ม้าลาย
ม้าลาย | |
---|---|
ม้าลายธรรมดา (Equus quagga) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Perissodactyla |
วงศ์: | Equidae |
สกุล: | Equus |
สกุลย่อย: | Hippotigris |
ชนิด | |
†E. capensis | |
ม้าลายสามสายพันธุ์ที่มีชีวิตสมัยใหม่ |
ม้าลาย เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกีบคี่ จัดอยู่ในสกุลม้า (Equus) และจัดอยู่ในสกุลย่อย Hippotigris (แปลว่า ม้าลายเสือ) แบ่งออกได้เป็น 7 ชนิด (ดูในตาราง)
ม้าลายเป็นสัตว์ที่กินหญ้าเป็นอาหารหลัก สัตว์ที่ล่าม้าลายเป็นอาหารเช่น สิงโต ไฮยีนาลายจุด ในพื้นที่แบบที่ราบและภูเขา ม้าลายจะมีลักษณะสังคมแบบฝูงที่มีเพศผู้เป็นหัวหน้าเพียงตัวเดียว และประกอบด้วยม้าเพศเมียตัวเต็มวัยและลูก ๆ ส่วนม้าลายพันธุ์ เกรย์วีจะใช้ชีวิตแบบตัวเดียว หรือเป็นฝูงแบบความสัมพันธ์ระหว่างตัวไม่แนบแน่น
ลักษณะ
[แก้]ม้าลายเป็นม้าจำพวกหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่าม้า แต่มีปลายหางคล้ายลา มีแผงคอที่สั้นเหมือนขนแปรง มีลักษณะเด่น คือ มีลำตัวเป็นสีดำลายขาวตลอดทั้งตัว ซึ่งสีอันโดดเด่นนี้ เป็นคำถามมาเป็นระยะเวลานานแล้วว่า แท้ที่จริงแล้วม้าลายเป็นสัตว์ที่มีพื้นลำตัวดำและมีแถบสีขาวพาดผ่าน
[1] สิ่งที่เหมือนกับม้าป่าชนิดอื่นคือ ม้าป่ามีส่วนลำตัวคล้ายถังเบียร์ ส่วนใบหน้าที่ยื่นยาว หางยาว คอยาว และแผงคอยาว ขายาวเรียว กีบเท้า กีบเท้ารูปร่างคล้ายจอบขุดดิน ลักษณะฟันวิวัฒนาการเพื่อกินหญ้า ฟันหน้ามีขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการจับหญ้า ฟันกรามมีลักษณณะสันที่ยาวคมเพื่อใช้ในการบดตัดหญ้า ม้าลายเพศผู้มีฟันเขี้ยวเพื่อใช้ในการต่อสู้กับม้าลายตัวอื่น ม้าลายเป็นสัตว์ที่มีสายตาดี โดยตำแหน่งตาอยู่ด้านข้างของกะโหลกและค่อนไปทางด้านบน เพื่อให้พ้นตำแหน่งจากต้นหญ้าสูงขณะก้มกินหญ้า รวมทั้งใบหูยาวที่สามารถขยับส่วนปลายหูเพื่อหาตำแหน่งของเสียง
จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า ม้าลายแท้ที่จริงเป็นสัตว์ที่มีพื้นลำตัวสีดำและมีลายแถบสีขาวพาดผ่านลำตัว ซึ่งลายแถบสีขาวนั้นเกิดจากเซลล์ประสาทที่เรียงรายตามแนวกระดูกสันหลังส่วนหนึ่ง จะเปลี่ยนสภาพไปเป็นเซลล์ผลิตเม็ดสีสีดำ เรียกว่า เมลาโนไซท์ หลังจากนั้น เมลาโนไซท์เหล่านี้ จะเคลื่อนออกไปด้านข้างของกระดูกสันหลังในแนวตั้งฉาก แล้วเปลี่ยนสภาพไปเป็นผิวหนังที่มีเม็ดสีสีดำ ซึ่งรูปแบบของเม็ดสีในสัตว์แต่ละชนิดนั้น ขึ้นอยู่กับการกระตุ้นทางพันธุกรรม ในการเปลี่ยนสภาพ และการเคลื่อนที่ของเมลาโนไซท์ โดยจากการศึกษาพบว่าตัวอ่อนของม้าลายที่อยู่ในท้องแม่ จะเป็นตัวสีดำก่อน จากนั้นลายแถบสีขาวจึงค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ซึ่งม้าลายแต่ละตัวก็จะมีลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกัน
