ข้ามไปเนื้อหา

มรกต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มรกต
การจำแนก
ประเภทแร่รัตนชาติ
สูตรเคมีBe3Al2(SiO3)6
คุณสมบัติ
สีเขียว
รูปแบบผลึกรูปหกเหลี่ยม
โครงสร้างผลึกระบบเฮกซาโกนาล
ค่าความแข็ง7.5 - 8.0
สีผงละเอียดสีขาว
ความถ่วงจำเพาะ2.70 - 2.78
ความหนาแน่น2.7
จุดหลอมเหลว1,278 °C

มรกต (สูตรเคมี: Be3Al2(SiO3)6) เป็นแร่รัตนชาติหรืออัญมณี สีเขียวเกิดจากธาตุโครเมียมและวานาเดียม มรกตจัดอยู่ในแร่ตระกูลเบริล ซึ่งเบริลเป็นแร่ที่มีหลายวาไรตี ได้แก่ แอควะมะรีน (aquarmarine) มีสีฟ้า โกลเดนเบริลหรือเฮลิโอดอร์มีสีเหลือง สีแดงเรียกเร็ดเบริล สีชมพูเรียกว่ามอร์แกไนต์ คุณภาพของมรกตอยู่ที่สีหากมีสีเขียวทั่วทั้งเม็ดก็จัดว่าคุณภาพสูง ส่วนตำหนินั้นมรกตธรรมชาติทุกชิ้นจะต้องมีทั้งสิ้น ลักษณะเป็นเส้น ริ้วสีขาว จุดสีดำ สีสนิม ฝ้าขาวขุ่นตามธรรมชาติ รอยริ้วที่ดูคล้ายรากผักชีเรียกว่า "สวน" (jardin)

มรกตคุณภาพดีหรือไม่ดีก็มีทั้งสิ้น แต่พิจารณาปริมาณและการวางตัวของตำหนิ (ต้องเลือกที่ไม่มีตำหนิต่อเนื่องราวมาจนถึงหน้าพลอย หรือจากขอบหนึงไปถึงขอบหนึ่ง เพราะจะมีผลต่อการนำไปใช้ อาจไม่คงทน) ซึ่งอาจจะมีผลกับการส่องประกายแสงออกมาจากมรกต หากมีมากไปพลอยจะดูทึบแสง ไม่มีประกายซึ่งมักได้รับการเจียระไนแบบหลังเบี้ยหรือหลังเต่า หากทึบจนตันแสงไม่ส่องผ่านเลยและมีสีเขียวซีดจะจัดเป็นมรกตคุณภาพต่ำที่สุด มรกตมีการทำเลียนแบบ สังเคราะและปรับปรุงคุณภาพ (อาบนำมันบ้าง ชุบสี ซ่านสี เคลื่อบสี แช่สารเคมีเฉพาะ) ดังนั้นจึงควรตรวจสอบก่อนการซื้อเพราะจัดเป็นพลอยที่มีราคาสูงมาก (ถ้าคุณภาพดีมากและขนาดใหญ่ด้วยแล้ว) บางกรณีนั้นแยกแทบไม่ออกด้วยตาเปล่าต้องส่งห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือช่วยตรวจสอบ

มรกตนั้นมีหลายเฉดสี แหล่งที่สำคัญมากและโด่งดังไปทั่วโลกคือ มรกตจากโคลอมเบีย ซึ่งได้รับการยกย่องว่างามที่สุดในโลกราคามักสูงกว่าแหล่งอื่น ๆ และถูกกล่าวอ้างถึงบ่อย ๆ มีเหมืองสำคัญซึ่งผลิตมรกตสีต่างกันคือ เหมืองชิบอร์ (Chivor) มีมรกตสีเขียวสดอมเหลือง และเหมืองมูโซ (Muzo) ให้มรกตสีเขียวอมฟ้าคล้ายสีของน้ำทะเล การดูแลรักษาไม่ควรใส่ทำงานหนัก เพราะทนแรงกระแทกได้ไม่ดีนักมีความเปราะ หลีกเลี่ยงสารเคมี น้ำหอม และสเปรย์แต่งผม

แหล่งที่พบ

[แก้]

สามารถพบได้ในประเทศแซมเบีย, บราซิล, ซิมบับเว, ปากีสถาน, มาดากัสการ์, รัสเซีย, อินเดีย, อัฟกานิสถาน, ไทย, แคนาดาและโคลอมเบีย[1]

ปกรณัม

[แก้]

ในปกรณัมของอินเดีย เชื่อว่า มรกตเกิดจากเลือดของนาคที่กระอักลงพื้นดิน เรียกว่า "มรกตนาคสวาท" เชื่อว่าสามารถใช้ป้องกันงูพิษได้[2]

สมุดภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://www.geology.gov.yk.ca/special/index.html
  2. วีระ ธีรภัทร, คุยได้คุยดักับวีระ ธีภัทร: ศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ทาง 96.5 F.M.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ มรกต