ข้ามไปเนื้อหา

ทวีปอเมริกาเหนือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก North America)
อเมริกาเหนือ
พื้นที่124,709,000 ตารางกิโลเมตร (48,150,000 ตารางไมล์) (อันดับ 3)
ประชากร592,296,233 (ค.ศ. 2021; อันดับ 4)
ความหนาแน่น25.7/กม.2 (66.4/ตร. ไมล์) (ค.ศ. 2021)[a]
จีดีพี (อำนาจซื้อ)30.61 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
(ราว ค.ศ. 2022; อันดับ 2)[1]
จีดีพี (ราคาตลาด)29.01 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
(ราว ค.ศ. 2022; อันดับ 2)[2]
จีดีพีต่อหัว57,410 ดอลลาร์สหรัฐ
(ราว ค.ศ. 2022; อันดับ 2)[3]
ศาสนา
เดมะนิมชาวอเมริกาเหนือ
ประเทศ23 รัฐเอกราช
ดินแดน23 ดินแดนที่ไม่เป็นเอกราช
ภาษาอังกฤษ, สเปน, ฝรั่งเศส, ดัตช์, เดนมาร์ก, ภาษาพื้นเมือง และอื่น ๆ
เขตเวลาUTC−10:00 ถึง UTC+00:00
เมืองใหญ่รายชื่อพื้นที่เมือง:[6]
รหัส UN M49003 – อเมริกาเหนือ
019ทวีปอเมริกา
001โลก
แผนที่ดาวเทียมแสดงส่วนประกอบทางภูมิศาสตร์ของทวีปอเมริกาเหนือ

อเมริกาเหนือ (อังกฤษ: North America) เป็นทวีปที่มีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในซีกโลกเหนือและเกือบทั้งหมดในซีกโลกตะวันตก; เป็นอนุทวีปทางเหนือของทวีปอเมริกา[7][8] ทางเหนือติดกับมหาสมุทรอาร์กติก ทางตะวันออกติดมหาสมุทรแอตแลนติก ทางตะวันตกติดมหาสมุทรแปซิฟิก ทางใต้ติดกับทวีปอเมริกาใต้และทะเลแคริบเบียน

ทวีปอเมริกาเหนือมีพื้นที่ประมาณ 24,709,000 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 16.5% ของผืนดินและคิดเป็น 4.8% ของผิวโลก ทวีปอเมริกาเหนือใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา[9] และมีประชากรเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากเอเชีย แอฟริกาและยุโรป[10] ในปี 2021 ประชากรประมาณ 592 ล้านคนในรัฐอิสระ 23 แห่งคิดเป็น 7.5% ของประชากรโลก ในคำศัพท์ภูมิศาสตร์ "อเมริกาเหนือ" สามารถหมายถึงแคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และกรีนแลนด์ หรืออีกทางหนึ่งคือ แคนาดา กรีนแลนด์ และสหรัฐอเมริกา (เม็กซิโกจัดอยู่ในกลุ่มลาตินอเมริกา) หรือมีเพียงแค่แคนาดาและสหรัฐอเมริกา (กรีนแลนด์จัดอยู่ในกลุ่มอาร์กติกหรือยุโรป เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์ก และเม็กซิโกจัดอยู่ในกลุ่มลาตินอเมริกา)[11][12][13][14][15]

ไม่ทราบแน่ชัดว่าทวีปอเมริกาเหนือมีมนุษย์กลุ่มแรกเมื่อใด เป็นที่ทราบกันว่ามนุษย์อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเมื่ออย่างน้อย 20,000 ปีก่อน[16] แต่มีหลักฐานต่าง ๆ ชี้ให้เห็นว่าอาจเป็นไปได้ก่อนหน้านั้น[17][18] ยุคพาลีโอ-อินเดียนในอเมริกาเหนือเกิดขึ้นหลังยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย และกินเวลานานถึงประมาณ 10,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นยุคโบราณ คลาสสิกสเตจมีช่วงเวลาประมาณคริสต์ศตวรรษ 6 ถึง 13 ชาวนอร์สเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เริ่มสำรวจและตั้งอาณานิคมในพื้นที่ต่าง ๆ ในอเมริกาเหนือ

