นครราช
នគររាជ | |
ชื่ออื่น | นครราช (ถอดตามรูปอักษรเขมร) |
---|---|
เนื้อร้อง | สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ), พ.ศ. 2484 |
ทำนอง | พระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต, F. Perruchot และ J. Jekyll, พ.ศ. 2481 |
รับไปใช้ | พ.ศ. 2484 |
รับไปใช้ใหม่ | พ.ศ. 2518 21 กันยายน พ.ศ. 2536 |
เลิกใช้ | พ.ศ. 2512 พ.ศ. 2519 |
นครราช (เขมร: នគររាជ นครราช [โนโกเรียจ]) เป็นชื่อของเพลงชาติกัมพูชาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ มีความหมายว่า เมืองของพระเจ้าแผ่นดิน ทำนองของเพลงประพันธ์ขึ้นโดยอาศัยทำนองของเพลงเขมรโบราณที่มีชื่อเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2481 โดยพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต (เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จกรมขุนวิสุทธิ์ขัตติยวงศ์ นโรดม สุรามฤต - พระนามเดิมก่อนหน้านั้นคือ นักองเจ้า (หม่อมเจ้า) นโรดม สุรามฤต) ร่วมกันกับครูเพลงชาวฝรั่งเศส 2 คน คือ F. Perruchot และ J. Jekyll ส่วนเนื้อร้องประพันธ์ขึ้น ภายหลังการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เสร็จสิ้นไปได้ไม่เกิน 3 เดือน (ราชาภิเษกเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2484) และสำเร็จเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 โดยสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ) สมเด็จพระสังฆราชในคณะสงฆ์มหานิกาย แต่ครั้งยังเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์[1]
ประวัติ
[แก้]"นครราช" มีต้นตอจากกวีพื้นเมืองเขมรที่มักขับร้องด้วยจะเป็ยในสมัยโบราณเพื่อเล่าตำนานและพูดถึงเหตุการณ์ล่าสุด[2][3]
เพลงนครราชเริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2484 ในฐานะเพลงสรรเสริญพระบารมี (Royal anthem) ตั้งแต่กัมพูชาตกในอาณารักขาของฝรั่งเศส ในช่วงแรกนั้นเพลงนครราชมักบรรเลงในโอกาสสำคัญในราชวงศ์เป็นส่วนใหญ่ เพลงนครราชมีทำนองที่คล้ายกับเพลงชาติญี่ปุ่น "คิมิงาโยะ" สันนิษฐานว่าราชสำนักกัมพูชาอาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากราชสำนักญี่ปุ่นที่ทั้งสองราชวงศ์มีความเป็นมาที่ยาวนาน ซึ่งทางครูชาวฝรั่งเศสได้ช่วยกันแต่งทำนองขึ้นใหม่และได้รับการปรับเป็นเนื้อร้องภาษาเขมรโดยพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต เพลงนครราชได้รับการบรรเลงในโอกาสสำคัญ 2 ครั้งได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต
เมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2496 เป็นช่วงราชอาณาจักรกัมพูชาภายใต้การนำของพรรคสังคมราษฎรนิยมของพระนโรดม สีหนุ ในสมัยนี้กัมพูชาได้นำหลักการเชื้อชาตินิยมเขมร นิยมในพระมหากษัตริย์และศาสนาพุทธ ควบคู่ไปกับการใช้สังคมนิยมในความเป็นอยู่และเศรษฐกิจ เพลงนครราชเริ่มใช้เป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการ จึงได้รับการเน้นย้ำอย่างสำคัญในฐานะเพลงชาติของอาณาจักร
ต่อมาใน พ.ศ. 2512 เมื่อนายพลลน นลล้มรัฐบาลของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ และสถาปนาสาธารณรัฐเขมรขึ้นแทนที่ เพลงนครราชจึงถูกยกเลิกฐานะของเพลงชาติไป
