คติชนวิทยา
คติชนวิทยา (อังกฤษ: folkloristics) เป็นสาขาหนึ่งที่ศึกษาข้อมูลทางวัฒนธรรมของมนุษย์ที่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมา ทั้งในสังคมชนบทและในสังคมเมือง ไม่ว่าจะเป็นตำนาน นิทาน นิยายประจำถิ่น เพลง ปริศนาคำทาย สำนวนภาษิต คำพังเพย การละเล่น การแสดง เครื่องมือเครื่องใช้ อาหารการกิน ยาพื้นบ้าน ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรม
สำหรับผู้ที่ศึกษาความรู้ด้านคติชนวิทยา จะเรียกว่า "นักคติชนวิทยา" (folklorist)
ความหมายของคติชนวิทยา
[แก้]คำว่าคติชนวิทยา มีผู้ให้ความหมายไว้มากมายหลากหลาย แต่สามารถสรุปได้เป็น 2 กลุ่มความคิดใหญ่ ๆ คือ
คติชนวิทยาในความหมายระยะแรก
[แก้]หมายถึงการศึกษาข้อมูลทางวัฒนธรรมในวิถีชีวิตแบบชาวบ้านชาวชนบท ไม่ว่าจะเป็นตำนานพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน ภาษิตคำพังเพย ปริศนาคำทาย การละเล่นและการแสดงพื้นบ้าน รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อและพิธีกรรมในสังคมระดับชาวบ้าน ชาวนา หรือชาวชนบทที่มีวิถีชีวิตแบบเก่าแก่ดั้งเดิม ตัวอย่างทัศนะของนักวิชาการในกลุ่มนี้ ดังเช่น Jonas Balys นักคติชนวิทยาและนักชาติพันธุ์วิทยาอธิบายว่า คติชนประกอบด้วยการสร้างสรรค์ตามแบบประเพณีปรัมปราของผู้คนทั้งในสังคมอนารยธรรมและสมัยที่มีอารยธรรมแล้ว วิธีการสร้างสรรค์คือใช้เสียงและคำมาประกอบกันเข้าเป็นรูปแบบร้อยแก้วและรูปแบบร้อยกรอง นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยความเชื่อของคนพื้นบ้าน หรือความเชื่อเรื่องโชคลาง ประเพณี และการแสดง การร่ายรำ การละเล่นต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลคติชนนั้นไม่ใช่เป็นแต่เพียงศาสตร์ที่เกี่ยวกับคนพื้นบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นศาสตร์พื้นบ้านและกวีนิพนธ์พื้นบ้านที่เป็นประเพณีเก่าแก่อีกด้วย
ในวงการคติชนวิทยาในระยะแรกนั้นเมื่อพูดถึง folklore ก็มักหมายถึงคติชนของชาวบ้านที่มีขอบเขตอยู่ในบริบทของสังคมชาวนา ไม่ได้รวมถึงชาวเมืองในสังคมเมืองและไม่ได้คิดว่า "ชาวเมือง" ก็อาจจะมี "urban lore" ของตนเองได้
คติชนวิทยาในความหมายระยะหลัง
[แก้]หมายถึงศาสตร์สาขาวิชาหนึ่งที่สนใจศึกษาเรื่องราวข้อมูลทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสังคมชาวนาชาวไร่ สังคมเมือง สังคมเกษตรกรรม สังคมอุตสาหกรรม สังคมแบบเก่า สังคมสมัยใหม่ คำว่าคติชนวิทยาในกลุ่มความคิดนี้จึงเป็นความหมายที่กว้างขึ้น ตัวอย่างนักวิชาการในกลุ่มนี้เช่น Alan Dundes อธิบายว่าการนิยามความหมายของคำว่า folklore มักจะไม่เน้นที่ folk แต่จะเน้นที่ lore มากกว่า ฉะนั้นคำว่า folk จึงหมายถึงกลุ่มชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กลุ่มใดก็ได้ที่มีเอกลักษณ์ร่วมกัน เช่น มีอาชีพเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน กระทำกิจกรรมบางประเภทเหมือนกัน ส่วน lore คือเรื่องราวแบบแผนของกลุ่มชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การที่ Dundes แยกคำจำกัดความออกเป็น 2 คำนั้น เพราะเขาเห็นว่าคำว่า folk ไม่ได้หมายเฉพาะแต่ชาวไร่ชาวนาหรือชาวชนบท แต่หมายถึงชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะเป็นชนกลุ่มใดก็ได้ที่มีเอกลักษณ์บางอย่างที่มีอยู่ร่วมกัน ดังเช่น กลุ่มนิสิตนักศึกษา กลุ่มวัยรุ่นในเซ็นเตอร์พอยต์ กลุ่มรักร่วมเพศ กลุ่มผู้หญิง กลุ่มสาวโรงงาน กลุ่มไทลื้อ กลุ่มมุสลิม เป็นต้น
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ปฐม หงษ์สุวรรณ. เอกสารประกอบการสอนวิชาคติชนวิทยา. มหาสารคาม : ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2550.
- ปฐม หงษ์สุวรรณ. กาลครั้งหนึ่ง : ว่าด้วยตำนานกับวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.