ตูร์แน
ตูร์แน (ฝรั่งเศส) Tournai (ดัตช์) Doornik | |
---|---|
ที่ตั้งของตูร์แนในจังหวัดแอโน (สีแดงเข้ม) | |
พิกัด: 50°36′00″N 3°23′00″E / 50.6°N 3.383333°E | |
ประเทศ | เบลเยียม |
เขต | แคว้นวอลลูน |
จังหวัด | แอโน |
เขตการปกครองท้องถิ่น | เขตตูร์แน |
การปกครอง | |
• นายกเทศมนตรี | รูดี เดอมอตต์(PS) |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 213.75 ตร.กม. (82.53 ตร.ไมล์) |
ประชากร | |
• ทั้งหมด | 69,593 คน |
• ความหนาแน่น | 330 คน/ตร.กม. (900 คน/ตร.ไมล์) |
เขตเวลา | UTC+1 (CET) |
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง) | UTC+2 (CEST) |
Postal codes | 7500-7548 |
รหัสพื้นที่ | 069 |
เว็บไซต์ | www.tournai.be |
ตูร์แน (ฝรั่งเศส: Tournai) หรือ โดร์นิก (ดัตช์: Doornik) เป็นเมืองในจังหวัดแอโน แคว้นวอลลูน และเขตเทศบาลหนึ่งของเบลเยียม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงบรัสเซลส์ไปประมาณ 85 กิโลเมตร ตัวเมืองมีแม่น้ำสเกลต์พาดผ่านกลางเมือง เมืองตูร์แนยังเป็นที่ตั้งของมุขมณฑลตูร์แน (Diocese of Tournai) อีกด้วย
ตูร์แนเป็นหนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งเบลเยียม คู่กับอาร์ลงและตองเคอเรน อันเป็นเมืองสำคัญส่วนหนึ่งของเคาน์ตีฟลานเดอร์ (Comté de Flandre) ตั้งแต่สมัยยุคกลาง[1] โดยเป็นที่ตั้งของหอระฆังที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเบลเยียม และอาสนวิหารแม่พระแห่งตูร์แน[2] ซึ่งทั้งสองแห่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก โดยมหาวิหารนั้นเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ของยุคกลางที่ผสมผสานกันด้วยสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์และกอทิกอย่างสวยงาม พร้อมทั้งหอคอยขนาดใหญ่จำนวนห้าหออันเป็นเอกลักษณ์สำคัญและเป็นที่มาของชื่อเล่นของตูร์แนว่า "เมืองแห่งหอระฆังทั้งห้า"
ประวัติ
[แก้]ซาเลียนแฟรงก์ 432–481
ราชอาณาจักรแฟรงก์ 481–843
อาณาจักรแฟรงก์ตะวันตก 843–987
ราชอาณาจักรฝรั่งเศส 987–1513
ราชอาณาจักรอังกฤษ 1513–1519
ราชอาณาจักรฝรั่งเศส 1519–1521
เนเธอร์แลนด์ของฮาพส์บวร์ค 1521–1556
เนเธอร์แลนด์ของสเปน 1556–1668
ราชอาณาจักรฝรั่งเศส 1668–1713
เนเธอร์แลนด์ของออสเตรีย 1714–1794
สาธารณรัฐฝรั่งเศส 1794–1804
จักรวรรดิฝรั่งเศส 1804–1815
สหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ 1815–1830
ราชอาณาจักรเบลเยียม1830–ปัจจุบัน
ในอดีตนั้นตูร์แนเคยถูกเรียกว่า "ตอร์นาคุม" (Tornacum) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆในยุคสมัยโรมันซึ่งเป็นสถานที่พักรถบนถนนโรมันซึ่งเริ่มจากโคโลญน์ไปยังบูลอญ-ซูร์-แมร์ โดยตัดข้ามผ่านแม่น้ำสเกลด์ ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 3 ในรัชสมัยของแม็กซีเมียน ได้มีการสร้างปราการขึ้นเพื่อป้องกันการรุกราน[3] ต่อมาเมื่อโรมันได้ลดเขตแดนลงช่วงถนนโรมันสายนี้ทำให้ตกมาอยู่ในการปกครองของชาวซาเลียนแฟรงก์ในปีค.