ต่อมาเมื่อรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรล่มสลายในปี พ.ศ. 2518 จนถึงยุคเขมรแดงของพอล พต เนื่องจากพระนโรดม สีหนุได้ทรงร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิวนิสต์กัมพูชาทำให้สัญลักษณ์ต่างของระบอบกษัตริย์เขมร ซึ่งรวมถึงเพลงนครราชได้ถูกฟื้นฟูขึ้นมาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ จนถึง พ.ศ. 2519 เมื่อเขมรแดงประกาศจัดตั้งรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย ได้มีการใช้เพลงสิบเจ็ดเมษามหาโชคชัยเป็นเพลงชาติแทน ส่วนเพลงนครราชถูกยกเลิกฐานะเพลงชาติอีกครั้งต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี
เมื่อสิ้นสุดยุคเขมรแดงด้วยสาเหตุจากความผันผวนทางการเมืองภายในประเทศ ได้มีการฟื้นฟูราชอาณาจักรกัมพูชาและสถาบันพระมหากษัตริย์อีกครั้ง จนกระทั่งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคฟุนซินเปก (FUNCINPEC) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวนิยมกษัตริย์ (นิยมเจ้า) ที่ชนะการเลือกตั้งภายใต้ควบคุมโดยสหประชาชาติใน พ.ศ. 2534 เพลงนครราชก็ได้รับการรับรองเป็นเพลงชาติอีกครั้งมาจนถึงปัจจุบัน
เพลงนครราชได้ถูกบรรเลงด้วยดนตรีพื้นเมืองเขมรโบราณล้วนโดยไม่ใช้เครื่องดนตรีตะวันตกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน (เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมพรรษา 51 พรรษา เดือนตุลาคม พ.ศ. 2547) ซึ่งได้มีการถ่ายทอดสดการบรรเลงเพลงนครราชทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุทั่วประเทศ
เนื้อร้องของเพลงนครราชมีอยู่ 3 บท แต่เวลาร้องในประเทศกัมพูชา จะนิยมร้องบทแรกเป็นหลัก สำหรับการออกอากาศผ่านสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ในเวลา 07:00 น. และ 17:00 น. ของทุกวัน นั้น จะเป็นรูปแบบขับร้องบทแรก แต่ในบางกรณี เช่น การปิดสถานีประจำวันของบางสถานี จะเป็นรูปแบบขับร้องครบทั้งสามบท
เนื้อร้อง
[แก้]โปรดทราบ! เนื้อหาในส่วนนี้มีอักษรเขมร จำเป็นต้องใช้ฟอนต์อักษรเขมรในการแสดงผล ท่านสามารถดาวน์โหลดฟอนท์อักษรเขมรได้ ที่นี่ เก็บถาวร 2020-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
อักษรเขมร | ถอดอักษร | คำอ่าน | ถ่ายเสียงด้วยอักษรโรมัน |
---|---|---|---|
บทที่ 1 | |||
សូមពួកទេព្ដា |
สูมพวกเทพฺฎา |
โซม ปวก เตฝดา |
Som pouk tepda |
บทที่ 2 | |||
ប្រាសាទសីលា |
บฺราสาทสีลา |
ปราสาต เซ็ยลา |
Prasath séla |
บทที่ 3 | |||
គ្រប់វត្តអារាម |
คฺรบ̍วตฺตอาราม |
กรุป ว็อต อาราม |
Kroup vath aram |
คำแปล
[แก้]คำปริวรรตภาษาเขมร | คำแปลภาษาไทย | คำอธิบาย |
---|---|---|
บทที่ 1 | ||
๏ สรวมพวกเทพดา
รักษามหากษัตริย์เยิง อวยบานรุ่งเรือง โดยไชยมงคลศรีสวัสดี เยิงขยมพระองค์ สรวมชรอกโซรมมลฺบพระบารมี ในพระนรบดี วงศ์กษัตราเดิลสร้างปราสาทถมอ ครอบครองแดนแขมร์ บุราณเถกิงถกานฯ |
๏ ขอปวงเทพดา
รักษามหากษัตริย์เรา ให้ได้รุ่งเรือง โดยชัยมงคลศรีสวัสดี เราข้าพระองค์ ขอจำนงอยู่ใต้มูลพระบารมี ในพระนฤบดี ครอบครองดินแดนเขมร โบราณเถกิงถกลฯ |
ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย
ปกป้องพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองประเทศของเรา ให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีชัยชนะ มีความเป็นสิริมงคล และมีความสุข ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขออยู่ภายใต้ร่มพระบารมี แห่งพระมหากษัตริย์ ผู้สืบเชื้อสายปทุมสุริยวงศ์ ที่ทรงสร้างปราสาทหิน ครอบครองดินแดนกัมพูชา ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและรุ่งเรือง |
บทที่ 2 | ||
๏ ปราสาทศิลา
กำบังกัณดาลไพร ควรอวยสรฺมัย นึกดลยศศักดิ์มหานคร ชาติแขมร์ดุจถมคงวงศ์ เนาลออรึงบึงชํหร เยิงสังคึมพร พบพฺเร็งสำนางรบ่กัมพูชี มหารัฏฐเกิดมี ยูรอังแวงเฮยฯ |
๏ ปราสาทศิลา
กำบังกันดาลไพร ควรให้ใจจินต์ ถวิลถึงยศศักดิ์มหานคร ชาติเขมรดุจหินคงวงศ์ เนาลออยืนยงถาวร เราหวังซึ่งพร บุญเพรงวาสนาก่อนกัมพูชา มหารัฐเกิดมีมา ช้านานเฮยฯ |
ปราสาทหินที่ทำจากศิลาทั้งหลาย
ถูกซ่อนเร้นไว้ท่ามกลางป่า ชวนให้หวนคิดถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต ของมหานครอันมีเกียรติยศยิ่ง จักรวรรดิขอม (เขมร) มีความแข็งแกร่งดำรงวงศ์ ลออองค์อยู่คู่แผ่นดินตลอดไป เราหวังคำอำนวยพร (ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์) บุญกุศลที่สั่งสมมาของกัมพูชา มหารัฐอันยิ่งใหญ่ถือกำเนิดขึ้น ล่วงเวลานานแล้ว |
บทที่ 3 | ||
๏ ครบวัตอาราม
ฦๅแต่สูรสัพทธรรม สวดโดยอําณร รลึกคุณพุทธศาสนา จูรเยิงเจียเนียเจือเจียะเสมาะสมัคร ตามแบบฎูนตา คงแต่เทพดา นึงช่วยจโรมแจรงพกอตพกองประโยชนอวย ดลประเทศแขมร์ เจียมหานคร๚ |
๏ ครบวัดอาราม
ลือแต่สุรศัพท์ธรรม สวดโดยปีติล้ำ รำลึกคุณพุทธศาสนา จงเราเชื่อเนื้อเชื่อใจเสมอสมัคร ตามแบบหลักโฎนตา คงแต่เทพดา จะมาช่วยค้ำประคองประโยชน์ให้ |
วัดวาอารามทุกหนแห่ง
มีแต่เสียงบทสรรเสริญพระธรรม สวดมนต์ด้วยความยินดี ระลึกถึงคุณของพระพุทธศาสนา ขอให้เราทุกคนมีความเชื่อ ยึดมั่นในหลักธรรม ตามคำสอนของบรรพบุรุษ เทพยดาเหล่านั้น ก็จะมาช่วยคุ้มครองและประทานประโยชน์สุข มาสู่ประเทศกัมพูชา อันเป็นมหานครยิ่งใหญ่ |
หมายเหตุ: เทพดา ในบทร้องรวมทั้งเทวดาในศาสนาพุทธและเทวดาในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
เพลงนครราชบรรเลง (เวอร์ชันโอลิมปิค) ที่ยูทูบ |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "เพลงชาติกัมพูชา ความแตกต่างทางการเมือง ในจุดร่วมแห่งอดีตที่รุ่งเรืองของ "พระนคร"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-08-16.
- ↑ Kalmanowitz, Debra; Chan, Siu Mei (2012). Art Therapy in Asia: To the Bone Or Wrapped in Silk (ภาษาอังกฤษ). Jessica Kingsley Publishers. p. 210. ISBN 978-1-84905-210-8.
- ↑ Koskoff, Ellen (2008). The Concise Garland Encyclopedia of World Music: The Middle East, South Asia, East Asia, Southeast Asia (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 978-0-415-99404-0.
- ↑ "ธิบดี บัวคำศรี. ความเป็นมาของบท "โนกอร์เรียช" เพลงชาติเขมร : การศึกษาเบื้องต้น. วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง 2, 1 (ม.ค.-เม.ย. 2549), น. 63-88" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-04-13. สืบค้นเมื่อ 2019-04-13.