ปี ค.ศ. 1492 การเดินทางสำรวจของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก รวมถึงการอพยพและการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรปในช่วงยุคแห่งการสำรวจและช่วงต้นของยุคกลาง ทำให้รูปแบบวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ของการตั้งอาณานิคมของยุโรปในอเมริกาเหนือ เช่น ชาวผิวขาว ชาวพื้นเมือง ทาสชาวแอฟริกาและกลุ่มชนรุ่นหลัง

การล่าอาณานิคมของยุโรปในอเมริกาเหนือทำให้ชาวอเมริกาเหนือส่วนใหญ่พูดภาษายุโรป เช่นภาษาอังกฤษ ภาษาสเปน และภาษาฝรั่งเศส วัฒนธรรมของภูมิภาคนี้มักสะท้อนถึงวัฒนธรรมตะวันตก อย่างไรก็ตาม พื้นที่ส่วนเล็ก ๆ ของอเมริกาเหนือในแคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และอเมริกากลาง ยังมีชาวพื้นเมืองที่ยังคงยึดมั่นในวัฒนธรรมและประเพณีทางภาษาก่อนยุคอาณานิคมยุโรป

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

[แก้]

ทวีปอเมริกาเหนือเป็นทวีปที่พบใหม่ แต่พบว่ามีชนชาวเอเชียอพยพผ่านเข้าไปในอเมริกาเหนือทาง ช่องแคบแบริง เมื่อประมาณ 35000-12000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่ง คือชาวอเมริกัน-อินเดียน โดยมีการค้นพบเครื่องมือหินเป็นหลักฐาน ต่อจากนั้นมีการอพยพลงใต้ ทำให้เริ่มมีชนเผ่าพื้นเมืองตั้งแต่เหนือสุดลงไปสู่ทางทิศใต้ของอเมริกาเหนือ

ดินแดนและภูมิภาคย่อย

[แก้]

แผ่นดินผืนใหญ่ของทวีปประกอบไปด้วย 2 ประเทศใหญ่คือ แคนาดาและสหรัฐ พื้นที่ทางใต้ของทวีปซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่าซึ่งอาจเรียกเป็นภูมิภาคย่อยว่าอเมริกากลาง ในภูมิภาคอเมริกากลางนี้ประกอบได้ด้วย เบลีซ, คอสตาริกา, เอลซัลวาดอร์, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, เม็กซิโก, นิการากัว และปานามา นอกจากพื้นที่บนผืนทวีปแล้วยังมีหมู่เกาะจำนวนมากซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับแผ่นดินใหญ่ของทวีปดินแดนหมู่เกาะที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแผ่นดินใหญ่มักจะถูกเรียกรวม ๆ กันว่า แคริบเบียน ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศอิสระคือ แอนทีกาและบาร์บิวดา, บาฮามาส, บาร์เบโดส, คิวบา, ดอมินีกา, สาธารณรัฐโดมินิกัน, กรีเนดา, เฮติ, จาเมกา, เซนต์คิตส์และเนวิส, เซนต์ลูเชีย, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ และตรินิแดดและโตเบโก และดินแดนภายใต้ความคุ้มครองได้แก่ แองกวิลลา (ดินแดนของสหราชอาณาจักร), อารูบา (ดินแดนของเนเธอร์แลนด์), หมู่เกาะเคย์แมน (ดินแดนของสหราชอาณาจักร), กัวเดอลุป (ดินแดนของฝรั่งเศส), มาร์ตีนิก (ดินแดนของฝรั่งเศส), มอนต์เซอร์รัต (ดินแดนของสหราชอาณาจักร), เกาะนาแวสซา (ดินแดนของสหรัฐ), กือราเซา (ดินแดนของเนเธอร์แลนด์), ปวยร์โตรีโก (ดินแดนของสหรัฐ), หมู่เกาะเติกส์และเคคอส (ดินแดนของสหราชอาณาจักร), หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน (ดินแดนของสหราชอาณาจักร), หมู่เกาะเวอร์จิน (ดินแดนของสหรัฐ) และซินต์มาร์เติน (ดินแดนของเนเธอร์แลนด์)

