คีอา
คีอา | |
---|---|
คีอาตัวโตเต็มวัย ใน Fiordland | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | สัตว์ |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง |
ชั้น: | สัตว์ปีก |
อันดับ: | Psittaciformes |
วงศ์ใหญ่: | Strigopoidea |
วงศ์: | Nestoridae |
สกุล: | Nestor |
สปีชีส์: | N. notabilis |
ชื่อทวินาม | |
Nestor notabilis Gould, 1856 | |
ช่วงการแพร่กระจายพันธุ์ |
คีอา หรือ นกแก้วคีอา (อังกฤษ: kea; /ˈkiːə/; ชื่อวิทยาศาสตร์: Nestor notabilis) เป็นนกแก้วขนาดใหญ่ในวงศ์ Nestoridae ซึ่งพบได้ในพื้นที่ป่าสนเขาของเทือกเขาแอลป์ใต้บนเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ และเป็นนกแก้วป่าสนเขา (นกแก้วเขตอัลไพน์) เพียงชนิดเดียวในโลก คีอากินอาหารแบบไม่เลือกรวมถึงซากเน่า แต่โดยทั่วไปกินรากพืช ใบพืช ผลเบอร์รี่ น้ำหวาน และแมลง ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2529 คีอาได้รับการคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติสัตว์ป่า แม้ว่าในอดีตเคยถูกฆ่าเพื่อเงินค่าหัวเนื่องจากความกังวลของชุมชนเลี้ยงแกะ เมื่อพบว่ามันโจมตีปศุสัตว์โดยเฉพาะแกะ นกแก้วคีอาทำรังในโพรงหรือรอยแตกตามรากไม้
คีอาได้รับการยอมรับในด้านสติปัญญาและความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นความสามารถที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่ทุรกันดารในพื้นที่ภูเขา คีอาสามารถไขปริศนาเชิงตรรกะได้ เช่น การผลักและดึงสิ่งของในลำดับที่แน่นอนเพื่อไปหาอาหาร และสามารถทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง รวมทั้งการเตรียมและการใช้เครื่องมือ
อนุกรมวิธาน
[แก้]คีอา (Nestor notabilis) ได้รับการระบุชนิดโดยนักปักษีวิทยาจอห์น เกาลด์ (John Gould) ในปี ค.ศ. 1856 จากตัวอย่างสองชิ้นที่ได้รับจากวอลเทอร์ แมนเทลล์ (Walter Mantell) ที่เก็บจากภูมิภาคมูริฮิกุ ข้อมูลในสมัยนั้นระบุว่าแมนเทลล์ได้รับการบอกเล่าจากชาวเมารีผู้สูงวัยบางคนถึงเรื่องเกี่ยวกับนกคีอา ประมาณ 8 ปีก่อนการรับมอบตัวอย่าง รวมทั้งเรื่องเล่าของนกแก้วคีอาที่บินไปบริเวณชายฝั่งในฤดูหนาวซึ่งปัจจุบันไม่สามารถพบเห็น[2]
ในภาษาละติน ชื่อคุณลักษณะ notabilis หมายถึง "น่าจดจำ"[3] ชื่อสามัญ kea มาจากภาษาเมารี ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเสียงของนกแก้วคีอาที่นร้องขณะบิน – "คี-อา" (keee aaa)[4] ในภาษาอังกฤษคำว่า kea เป็นทั้งเอกพจน์และพหูพจน์ และ "นกแก้วคีอา" ในภาษาไทยบางครั้งอาจเขียนว่า "นกแก้วเคีย"[5]
สกุล Nestor มี 4 ชนิดคือ นกแก้วคาคานิวซีแลนด์ (Nestor meridionalis), คีอา (N. notabilis), นกแก้วคาคานอร์ฟอล์กที่สูญพันธุ์ (N. productus) และนกแก้วคาคาแชทัมที่สูญพันธุ์ (N. chathamensis) สันนิษฐานว่าทั้งสี่ชนิดวิวัฒนาการมาจากนก "โปรโต-กากา" ที่อาศัยอยู่ในป่าของนิวซีแลนด์เมื่อห้าล้านปีก่อน[6][7] ญาติสนิทที่สุดของนกสกุล Nestor คือ นกแก้วคาคาโปที่บินไม่ได้ (Strigops habroptilus)[8][9][10][11] ซึ่งทั้ง 5 ชนิดข้างต้นรวมกันเป็นนกแก้วในวงศ์ใหญ่นกแก้วนิวซีแลนด์ (Strigopoidea) ซึ่งเป็นกลุ่มนกแก้วโบราณที่แยกออกมาจาก Psittacidae อื่น ๆ ทั้งหมด (เมื่อประมาณ 82 ล้านปีก่อน) ก่อนการการแตกแขนงสายวิวัฒนาการครั้งใหญ่[8][9][11][12]