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในการที่ม้าลายมีลายแถบสีขาวเหล่านี้ เชื่อว่าใช้ในการพรางตัวจากศัตรู และทำให้ศัตรูซึ่งได้แก่ สัตว์กินเนื้อต่าง ๆ ตาลายได้เมื่อได้พบเจอม้าลายที่อยู่รวมกันเป็นฝูงในทุ่งหญ้ากว้าง ทำให้จับระยะทางที่จะโจมตีผิดพลาดไป สำหรับทัศนะของชาร์ลส์ ดาร์วิน เชื่อว่าม้าลายมีลายเพื่อจดจำกันได้ และตัวผู้ใช้เกี้ยวพาตัวเมีย รวมทั้งเชื่อว่ามีไว้ป้องกันแมลง โดยเฉพาะแมลงวัน มีหลักฐานว่าม้าลายดึงดูดแมลงน้อยกว่าสัตว์กินพืชชนิดอื่น ๆ ในแอฟริกา จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ชาวฮังการีกลุ่มหนึ่ง ที่ทดลองโดยการนำหุ่นของม้า 4 ตัว ที่มีสีสันต่าง ๆ แตกต่างกันไป ไปตั้งไว้ในทุ่งหญ้า รวมถึงม้าลาย พบกว่าหุ่นม้าลายมีแมลงมาเกาะน้อยที่สุด ทั้งนี้เชื่อว่าเพราะตาของแมลงเป็นระบบตารวมที่มีส่วนประกอบมากมาย และแมลงจะลงเกาะโดยการใช้แสงโพลาไรซ์ช่วย เป็นไปได้ว่าลายทางของม้าลายไปรบกวนแสงโพลาไรซ์ในการมองของแมลง ทำให้ยากในการลงเกาะบนตัวของม้าลาย[2]
ถิ่นอาศัย
[แก้]พบทั่วไปในทวีปแอฟริกาแถบที่ราบโล่งทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด และแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดย่อย ในอดีตการจำแนกแบ่งประเภทของม้าลายแบ่งออกได้เป็นกว่า 10 ชนิด และแบ่งออกตามถิ่นที่อยู่อาศัย แต่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียง 3 ชนิด และไม่สามารถแบ่งได้ตามที่อาศัยได้เหมือนเดิมอีกแล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมและสภาวะความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป[3]
การดำรงชีวิต ( Life History )
[แก้]ม้าลายใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมงในการนอน ถ้าเป็นช่วงกลางวันจะนอนในท่ายืน แต่เป็นช่วงกลางคืนจะล้มตัวลงนอน จะใช้ลำตัวสีกับต้นไม้ ก้อนหิน ใช้การคลุกกับดินหรือทรายเพื่อลดการรบกวนจากแมลง ม้าลายทั้ง 3 ชนิดจะมีการเคลื่อนย้ายเพื่อหาแหล่งน้ำ ซึ่งฝูงม้าลายจะสามารถจดจำแหล่งอาหารที่อยู่ในระหว่างการเคลื่อนย้ายได้ ม้าลายธรรมดาหรือม้าลายทุ่งหญ้า (Plain Zebra) จะเป็นชนิดที่การดำเนินชีวิตจะต้องอาศัยแหล่งน้ำมากกว่าม้าลายชนิดอื่น ๆ โดยจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำไม่เกิน 10–12 กิโลเมตร[4] ม้าลายภูเขาจะอยู่ในพื้นที่ระดับควาสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 2000 เมตรขึ้นไป
ลักษณะสังคมฝูง ( Social Structure )
[แก้]ม้าลายจะมีลักษณะฝูงอยู่ 2 แบบ ม้าลายที่ราบ (plain zebra) และม้าลายภูเขาจะเป็นฝูงในลักษณะเรียนว่าฮาเร็ม (harem) ที่ตัวผู้หนึ่งตัวเป็นจ่าฝูงและสมาชิกฝูงจะประกอบด้วยแม่ม้าหลายตัวและลูก ๆ โดยฝูงนี้จะมีอาณาเขตของตัวเองซึ่งอาจซ้อนทับกับฝูงอื่น ๆ ฝูงจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นด้วยการมีม้าลายเพศเมียจากฝูงอื่นเข้ามาเพิ่ม ฝูงจะคงโครงการและสมาชิกต่อเนื่องจนกว่าตัวจ่าฝูงจะตาย หรือมีการเปลี่ยนตัวจ่าฝูง ม้าลายพื้นราบจะมีช่วงเวลาที่หลายฝูงมารวมกัน ทำให้ม้าจากหลายฝูงได้มีโอกาสรู้จักกับม้าลายตัวอื่น ๆ ในฝูงในลักษณะที่เรียกว่าฮาเร็มนี้ยังพบได้ในลิงเจลาด้า (gelada) และในลิงบาบูนฮามาดิยาส (baboon hamadryas)
พฤติกรรมและการสืบพันธุ์
