ข้ามไปเนื้อหา

ต้นทุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ต้นทุน คือมูลค่า ที่คิดเป็นเงิน ซึ่งใช้จ่ายหรือสิ้นเปลืองไปในการดำเนินงานหรือการผลิต ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม และไม่สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก

ประเภท

[แก้]

แนวคิดพื้นฐาน

[แก้]
  • ต้นทุนรวม (total cost) คือมูลค่าของต้นทุนทั้งหมดที่ใช้ในการผลิต
  • ต้นทุนเฉลี่ย (average cost) คือต้นทุนในการผลิตผลผลิต 1 หน่วย เท่ากับต้นทุนรวมหารด้วยปริมาณผลผลิต
  • ต้นทุนส่วนเพิ่ม หรือ ต้นทุนหน่วยสุดท้าย (marginal cost) คือต้นทุนรวมที่เพิ่มขึ้นเมื่อผลิตผลผลิตเพิ่มขึ้น 1 หน่วย

ต้นทุนเมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิต

[แก้]
  • ต้นทุนคงที่ (fixed cost) คือต้นทุนที่ไม่แปรผันกับปริมาณการผลิต เช่นค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ต้นทุนคงที่อาจเกิดขึ้นแม้ไม่มีผลผลิตอะไรเลย
  • ต้นทุนแปรผัน (variable cost) คือต้นทุนที่แปรผันกับปริมาณการผลิต เช่นค่าวัตถุดิบ เป็นต้น

ต้นทุนเมื่อคำนึงถึงระยะเวลา

[แก้]

ยกตัวอย่างในการสร้างโรงงานเพื่อผลิตสินค้า ในระยะสั้น ผู้ผลิตไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบการผลิตบางอย่าง (ในกรณีนี้คือขนาดของโรงงาน) จึงทำให้ต้นทุนบางส่วน (ค่าก่อสร้างโรงงาน) เป็นต้นทุนคงที่ แต่หากพิจารณาในระยะยาว ผู้ผลิตย่อมต้องเลือกขนาดของโรงงานที่เหมาะสมกับปริมาณการผลิตที่วางแผนไว้ (คือทำให้ต้นทุนเฉลี่ยในการผลิตต่ำที่สุด) ในระยะยาว ส่วนประกอบในการผลิตทุกอย่างจึงกลายเป็นต้นทุนแปรผันทั้งหมด

แนวคิดของต้นทุนอื่น ๆ ในทางเศรษฐศาสตร์

[แก้]
  • ต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) หมายถึงมูลค่าของผลตอบแทนจากกิจกรรมที่สูญเสียโอกาสไปในการเลือกทำกิจกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นทุนที่ต้องคำนึงถึงเสมอในทางเศรษฐศาสตร์
  • ต้นทุนจม (sunk cost) คือต้นทุนที่เมื่อจ่ายไปแล้วไม่สามารถเรียกคืนมาได้ ในทางเศรษฐศาสตร์ ต้นทุนจมที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น หากบุคคลหนึ่งซื้อตั๋วเข้าชมภาพยนตร์ที่ไม่สามารถคืนเป็นเงินได้ การที่เขาจะดูภาพยนตร์เรื่องนั้นหรือใช้เวลาไปทำอย่างอื่น เขาต้องเลิกคิดถึงมูลค่าของตั๋วที่จ่ายไปแล้ว แต่คำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากกิจกรรมที่เขาเลือกต่อจากนี้เท่านั้น
  • ต้นทุนเอกชน (private cost) คือต้นทุนที่ผู้ผลิตต้องจ่ายโดยตรง
  • ต้นทุนภายนอก (external cost) หมายถึงการมองผลกระทบที่มีต่อบุคคลอื่นในลักษณะต้นทุน ต้นทุนภายนอกมีทั้งต้นทุนที่ให้ผลดี (เช่น การดูแลหน้าบ้านให้สะอาดเรียบร้อยทำให้เพื่อนบ้านได้รับความพึงพอใจด้วย) และต้นทุนที่ให้ผลเสีย (เช่นการทิ้งขยะไว้หน้าบ้านจะทำให้เพื่อนบ้านเกิดความรำคาญ)
  • ต้นทุนทางสังคม (social cost) คือต้นทุนเอกชนรวมกับต้นทุนภายนอก

อ้างอิง

[แก้]
  • David Besanko, David Dranove and Mark Shanley. Economics of Strategy, Second Edition, 2000.
  • Joseph E. Stiglitz. "Economics of the Public Sector", Third Edition, 2000.