ศ. 432 ในรัชสมัยของพระเจ้าชิลเดอริคที่ 1 (พระบรมศพนั้นได้ฝังอยู่ที่ตูร์แนในปัจจุบัน)[4] ตูร์แนได้กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจและเมืองหลวงของราชอาณาจักรแฟรงก์ ต่อมาในปีค.ศ. 486 พระเจ้าโคลวิสที่ 1ได้ย้ายเมืองหลวงจากตูร์แนไปยังปารีสแทน หลังจากการก่อตั้งเขตมุขมณฑลตูร์แนขึ้นมา อะเลอเทรุส ชาวตูร์แนโดยกำเนิดได้รับเลือกเป็นบิชอปองค์แรก ซึ่งปกครองดินแดนบริเวณกว้างของเขตลุ่มแม่น้ำเชลดท์ฝั่งตะวันตก ต่อมาในปีค.ศ. 862 พระเจ้าชาลส์ ผู้เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตก และยังได้รับเลือกเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทรงมีพระบัญชาให้ตูร์แนเป็นเมืองศูนย์กลางของเคาน์ตีฟลานเดอร์
ต่อมาในภายหลังจากการแบ่งจักรวรรดิแฟรงค์ตามความตกลงในสนธิสัญญาแวร์เดิงและสนธิสัญญาเมอเซน ทำให้ตูร์แนนั้นตกมาอยู่ในการปกครองของจักรวรรดิฝั่งตะวันตก ซึ่งต่อมาในปีค.ศ. 987 ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 ในสมัยรุ่งเรืองของเมืองในกลุ่มประเทศต่ำซึ่งมีอาชีพทอผ้าขนสัตว์ที่ใช้วัตถุดิบขนสัตว์จากอังกฤษ ซึ่งทำให้ได้รับความนิยมโดยพ่อค้าร่ำรวยมาติดต่อค้าขายจำนวนมาก อาสนวิหารแห่งใหม่อันใหญ่โตก็ริเริ่มโครงการขึ้นในสมัยนั้นราวปีค.ศ. 1030 ต่อมาในปีค.ศ. 1187 ชาวเมืองตูร์แนได้รวมตัวกันประกาศอิสรภาพต่อเคานต์ซึ่งปกครองในท้องถิ่นอีกต่อหนึ่ง โดยไปขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสแทน โดยได้เรียกถึงอาณาเขตนี้ว่า "Seigneurie de Tournaisis" ต่อมาในปีค.ศ. 1290 ได้มีการสร้างปราการทำจากหินพาดผ่านแม่น้ำสเกลท์ โดยมีป้อมขนาบสองฝั่งของแม่น้ำเพื่อใช้ป้องกันภัยรุกรานโดยสร้างแทนที่ของเดิมซึ่งทำจากไม้
ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตูร์แนได้รับความนิยมในฐานแหล่งผลิตสำคัญของพรมแขวนผนัง โดยมีจิตรกรเอกหลายคนของยุคสมัยได้มาจากตูร์แน ได้แก่ ฌัค ดาเร, โรแบร์ต แคมแพง และโรเจียร์ ฟาน เดอ เวย์เด็น ต่อมาในปีค.ศ. 1513 ตูร์แนได้พ่ายให้กับกองทัพของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ จำให้ตูร์แนนั้นกลายเป็นเมืองแห่งเดียวในเบลเยียมซึ่งเคยถูกปกครองโดยกษัตริย์อังกฤษ โดยในปีค.ศ. 1515 ยังมีผู้แทนราษฎรจากตูร์แนในรัฐสภาอังกฤษอีกด้วย ต่อมาตูร์แนได้ถูกยกคืนกลับให้แก่ฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1519 จากข้อตกลงในสนธิสัญญาลอนดอนปีค.ศ. 1518
ในปีค.ศ. 1521 จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ได้รวมตูร์แนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ ซึ่งก็ได้นำพาให้เกิดกลียุคทางศาสนาและความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 นั้นได้กลายเป็นแหล่งของนิกายโปรเตสแตนท์ลัทธิคาลวิน แต่ต่อมากลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำได้ถูกยึดครองโดยชาวสเปนภายใต้ดยุกแห่งปาร์มาหลังจากการบุกล้อมเมืองครั้งสำคัญในปีค.ศ. 1581 หลังจากที่เมืองได้ถูกยึดแล้วโดยราบคาบ เหล่าชาวเมืองผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนท์ได้รับอนุญาตให้ขายสมบัติของตนภายในหนึ่งปีและอพยพไปอยู่ที่อื่น ซึ่งนโยบายนี้ในขณะนั้นถือว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่ละมุนละม่อมที่สุด ซึ่งในที่อื่นๆผู้นับถือศาสนาอื่นล้วนถูกฆ่าตายโดยสิ้น
