ควาย
ควาย | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
สัตว์เลี้ยงหรือปศุสัตว์
| |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม Mammalia |
อันดับ: | สัตว์กีบคู่ Artiodactyla |
วงศ์: | วงศ์วัวและควาย Bovidae |
วงศ์ย่อย: | วงศ์ย่อยวัวและควาย Bovinae |
สกุล: | Bubalus Bubalus (Linnaeus, 1758) |
สปีชีส์: | Bubalus bubalis |
ชื่อทวินาม | |
Bubalus bubalis (Linnaeus, 1758) | |
การกระจายพันธุ์ของควายใน ค.ศ. 2004 | |
ชื่อพ้อง | |
Bos bubalis Linnaeus, 1758 |
ควาย หรือภาษาทางการว่า กาสร หรือ กระบือ มีอีกชื่อว่า ควายบ้าน หรือ ควายเอเชีย เป็นสัตว์วงศ์วัวและควายขนาดใหญ่ที่มีแหล่งที่อยู่อาศัยดั้งเดิมในอนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน สามารถพบได้ในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และประเทศในแอฟริกาบางส่วน[1] โดยมีการแบ่งต้นแบบควายตามสัณฐานวิทยาและพฤติกรรมถึงสองแบบ: ควายแม่น้ำ ที่พบในอนุทวีปอินเดียถึงบอลข่าน, อียิปต์ และอิตาลี และ ควายปลัก ที่พบตั้งแต่รัฐอัสสัมทางตะวันตกผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงจนถึงหุบเขาแยงซีทางตะวันออกของจีน[1][2]
ควายป่า (Bubalus arnee) มีความเป็นไปได้ในการเป็นตัวแทนบรรพบุรุษของควายบ้านมากที่สุด[3] ผลจากงานวิจัยทางวิวัฒนาการชาติพันธุ์แสดงให้เห็นว่า ความแม่น้ำน่าจะมีต้นกำเนิดในอินเดียตะวันตกแล้วถูกปรับเป็นสัตว์เลี้ยงประมาณ 6,300 ปีที่แล้ว ส่วนควายปลักมีต้นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่และถูกปรับเป็นสัตว์เลี้ยงประมาณ 3,000 ถึง 7,000 ปีที่แล้ว[4] ควายแม่น้ำกระจัดกระจายไปทางตะวันตกถึงอียิปต์, บอลข่าน และอิตาลี ส่วนควายปลักกระจัดกระจายไปทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไปทางตอนเหนือถึงหุบเขาแม่น้ำแยงซี[4][5][6]
เมลูฮ์ฮาค้าขายควายจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุไปยังเมโสโปเตเมียเมื่อ 2500 ปีก่อนคริสต์ศักราช[7] ตราประทับอาลักษณ์ของกษัตริย์แอกแคดแสดงการเชือดพลีควายด้วย[8] ปัจจุบันมีควายอย่างน้อย 130 ล้านตัวทั่วโลก และผู้คนส่วนมากพึ่งพามันมากกว่าสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ[9]
รายละเอียด
ควายจัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีสี่ขา เท้าเป็นกีบ ตัวขนาดใกล้เคียงกับวัวโตเต็มวัยเมื่ออายุระหว่าง 5-8 ปี น้ำหนักตัวผู้โตเต็มวัยโดยเฉลี่ย 520-560 กิโลกรัม ตัวเมียเฉลี่ยประมาณ 360-440 กิโลกรัม ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย มีผิวสีเทาถึงดำ (บางตัวมีสีชมพู เรียกว่า ควายเผือก) มีเขาเป็นลักษณะเด่นเฉพาะตัว ปลายเขาโค้งเป็นวงคล้ายพระจันทร์เสี้ยว แต่ถ้าเป็นควายตัวผู้ที่มีลักษณะดีก็จะมีคนซื้อไปเป็นพ่อพันธุ์
ควายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลูกควายจะกินนมแม่จนอายุประมาณ 1 ปี 6 เดือน ควายจะเจริญเติบโตใช้แรงงานได้ระหว่างอายุ 2.5-3 ปี ช่วงที่ใช้งานได้เต็มที่ คือระหว่างอายุ 6-9 ปี ควายแต่ละตัวจะใช้งานได้จนอายุย่างเข้า 20 ปี อายุควายโดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 25 ปี
สายพันธุ์
แยกได้เป็นสองกลุ่มคือควายป่า และควายบ้าน และควายบ้านนั้นก็แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ ควายปลัก (Swamp buffalo) ควายแม่น้ำ (River buffalo) ทั้งสองชนิดจัดอยู่ในวงศ์ สกุล และชนิดเดียวกันคือ Bubalus bubalis แต่ก็มีความแตกต่างกันทางสรีระวิทยา รูปร่าง อย่างเห็นได้ชัดเจน จากการศึกษาทางด้านชีวภาพโมเลกุลพบว่า ควายปลักมีจำนวนโครโมโซม 24 คู่ ส่วนควายแม่น้ำจะจำนวนโครโมโซม 25 คู่ และสามารถผสมข้ามพันธุ์ระหว่างทั้งสองชนิดนี้ได้ [10]