[แก้]ชอบอาศัยอยู่ตามที่ราบโล่งที่เป็นหญ้า มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งมีหลายร้อยตัวจนถึงเป็นพัน โดยจะเล็มหญ้าหากินร่วมกับสัตว์อื่นในทุ่งกว้าง เช่น นกกระจอกเทศ ยีราฟ แอนทิโลป และสัตว์กีบชนิดอื่น ๆ ม้าลายมักจะมีนกกินแมลงจับเกาะอยู่บนหลัง เพื่อช่วยระวังภัยและกินพวกแมลงที่มารบกวน และมีนกกระจอกเทศและยีราฟคอยช่วยเป็นป้อมยามคอยเตือนภัยและระวังภัยให้ เพราะม้าลายสายตาไม่ค่อยดี แต่จมูกและหูไวมาก ฟันของม้าลายค่อนข้างคม จึงแทะเล็มในส่วนที่เป็นโคนและลำต้นของหญ้าได้ ขณะที่สัตว์อื่น ๆ เช่น แอนทีโลป จะกินยอดหญ้า นับเป็นการแบ่งปันอาหารกันตามธรรมชาติ มีอายุยืนประมาณ 25–30 ปี ม้าลายเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 2 ปี ตั้งท้องนานประมาณ 345–390 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกม้าลายแรกเกิดจะมีขนปุกปุยและมีแถบสีน้ำตาลสลับขาว และใช้เวลาไม่นานในการยืนและวิ่งได้ทันทีหลังคลอด
ระบบทางเดินอาหารของม้าลายจัดเป็นเป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยว (monogastric) ที่มีการย่อยอาหารคือหญ้าที่มีเป็นอาหารหลักที่มีเยื่อใยสูงที่ทางเดินอาหารส่วนปลายคือส่วนลำไส้ใหญ่ ( large intestine ) และซีกัม ( cecum )[5] อาหารหลักของม้าลายคือหญ้าหลากชนิด ในช่วงที่หญ้าหายากม้าลายจะกินเปลือกของต้นไม้ ใบไม้ ผลไม้และรากไม้ เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์เคี้ยวเอื้อง (ruminant) ม้าลายจะมีประสิทธิภาพการย่อยที่ด้อยกว่า แต่จะทดแทนด้วยการกินหญ้าแห้งที่สามารถหาได้ง่ายกว่า และม้าลายเป็นสัตว์ที่ใช้เวลาในแต่ละวันถึงร้อยละ 60–80 ในการกินอาหาร[6]
ความผูกพันกับมนุษย์
[แก้]ม้าลาย โดยปกติจะไม่ใช้เป็นม้าใช้งานเหมือนกับม้าหรือลาชนิดอื่น ๆ เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าที่ฝึกให้เชื่องได้ยาก ม้าลายมีอารมณ์ฉุนเฉียวไม่แน่ไม่นอน อีกทั้งมีขนาดเล็ก จึงไม่เหมาะแก่การใช้งาน แต่ทว่าก็มีผู้ที่สามารถฝึกม้าลายได้บ้าง เช่น ฝึกให้เป็นม้าลากรถในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นต้น[7] ส่วนมากม้าลายจะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงแสดงกันตามสวนสัตว์ ม้าลายในธรรมชาติจะถูกล่าเพื่อเอาเนื้อบริโภคเป็นอาหารและหนังเพื่อทำเป็นเครื่องประดับ และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทำให้ม้าลายบางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว[8][9]
ม้าลาย เป็นสัตว์ที่เป็นที่นิยมอย่างมากของชาวยุโรปในยุคศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะในอังกฤษ ม้าลายกลายเป็นสัตว์เลี้ยงของขุนนางและพระราชวงศ์ โดยเป็นสัตว์เลี้ยงในพระราชวังบักกิงแฮมของพระนางเจ้าชาร์ล็อตต์ พระมเหสีในพระเจ้าจอร์จที่ 3 ด้วยพระนางทรงสนพระทัยในเรื่องธรรมชาติวิทยา[2]
ด้วยลวดลายอันโดดเด่นของม้าลาย จึงทำให้ลายของม้าใช้เป็นสัญลักษณ์หรือตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ทางม้าลาย บนพื้นถนนสำหรับการข้ามถนนของผู้คนที่เดินสัญจรปกติ[10] และเป็นสัญลักษณ์หรือฉายาขององค์กรหรือสโมสรต่าง ๆ เช่น สโมสรฟุตบอลยูเวนตุส ในกัลโช่เซเรียอา ของอิตาลี ก็มีฉายาว่า "ม้าลาย" ตามสีของชุดแข่งขันและสัญลักษณ์ประจำสโมสร เป็นต้น[11]