หมู่เกาะซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในทวีปอเมริกาเหนือด้วยได้แก่ เบอร์มิวดา (ดินแดนของสหราชอาณาจักร), กรีนแลนด์ (ดินแดนของเดนมาร์ก) และแซ็งปีแยร์และมีเกอลง (ดินแดนของฝรั่งเศส)

ตารางรายชื่อประเทศและดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือ

[แก้]
ประเทศ เมืองหลวง พื้นที่
(ตร.กม.)
ประชากร
(ปี 2018)
ความหนาแน่น
(ต่อ 1 ตร.กม.)
ธงของแองกวิลลา แองกวิลลา
(ธงของสหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักร)
เดอะแวลลีย์   91     15,753 164.8
ธงของประเทศแอนทีกาและบาร์บิวดา แอนทีกาและบาร์บิวดา เซนต์จอนส์ 442 96,286 199.1
ธงของอารูบา อารูบา
(ธงของประเทศเนเธอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์)
โอรันเยสตัด   180      105,845 594.4
ธงของประเทศบาฮามาส บาฮามาส แนสซอ 13,943 385,637 24.5
ธงของประเทศบาร์เบโดส บาร์เบโดส บริดจ์ทาวน์ 430 286,641 595.3
ธงของประเทศเบลีซ เบลีซ เบลโมแพน 22,966 383,071 13.4
ธงของเบอร์มิวดา เบอร์มิวดา
(ธงของสหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักร)
แฮมิลตัน 54 62,756 1,203.7
ธงของหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน
(ธงของสหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักร)
โรดทาวน์ 151 29,802 152.3
ธงของประเทศแคนาดา แคนาดา ออตตาวา 9,984,670 37,064,562 3.7
ธงของหมู่เกาะเคย์แมน หมู่เกาะเคย์แมน
(ธงของสหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักร)
จอร์จทาวน์ 264 64,174 212.1
ฝรั่งเศส เกาะกลีแปร์ตอน
(ธงของประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งเศส)
- 6 0 0
ธงของประเทศคอสตาริกา คอสตาริกา ซานโฮเซ 51,100 4,999,441 89.6
ธงของประเทศคิวบา คิวบา อาบานา 109,886 11,338,134 102.0
 กูราเซา
(ธงของประเทศเนเธอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์)
วิลเลมสตัด 444 162,752 317.1
ธงของประเทศดอมินีกา ดอมินีกา โรโซ 751 71,625 89.2
ธงของสาธารณรัฐโดมินิกัน สาธารณรัฐโดมินิกัน ซานโตโดมิงโก 48,671 10,627,141 207.3
ธงของประเทศเอลซัลวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ ซานซัลวาดอร์ 21,041 6,420,746 293.0
 กรีนแลนด์
(ธงของประเทศเดนมาร์ก เดนมาร์ก)
นุก 2,166,086 56,564 0.026
ธงของประเทศกรีเนดา กรีเนดา เซนต์จอร์เจส 344 111,454 302.3
ฝรั่งเศส กัวเดอลุป
(ธงของประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งเศส)
บัส-แตร์ 1,628 399,848 246.7
ธงของประเทศกัวเตมาลา กัวเตมาลา กัวเตมาลาซิตี 108,889 17,247,849 128.8
ธงของประเทศเฮติ เฮติ ปอร์โตแปรงซ์ 27,750 11,123,178 361.5
ธงของประเทศฮอนดูรัส ฮอนดูรัส เตกูซิกัลปา 112,492 9,587,522 66.4
ธงของประเทศจาเมกา จาเมกา คิงส์ตัน 10,991 2,934,847 247.4
ฝรั่งเศส มาร์ตีนิก
(ธงของประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งเศส)
