กัป
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
กัป หรือ กัลป์ (สันสกฤต: कल्प กลฺป) หมายถึง ช่วงระยะเวลาอันยาวนานของโลก จนไม่สามารถกำหนดเป็นวัน เดือน หรือปีได้[1] พบในหลายศาสนา เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ลัทธิอนุตตรธรรม
ศาสนาพุทธ
[แก้]ประเภทของกัปในฎีกามาเลยยสูตร
[แก้]ฎีกามาเลยยสูตรแบ่งกัปไว้ 4 แบบคือ
- อายุกัป คือ กำหนดอายุสัตว์ เกิดมามีอายุเท่าไร เมื่ออายุสิ้นสุดลง เรียก 1 กัป (ในยุคพุทธกาล 1 อายุกัปของมนุษย์ ประมาณ 100 ปี)
- อันตรกัป คือ กำหนดอายุมนุษย์ ระยะเวลาที่อายุขัยของมนุษย์ลดลงจากอสงไขยปีจนถึง 10 ปี แล้วเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีกลับมาที่อสงไขยปี (อสงไขยปี หมายถึง เวลาอันยาวนานจนนับประมาณอายุไม่ได้)
- อสงไขยกัป = 64 อันตรกัป
- มหากัป (คำว่า "มหากัป" มักถูกเรียกสั้น ๆ ว่า "กัป" = 4 อสงไขยกัป = 256 อันตรกัป) กาลเวลา"มหากัป" หนึ่งนั้น พึงรู้ด้วยอุปมาประมาณว่า โลกธาตุ (จักรวาล) อุบัติขึ้นมา จนกระทั่งโลกธาตุนั้นดับไป
วิธีนับกัป
[แก้]วิธีนับกัป กำหนดกาลว่านาน "มหากัป" หนึ่งนั้น พึงรู้ด้วยอุปมาประมาณว่า โลกธาตุ (จักรวาล) อุบัติขึ้นมา จนกระทั่งโลกธาตุนั้นดับไป
ช่วงเวลาในกัป
[แก้]พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับช่วงเวลาใน 1มหากัป = 4 อสงไขยกัป ไว้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัป 4 ประการนี้ อสงไขยกัป 4 ประการมีอะไรบ้าง คือ
- ในเวลาที่สังวัฏฏกัปดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ 100 ปี จำนวนเท่านี้ 1,000 ปี หรือจำนวนเท่านี้ 100,000 ปี
- ในเวลาที่สังวัฏฏฐายีกัปดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่าจำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ 100 ปี จำนวนเท่านี้ 1,000 ปี หรือจำนวนเท่านี้ 100,000 ปี
- ในเวลาที่วิวัฏฏกัปดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ 100 ปี จำนวนเท่านี้ 1,000 ปี หรือจำนวนเท่านี้ 100,000 ปี
- ในเวลาที่วิวัฏฏฐายีกัปดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่าจำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ 100 ปี จำนวนเท่านี้ 1,000 ปี หรือจำนวนเท่านี้ 100,000 ปี
ภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัป 4 ประการนี้แล[2]
— กัปปสูตร
(4 อสงไขยกัป - สังวัฏฏกัป, สังวัฏฏฐายีกัป, วิวัฏฏกัป, วิวัฏฏฐายีกัป)
สรุปใจความก็คือ มหากัปนึงแบ่งเป็น 4 ช่วง แต่ละช่วงยาวนานมากยากจะนับได้ (อสงไขยกัปในที่นี้หมายถึง มากมาย หรือ นับไม่ถ้วน (infinity))
การแบ่งกัปตามจำนวนการอุบัติของพระพุทธเจ้า
[แก้]แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ
- สุญญกัป คือ กัปที่ปราศจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ[1]
- อสุญญกัป คือ กัปที่ไม่ว่างจากพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ แบ่งเป็น 5 ประเภทย่อยคือ
- สารกัป คือกัปที่เป็นแก่นสาร มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 1 พระองค์
- มัณฑกัป คือ กัปที่ผ่องใส มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 2 พระองค์
- วรกัป คือ กัปที่ประเสริฐ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 3 พระองค์ (ในที่อื่น ว่า 4 พระองค์)[3]
- สารมัณฑกัป คือกัปที่เป็นแก่นสารและผ่องใส มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 4 พระองค์ (ฉบับ มมร. ว่า 3 พระองค์)[4]