ลักษณะทางกายวิภาค
[แก้]เป็นนกแก้วขนาดใหญ่ยาวประมาณ 48 เซนติเมตร (19 นิ้ว) ตัวผู้มีขนาดตัวยาวกว่าตัวเมียประมาณร้อยละ 5[13] และน้ำหนักประมาณ 0.8–1 กิโลกรัม[14] ตัวผู้มีน้ำหนักมากกว่าตัวเมียราวร้อยละ 20[15] ขนส่วนใหญ่เป็นสีเขียวมะกอก ขนใต้ปีกสีส้มสด และปีกด้านนอกบางส่วนเป็นสีฟ้าหม่น หางสั้น กว้าง สีเขียวอมฟ้า ปลายหางสีดำ เป็นเงาวาว หางด้านล่างมีมีแถบขวางสีเหลืองอมส้ม[16] จะงอยปากบนขนาดใหญ่ เพรียว โค้งงุ้ม สีเทา ซึ่งเหมาะกับการขบแบบนกแก้วทั่วไป และการขุดหาอาหาร[15]
ตัวโตเต็มวัยมีม่านตา ขนวงขอบตา หนังโคนจะงอยปาก เป็นสีน้ำตาลเทา และตีนเทา ขนแก้มสีเขียวมะกอกเข้มหรือเขียวเทาเข้ม ขนบนหลังและตะโพกเป็นสีส้มแดง ขนาดจะงอยปากบนของตัวผู้ยาวกว่าตัวเมียร้อยละ 12–14[13]
นกรุ่นมีลักษณะคล้ายกับตัวโตเต็มวัย แต่มีขนวงขอบตาและหนังโคนจะงอยปากสีเหลือง จะงอยปากล่างสีส้มเหลืองและขาสีเหลืองหม่น[16][17]
การกระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่
[แก้]คีอา (N. notabilis) เป็นหนึ่งในนกแก้วสิบชนิดที่เป็นนกเฉพาะถิ่นในนิวซีแลนด์
มีช่วงกระจายพันธุ์จากที่ลุ่มน้ำในหุบเขา ป่าชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะใต้ ไปถึงภูมิภาคป่าสนเขาของเกาะใต้เช่น เมือง Arthur's Pass และอุทยานแห่งชาติอาโอราคิ-เขาคุก และตลอดช่วงกับป่าบีชแถบใต้ในเขตเทือกเขาแอลป์ใต้
ในปัจจุบันไม่พบคีอาในเกาะเหนือนอกจากเป็นนกพลัดหลงเป็นบางครั้ง ทั้งนี้หลักฐานการค้นพบซากกระดูกกึ่งฟอสซิลของคีอา บนเนินทรายที่ที่ลุ่มแม่น้ำ Mataikona ในเขตไวราราปาตะวันออก (Wairarapa), ชุมชนโปอูคาวา (Poukawa) ใกล้เมืองแฮสติงส์ (Hastings) และชุมชนไวโทโม (Waitomo) แสดงให้เห็นว่าพวกมันเคยอาศัยอยู่จำนวนมากในแถบป่าที่ราบลุ่มของเกาะเหนือ จนกระทั่งการมาถึงของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวโพลินีเซียนเมื่อประมาณ 750 ปีก่อน[18] ซากกึ่งฟอสซิลของคีอาไม่ได้จำกัดบริเวณอยู่ที่พื้นที่ป่าสนเขาเท่านั้น แต่ยังพบได้ทั่วไปในถิ่นที่อยู่อื่น ๆ เช่น ที่ลุ่ม หรือชายฝั่งบนเกาะใต้[19] แหล่งการกระจายพันธุ์ที่เหลือในปัจจุบันของคีอา สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของสัตว์นักล่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงมนุษย์ซึ่งผลักดันคีอาออกจากป่าที่ราบลุ่มเข้าไปในเขตภูเขาแทน[20]
ประชากรทั้งหมดของคีอา ในปี 1986 อยู่ที่ประมาณ 1,000–5,000 ตัว[21] ซึ่งลดลงอย่างมากจากประมาณ 15,000 ตัวในปี 1992 การวัดจำนวนประชากรอาจทำได้ไม่แม่นยำนักเนื่องการกระจายพันธุ์อย่างกว้าง และความหนาแน่นของกลุ่มประชากรที่ต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากลำบาก การประมาณจำนวนประชากรในปัจจุบัน (ปี ค.ศ. 2017) น่าจะอยู่ระหว่าง 3,000–7,000 ตัว[22]