ฟอร์-เดอ-ฟร็องส์ 1,128 375,673 352.6
ธงของประเทศเม็กซิโก เม็กซิโก เม็กซิโกซิตี 1,964,375 126,190,788 57.1
ธงของมอนต์เซอร์รัต มอนต์เซอร์รัต
(ธงของสหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักร)
พลิมัทและเบรดส์ 102 4,993 58.8
ธงของประเทศนิการากัว นิการากัว มานากัว 130,373 6,465,501 44.1
ธงของประเทศปานามา ปานามา ปานามาซิตี 75,417 4,176,869 45.8
ธงของปวยร์โตรีโก ปวยร์โตรีโก
( สหรัฐอเมริกา)
ซานฮวน 8,870 3,039,596 448.9
ฝรั่งเศส แซ็ง-บาร์เตเลมี
(ธงของประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งเศส)
กุสตาวียา 21 7,448 354.7
ธงของประเทศเซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์คิตส์และเนวิส บาสแตร์ 261 52,441 199.2
ธงของประเทศเซนต์ลูเชีย เซนต์ลูเชีย แคสตรีส์ 539 181,889 319.1
ฝรั่งเศส แซ็ง-มาร์แต็ง
(ธงของประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งเศส)
มารีโก 54 29,820 552.2
ฝรั่งเศส แซ็งปีแยร์และมีเกอลง
(ธงของประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งเศส)
แซ็ง-ปีแยร์ 242 5,849 24.8
ธงของประเทศเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ คิงส์ทาวน์ 389 110,211 280.2
ซินต์เอิสตาซียึส ซินต์เอิสตาซียึส
(ธงของประเทศเนเธอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์)
โอรันเยอสตัด 21 2,739 130.4
ซินต์มาร์เติน ซินต์มาร์เติน
(ธงของประเทศเนเธอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์)
ฟิลิปส์บืร์ค 34 41,940 1,176.7
ธงของประเทศตรินิแดดและโตเบโก ตรินิแดดและโตเบโก พอร์ตออฟสเปน 5,130 1,389,843 261.0
ธงของหมู่เกาะเติกส์และเคคอส หมู่เกาะเติกส์และเคคอส
(ธงของสหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักร)
โคเบิร์นทาวน์ 948 37,665 34.8
 สหรัฐอเมริกา วอชิงตัน ดี.ซี. 9,629,091 327,096,265 32.7
ธงของหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐ หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐ
( สหรัฐอเมริกา)
ชาร์ลอตต์อะมาลี 347 104,680 317.0
รวม 24,500,995 541,720,440 22.1

ที่ตั้ง ขนาด และอาณาเขต

[แก้]

ที่ตั้ง

[แก้]

ทวีปอเมริกาเหนือตั้งอยู่ในเขตซีกโลกเหนือระหว่างละติจูด 7 องศา 15 ลิปดาเหนือถึง 83 องศา 38 ลิปดาเหนือ และระหว่างลองจิจูด 55 องศา 42 ลิปดาตะวันตกถึง 172 องศา 30 ลิปดาตะวันตก ทวีปอเมริกาเหนือมีพื้นที่ประมาณ 22,063,997 ตารางกิโลเมตร เป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกาตามลำดับ บริเวณที่กว้างที่สุดของทวีป คือ ตั้งแต่ช่องแคบเบริงถึงเกาะนิวฟันด์แลนด์ ส่วนบริเวณที่ยาวที่สุดของทวีป คือตั้งแต่คาบสมุทรบูเทียถึงคอคอดปานามา ซึ่งเป็นส่วนที่แคบที่สุดของทวีป คือกว้างประมาณ 74 กิโลเมตร ทวีปอเมริกาเหนือ มีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมหัวกลับ คือมีฐานกว้างอยู่ทางด้านเหนือและปลายแหลมอยู่ทางตอนใต้

ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือมีทั้งหมด 23 ประเทศ โดยแบ่งออกส่วน 3 ส่วนคือ

  1. แองโกลอเมริกา ได้แก่ ประเทศที่อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำรีโอแกรนด์ขึ้นไป
  2. ลาตินอเมริกา ได้แก่ ประเทศที่อยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำริโอแกรนด์ลงมา
  3. หมู่เกาะเวสต์อินดีส ได้แก่ ประเทศหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน

อาณาเขต

[แก้]

ทวีปอเมริกาเหนือมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  1. ทิศเหนือ - จดมหาสมุทรอาร์กติกและทะเลโบฟอร์ด
  2. ทิศตะวันออก - จดมหาสมุทรแอตแลนติก
  3. ทิศใต้ - ติดต่อกับทวีปอเมริกาใต้
  4. ทิศตะวันตก - จดมหาสมุทรแปซิฟิกและช่องแคบเบริงที่กั้นระหว่างทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปเอเชีย

ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ

[แก้]
จุดที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ สถานที่ รัฐ/ประเทศ
จุดเหนือสุด: แหลมมอริสเจซุป กรีนแลนด์
จุดใต้สุด: แหลมมาเรียโต เบรากวัส/ปานามา
จุดตะวันออกสุด: แหลมเซนต์ชาร์ลส์ นิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์/แคนาดา
จุดตะวันตกสุด: แหลมพรินซ์ ออฟเวลส์ อะแลสกา/ สหรัฐ
ยอดเขาที่สูงที่สุด: ยอดเขาเดนาลีหรือแมกคินลีย์ อะแลสกา/สหรัฐ
แม่น้ำที่ยาวที่สุด: แม่น้ำมิสซิสซิปปิ สหรัฐ

เขตภูมิประเทศของทวีปอเมริกาเหนือ

[แก้]

ทวีปอเมริกาเหนือมีลักษณะทางกายภาพเป็นแผ่นดินใหญ่และเกาะขนาดต่างกันจำนวนมาก มีพื้นที่เป็นอ่าว ทะเล ซึ่งเป็นส่วนของมหาสมุทรอาร์กติก มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรแปซิฟิก บนแผ่นดินใหญ่มีพื้นที่เป็นเทือกเขา ทิวเขา ที่ราบสูง ที่สูง ที่ราบ และอื่นๆ แบ่งลักษณะภูมิประเทศได้ 7 เขต ดังนี้

เขตเทือกเขาสูงและที่ราบสูงด้านตะวันตก

[แก้]

ได้แก่ เทือกเขาที่วางตัวขนานกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในแนวเหนือ - ใต้ ตั้งแต่เหนือสุดไปจนใต้ของทวีป และต่อเนื่องลงไปถึงเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้ ประกอบด้วยเทือกเขาสูงสุดสลับซับซ้อนหลายแนว ที่สำคัญเช่น เทือกเขาร็อกกี, เทือกเขาอะแลสกา, เทือกเขาบรุกส์, เทือกเขาโคสต์, และเทือกเขาเชียร์เนวาดา ในสหรัฐ เทือกเขาแมกเคนซีในประเทศแคนาดา เทือกเขาเชียร์รามาเดรออกซิเดนตัลในประเทศเม็กซิโกมียอดเขาแมกคินลีย์บนเทือกเขาอะแลสกาเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ คือ มีระดับความสูง 6,194 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง

ในระหว่างเทือกเขาสูงที่ต่อเนื่องกันจะพบที่ราบสูงคั่นอยู่ระหว่างเทือกเขา ที่สำคัญเช่น ที่ราบสูงอะแลสกา, ที่ราบสูงเกรตเบซิน, ที่ราบสูงโคโลราโด ในสหรัฐ ที่ราบสูงบริดิชโคลัมเบียในประเทศแคนาดา ที่ราบสูงแม็กซิโกในประเทศแม็กซิโก

บริเวณคะเนเดียนชีลด์ (Canadian Shield)

[แก้]

เป็นพื้นที่ของหินฐานทวีปซึ่งกำเนิดในมหายุคพรีแคมเบรียน (Precambrian) มีอายุมากกว่า 541 ล้านปีมาแล้ว ครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง นับตั้งแต่ลุ่มน้ำแมกเคนซีไปทางตะวันออกจนถึงคาบสมุทรแลบราดอร์ เนื่องจากมีธารน้ำแข็งปกคลุมพื้นที่มาเป็นเวลานาน จึงผ่านการครูดถูบนผิวหินจากการกระทำของธารน้ำแข็ง ทำให้ในปัจจุบันเกิดเป็นภูมิประเทศ 3 แบบ ดังนี้

ที่ราบรอบอ่าวฮัดสัน

[แก้]

มีตะกอนเป็นเศษหิน ทราย และดินที่ธารน้ำแข็งพามาสะสมอยู่ในพื้นที่ราบ

ทะเลสาบ

[แก้]

มีทะเลสาบขนาดเล็กและใหญ่บริเวณตอนใต้ของที่ราบอ่าวฮัดสัน เกิดจากกระบวนการกระทำของธารน้ำแข็ง ได้แก่ กลุ่มทะเลสาบเกรตเลกส์ ทะเลสาบเกรตแบร์ และทะเลสาบวินนิเพก

ที่สูงลอเรนเชียน (Laurentian)

[แก้]

เป็นพื้นที่ที่มีความสูงเหลืออยู่จากการกร่อนโดยธารน้ำแข็ง มีภูเขาสูงและทะเลสาบ จำนวนมาก

เทือกเขาแอปพาเลเชียน (Appalachians)

[แก้]

ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของทวีปทอดแนวขนานกับชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก กำเนิดจากการยกตัวขึ้นของชั้นหิน ทำให้เปลือกโลกสูงขึ้นเป็นเทือกเขาแอปพาเลเชียน เมื่อประมาณ 400 ล้านปีที่แล้ว ประกอบด้วย ทิวเขาต่างๆ ได้แก่ ทิวเขาไวต์ ทิวเขากรีน ทิวเขาแคตสกิลล์ ทิวเขาแอลลิเกนี ทิวเขาบลูริดจ์ และทิวเขาคัมเบอร์แลนด์

ที่ราบเกรตเพลนส์ (Great Plains)

[แก้]

เป็นที่ราบเชิงเขากว้างใหญ่ด้านทิศตะวันออกของระบบเทือกเขาร็อกกี เกิดจาก เศษหิน ทราย และดินที่แตกกระจัดกระจายอยู่เชิงเขาแล้วถูกกระแสน้ำของแม่น้ำสายต่างๆ พาตะกอน กรวด หิน ทรายสะสมตัวทิ้งไว้ เนื่องจากกระแสน้ำลดปริมาณและความเร็วลง

อ้างอิง

[แก้]

หมายเหตุ

  1. This North American density figure is based on a total land area of 23,090,542 km2 only, considerably less than the total combined land and water area of 24.709 million km2.