- ภัทรกัป คือกัปที่เจริญ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์. (กัปปัจจุบันเป็นภัทรกัปมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ได้แก่ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้า และว่าที่พระเมตไตรยพุทธเจ้า รวมเรียกว่า พระเจ้าห้าพระองค์)
การประมาณความยาวนานของกัป
[แก้]พระพุทธเจ้าได้ตรัสประมาณเกี่ยวกับความยาวนานของกัปไว้ดังนี้
1. ปัพพตสูตร (สังยุตตนิกาย อนมตัคคสังยุต ข้อ 128 หน้า 219-220 พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าอุปมาความยาวนานของกัป พระองค์ตรัสตอบว่า
อาจอุปมาได้ ภิกษุ เปรียบเหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบลูกใหญ่ มีความยาว 1 โยชน์ กว้าง 1 โยชน์ สูง 1 โยชน์ ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีลูบภูเขานั้น 100 ปีต่อครั้ง ภูเขาศิลาลูกใหญ่นั้นพึงหมดสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่า ส่วนกัปหนึ่งยังไม่หมดสิ้นไป กัปนานนักหนาอย่างนี้ บรรดากัปที่นานนักหนาอย่างนี้ เธอได้ท่องเที่ยวไป มิใช่ 1 กัป มิใช่ 100 กัป มิใช่ 1,000 กัป มิใช่ 100,000 กัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ภิกษุ เพราะเหตุนี้แหละจึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรเพื่อหลุดพ้นจากสังขารทั้งปวง[5]
— ปัพพตสูตร
2. สาสปสูตร (สังยุตนิกาย อนมตัคคสังยุต ข้อ 129 หน้า 220-221 พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าอุปมาความยาวนานของกัป พระองค์ตรัสตอบว่า
อาจอุปมาได้ ภิกษุ เปรียบเหมือนนครที่สร้างด้วยเหล็กมีความยาว 1 โยชน์ กว้าง 1 โยชน์ สูง 1 โยชน์ เต็มด้วยเมล็ดผักกาด รวมกันเป็นกลุ่มก้อน บุรุษพึงหยิบเมล็ดผักกาดออกจากนครนั้น 100 ปีต่อ 1 เมล็ด เมล็ดผักกาดกองใหญ่นั้นพึงหมดสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ยังเร็วกว่า ส่วนกัปหนึ่ง ยังไม่หมดสิ้นไป กัปนานนักหนาอย่างนี้ บรรดากัปที่นานนักหนาอย่างนี้ เธอได้ท่องเที่ยวไป มิใช่ 1 กัป มิใช่ 100 กัป มิใช่ 1,000 กัป มิใช่ 100,000 กัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้นจาก สังขารทั้งปวง[6]
— สาสปสูตร
จำนวนกัปที่ผ่านมาแล้ว
[แก้]พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่าที่ผ่านมาในอดีตมีกัปที่ล่วงไปแล้วมากมายนับไม่ถ้วนดังนี้
1. สาวกสูตร (สังยุตนิกาย อนมตัคคสังยุต ข้อ 130 หน้า 221 พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ภิกษุกลุ่มหนึ่งกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงอุปมาจำนวนกัปที่ผ่านไปแล้ว พะองค์ตรัสตอบว่า
อาจอุปมาได้ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสาวก 4 รูปในธรรมวินัยนี้ มีอายุ 100 ปี มีชีวิตอยู่ 100 ปี หากเธอเหล่านั้นพึงระลึกย้อนหลังไปได้ วันละ 100,000 กัป กัปที่เธอเหล่านั้นระลึกไปไม่ถึงยังมีอยู่ ต่อมาสาวก 4 รูป มีอายุ 100 ปี มีชีวิตอยู่ 100 ปี พึงมรณภาพไปทุก 100 ปี กัปที่ผ่านพ้นไปแล้วมากนักหนาอย่างนี้ มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ 100 กัป เท่านี้ 1,000 กัป หรือว่าเท่านี้ 100,000 กัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้น[7]
— สาวกสูตร
2. คังคาสูตร (สังยุตนิกาย อนมตัคคสังยุต ข้อ 131 หน้า 222 พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) มีพราหมณ์คนหนึ่งกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงอุปมาจำนวนกัปที่ผ่านไปแล้ว พระองค์ตรัสตอบว่า
อาจอุปมาได้ พราหมณ์ เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคานี้เริ่มต้นจากที่ใด และถึงมหาสมุทร ณ ที่ใด เม็ดทรายในระหว่างนี้ง่ายที่จะนับได้ว่า เท่านี้เม็ด เท่านี้ 100 เม็ด เท่านี้ 1,000 เม็ด หรือว่าเท่านี้ 100,000 เม็ด กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้วมากกว่าเม็ดทรายเหล่านั้น มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ 100 กัป เท่านี้ 1,000 กัป หรือว่าเท่านี้ 100,000 กัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ที่สุดเบื้องต้น ที่สุดเบื้องปลาย ไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้ถูกอวิชชากีดขวาง ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียนท่องเที่ยวไปสัตว์เหล่านั้นก็เสวยความทุกข์ เสวยความลำบาก ได้รับความพินาศเต็มป่าช้าเป็นเวลายาวนาน พราหมณ์ เพราะเหตุนี้แหละจึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรเพื่อหลุดพ้นจากสังขารทั้งปวง[8]
— คังคาสูตร
ศาสนาฮินดู
[แก้]ตามคติในศาสนาฮินดู เชื่อว่าพระพรหมทรงสร้างโลกเสร็จแล้วจะบรรทมไป 1 คืน ซึ่งยาวนานเท่ากับ 1 กัลป์ แต่ละกัลป์นาน 4,320 ล้านปี และแต่ละกัลป์แบ่งออกเป็น 14 มันวันดร แต่ละมันวันดรนาน 306,720,000 ปี[9] และแบ่งออกเป็น 71 ยุค
เมื่อครบ 1 กัลป์ โลกจะถึงอวสานพอดี พระพรหมจะตื่นบรรทม แล้วทรงใช้เวลา 1 วันของพระองค์ ซึ่งเท่ากับ 1 กัลป์ เพื่อสร้างโลกขึ้นใหม่ ดังนั้น 30 วันคืนพระพรหม หรือนับเป็น 1 เดือนพระพรหม จะเท่ากับประมาณ 259,200 ล้านปี
ลัทธิอนุตตรธรรม
[แก้]ลัทธิอนุตตรธรรมถือว่าระยะเวลาตั้งแต่ฟ้าดินก่อกำเนิดขึ้นสำเร็จเป็นสรรพสิ่ง แล้วกลับเสื่อมสลายจบสิ้นดินฟ้าเรียกว่า 1 กัป หรือ 1 อุบัติกาล (จีน: 元 เอวี๋ยน) ซึ่งยาวนาน 129,600 ปี[10] แต่ละอุบัติกาลแบ่งเป็น 12 บรรจบกาล (จีน: 會 ฮุ่ย) โดยแต่ละบรรจบกาลนาน 10,800 ปี และมีชื่อตาม 12 ปีนักษัตร[11]
ยุคปัจจุบันอยู่ในช่วงบรรจบกาลมะแม ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1912 และเป็นจุดเริ่มต้นธรรมกาลยุคขาวของพระศรีอริยเมตไตรย ยุคนี้จะมีภัยพิบัติเกิดขึ้น 81 ครั้ง และมีวิถีอนุตตรธรรมลงมาพร้อมกันเพื่อฉุดช่วยสรรพสัตว์กลับสู่แดนนิพพาน[11]
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา. พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2552. 734 หน้า. หน้า 287-90. ISBN 978-616-7073-03-3
- ↑ กัปปสูตร, พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๑.อินทริยวรรค
- ↑ อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๕. ภัททิยวรรค ๘. โลมสติยเถราปทาน
- ↑ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้าที่ 401
- ↑ ปัพพตสูตร, พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๔. อนมตัคคสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๕.
- ↑ สาสปสูตร, พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๔. อนมตัคคสังยุต] ๑. ปฐมวรรค
- ↑ สาวกสูตร, พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๔. อนมตัคคสังยุต] ๑. ปฐมวรรค
- ↑ คังคาสูตร, พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๔. อนมตัคคสังยุต] ๑. ปฐมวรรค
- ↑ Manu[ลิงก์เสีย], สารานุกรมบริแทนนิกา
- ↑ พุทธระเบียบพิธีการอนุตตรธรรม, ปกหลัง
- ↑ 11.0 11.1 สายทอง, หน้า 33-34
- บรรณานุกรม
- ประภาส สุระเสน. พระคัมภีร์อนาคตวงศ์. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2540. ISBN 974-580-742-7
- พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร), ภูมิวิลาสินี, หน้า 453-456
- พุทธระเบียบพิธีการอนุตตรธรรม, นครปฐม : เทิดคุณธรรม, ม.ป.ป.
- ศุภนิมิต (นามแฝง), สายทอง (พงศาธรรม 1), กรุงเทพฯ : ส่งเสริมคุณภาพชีวิต, ม.ป.ป.