พฤติกรรม
[แก้]คีอาเป็นนกสังคมและอาจรวมฝูงใช้ชีวิตร่วมกันมากถึง 13 ตัว[23] และสร้างลำดับชั้นทางสังคมแบบยืดหยุ่นขึ้นภายในฝูง[15] นกที่อยู่ลำพังในการถูกจองจำมักมีสุขภาพที่ไม่ดี เฉื่อยชา แต่จะตอบสนองได้ดีเมื่อได้มองเห็นตัวเองในกระจก[23] การรวมฝูงของนกแก้วคีอาในภาษาอังกฤษเรียก "circus"[24]
การผสมพันธุ์
[แก้]โดยทั่วไปคีอาโตเต็มวัยและเริ่มผสมพันธุ์ตั้งแต่อายุ 4 ปี และมักอยู่ด้วยกันตลอดชีวิต[15] แม้ผู้สังเกตการณ์อย่างน้อยหนึ่งครั้งรายงานว่า นกแก้วคีอามีพฤติกรรมจับคู่กับนกตัวเมียหลายตัว (Polygynous) จากการสันนิษฐานอ้างอิงสัดส่วนของตัวเมียที่มีมากกว่าตัวผู้มาก[25] ทั้งนี้การศุึกษายังไม่ได้รับการยืนยันด้วยการติดตามการเดินทางของนกทางวิทยุ[15]
นกแก้วคีอาผสมพันธุ์ในฤดูหนาว ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเมษายน[15]
จากการศึกษาความหนาแน่นของการสร้างรัง พบว่า มี 1 รังต่อ 4.4 ตารางกิโลเมตร (1.7 ตารางไมล์)[26] พื้นที่ผสมพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ในป่าบีชตอนใต้ บริเวณเขาสูงชัน แหล่งผสมพันธุ์มักอยู่ในที่สูงไม่น้อยกว่า 1,600 เมตร (5,200 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล คีอาเป็นหนึ่งในนกแก้วน้อยชนิดในโลกที่ใช้ชีวิตเป็นประจำอยู่เหนือแนวต้นไม้ รังมักสร้างอยู่บนพื้นดินใต้ต้นบีชขนาดใหญ่ ในรอยแยกหิน หรือขุดโพรงระหว่างรากต้นไม้ สามารถสร้างอุโมงค์หลายช่อง ยาว 1 ถึง 6 เมตร (3.3 ถึง 19.7 ฟุต) ต่อเชื่อมกับห้องรังขนาดใหญ่ซึ่งปูด้วยไลเคน มอส เฟิร์น และเศษไม้ที่เปื่อย ฤดูการวางไข่เริ่มในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนมกราคม วางไข่ 2–5 ฟอง สีขาว เส้นรอบวง 39 มม. และไข่ยาว 43 มม.[15] ระยะเวลาฟักไข่ประมาณ 21–26 วัน และระยะเลี้ยงดู 94 วันจึงเริ่มหัดบิน และแยกออกจากรังเมื่ออายุ 100–150 วัน[15]
อัตราการเสียชีวิตสูงในลูกนกคีอา ประมาณไม่เกินร้อยละ 40 ที่รอดชีวิตจากปีแรก[27] อายุขัยเฉลี่ยของนกแก้วคีอาในธรรมชาติอาจอยู่ที่ 5 ปี และจากการคาดคะเนมีเพียงประมาณร้อยละ 10 ของประชากรนกแก้วคีอามีอายุมากกว่า 20 ปี[15][28] นกแก้วคีอาเลี้ยงที่มีอายุขัยมากที่สุดที่รู้จักกันคือ 50 ปีในปี ค.ศ. 2008[27]
อาหารและการหาอาหาร
[แก้]เป็นนกที่กินทั้งพืชและสัตว์ นกคีอากินพืชมากกว่า 40 ชนิด ทั้งหน่ออ่อน ใบ ผล และน้ำหวานจากดอกไม้ และอาจมีบทบาทสำคัญในการกระจายเมล็ดพืชอัลไพน์[15] กินสัตว์เช่น ตัวอ่อนด้วง นกและลูกนกอื่น ๆ (ได้แก่ ลูกนกจมูกหลอด) และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (รวมถึงแกะและกระต่าย)[29][30] มีการสังเกตพบการทำลายรังของนกจมูกหลอด และพบเสียงลูกนกจมูกหลอดเป็นอาหารในรังของคีอา[31] คีอายังใช้ประโยชน์จากขยะของมนุษย์และ อาหารที่มนุษย์แบ่งให้กิน[32] รวมทั้งกินซากกวาง ซากแพะภูเขาและแกะเมื่อมีโอกาส[15]
แกะ