อ้างอิง

  1. "GDP PPP, current prices". International Monetary Fund. 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 January 2021. สืบค้นเมื่อ 16 January 2022.
  2. "GDP Nominal, current prices". International Monetary Fund. 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 February 2017. สืบค้นเมื่อ 16 January 2022.
  3. "Nominal GDP per capita". International Monetary Fund. 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 January 2020. สืบค้นเมื่อ 16 January 2022.
  4. "The Global Religious Landscape" (PDF). Pewforum.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 25 January 2017. สืบค้นเมื่อ 7 May 2020.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 "Religious Composition by Country, 2010–2050". pewforum.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 December 2019. สืบค้นเมื่อ 17 February 2022.
  6. "Demographia.com" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 14 August 2011. สืบค้นเมื่อ 13 August 2015.
  7. "North America". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 3 February 2014.
  8. "Map And Details Of All 7 Continents". worldatlas.com. สืบค้นเมื่อ September 2, 2016. In some parts of the world students are taught that there are only six continents, as they combine North America and South America into one continent called the Americas.
  9. "North America Land Forms and Statistics". World Atlas.com. สืบค้นเมื่อ 16 June 2013.
  10. "North America Fast Facts". World Atlas.com. สืบค้นเมื่อ 16 June 2013.
  11. H. J. de Blij and Peter O. Muller. pGeography: Realms, Regions, and Concepts, Wiley, 12th ed., 2005, pp. 30–31, (ISBN 0-471-71786-X.)
  12. Lewis, Martin W.; Wigen, Karen E. (1997). "Chapter One, The Architecture of Continents". The Myth of Continents. University of California Press. p. 168. ISBN 0-520-20742-4.
  13. Burchfield, R. W., ed. 2004. "America." Fowler's Modern English Usage (ISBN 0-19-861021-1) New York: Oxford University Press, p. 48
  14. McArthur, Tom. 1992."North American." The Oxford Companion to the English Language (ISBN 0-19-214183-X) New York: Oxford University Press, p. 707.
  15. "Common Errors in English Usage". Paul Brians, Washington State University. 16 May 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 April 2022. สืบค้นเมื่อ 4 April 2022.
  16. Pigati, Jeffrey S.; Springer, Kathleen B.; Honke, Jeffrey S.; Wahl, David; Champagne, Marie R.; Zimmerman, Susan R. H.; Gray, Harrison J.; Santucci, Vincent L.; Odess, Daniel; Bustos, David; Bennett, Matthew R. (2023-10-06). "Independent age estimates resolve the controversy of ancient human footprints at White Sands". Science (ภาษาอังกฤษ). 382 (6666): 73–75. Bibcode:2023Sci...382...73P. doi:10.1126/science.adh5007. ISSN 0036-8075. PMID 37797035. S2CID 263672291. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 October 2023. สืบค้นเมื่อ 6 December 2023.
  17. Goodyear, Albert C.; Sain, Douglas A. (2018-05-22), "The Pre-Clovis Occupation of the Topper Site, Allendale County, South Carolina", Early Human Life on the Southeastern Coastal Plain (ภาษาอังกฤษ), University Press of Florida, pp. 8–31, doi:10.5744/florida/9781683400349.003.0002, ISBN 978-1-68340-034-9, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 December 2023, สืบค้นเมื่อ 2023-12-05
  18. Ardelean, Ciprian F.; Becerra-Valdivia, Lorena; Pedersen, Mikkel Winther; Schwenninger, Jean-Luc; Oviatt, Charles G.; Macías-Quintero, Juan I.; Arroyo-Cabrales, Joaquin; Sikora, Martin; Ocampo-Díaz, Yam Zul E.; Rubio-Cisneros, Igor I.; Watling, Jennifer G.; de Medeiros, Vanda B.; De Oliveira, Paulo E.; Barba-Pingarón, Luis; Ortiz-Butrón, Agustín (2020-07-22). "Evidence of human occupation in Mexico around the Last Glacial Maximum". Nature (ภาษาอังกฤษ). 584 (7819): 87–92. Bibcode:2020Natur.584...87A. doi:10.1038/s41586-020-2509-0. ISSN 1476-4687. PMID 32699412. S2CID 256819465. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 April 2021. สืบค้นเมื่อ 6 December 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]