ข้ามไปเนื้อหา

ซะยาซาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซะยาซาน

ซะยาซาน (พม่า: ဆရာစံ, Saya San) เกิดเมื่อ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2419 เสียชีวิตเมื่อ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 เป็นพระภิกษุและผู้นำของกบฏซะยาซาน ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์และชาติ ซะยาซานและการต่อต้านของเขายังถูกพูดถึงในปัจจุบัน

ชีวิตของซะยาซาน

[แก้]

ซะยาซานเป็นชาวชเวโบซึ่งเป็นศูนย์กลางของกลุ่มชาตินิยมและกลุ่มนิยมเจ้าในพม่าภาคกลางตอนเหนือ ชเวโบเป็นที่ประสูติของพระเจ้าอลองพญาผู้ก่อตั้งราชวงศ์คองบองที่ปกครองพม่าตั้งแต่ พ.ศ. 2295 จนกระทั่งตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษใน พ.ศ. 2429[1] ซะยาซานเกิดเมื่อ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2419 ชื่อเดิมคือยาจอ บิดาของเขาชื่ออูเจ มารดาชื่อดอว์เพะ ซะยาซานบวชเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเด็ก จนเป็นหนุ่มจึงได้ลาสิกขาและแต่งงานกับมะเก มีบุตรสองคน คือ โกโปตินและมะเซน ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ซะยาซานได้เดินทางไปมะละแหม่งในพม่าตอนล่าง[2]และได้เริ่มบทบาททางการเมืองขึ้นในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2473 ซะยาซานจัดให้กรรมกรออกมาประท้วง และมีผู้เสนอให้เขาครองราชสมบัติเช่นเดียวกับพระเจ้าอลองพญา แต่อังกฤษสามารถปราบปรามการลุกฮือนี้ได้ ซะยาซานหนีไปรัฐฉานทางตะวันออก ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2474 เขาถูกจับกุมตัวได้ และถูกตัดสินให้ประหารชีวิตเมื่อ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474

กบฏซะยาซาน

[แก้]

การมาถึงของอังกฤษ

[แก้]

ชาวพม่าเข้ามาตั้งรกรากในบริเวณปัจจุบันตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 14 และได้ตั้งอาณาจักรพุกามเมื่อ พ.ศ. 1600 และล่มสลายลงเมื่อกุบไลข่านเข้ามารุกรานเมื่อ พ.ศ. 1830 ราชวงศ์ตองอูรวบรวมแผ่นดินได้อีกในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ส่วนราชวงศ์คองบองได้ขึ้นสู่อำนาจเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 23 ก่อนจะถูกผนวกเข้าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และพระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายถูกส่งไปลี้ภัยยังประเทศอินเดีย อังกฤษเข้าปกครองพม่าแม้จะมีการลุกฮือต่อต้านทั่วดินแดนเดิมที่เป็นราชอาณาจักรพม่า แต่อังกฤษก็ปราบปรามได้ อังกฤษได้ทำลายความเป็นราชอาณาจักรของพม่า ส่งราชบัลลังก์ของกษัตริย์พม่าเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ที่กัลกัตตา พระราชวังมัณฑะเลย์ถูกเปลี่ยนเป็นสโมสรสำหรับชาวอังกฤษในพม่าตอนบน

ขบวนการต่อต้านก่อนซะยาซาน

[แก้]

การต่อต้านอังกฤษในพม่าเกิดขึ้นทั่วไประหว่าง พ.ศ. 2429- 2433 ขบวนการต่อต้านเหล่านี้นำโดยอดีตเชื้อพระวงศ์ เช่น เจ้าฟ้ามยีนไซง์ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2433 มีพระสงฆ์กลุ่มเล็ก ๆ เข้าร่วมกันจัดตั้งองค์กรเพื่อรักษาสถานะของศาสนาในสังคม จนกระทั่ง พ.ศ. 2449 ได้จัดตั้งสมาคมยุวพุทธขึ้นในย่างกุ้ง[3] เป็นช่องทางให้เสมียนและผู้มีการศึกษาเข้ามาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในสังคมอาณานิคม และต้องการให้ความสำคัญกับการศึกษาทางด้านวัฒนธรรม ต่อมาได้จัดตั้งสภาทั่วไปของสมาคมชาวพม่าที่วางแผนให้มีการประท้วง และสมาคมยังพยายามเข้าไปสร้างฐานที่มั่นในชนบท ซะยาซานเข้าร่วมกับสมาคมนี้ในชนบทเป็นเวลา 2 ปีจนเป็นที่นิยม