[แก้]มีการโต้เถียงอย่างยาวนานมากกว่าหลายทศวรรษว่า นกแก้วคีอากินแกะ จากการบันทึกในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1860 พบแกะจำนวนหนึ่งมีบาดแผลที่ผิดปกติที่ด้านข้างหรือเอวได้รับ ซึ่งเป็นช่วงเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษของการบุกเบิกที่ดินของเกษตรกรผู้เลี้ยงแกะ ซึ่งย้ายเข้ามาอยู่ในที่ราบสูง ในขณะนั้นแม้ว่าบางคนคิดว่าสาเหตุอาจเกิดจากโรคชนิดใหม่ แต่ต่อมาในไม่ช้าความสงสัยได้ตกอยู่กับนกแก้วคีอา ในปี พ.ศ. 2411 เจมส์ แมคโดนัลด์ หัวหน้าคนเลี้ยงแกะที่สถานีวานาก้า ได้เป็นประจักษ์พยานที่คีอาเข้าทำร้ายแกะ และเรื่องเล่าที่คล้ายคลึงกันจากผู้อื่นเกิดขึ้นไปทั่ว[33] สมาชิกที่มีชื่อเสียงของชุมชนวิทยาศาสตร์ยอมรับว่า นกแก้วคีอาโจมตีแกะจริง โดย อัลเฟรด วอลเลซ (Alfred Wallace) อ้างในหนังสือ Darwinism ของเขาในปี 1889 ว่า "กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม"[34] โธมัส พอทส์ (Thomas Potts) ตั้งข้อสังเกตว่าการโจมตีเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในช่วงฤดูหนาว และแกะที่มีขนแกะที่ยาวและเลี้ยงไว้ในพื้นที่ที่มีหิมะนั้นเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ในขณะที่แกะที่ขนเพิ่งได้รับการตัดใหม่ในสภาพอากาศอบอุ่นมักไม่ค่อยถูกโจมตี[35]
แม้จะมีหลักฐานมากมายเกี่ยวกับการโจมตีของนกคีอาจากคำบอกเล่า[33][36] แต่ผู้คนทั่วไปยังคงไม่แน่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีต่อๆ มา ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2505 เจ.อาร์. แจ็คสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวิทยาสรุปว่า แม้ว่านกอาจโจมตีแกะที่ป่วยหรือบาดเจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนกเข้าใจผิดว่าพวกมันตายไปแล้ว (กินซาก) มัน (นกแก้วคีอา) ไม่น่าจะเป็นสัตว์นักล่าสำคัญ[37] อย่างไรก็ตามในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2535 มีการจับภาพวิดีโอการโจมตีในตอนกลางคืน[29][38] ซึ่งพิสูจน์ว่านกคีอาโจมตีและกินแกะที่แข็งแรงจริง วิดีโอนี้ยืนยันสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนสงสัยมานานแล้วว่า คีอาใช้จงอยปากโค้งและกรงเล็บอันทรงพลังของมันเพื่อฉีกชั้นขนแกะและกินไขมันจากด้านหลังของสัตว์ แม้ว่านกจะไม่ฆ่าแกะโดยตรง แต่ความตายอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อหรืออุบัติเหตุที่สัตว์ได้รับเมื่อพยายามหลบหนี
เนื่องจากปัจจุบันนกแก้วคีอา (N. notabilis) ได้รับสถานะเป็นสัตว์คุ้มครอง การลักลอบโจมตีของนกยังคงอยู่และเป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงแกะต้องกล้ำกลืนทน ทั้งนี้สาเหตุของการโจมตีแกะและสัตว์อื่น ๆ ของคีอาบางตัวยังไม่ชัดเจน
ทฤษฎีต่าง ๆ ที่ครอบคลุมถึง แหล่งอาหารที่มีอยู่ ความอยากรู้อยากเห็น ความบันเทิง ความหิว หนอนปรสิตบนแกะ ตลอดจนความเปลี่ยนอุปนิสัยจากการไล่ล่าแกะที่ตาย ล้วนถูกหยิบยกมาพิจารณาถึงพฤติกรรมการโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร[36][38] หลักฐานบอกเล่ายังชี้ให้เห็นว่านกบางตัวเท่านั้นที่เรียนรู้พฤติกรรมนี้ ซึ่งการระบุตัวและการกำจัดนกตัวดังกล่าวเหล่านั้นก็อาจเพียงพอที่จะควบคุมปัญหาได้[20][38]