ราวหนึ่งร้อยปีต่อมาในปีค.ศ. 1668 ตูร์แนได้กลับมาอยู่ในการปกครองของฝรั่งเศสอีกครั้งภายใต้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14จากผลพวงของสนธิสัญญาอาเคิน และหลังจากการสิ้นสุดสงครามสืบราชบัลลังก์สเปนในปีค.ศ. 1713 ภายใต้สนธิสัญญายูเทรกต์ให้เนเธอร์แลนด์ของสเปนรวมถึงตูร์แนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฮับส์บูร์ (ออสเตรีย)
ต่อมาในปีค.ศ. 1815 สืบเนื่องจากสงครามนโปเลียน ตูร์แนได้รวมเข้ากันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และอีกราวสิบห้าปีต่อมาก็ได้ประกาศอิสรภาพเป็นราชอาณาจักรเบลเยียมในปีค.ศ. 1830
สถานที่น่าสนใจ
[แก้]ตูร์แนถือเป็นเมืองที่มีมรดกสำคัญทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งในเบลเยียม [[มหาวิหารตูร์แน|อาสนวิหารแม่พระแห่งตูร์แน]โดดเด่นผสมผสานสถาปัตยกรรมทั้งสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์และกอทิก และหอระฆังที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเบลเยียม[5] โดยทั้งสองแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก[6][7] ภายในมหาวิหารนี้ยังพบหีบวัตถุมงคลสมัยศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นหนึ่งในขุมทรัพย์ที่ประดับประดาอย่างวิจิตรพิศดาร อันแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของตูร์แนในสมัยยุคกลาง สถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือ "ปงเดทรู"[8] หรือปราการที่พาดผ่านแม่น้ำสเกลต์ จตุรัสกลางเมือง "กร็อง ปลาส" รายล้อมไปด้วยบ้านเมืองที่เก่าแก่สวยงาม รวมทั้งประตูเมืองเก่าต่างๆ และพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่ง
บนถนนบาร์-แซ็ง-บรีสยังเป็นที่ตั้งของบ้านโบราณที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป โดยคาดการณ์ว่าสร้างราวปีค.ศ. 1175-1200 ในแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์[9] และบนถนนรูเดเฌซูอิทยังพบบ้านโบราณแบบกอทิกที่สร้างราวศตวรรณที่ 13 นอกจากนี้ยังพบบ้านเรือน และอาคารหลายแห่งที่สร้างในแบบอาร์นูโว
อนุสรณ์สถานสำคัญ
[แก้]ศาสนสถาน
[แก้]การปกครองคณะสงฆ์ในตูร์แนอยู่ภายใต้มุขนายกกีร์ อาร์ปีญญี (Guy Harpigny) ประจำมุขมณฑลตูร์แน (Diocese of Tournai)
ตูรแนเป็นเมืองที่มีโบสถ์จำนวนมากซึ่งในปัจจุบันโบสถ์สมัยยุคกลางทั้งหมดนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็นอนุสรณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งวัลโลเนีย
อาสนวิหารแม่พระ
[แก้]อาสนวิหารแม่พระแห่งตูร์แน (ฝรั่งเศส: Cathédrale Notre-Dame de Tournai) เป็นอาสนวิหารเพียงแห่งเดียวในประเทศเบลเยียม ที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก เมื่อปีค.ศ. 2000 ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมีการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์และกอทิก หรือที่เรียกกันว่า กอทิกแบบตูร์แนเซียง โดยเริ่มก่อสร้างราวปีค.ศ. 1140 และได้รับการเสกขึ้นเป็นอาสนวิหารเมื่อปีค.ศ. 1171 โดยอุทิศให้แก่พระแม่มารี