เกิดอะไรขึ้นระหว่างเหตุกบฏ

[แก้]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2473 เกิดแผ่นดินไหวที่หงสาวดีและปยู ชาวพม่าเชื่อว่าเป็นอาเพศเพราะไม่มีกษัตริย์ จึงได้ยกซะยาซานขึ้นเป็นกษัตริย์ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2473 ซะยาซานหรือราชาคาลนได้ตั้งพระราชวังที่ธาราวดี (ตายาวะดี) ประกาศจะจัดตั้งราชวงศ์ที่ยอมรับพุทธศาสนา และขับไล่อังกฤษออกไป[4] ในคืนวันที่ 22 ธันวาคม ได้เกิดเหตุปะทะที่ธาราวดี เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในพม่าตอนล่าง ดินแดนนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ราคาข้าวตกต่ำ[5] ทำให้ชาวพม่าหันไปเลื่อมใสซะยาซานมากขึ้น หลังเกิดเหตุรุนแรงในธาราวดี อังกฤษได้ส่งทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ การลุกฮือเกิดขึ้นอีกในพื้นที่ใกล้เคียงคือ พยาโบน, ฮีนตาดะ, อีนเซน, หงสาวดี, ตองอู, แปร, ตะแยะ, นองโช และกลุ่มรัฐฉานทางเหนือ ผู้นำกบฏคนอื่น ๆ เข้าร่วมในการลุกฮือครั้งนี้ด้วย[6] อังกฤษที่ย่างกุ้งได้ขอความช่วยเหลือจากทหารอังกฤษในอินเดียในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2474 ทำให้มีการส่งทหารเพิ่มเติมเข้ามาจากอินเดีย[7] มีความพยายามประกาศกฎอัยการศึกในเดือนกรกฎาคม[8] แต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งจับกุมตัวซะยาซานได้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2474 เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2475 กบฏถูกฆ่ามากกว่าพันคน และที่ยอมแพ้ถูกจับกุมอีกกว่า 9,000 คน ซะยาซานและกบฏอีก 125 คนถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ และถูกตัดสินจำคุกอีกเกือบ 1,400 คน[9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Saya San". Encyclopedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 14 October 2012.
  2. Maitrii, Aung-Thwin (2011). The Return of the Galon King: history, law, and rebellion in colonial Burma. Athens: Ohio University Press. ISBN 978-0-8968-0276-6.
  3. Maung Maung (1980). rom Sangha to Laity: Nationalist Movements of Burma, 1920-194. Columbia, Mo: South Asia Books.
  4. Solomon, Robert L (1969). "Saya San and the Burmese Rebellion". Modern Asian Studies. 3. 3: 209–223. doi:10.1017/s0026749x0000233x.
  5. Clipson, Edmund Bede (2010). "Constructing an Intelligence State: the Colonial Security Services in Burma, 1930-1942" (University of Exeter). {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  6. Maitrii, Aung-Thwin (2011). The Return of the Galon King: history, law, and rebellion in colonial Burma. Athens: Ohio University Press. ISBN 978-0-8968-0276-6.
  7. Maitrii, Aung-Thwin (2011). The Return of the Galon King: history, law, and rebellion in colonial Burma. Athens: Ohio University Press. ISBN 978-0-8968-0276-6.
  8. Patricia Herbert (1982). The Hsaya San Rebellion (1930-1032) Reappraised,. Melbourne: Centre of Southeast Asian Studies: Monash University.
  9. Patricia Herbert (1982). The Hsaya San Rebellion (1930-1032) Reappraised,. Melbourne: Centre of Southeast Asian Studies: Monash University.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

หนังสือและบทความ

[แก้]
  • ลลิตา หาญวงษ์. (2557). พม่ากับปฏิกิริยาต่อต้านการปกครองของอังกฤษ. ใน จักรวรรดินิยมตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: การเข้ามาและผลกระทบ. บรรณาธิการโดย อรพินท์ คำสอน และคนอื่นๆ. หน้า 181-228. กรุงเทพฯ: โครงการวิจัย “ปริทรรศน์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (สกว.)

เว็บไซต์

[แก้]