นอกจากนี้ยังมีรายงานจากหลักฐานบอกเล่าเกี่ยวกับนกแก้วคีอาที่ทำร้ายกระต่าย สุนัข และแม้แต่ม้า[36] นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะที่นกแก้วคีอาเคยกินนกโมอา ในลักษณะเดียวกัน[38]
ความสามารถทางสติปัญญา
[แก้]นกแก้วคีอาได้รับการยอมรับในด้านสติปัญญาและความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นความสามารถที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่ทุรกันดารในพื้นที่ภูเขา[29] คีอามีระดับสติปัญญาที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับนกแก้วและนกอื่น และแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด สติปัญญาของลูกนกแต่ะตัวต่างกันเกิดจากความแตกต่างในการปฏิสัมพันธ์กับตัวเต็มวัย และการเรียนรู้ซึ่งเกิดขึ้นจากทักษะการหาอาหาร รวมทั้งการมีช่วงเวลาก่อนโตเต็มวัยที่ยาวนานกว่านกแก้วทั่วไป ทำให้มีการเล่นและเกิดการเรียนรู้ที่มากกว่า[15]
คีอาสามารถไขปริศนาเชิงตรรกะได้ เช่น การผลักและดึงสิ่งของในลำดับที่แน่นอนเพื่อไปหาอาหาร และสามารถทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง[29] รวมทั้งการเตรียมและการใช้เครื่องมือ[39] และเข้าใจเงาสะท้อนของตัวเอง[40] ความสามารถใช้เครื่องมือและมีความเข้าใจด้านเทคนิคที่ดีมาก[41] สามารถเปิดปิดกระเป๋าเป้สะพายหลังและถังขยะโดยง่าย นอกจากนี้ยังสามารถประเมินความน่าจะเป็นได้อย่างถูกต้อง เช่นการคาดการณ์ความน่าจะเป็นของวัตถุที่ซ่อนอยู่ในมือข้างใดข้างหนึ่ง[41]
ความสัมพันธ์กับมนุษย์
[แก้]นกแก้วคีอาเป็นนกที่ใช้ชีวิตในช่วงพลบค่ำ (crepuscular)[42] มีพฤติกรรมความอยากรู้อยากเห็นและขี้เล่นเป็นพิเศษ คีอาเป็นทั้งศัตรูพืชสำหรับผู้อยู่อาศัยในเขตกสิกรรมและเป็นจุดดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเรียกพวกมันว่า "ตัวตลกแห่งขุนเขา"[43] คีอามัก "ตรวจสอบ" สิ่งของที่นักท่องเที่ยวนำมาและทิ้งไว้โดยไม่มีใครดูแลในที่ตั้งแคมป์และที่จอดรถ เช่น กระเป๋าเป้ รองเท้าบู๊ท สกี สโนว์บอร์ด และแม้แต่รถยนต์ และมักสร้างความเสียหายกับรถที่จอดอยู่จะได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ เช่น ปะเก็นยางที่ประตูและหน้าต่าง[44] หรือบินออกไปพร้อมกับสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ
การอนุรักษ์
[แก้]ในคริสต์ทศวรรษ 1970 นกแก้วคีอาได้รับการคุ้มครองบางส่วนหลังจากการสำรวจสำมะโนประชากรนก ซึ่งนับได้เพียง 5,000 ตัว รัฐบาลยินยอมตรวจสอบรายงานของนกที่มีปัญหาและนำพวกมันออกจากพื้นที่[45] ในปี พ.ศ. 2529 นกแก้วคีอาได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ภายใต้พระราชบัญญัติสัตว์ป่า (นิวซีแลนด์) พ.ศ. 2496[46]
แม้จะจัดอยู่ในประเภทที่ใกล้สูญพันธุ์ในระดับประเทศ ในระบบการจัดประเภทภัยคุกคามของนิวซีแลนด์[47] และสถานะใกล้สูญพันธุ์ (EN) ในรายการแดงของ IUCN และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่คีอายังถูกยิงโดยเจตนา ตัวอย่างเช่น ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ชาวบ้านหมู่บ้าน Fox Glacier สังหารนกแก้วคีอา 33 ตัว[48] และในปี พ.ศ. 2551 มีการยิงนกคีอา 2 ตัวที่ Arthur's Pass และเย็บซากติดกับป้าย[49] และถูกคุกคามจากสัตว์ต่างถิ่นรุกรานที่นำเข้าโดยผู้ตั้งถิ่นฐานจากยุโรป เช่น แมวบ้าน หนู พอสซัม มีส่วนรบกวนอัตราความสำเร็จในการขยายพันธุ์โดยปกติร้อยละ 70 ให้เหลือเพียงร้อยละ 40 เมื่อไม่มีการควบคุมจำนวนสัตว์ต่างถิ่นเหล่านั้น[50]
การตายของนกแก้วคีอาจากการขนส่งจราจรทำให้หน่วยงานขนส่งของนิวซีแลนด์ติดตั้งป้าย เพื่อช่วยสร้างความตระหนักและเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนชะลอรถลงหากจำเป็น[51]
โครงการวิทยาศาสตร์พลเมืองที่เรียกว่า "ฐานข้อมูลคีอา" เปิดตัวในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งช่วยให้สามารถบันทึกการสังเกตพฤติกรรมของนกแก้วคีอา ไปยังฐานข้อมูลออนไลน์ได้ ถ้าพบนกแก้วคีอาที่มีพฤติกรรมการโจมตีจะได้รับตั้งชื่อและขื้นบัญชีตรวจสอบ สามารถติดตามนิสัยและพฤติกรรมของนกแก้วคีอาแต่ละตัวได้[52]
บางคนเรียกร้องให้นำนกแก้วคีอา กลับมาแพร่พันธุ์ในเขตปลอดผู้ล่าในเกาะเหนือ ดร.ไมค์ ดิกกิสัน อดีตภัณฑารักษ์ด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่พิพิธภัณฑ์ภูมิภาควางกานุย บอกกับนิตยสาร North & South ในฉบับเดือนตุลาคม 2018 ว่านกจะสามารถใช้ชีวิตได้ดีบนภูเขารัวเปฮู[53]
การอนุรักษ์นกคีอา ได้รับการสนับสนุนโดยองค์การนอกภาครัฐ กองทุนอนุรักษ์คีอา (Kea Conservation Trust NGO) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2549 เพื่อปกป้องนกแก้วคีอา[54]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ แม่แบบ:Publisher = IUCN
- ↑ Gould, John (1856). "On two new species of birds (Nestor notabilis and Spatula variegata) from the collection of Walter Mantell, Esq". Proceedings of the Zoological Society of London: 94–95.
- ↑ Simpson DP (1979). Cassell's Latin Dictionary (5th ed.). London: Cassell Ltd. p. 883. ISBN 0-304-52257-0.
- ↑ Ngā manu – birds, Te Ara - the Encyclopedia of New Zealand. Updated 1 March 2009. Retrieved 21 January 2010.
- ↑ "เผยโฉม "ลูกนก" อัปลักษณ์ที่สุดในโลก!!". mgronline.com (ภาษาอังกฤษ). 2012-04-19.
- ↑ Wright, T.F.; Schirtzinger E. E.; Matsumoto T.; Eberhard J. R.; Graves G. R.; Sanchez J. J.; Capelli S.; Muller H.; Scharpegge J.; Chambers G. K.; Fleischer R. C. (2008). "A Multilocus Molecular Phylogeny of the Parrots (Psittaciformes): Support for a Gondwanan Origin during the Cretaceous". Mol Biol Evol. 25 (10): 2141–2156. doi:10.1093/molbev/msn160. PMC 2727385. PMID 18653733.
- ↑ Grant-Mackie, E.J.; J.A. Grant-Mackie; W.M. Boon; G.K. Chambers (2003). "Evolution of New Zealand Parrots". NZ Science Teacher. 103.
- ↑ 8.0 8.1 Wright, T.F.; Schirtzinger E. E.; Matsumoto T.; Eberhard J. R.; Graves G. R.; Sanchez J. J.; Capelli S.; Muller H.; Scharpegge J.; Chambers G. K.; Fleischer R. C. (2008). "A Multilocus Molecular Phylogeny of the Parrots (Psittaciformes): Support for a Gondwanan Origin during the Cretaceous". Mol Biol Evol. 25 (10): 2141–2156. doi:10.1093/molbev/msn160. PMC 2727385. PMID 18653733.
- ↑ 9.0 9.1 Grant-Mackie, E.J.; J.A. Grant-Mackie; W.M. Boon; G.K. Chambers (2003). "Evolution of New Zealand Parrots". NZ Science Teacher. 103.
- ↑ Juniper, T., Parr, M. (1998) Parrots: A guide to parrots of the world. New Haven, CT: Yale University Press (ISBN 0-300-07453-0)
- ↑ 11.0 11.1 De Kloet, Rolf S.; De Kloet, Siwo R. (September 2005). "The evolution of the spindlin gene in birds: sequence analysis of an intron of the spindlin W and Z gene reveals four major divisions of the Psittaciformes". Mol. Phylogenet. Evol. 36 (3): 706–21. doi:10.1016/j.ympev.2005.03.013. PMID 16099384.
- ↑ Schweizer, M.; Seehausen O; Güntert M; Hertwig ST (2009). "The evolutionary diversification of parrots supports a taxon pulse model with multiple trans-oceanic dispersal events and local radiations". Molecular Phylogenetics and Evolution. 54 (3): 984–94. doi:10.1016/j.ympev.2009.08.021. PMID 19699808.
- ↑ 13.0 13.1 Bond, A. B.; Wilson, K. J.; Diamond, J. (1991). "Sexual Dimorphism in the Kea Nestor notabilis". Emu. 91 (1): 12–19. doi:10.1071/MU9910012.
- ↑ CRC Handbook of Avian Body Masses by John B. Dunning Jr. (Editor). CRC Press (1992), ISBN 978-0-8493-4258-5.
- ↑ 15.00 15.01 15.02 15.03 15.04 15.05 15.06 15.07 15.08 15.09 15.10 15.11 "Kea | New Zealand Birds Online". nzbirdsonline.org.nz.
- ↑ 16.0 16.1 Forshaw, Joseph M. (2006). Parrots of the World; an Identification Guide. Illustrated by Frank Knight. Princeton University Press. ISBN 0-691-09251-6.
- ↑ "เผยโฉม "ลูกนก" อัปลักษณ์ที่สุดในโลก!!". mgronline.com (ภาษาอังกฤษ). 2012-04-19.
- ↑ Holdaway, R.N.; Worthy, T.H. (1993). "First North Island fossil record of kea, and morphological and morphometric comparison of kea and kaka" (PDF). Notornis. 40 (2): 95–108. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-11-24. สืบค้นเมื่อ 2021-06-03.
- ↑ Nicholls, Jenny (15 September 2018). "A bold idea to save the kea". Noted (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 January 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-05-08.
- ↑ 20.0 20.1 Noted. "A bold idea to save the kea". Noted (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 January 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-05-08.
- ↑ Anderson, R (1986). "Keas for keeps". Forest and Bird. 17: 2–5.
- ↑ "Kea". DOC.govt.nz (ภาษาอังกฤษ). New Zealand Department of Conservation. สืบค้นเมื่อ 2017-09-21.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 23.0 23.1 Diamond, J.; Bond, A. (1989). "Note on the lasting responsiveness of a kea Nestor notabilis toward its mirror image" (PDF). Avicultural Magazine 95(2). pp. 92–94. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2 October 2011.
- ↑ "New Zealand Birds | Collective Nouns for birds (the K's)". nzbirds.com. 2011. สืบค้นเมื่อ 11 May 2011.
- ↑ Jackson, J. R. (1962). "The life of the Kea". Canterbury Mountaineer. 31: 120–123.
- ↑ Elliott, G.; Kemp, J. (1999), Conservation ecology of kea (Nestor notabilis), WWF New Zealand
- ↑ 27.0 27.1 Akers, Kate; Orr-Walker, Tamsin (April 2009). "Kea Factsheet" (PDF). Kea Conservation Trust. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2 June 2010.
- ↑ Bond, A.; Diamond, J. (1992). "Population Estimates of kea in Arthur's Pass National Park". Notornis. 39: 151–160.
- ↑ 29.0 29.1 29.2 29.3 nhnz.tv, Kea – Mountain Parrot, NHNZ, one hour documentary (1993).