โบสถ์นักบุญก็องแตง
[แก้]โบสถ์นักบุญก็องแตง (ฝรั่งเศส: Église Saint-Quentin) เป็นโบสถ์ประจำเขตแพริชที่ตั้งอยู่ในบริเวณกร็อง-ปลัสแห่งตูร์แน สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่นักบุญเควนตินผู้เป็นมรณสักขีซึ่งเป็นที่นับถือทางตอนเหนือของฝรั่งเศสในยุคกลาง
โบสถ์นักบุญมารีย์-แมกดาลีน
[แก้]โบสถ์นักบุญมารี-มาเดอแลน (ฝรั่งเศส: Église Sainte-Marie-Madeleine) เป็นโบสถ์ประจำเขตแพริชที่สร้างในแบบสถาปัตยกรรมกอทิก โดยดำริของโกทิเย เดอ มาร์วี มุขนายกแห่งตูร์แน บริเวณร้องเพลงสวดและแขนกางเขนนั้นสร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 ส่วนหอระฆังและด้านหน้าวิหารนั้นเป็นผลงานในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่นักบุญมารีย์ชาวมักดาลา ซึ่งได้มีการถ่ายทอดชีวประวัติของพระนางลงบนฉากประดับแท่นบูชาภายในวิหาร ในปัจจุบันโบสถ์แห่งนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรมมาเป็นเวลาหลายสิบปี
โบสถ์นักบุญมาร์เกอริต
[แก้]โบสถ์นักบุญมาร์เกอริต (ฝรั่งเศส: Église Sainte-Marguerite) อดีตโบสถ์ประจำเขตแพริชที่ถูกทิ้งร้างลงในปีค.ศ. 1960 และต่อมาขายต่อให้กับเอกชนเมื่อปีค.ศ. 2012 สำหรับทำเป็นโครงการที่พักอาศัยโดยเก็บรูปแบบอาคารเดิมไว้ สร้างขึ้นในสมัยปีค.ศ. 1760 โดยคณะสงฆ์ เพื่อบูรณะแทนโบสถ์เดิมที่ถูกไฟไหม้เสียหายลงมากในปีค.ศ. 1733 จึงทำให้โบสถ์แห่งนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมสองแบบอย่างชัดเจน คือ สถาปัตยกรรมกอทิกบริเวณหอระฆังอันเป็นส่วนของวิหารเดิมที่สร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 กับตัวอาคารหลักรวมทั้งประตูทางเข้าหลักสร้างในแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิกสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 โบสถ์แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณปลัส เดอ ลิล (Place de Lille) ซึ่งอยู่ห่างจากกร็อง-ปลัสไปประมาณห้านาที โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแก่นักบุญมาร์กาเรตแห่งแอนติออก
โบสถ์นักบุญฌาค
[แก้]โบสถ์นักบุญฌาค (ฝรั่งเศส: Église Saint Jacques) เป็นโบสถ์ประจำเขตแพริชที่อุทิศให้แก่นักบุญเจมส์ใหญ่ โดยตูร์แนนั้นตั้งอยู่บนทางผ่านสำหรับผู้แสวงบุญในเส้นทางเซนต์เจมส์จากบรัสเซลส์ไปยังปารีส โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นราวปีค.ศ. 1190 โดยยังเก็บรักษาโครงหลังคาและโครงสร้างหลักๆไว้ซึ่งเป็นแบบสถาปัตยกรรมกอทิกที่เป็นเอกลักษณ์ของตูร์แน รวมถึงเสาและงานหัวเสาสลักเป็นลายใบไม้ต่างๆ บริเวณร้องเพลงสวดนั้นมีการต่อเติมในปีค.ศ. 1368 โดยขนาบสองข้างด้วยชาเปล เครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งส่วนใหญ่ที่เห็นในปัจจุบันนั้นเป็นแบบสมัยฟื้นฟูกอทิก ซึ่งได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยนั้น (ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19) ในปัจจุบันได้มีโครงการบูรณะเพิ่มเติมตั้งแต่ปีค.ศ. 2010 บริเวณพิธีและงานกระจกสีทั้งหมด
โบสถ์นักบุญเปีย
[แก้]โบสถ์นักบุญเปีย (ฝรั่งเศส: Église Saint Piat) เป็นโบสถ์ประจำเขตแพริช สร้างขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 บนที่ตั้งเดิมของบาซิลิกาเดิมซึ่งสร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 6 โบสถ์แห่งนี้อุทิศให้แก่นักบุญเปียตุสแห่งตูร์แนผู้เป็นมรณสักขี (ถูกประหารโดยบัญชาของแม็กซีเมียนโดยผ่าด้านบนของศีรษะออก) ผู้ที่เป็นมิชชันนารีชุดแรกที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ให้แก่ชาวเมืองตูร์แนในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 2
โบสถ์พระมหาไถ่
[แก้]โบสถ์พระมหาไถ่ (ฝรั่งเศส: Église des Rédemptoristes) เป็นอดีตโบสถ์ในสังกัดคณะพระมหาไถ่แห่งตูร์แน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสเกลด์ สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1861 ในแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูโรมาเนสก์ โดยโบสถ์แห่งนี้ได้ถูกยุบลงและขายให้กับเอกชนในปีค.ศ. 2003
-
L'église Saint-Brice
-
L'église Saint-Jacques
-
L'église Saint-Nicolas
-
L'église Sainte-Marie-Madeleine
-
L'église Sainte-Marguerite
-
L'église Saint-Piat
-
Le séminaire de Tournai
-
L'église Saint-Quentin
ระเบียงภาพ
[แก้]-
"ปงเดทรู" หรือปราการที่พาดผ่านแม่น้ำสเกลต์
-
Église Saint-Jacques
-
Église Sainte-Marie-Madeleine
-
Église Saint-Nicolas
-
Église Saint-Brice
-
Église Saint-Piat
-
Église Saint-Quentin
-
Église Sainte-Marguerite
-
หอผ้า (Halle aux draps)
-
ศาลากลางและสวนสาธารณะ
-
ศาลากลาง
-
บ้านในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17
-
จัตุรัส (กร็อง-ปลัส)
-
ทัศนียภาพโดยรวมจากทางอากาศ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ DHANENS (Élisabeth) et DIJKSTRA (Jellie), Rogier de le Pasture van der Weyden, La Renaissance du Livre, Collection Références, Tournai, 23 septembre 1999.
- ↑ http://whc.unesco.org/fr/list/1009 UNESCO World Heritage No 1009
- ↑ Williams, Stephen. Diocletian and the Roman Recovery. New York: Routledge, 1997:50f.
- ↑ His tomb was rediscovered in 1655.
- ↑ "Liste du Patrimoine Mondial: Proposition D'Inscription: Beffrois Flamands" (PDF). World Heritage List (ภาษาฝรั่งเศส). p. 3. สืบค้นเมื่อ 21 May 2015.
Selon certaines sources, le beffroi de Tournai, considéré comme le plus ancien en Belgique (1187)
- ↑ "Notre-Dame Cathedral in Tournai". World Heritage List. สืบค้นเมื่อ 21 May 2015.
- ↑ "Belfries of Belgium and France". World Heritage List. สืบค้นเมื่อ 21 May 2015.
- ↑ "The " Pont des Trous"". Tournai Office du Tourisme. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-26. สืบค้นเมื่อ 2015-05-21.
- ↑ Tourisme Wallonie. "Visite : Monument LES MAISONS ROMANES" (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-23. สืบค้นเมื่อ 21 May 2015.