คทาดำ
คทาดำ (อังกฤษ: Black Rod) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ผู้เบิกคทาดำ (Usher of the Black Rod, ถ้าเป็นหญิง เรียก Lady Usher of the Black Rod และถ้าเป็นชาย เรียก Gentleman Usher of the Black Rod) เป็นเจ้าพนักงานรัฐสภาในประเทศเครือจักรภพบางประเทศ มีต้นกำเนิดในสภาขุนนางของรัฐสภาสหราชอาณาจักรที่จัดให้มีเจ้าพนักงานถือคทาทำจากไม้มะเกลือสีดำประดับรูปสิงโตสีทองที่หัว[1]
ในสหราชอาณาจักร เจ้าพนักงานนี้มีความรับผิดชอบหลัก ๆ เป็นการควบคุมการเข้าถึงสภาขุนนางและบริเวณโดยรอบ และรักษาระเบียบในพื้นที่ดังกล่าว[2] นอกจากนี้ ยังมีความรับผิดชอบในพิธีการบางอย่าง ซึ่งรวมถึงการเบิกตัวสมาชิกสภาสามัญชนไปฟังพระราชดำรัสจากพระราชบัลลังก์ (Speech from the Throne) ร่วมกับสมาชิกสภาขุนนางในรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา (State Opening of Parliament) ด้วยการเชิญคทาไปหยุดอยู่หน้าประตูสภาสามัญชน แล้วให้ประตูปิดใส่หน้าของตนอย่างแรง ก่อนใช้คทานั้นเคาะประตูสามครั้งเพื่อขออนุญาตเข้าไปประกาศเบิกตัว พิธีการดังกล่าวเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า สามัญชนเป็นอิสระจากกษัตริย์[1][3]
ผู้เบิกคทาดำคนปัจจุบันแห่งสหราชอาณาจักร คือ แซราห์ คลาร์ก (Sarah Clarke) ซึ่งเป็นสตรีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ โดยอยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ ค.ศ. 2018[4] และได้รับค่าตอบแทนราว 93,000 ปอนด์ต่อปี[1]
สหราอาณาจักร
[แก้]การแต่งตั้ง
[แก้]พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้เบิกคทาดำตามที่เลขาธิการรัฐสภา (Clerk of the Parliaments) เลือกสรรมา เดิมตำแหน่งนี้หมุนเวียนกันในกลุ่มข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากกองทัพเหล่าต่าง ๆ แต่ตั้งแต่ ค.ศ. 2002 ได้ประกาศรับเป็นการทั่วไป ผู้เบิกคทาดำ ถ้าไม่ได้เป็นอัศวินอยู่แล้ว มักได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวินประเภทไนต์แบชเลอร์ (Knight Bachelor) และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เทอร์ (Order of Garter) ส่วนรองผู้เบิกคทาดำ ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Yeoman Usher of the Black Rod"[5]
หน้าที่
[แก้]ความรับผิดชอบหลัก ๆ ของผู้เบิกคทาดำ คือ การควบคุมการเข้าถึงสภาขุนนางและอาณาบริเวณ และรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่นั้น[2] เดิมยังรับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ดังกล่าว และรับผิดชอบด้านอาคารสถานที่กับการบริการภายในวังเวสต์มินสเตอร์ แต่ความรับผิดชอบทั้งสองด้านดังกล่าว ปัจจุบันโอนให้แก่ผู้อำนวยการรักษาความปลอดภัยรัฐสภา (Parliamentary Security Director) ตั้งแต่ ค.ศ. 2016 และผู้อำนวยการอาคารสถานที่แห่งสภาขุนนาง (Lords Director of Facilities) ตั้งแต่ ค.ศ. 2019 ตามลำดับแล้ว[6]
อนึ่ง ผู้เบิกคทาดำยังเป็นผู้เฝ้าประตูและเชิญบุคคลเข้าที่ในช่วงประชุมสมาชิกเครื่องราชอิสรยาภรณ์การ์เทอร์ และเป็นผู้ถวายการรับใช้โดยตรงให้แก่พระมหากษัตริย์ในที่ประชุมสภาขุนนาง นอกจากนี้ ยังเป็นเลขานุการของเลขาธิการพระราชวัง (Lord Great Chamberlain) เป็นผู้เฝ้าประตูสภาขุนนาง และเป็นซาร์เจินต์แอตอามส์ (serjeant-at-arms) ประจำสภาขุนนาง เมื่อใดที่สภาขุนนางประชุมกัน ทั้งผู้เบิกคทาดำและรองผู้เบิกคทาดำต้องอยู่ด้วย และทำหน้าที่เบิกตัวสมาชิกใหม่เฉพาะที่เป็นขุนนางฝ่ายอาณาจักรเข้าที่ประชุม อนึ่ง ผู้เบิกคทาดำยังมีอำนาจจับกุมสมาชิกคนใด ๆ ที่ละเมิดเอกสิทธิ์ทางรัฐสภา หรือกระทำความผิดอื่น ๆ ในทางรัฐสภา เช่น ละเมิดอำนาจ (contempt), ก่อความไม่สงบ (disorder), หรือขัดขวางกระบวนพิจารณาของสภา อันเป็นบทบาทที่เทียบเท่ากับซาร์เจินต์แอตอามส์แห่งสภาสามัญชน
ผู้เบิกคทาดำรับผิดชอบเชิญคทาพิธีการ (ceremonial mace) เข้าและออกห้องประชุมสภาขุนนางเพื่อให้ประธานสภาขุนนางใช้ แต่ปัจจุบันหน้าที่นี้ส่งผ่านให้รองผู้เบิกคทาทำ หรือให้ผู้ช่วยประธานสภาขุนนาง (Lord Speaker's Deputy) ทำในโอกาสที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายตุลาการ
ผู้เบิกคทาดำยังเป็นที่รู้จักเพราะบทบาทในรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาซึ่งพระมหากษัตริย์จะเสด็จมาเปิดประชุมและมีพระราชดำรัสจากพระราชบัลลังก์ ในพิธีดังกล่าว ผู้เบิกคทาจะเบิกตัวสมาชิกสภาสามัญชนไปฟังพระราชดำรัสร่วมกับสมาชิกสภาขุนนาง ด้วยการเชิญคทาไปเคาะบานประตูสภาสามัญชนสามครั้งเพื่อขอเข้าไปประกาศเบิกตัว[7]
เดวิด ลีกีย์ (David Leakey) อดีตผู้เบิกคทาดำ กล่าวว่า ร้อยละ 30 ของงานในตำแหน่งผู้เบิกคทาดำแห่งสภาขุนนางนั้น ต้องทำในหรือทำเพื่อสภาสามัญชน[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "Who is Black Rod and what do they do in Parliament?". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2019-09-10. สืบค้นเมื่อ 2021-11-11.
- ↑ 2.0 2.1 "Black Rod". UK Parliament (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-04-07.
- ↑ Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 4 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์.
- ↑ "Sarah Clarke appointed to the role of Black Rod". parliament.uk. 17 November 2017. สืบค้นเมื่อ 17 November 2017.
- ↑ "Yeoman Usher". Parliament of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 16 August 2016.
- ↑ Torrance, Michael (12 December 2017). "Governance and Administration of the House of Lords" (PDF). House of Lords Library. สืบค้นเมื่อ 2019-04-07.
- ↑ "Black Rod". www.parliament.uk (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "'Scandal' if Bercow got peerage - ex-Parliament official", BBC News, 5 February 2020, สืบค้นเมื่อ 6 June 2020