- ↑ Clark, C.M.H. (1970). "Observations on population, movements and food of the kea, Nestor notabilis" (PDF). Notornis. 17: 105–114. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-11-24. สืบค้นเมื่อ 2021-06-03.
- ↑ Christina Troup. Birds of open country – kea digging out a shearwater chick เก็บถาวร 17 ตุลาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Te Ara – the Encyclopedia of New Zealand, Ministry of Culture and Heritage. Updated 20 November 2009. Accessed 22 January 2010.
- ↑ Gajdon, G.K.; Fijn, N.; Huber, L. (2006). "Limited spread of innovation in a wild parrot, the kea (Nestor notabilis)". Animal Cognition. 9 (3): 173–181. doi:10.1007/s10071-006-0018-7.
- ↑ 33.0 33.1 Benham, W. B. (1906). "Notes on the Flesh-eating Propensity of the Kea (Nestor notabilis)". Transactions of the Royal Society of New Zealand. 39: 71–89.
- ↑ Wallace, Alfred (1889). Darwinism. London: Macmillan and Co. p. 75.
- ↑ Potts, Thomas (1882) [from "Out in the Open," 1882]. "The Kea, or Mountain Parrot". ใน Reeves, William Pember (Minister of Education) (บ.ก.). The New Zealand Reader. Wellington: Samuel Costall, Government Printer (ตีพิมพ์ 1895). pp. 81–90 – โดยทาง New Zealand Electronic Text Collection (NZETC).
- ↑ 36.0 36.1 36.2 Marriner, G. R. (1906). "Notes on the Natural History of the Kea, with Special Reference to its Reputed Sheep-killing Propensities". Transactions of the Royal Society of New Zealand. 39: 271–305.
- ↑ Jackson, J.R. (1962). "Do kea attack sheep?" (PDF). Notornis. 10: 33–38. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-02-18. สืบค้นเมื่อ 2021-06-03.
- ↑ 38.0 38.1 38.2 38.3 Temple, Philip (1994). "Kea: the feisty parrot". New Zealand Geographic. No. 024. Auckland (ตีพิมพ์ Oct–Dec 1994). สืบค้นเมื่อ 2019-01-13.
{{cite magazine}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) - ↑ stuff.co.nz
- ↑ Tobias Rahde: . Hrsg.: Freie Universität Berlin. 2014, S. 100–128 (Online [PDF; abgerufen am 15. September 2019]).
- ↑ 41.0 41.1 The parrots that understand probabilities. Nature, 2020, abgerufen am 9. Februar 2021 (englisch).
- ↑ "Kea: Merkmale und Lebensweise des Bergpapageis". Das-Tierlexikon.de (ภาษาเยอรมัน). 2017-08-24.
- ↑ "Clever clown of the mountains". University of Vienna - Faculty of Life Sciences, Department of Cognitive Biology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 November 2011. สืบค้นเมื่อ 2011-10-28.
- ↑ Cheeky parrot steals tourist's passport, ABC News, 30 May 2009. Retrieved 22 January 2010.
- ↑ Diamond, J., Bond, A. (1999) Kea. Bird of paradox. The evolution and behavior of a New Zealand Parrot. Berkeley; Los Angeles, CA: University of California Press. (ISBN 0-520-21339-4)
- ↑ "Wildlife Act 1953 No 31 (as at 07 August 2020), Public Act – New Zealand Legislation". www.legislation.govt.nz.
- ↑ Hitchmough, Rod; Bull, Leigh; Cromarty, Pam (2007). New Zealand Threat Classification System lists 2005 (PDF). Wellington: Department of Conservation. ISBN 0-478-14128-9.
- ↑ "Human-kea conflict". Kea Conservation Trust website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 September 2011.
- ↑ "Arthurs Pass neighbours at odds". The Press. 2 February 2008. สืบค้นเมื่อ 8 October 2011.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "Kea". www.doc.govt.nz (ภาษาNew Zealand English).
- ↑ "Drivers urged to slow down for kea". DOC.govt.nz (ภาษาอังกฤษ). New Zealand Department of Conservation. 25 August 2017. สืบค้นเมื่อ 2017-09-21.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "Kea Database". keadatabase.nz (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2017-09-21.
- ↑ Noted. "A bold idea to save the kea". Noted (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 January 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-05-08.
- ↑ "Kea|Nestor Notabilis|Kea Conservation Trust NZ". Kea Conservation Trust (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-09-03.