป็นทางการ เช่น บารัก โอบามา (Barack Obama) จะถูกเรียกว่า คุณโอบามา (Mr. Obama) ไม่ใช่ คุณบารัก เป็นต้น
นามสกุลในประเทศไทย
[แก้]ก่อนหน้านี้ กฎหมายไทยกำหนดให้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว จะต้องเปลี่ยนมาใช้นามสกุลสามี แต่ในปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ขาดให้ผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกใช้นามสกุลของตัวเองหรือของสามีได้ ซึ่งถือเป็นการให้สิทธิแก่สตรีตรงตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 30 ระบุไว้
เดิมทีคนไทยไม่ได้มีนามสกุล[1] จะมีเพียงชื่อเรียกเท่านั้น ในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลเหมือนกับประเทศอื่น ๆ โดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 และมีการพระราชทานนามสกุลให้แก่หลายครอบครัวที่เรียกว่า นามสกุลพระราชทานจำนวน 6,432 นามสกุล และหลายครอบครัวก็ตั้งนามสกุลตามชื่อของผู้นำของครอบครัวนั้น หรือตามถิ่นที่อยู่อาศัยของครอบครัวนั้น นามสกุลแรกของประเทศไทย คือ สุขุม
รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลไว้ทั้งหมด 6,464 นามสกุล แบ่งเป็น
- นามสกุลตามสมุดทะเบียน 6,439 นามสกุล (ในสมุดทะเบียนลงลำดับที่นามสกุลที่ได้พระราชทานไปเพียง 6,432 นามสกุล)
- นามสกุลพิเศษ 1 นามสกุล คือ นามสกุล ณ พิศณุโลก[2]
- นามสกุลสำหรับราชสกุลรัชกาลที่ 4 อีก 24 นามสกุล เช่น กฤดากร เกษมศรี จักรพันธุ์ จิตรพงศ์ ชุมพล ทวีวงศ์ ทองแถม ดิศกุล เทวกุล ศรีธวัช สวัสดิกุล
เมื่อมีพระราชบัญญัติขนามนามสกุลฯ ขึ้น ราษฎรไทยจึงต้องตั้งนามสกุลสำหรับใช้ในครอบครัวหรือตระกูลของตน โดยมีความนิยมหลายอย่างด้วยกัน ดังนี้
- ตั้งตามชื่อของบรรพบุรุษ (ปู่ ย่า ตา ยาย)
- ข้าราชการที่มีราชทินนาม มักจะนำราชทินนามมาตั้งเป็นนามสกุลของตน เช่น หลวงพิบูลสงคราม (แปลก) ใช้นามสกุล "พิบูลสงคราม"
- ตั้งตามสถานชื่อตำบลที่อยู่อาศัย
- ชาวไทยเชื้อสายจีนอาจแปลความหมายจากนามสกุลของตน หรือใช้คำว่าแซ่นำหน้าชื่อสกุล หรือใช้ชื่อสกุลนำหน้า หรือสอดแทรกไว้ในนามสกุล
- หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ใช้นามราชสกุลของตนเป็นนามสกุล แต่ลูกของหม่อมหลวงและต่อไปเป็นหลาน เหลน ใช้นามราชสกุลโดยลำพังไม่ได้ ต้องมีคำว่า "ณ อยุธยา" ต่อท้าย สำหรับเชื้อพระวงศ์[ต้องการอ้างอิง]
พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อสกุลไว้ว่า มาตรา ๘ ชื่อสกุลต้อง
- (๑) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี
- (๒) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน
- (๓) ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
- (๔) ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
- (๕) มีพยัญชนะไม่เกินกว่าสิบพยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล
นามสกุลในประเทศอื่น ๆ
[แก้]- ในประเทศเกาหลี กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม โปแลนด์ รัสเซีย และฮังการี มักเขียนนามสกุลนำหน้าชื่อตัว
- สเปน ใช้สองนามสกุล ทั้งนามสกุลของพ่อและนามสกุลของแม่
- โปรตุเกส ใช้สองนามสกุล ทั้งนามสกุลของแม่และนามสกุลของพ่อ
- เอกสารในบางประเทศที่ใช้อักษรละติน บางครั้งจะใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ สำหรับชื่อนามสกุล เพื่อป้องกันการสับสนว่าชื่อหรือนามสกุล เช่น TORIYAMA Akira
- ในบางประเทศ โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และประเทศตะวันตก เมื่อต้องเรียกขานบุคคลที่ไม่รู้จักกันมาก่อน มักจะเรียกด้วยนามสกุลเพื่อความสุภาพ สำหรับคนที่สนิทมากขึ้นอาจจะเรียกชื่อตัวหรือชื่อเล่นแทนนามสกุล
ดูเพิ่ม
[แก้]- นามสกุลที่นิยมใช้
- ราชสกุล
- ธเนศ วงศ์ยานนาวา. "การสอดส่องดูแลเด็กกับครอบครัวจินตกรรมในประเทศไทย: จากนามสกุลสู่รักทางอารมณ์." แปลโดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์. ใน พิพัฒน์ พสุธารชาติ (บก.), ครอบครัวจินตกรรม: บทวิพากษ์ว่าด้วยชุมชน การปกครอง และรัฐ. น. 33-79. กรุงเทพฯ: Illuminations, 2561.
ข้อมูลแหล่งอ้างอิง
[แก้]- การเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล เก็บถาวร 2006-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข้อมูลโดยกรุงเทพมหานคร
- ตรวจสอบรายการทะเบียนชื่อสกุลออนไลน์ เก็บถาวร 2017-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คนไทยดอตคอม
แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
[แก้]- ↑ บันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องโฉนดที่ดิน แสดงถึงการใช้นามสกุล ในสมัยรัชกาลที่ 5 ของสกุล “ เฉลยโชติ ”[ลิงก์เสีย]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานนามสกุลพิเศษ, เล่ม ๓๐, ตอน ๐ ง, ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๘๓๒