อ้างอิง
[แก้]- Churcher, C.S. 1993. Mammalian Species No. 453. American Society of Mammalogists.
- Estes, R. (1991). The Behavior Guide to African Mammals, Including Hoofed Mammals, Carnivores, Primates. Los Angeles, The University of California Press.
- McClintock, Dorcas. "A Natural History Of Zebras" September 1976. Scribner's, New York. ISBN 0-684-14621-5
- ม้าลายตัวขาวลายดำ หรือตัวดำลายขาว
- "ม้าลาย" ตัวดำลายขาว หรือ ตัวขาวลายดำ กันแน่!![ลิงก์เสีย]
- How did zebras get their stripes?
- ↑ Rubenstein DI (2001). "Horse, Zebras and Asses". In MacDonald DW (ed.). The Encyclopedia of Mammals (2nd ed.). Oxford University Press. pp. 468–473. ISBN 978-0-7607-1969-5.
- ↑ 2.0 2.1 "ท่องโลกกว้าง : เจาะความลับของธรรมชาติ ตอน สีสันและลวดลาย และ ก่อกำเนิด". ไทยพีบีเอส. 2015-01-05. สืบค้นเมื่อ 2015-01-06.[ลิงก์เสีย]
- ↑ ม้าลาย, "เรื่องเล่าข้ามโลก". สารคดีโดย ปองพล อดิเรกสาร ทางช่อง NOW26: เสาร์ที่ 20 ธันวาคม 2557
- ↑ Estes R (1991). The Behavior Guide to African Mammals. University of California Press. pp. 235–248. ISBN 978-0-520-08085-0.
- ↑ Science on the Farm. University of Waikato. Archived from the original on 2012-05-02. Retrieved 2014-08-13
- ↑ Estes R (1991). The Behavior Guide to African Mammals. University of California Press. pp. 235–248. ISBN 978-0-520-08085-0.
- ↑ Hayes, Capt. Horace (1893), Points of the Horse, pp. 311–316, London: W. Thacker
- ↑ Hack, M. A.; East, R.; Rubenstein, D. I. (2008). Equus quagga quagga. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 5 January 2008.
- ↑ Max, D.T. (2006-01-01). "Can You Revive an Extinct Animal?". New York Times Magazine. สืบค้นเมื่อ 2010-08-25.
- ↑ ม้าลายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. สืบค้น 19 ตุลาคม 2556
- ↑ The zebra is Juventus' official mascot because the black and white vertical stripes in its present home jersey and emblem remembered the zebra's stripes.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Zebra file at Encyclopedia Encarta เก็บถาวร 2009-05-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- PBS Nature: Horse Tigers (Zebras) เก็บถาวร 2008-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Plains Zebra - Equus Burchelli
- HowStuffWorks article on Zebras
- Out of Africa info on Zebras เก็บถาวร 2014-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Molecular Mechanism for Stripes in Zebras เก็บถาวร 2013-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - and explains the different number of stripes for each type of Zebra.