- ควายปลัก
เลี้ยงกันในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว เลี้ยงเพื่อใช้แรงงานในไร่นา เพื่อปลูกข้าวและทำไร่ และเมื่อกระบืออายุมากขึ้นก็จะส่งเข้าโรงฆ่าเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร ชอบนอนแช่ปลัก มีรูปร่างล่ำสัน ผิวหนังมีสีเทาเข้มเกือบดำอาจมีสีขาวเผือก มีขนเล็กน้อย ลำตัวหนาลึก ท้องใหญ่ หัวยาวแคบ เขามีลักษณะแบบโค้งไปข้างหลัง หน้าสั้น หน้าผากแบบราบ ตานูนเด่นชัด ช่วงระหว่างรูจมูกทั้งสองข้างกว้าง ขาทั้ง 4 สีขาวแก่หรือสีเทาคล้ายใส่ถุงเท้าสีขาว คอยาวและบริเวณใต้คอจะมีขนขาวเป็นรูปตัววี (chevlon) หัวไหล่และอกนูนเห็นชัดเจน
- ควายแม่น้ำ
พบในประเทศอินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ ประเทศในยุโรปตอนใต้และยุโรปตะวันออก ให้นมมากและเลี้ยงไว้เพื่อรีดนม ไม่ชอบลงแช่โคลน แต่จะชอบน้ำสะอาด มีหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์มูร่าห์ นิลิ ราวี เมซานี เซอติ และเมดิเตอร์เรเนียน เป็นต้น กระบือประเภทนี้จะมีขนาดใหญ่ รูปร่างแข็งแรง ลักษณะทั่วไปจะมีผิวหนังสีดำ หัวสั้น หน้าผากนูน เขาสั้น และบิดม้วนงอ ส่วนลำตัวจะลึกมาก มีขนาดเต้านมใหญ่
ดูเพิ่ม
- ควายป่าแอฟริกา (Syncerus caffer)
- ควายป่า
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 Cockrill, W. R. (1977). The water buffalo (PDF). Rome: Animal Production and Health Series No. 4. Food and Agriculture Organization of the United Nations. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-06-16. สืบค้นเมื่อ 2022-06-04.
- ↑ Cockrill, W. R., บ.ก. (1974). The husbandry and health of the domestic buffalo. Rome: Food and Agriculture Organization of the United Nations.
- ↑ Lau, C. H.; Drinkwater, R. D.; Yusoff, K.; Tan, S. G.; Hetzel, D. J. S.; Barker, J. S. F. (1998). "Genetic diversity of Asian water buffalo (Bubalus bubalis): mitochondrial DNA D-loop and cytochrome b sequence variation" (PDF). Animal Genetics. 29 (4): 253–264. doi:10.1046/j.1365-2052.1998.00309.x. ISSN 0268-9146. PMID 9745663.
- ↑ 4.0 4.1 Zhang, Y.; Colli, L. & Barker, J. S. F. (2020). "Asian water buffalo: domestication, history and genetics". Animal Genetics. 51 (2): 177–191. doi:10.1111/age.12911. PMID 31967365.
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อLiu2004
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อyang
- ↑ McIntosh, J. (2008). The Ancient Indus Valley: New Perspectives. Santa Barabara: ABC-CLIO. ISBN 9781576079072.
- ↑ Khan, G., Church, S. K., Harding, R., Lunde, P., McIntosh, J., Stone, C. (2011). The First Civilizations in Contact: Mesopotamia and the Indus เก็บถาวร 2019-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Civilizations in Contact Project, Faculty of Asian and Middle Eastern Studies, University of Cambridge.
- ↑ Scherf, B. D. (2000). World watch list for domestic animal diversity. Third edition. Food and Agriculture Organization of the United Nations, Rome.
- ↑ พันธุ์กระบือ เก็บถาวร 2007-11-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรมปศุสัตว์